รูปแบบการดูแลสุขภาพของผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง


บทคัดย่องานวิจัย ปี 2549

รูปแบบการดูแลสุขภาพของผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลสามพราน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

พิมพ์นิภา   ศรีนพคุณ

อาจารย์ที่ปรึกษา ดร.ศากุล  ช่างไม้  มหาวิทยาลัยคริสเตียน

  

                ในปัจจุบันนี้ประชากรประเทศไทยป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นทุกปี ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักเสียชีวิต หากรอดก็จะมีความพิการ  จากสถิติการตายจัดเป็นอันดับสามของโรคไม่ติดต่อ จึงจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่เดิมคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบา หวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และให้ผู้ป่วยดูแลตนเองโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร  การออกกำลังกาย  การจัดการกับความเครียด  และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ  ผู้วิจัยพบปัญหาจากการทำงานเพราะมีผู้ป่วยเรื้อรังดังกล่าวเป็นอันดับต้นๆ จำนวนมาก  จึงต้องการศึกษาการดูแลตนเองของผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการหารูปแบบการดูแลตนเองอย่างมีส่วนร่วม

                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  เก็บรวบรวมข้อมูลในการสัมภาษณ์เชิงลึก  ในผู้ที่เสี่ยงสูงปานกลางและเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 20 ราย  และทำสนทนากลุ่ม 2 กลุ่ม เพื่อเสนอรูปแบบการดูแลตนเอง  สัมภาษณ์ผู้นำชุมชน 2 ราย  นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 2 ราย ญาติ 2 ราย  และสังเกตระบบบริการสุขภาพศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลสามพราน จัดกลุ่มข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม Microsoft Excel ในการจัดเรียงข้อมูล  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาเชิงลึก (Content Analysis) และตรวจสอบข้อมูลโดยใช้เทคนิคแบบสามเส้า (Triangulation)

                ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการรับรู้ภาวะสุขภาพ แต่ขาดความตระหนักในการดูแลสุขภาพ ในรายทำงานจะมีความเครียดในครอบครัว  อาหารที่รับประทานส่วนใหญ่เป็นอาหารถุงสำเร็จ รูป การออกกำลังกายส่วนใหญ่เป็นการทำงานบ้าน ทำสวน การรับประทานยามักไม่ครบทุกมื้อ มีการแสวงหาการรักษาด้วยยาสมุนไพร  การสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีการจัดสรรเงินสนับสนุนให้ผู้พิการและผู้สูงอายุ  แต่ผู้ป่วยไม่พึงพอใจเพราะได้รับไม่ทั่วถึง  รูปแบบการดูแลตนเองโดยผู้ป่วยมีส่วนร่วม  เสนอให้บุคลากรสาธารณสุขให้ความรู้เป็นกลุ่มโรค ให้นำไปสอนในชมรมผู้สูงอายุ  ให้จัดกิจกรรมเสียงตามสายอย่างสม่ำเสมอ และจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในผู้ป่วยด้วยกันเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง  สามารถดูแลตนเองได้เมื่ออยู่บ้าน  เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ตามความเหมาะสม

สนับสนุนทุนพัฒนานักวิจัย โดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาลชุมชน

ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 63798เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท