สอนอย่างมีความสุข (2)


คิดและทดลองใช้วิธีการรู้ดังกล่าวมานานหลายปีแล้ว อุปสรรคอย่างหนึ่งตามที่เกริ่นมาตั้งแต่ต้น การถ่ายทอดความรู้ หรือการอธิบายความรู้ให้เพื่อนฟัง นักเรียนมักจะทำได้ดีไม่กี่คน และทุกครั้งก็ได้แต่เน้นย้ำ “เธอต้องทำความเข้าใจเนื้อหาสาระเรื่องนั้นมาให้กระจ่าง ถ้าตัวเธอผู้ถ่ายทอด ยังมึนๆเบลอๆ ไม่มีทางเลยที่จะถ่ายทอดให้เพื่อนเข้าใจได้ เพื่อนฟังเธอ ก็จะมึนๆเบลอๆอย่างเธอ ผู้ถ่ายทอดนั่นเอง”

การเรียนรู้ของนักเรียนวันนี้ เป็นอีกครั้งที่ครูอย่างผม รู้สึกพอใจเป็นพิเศษ จะรู้สึกพอใจ สังเกตตัวเองหลายครั้งแล้ว มักมาจากความตั้งใจ ความเอาใจใส่ต่อการเรียน รวมถึงความสามารถของเด็กๆที่กระทำได้ หรือเป็นไปตามที่เรามุ่งหวังไว้

การเรียนชีววิทยา เคยฟังใครคนหนึ่ง แล้วเห็นด้วยอย่างมาก “อธิบายได้ หมายถึงเข้าใจ” ประกอบกับประสบการณ์ที่เรารู้เห็นมา มักมีไม่มากในแต่ละห้องที่ทำได้ หมายถึง ถ่ายทอด หรือ อธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ด้วย

การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนของตัวเอง จึงมักให้อธิบายเป็นส่วนใหญ่ อาจตอบคำถาม ทำแบบฝึกหัด อธิบายให้เพื่อนในกลุ่มหรือต่างกลุ่มฟัง นำเสนอหน้าชั้นเรียนให้ฟังพร้อมๆกัน หรือแม้แต่ข้อสอบที่ใช้ ที่เป็นช้อยส์นั้น(แบบเลือกตอบ)น้อยมาก จนแทบไม่มีเลย โดยเฉพาะในระยะหลังๆ

ที่พยายามเน้น เพราะเห็นว่าเด็กๆด้อยในเรื่องเหล่านี้ บางคนรู้เลยว่าพอเข้าใจ แต่ยามที่ให้เรียบเรียงเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ว่าจะพูดหรือเขียน มักทำได้ไม่ดี การถ่ายทอด การนำเสนอ การอภิปราย หรืออธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่นักเรียนควรต้องมี

อีกอย่างซึงเป็นที่มา การเรียนรู้อะไรสักเรื่อง หากถ่ายทอดจากเพื่อนสู่เพื่อนได้ จะดีและเร็วกว่าครูสู่ศิษย์ คงด้วยวัยและพูดจาภาษาเดียวกัน เพื่อนที่รู้เรื่องกว่า จะมีโอกาสช่วยเพื่อน การถ่ายทอดให้เพื่อนได้เข้าใจซ้ำๆ ยิ่งจะทำให้ตัวเองกระจ่าง อีกทั้งจะยิ่งชำนาญในการถ่ายทอดให้ผู้อื่นรับรู้ ดังนั้นไม่ว่าจะแง่มุมใด เรื่องนี้ล้วนแต่เกิดประโยชน์

ตามทฤษฎีการเรียนรู้ร่วมกัน หรือการเรียนรู้แบบร่วมมือ(Cooperative Learning) มีรูปแบบอย่างหลากหลาย อาทิ Jigsaw , Team Game Tournament(TGT) , Student Team Achievement Division(STAD) , Team Assisted Individualization(TAI) , Learning Together(LT) , Group Investigation(GI) , Think Pair Share , Pair Check , Three Step Interview , Number Head Together , Roundrobin เป็นต้น

ประสบการณ์จัดการเรียนรู้ที่ผ่านมา ตัวเองเคยนำหลายๆรูปแบบของการจัดการเรียนรู้ร่วมกันมาผสมผสาน หลายครั้งทำให้นักเรียนเอาใจใส่ ตั้งใจเรียนมากขึ้น รวมทั้งสนุกสนานกับการเรียน จึงเรียกวิธีนี้เรื่อยมาว่า การเรียนรู้ร่วมกัน(Cooperative Learning) โดยวิธีนิทรรศการ(Exhibition)

ขั้นตอนการเรียนรู้ร่วมกัน โดยวิธีนิทรรศการ อาจเป็นดังนี้

1. แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วยผู้เรียนที่เก่ง ปานกลาง อ่อน คละกัน

2. แบ่งเรื่องที่จะศึกษาออกเป็นหัวข้อย่อยๆ

3. แต่ละกลุ่มเลือกหัวข้อย่อยเพื่อจะศึกษา อาจสุ่มด้วยการจับฉลาก

4. สมาชิกในกลุ่มร่วมกันศึกษาหัวข้อย่อยที่เลือกได้ จากแหล่งข้อมูลต่างๆ อาทิ หนังสือ ตำรา เว็บไซต์ ฯลฯ โดยแบ่งหน้าที่กันทำงาน อาจเป็นดังนี้

  • สมาชิกคนที่ 1 เขียนแผนภาพ เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้
  • สมาชิกคนที่ 2 สร้างแบบประเมินผลการเรียนรู้
  • สมาชิกคนที่ 3 ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล

5. ผู้เรียนแต่ละกลุ่มจัดนิทรรศการ โดยใช้แผนภาพที่ได้จัดเตรียมไว้ เป็นอุปกรณ์ในการจัด

6. สมาชิกตัวแทนกลุ่มอย่างน้อย 1 คน สับเปลี่ยนกันประจำสถานที่ ที่จัดนิทรรศการของตนเอง เพื่อนำเสนอความรู้ให้กับเพื่อนสมาชิกกลุ่มอื่น โดยใช้แผนภาพประกอบการนำเสนอ หรือเป็นสื่อ จากนั้นประเมินผลเพื่อนสมาชิกกลุ่มอื่น ซึ่งเข้าชมนิทรรศการ

คิดและทดลองใช้วิธีการรู้ดังกล่าวมานานหลายปีแล้ว อุปสรรคอย่างหนึ่งตามที่เกริ่นมาตั้งแต่ต้น การถ่ายทอดความรู้ หรือการอธิบายความรู้ให้เพื่อนฟัง นักเรียนมักจะทำได้ดีไม่กี่คน และทุกครั้งก็ได้แต่เน้นย้ำ “เธอต้องทำความเข้าใจเนื้อหาสาระเรื่องนั้นมาให้กระจ่าง ถ้าตัวเธอผู้ถ่ายทอด ยังมึนๆเบลอๆ ไม่มีทางเลยที่จะถ่ายทอดให้เพื่อนเข้าใจได้ เพื่อนฟังเธอ ก็จะมึนๆเบลอๆอย่างเธอ ผู้ถ่ายทอดนั่นเอง”

แต่เมื่อสัปดาห์ก่อน ตัวเองใช้วิธีนี้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อให้เรียนรู้เรื่อง อวัยวะรับความรู้สึก โดยเตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้า ด้วยการแบ่งกลุ่มและ มอบหมายเรื่องที่ต้องรับผิดชอบจากหัวข้อย่อย ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง

ทุกกลุ่มต้องไปทำความเข้าใจ จัดทำสื่อประกอบคำอธิบาย และตั้งคำถามไว้ประเมินเพื่อน ขณะเดียวกัน ทุกคนต้องไปฟังเพื่อนกลุ่มอื่นๆให้ครบ หรือครบทุกเนื้อหาสาระด้วย กติกาข้อนี้ทำให้สมาชิกทุกคนต้องเตรียมทำความเข้าใจและอธิบายเนื้อหาสาระที่กลุ่มตัวเองรับผิดชอบ เพราะทุกคนจะต้องเป็นตัวแทนกลุ่มในการอธิบายให้เพื่อนกลุ่มอื่นฟัง

หลังจัดการเรียนสอน ไม่บ่อยครั้งที่ตัวเองจะรู้สึกพอใจเป็นพิเศษเช่นนี้ นักเรียนทุกกลุ่ม ทุกคน ตั้งใจ เตรียมตัว เตรียมการมาเป็นอย่างดี สังเกตจากสื่อการเรียนรู้ มีการวาดภาพระบายสีมาอย่างประณีต สวยงาม คำถามประเมินเพื่อนทำกันอย่างจริงจัง ทั้งผู้ถามและผู้ตอบ คะแนนก็ใช้ได้เลย โดยเฉพาะทุกคนตั้งใจฟังเพื่อนอธิบายอย่างน่าประหลาดใจ บางคนซักถามประเด็นที่ยังข้องใจด้วย ย้ำความเชื่อครูอีกครั้ง เพื่อนๆวัยเดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกัน กว่าครู..

ที่สำคัญที่ทำให้ครูอย่างผมชื่นอกชื่นใจกว่าทุกๆครั้ง จนต้องนำเรื่องนี้มาบันทึกเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้

นักเรียนหลายคนมากๆเลยครับ ที่สามารถอธิบายเนื้อหาสาระให้เพื่อนฟังได้อย่างคล่องแคล่วและถูกต้อง 

หมายเลขบันทึก: 637679เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2017 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2021 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมใช้วิธีนี้บ่อยๆมาชื่นชมพี่ครู

เด็กๆจะเรียนรู้แบบนี้ได้ดีกว่าเราสอนครับ

เอาคำนิมหนังสือมาฝาก เย้ๆ

รอพิมพ์ๆๆ

คำนิยม

หนังสือ เกมภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

วิจารณ์ พานิช

...............

 

สำหรับเด็ก การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเล่น    เพราะเป็นกิจกรรมที่ดึงดูดการสนใจหรือสนุก ที่ภาษาวิชาการทางการเรียนรู้เรียกว่ามี student engagement    

การประยุกต์เกมเข้ามาเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างยิ่ง     และจริงๆ แล้ว ใช้ได้สำหรับคนทุกวัย  ไม่ใช่เฉพาะเด็กๆ เท่านั้น  

หนังสือ เกมภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ เล่มนี้จึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับ ใช้เป็นเครื่องมือครู  ในการจัดการเรียนภาษาอังกฤษให้สนุกสนานน่าสนใจ พร้อมๆ ไปกับการได้บรรลุเป้าหมาย ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนด    ยิ่งเป็นหนังสือที่เขียนจากประสบการณ์กว่า ๒๐ ปี    ซึ่งหมายความว่า ได้เคยทดลองใช้เกมเหล่านี้ในนักเรียนหลากหลายบริบทในสังคมไทย    แล้วนำมาปรับปรุงเขียนเป็นหนังสือเล่มนี้    ยิ่งมีคุณค่าสูง

ในมุมของการเรียนรู้ การเล่นเกม คือ “การปฏิบัติ” (doing / acting)     ทฤษฎีการเรียนรู้สมัยใหม่บอกว่า วิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ “Learning by doing”    การเล่นเกมจึงเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง     และจริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น  เล่นที่บ้าน  หรือเด็กๆ ชวนกันเล่นกันเองก็ได้ 

เพื่อให้ครูสามารถใช้หนังสือเล่มนี้แล้วเกิดประโยชน์ต่อ “ผลลัพธ์การเรียนรู้” (learning outcome) ของศิษย์ได้ตามเป้าหมาย  ผมขอให้ข้อสังเกตสองข้อ

  • อย่าให้ความสนุกบดบังเป้าหมายของการเรียนรู้ที่แท้จริง    คือต้องไม่ใช่เล่นเกมแล้วได้แต่ ความสนุกเป็นหลัก  ลืมเรื่องเป้าหมายการเรียนรู้ไปเลย  หรือเอาใจใส่น้อย    ครูต้องตั้ง เป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ไว้ให้ชัดเจน    และสังเกตจากการเล่นเกมว่านักเรียนทุกคนได้ บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ดังกล่าวหรือไม่
  • ตามหลักการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑   จะให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ในระดับ “เรียนแล้วรู้จริง” (mastery learning)  บทเรียนโดยการลงมือทำ (action)   ต้องตามด้วยการ “ไตร่ตรองสะท้อนคิด” (reflection / AAR – After Action Review) ร่วมกัน    ดังนั้น หลังเล่นเกม ครูต้องชวนศิษย์ไตร่ตรอง สะท้อนคิดเพื่อตีความหรือทำความเข้าใจการเรียนรู้ ในมิติที่ลึกจากประสบการณ์ตรงของตน     โดยครูต้องฝึกทักษะการตั้งคำถามให้นักเรียน ตีความประสบการณ์ตรงของตน    เพื่อให้ศิษย์ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่กำหนดในระดับที่ รู้ลึกและเชื่อมโยง

ผมขอแสดงความยินดีและชื่นชม ที่อาจารย์ขจิต ฝอยทอง รวบรวมเกมภาษาอังกฤษจำนวน ๕๑ เกมนี้ออกตีพิมพ์เผยแพร่    ยิ่งเป็นการผลิตผลงานทำความดีให้แก่สังคม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่คุณใหญ่ หรือคุณนงนาท สนธิสุวรรณ (ผู้ล่วงลับ) ที่ผมคุ้นเคยและนับถือด้วยแล้ว ผมยิ่งอนุโมทนา

 

วิจารณ์ พานิช

ประธานมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์   

๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐

ขอบคุณมากค่ะ อ.ธนิตย์  ได้รู้ชื่อการจัดการเรียนรู้หลาย ๆ แบบ

มาช่วยยืนยันค่ะ  ถ้าไม่เข้าใจหรือไม่กระจ่าง  การถ่ายทอดจะเบลอ ๆ  แต่ถ้าเข้าใจแจ่มชัด  ยิ่งลงมือทำเองกับมือ  เวลาถ่ายทอดจะพรั่งพรูทั้งเนื้อหา  และอารมณ์ร่วมขณะทำงานมาจนสำเร็จ

กลุ่ม KM สำนักทันตสาธารณสุข  กรมอนามัย  โดย ทพญ.สุรัตน์  มงคลชัยอรัญญา  ทพญ.วรางคณา  อินทโลหิต (สสจ.หนองบัวลำภู)  ทพญ.ธิรัมภา  ลุพรหมมา (รพ.สระใคร  หนองคาย)

เรียกว่า  การจัดตลาดนัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้  มีเจ้าบ้านเฝ้าแผงความรู้  เป็นผู้ถ่ายทอดให้คนที่มาจับจ่ายฟังตามเวลาที่กำหนด   หมดเวลาค่อยย้ายเปลี่ยนแผง

ที่ได้เรียนรู้จากบันทึกนี้ของอาจารย์ คือ ผู้ถ่ายทอดออกแบบการประเมินผลไว้ก่อนด้วย  เยี่ยมมากค่ะ

ฝากบางบันทึกที่คล้าย อ.ธนิตย์ จัดกระบวนการเรียนรู้วิชาชีววิทยา  แลกเปลี่ยนกันนะคะ

https://www.gotoknow.org/posts...

  • น่าชื่นใจมากๆเลยครับ ทั้งผลงาน และคำนิยมจากท่านปรมาจารย์..
  • และ...จองๆๆๆล่วงหน้า 1 เล่มนะครับ
  • ยินดีด้วย..และขอบคุณอ.ขจิตมากๆเลยครับ
  • การจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ ครั้งที่เราเห็นสิ่งดีๆ ยิ่งเหนือความคาดหมายด้วย ครูจะรู้สึกดีเป็นพิเศษเลยครับ
  • ขอบคุณทพญ.ธิรัมภาครับ

บทความของครูธนิตย์ ผมกระจ่างในหลายๆ เรื่องครับ

1. วิธีการนำเสนอด้วยภาพประกอบคำบรรยาย ให้ความคิดรวบยอดการ doing ของผู้เรียนได้เด่นชัด เข้าใจง่ายต่อการรับรุ้ 

2  ทั้งภาพและคำบรรยาย ที่นำเสนอ ย้ำให้เห็นถึง คำว่า "Learning by doing" เพื่อนำไปสู่ Master Learning โดยแท้

3 รูปแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้ง 6 ขั้นตอน ออกแบบให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีบทบาทอย่างทั่วถึง


4.  รูปแบบการเรียนรู้ร่วมกัน กับ การจัดตลาดนัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลุ่ม KM สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย สามารถยืนยัน กระบวนทัศน์ใหม่ๆ ซึ่งกันและกันได้อย่างดียิ่ง

5  ผมขออนุญาต ครูธนิตย์นำภาพ Learning by  doing ไปใช้ประกอบการเสนอความคิดครับ 

6  เวลา ความพยายาม ความอดทนของครูธนิตย์  เพื่อพาศิษย์เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ขอได้รับความชื่นชมจากใจจริงของผมครับ

บทความของครูธนิตย์ ผมกระจ่างในหลายๆ เรื่องครับ

1. วิธีการนำเสนอด้วยภาพประกอบคำบรรยาย ให้ความคิดรวบยอดการ doing ของผู้เรียนได้เด่นชัด เข้าใจง่ายต่อการรับรุ้ 

2  ทั้งภาพและคำบรรยาย ที่นำเสนอ ย้ำให้เห็นถึง คำว่า "Learning by doing" เพื่อนำไปสู่ Master Learning โดยแท้

3 รูปแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้ง 6 ขั้นตอน ออกแบบให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีบทบาทอย่างทั่วถึง


4.  รูปแบบการเรียนรู้ร่วมกัน กับ การจัดตลาดนัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลุ่ม KM สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย สามารถยืนยัน กระบวนทัศน์ใหม่ๆ ซึ่งกันและกันได้อย่างดียิ่ง

5  ผมขออนุญาต ครูธนิตย์นำภาพ Learning by  doing ไปใช้ประกอบการเสนอความคิดครับ 

6  เวลา ความพยายาม ความอดทนของครูธนิตย์  เพื่อพาศิษย์เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ขอได้รับความชื่นชมจากใจจริงของผมครับ

ขอบคุณท่านอาจารย์Preecha รวมทั้งยินดีมากๆเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท