“เด็กไทยก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสอบ PISA เพราะเห็นว่าไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการสอบ ซึ่งจะต้องสร้างแรงจูงใจในการสอบ PISA ให้แก่นักเรียน เหมือนสร้างความฮึกเหิมว่าการสอบครั้งนี้เราต้องทำเพื่อประเทศชาติ โดยอาจจะมีการมอบรางวัลให้ด้วย ทั้งนี้ สสวท.และ สพฐ.จะต้องไปวางแนวทางเตรียมความพร้อมให้โรงเรียนอย่างไรบ้าง” รมว.ศธ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในการมอบนโยบายเรื่องดังกล่าวให้ สพฐ.และ สสวท.ไปดำเนินการนั้น ตนไม่อยากให้เป็นช่องทางในการให้เด็กแห่ไปติวเตอร์ แต่ต้องการให้ครูมุ่งเน้นการเรียนการสอนในห้องเรียนให้เข้มข้นมากขึ้น เช่น สอบวัดความรู้วันต่อวันว่าเด็กเข้าใจในบทเรียนหรือสิ่งที่ครูได้สอนไปหรือไม่ (ที่มา ; https://www.thairath.co.th/content/1072937)
อ่านข่าวรมต.ศธ. พูดถึงการสอบ PISA แล้ว ในฐานะครูผู้สอนคนหนึ่ง รู้สึกอย่างไรบอกไม่ถูก อันที่จริงไม่ได้เพิ่งรู้สึกต่อเรื่องนี้ เดี๋ยวนี้ หรือเพราะคำพูดของรมต.ครั้งนี้ดอก แต่เป็นเพราะสถานการณ์การจัดการศึกษาปัจจุบัน แทบทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พูดในทำนองเดียวกันนี้ “ต้องเน้นการจัดการเรียนสอนในห้องหรือในชั้นเรียนจริง” ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี หรือหลักการของพ.ร.บ.การศึกษา 2542 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551
ดังนั้น ทำให้เข้าใจได้ว่า ทุกฝ่ายก็รู้ดีอยู่แล้ว ว่าควรจะปฏิบัติหรือแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาเราอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทางและยั่งยืน สามารถพัฒนาเด็กหรือเยาวชนให้เป็นกำลังหลักที่จะพัฒนาบ้านเมือง แข่งขันกับใครเขาได้ในอนาคต
แต่ถ้ามองให้ถึงก้นบึ้ง ทำไมยังต้องเน้นการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนอยู่อีก ทั้งที่พูดกันอย่างนี้มานาน ทำไมการจัดการเรียนรู้ของครู จึงยังไม่เน้นให้เด็กๆคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือมีวิจารณญาณจริงๆจังๆเสียที ลองสังเกตประโยคหรือคำพูดทั้งหมดของรมต.ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นดู ก็อาจจะพบความจริง ความคิด หรือที่มา
มีความขัดแย้งกันเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวคิด “ไม่อยากให้เป็นช่องทางให้เด็กแห่ไปติวเตอร์ แต่ต้องการให้ครูมุ่งเน้นการเรียนการสอนในห้องเรียนให้เข้มข้นมากขึ้น เช่น สอบวัดความรู้วันต่อวัน ว่าเด็กเข้าใจในบทเรียนหรือสิ่งที่ครูได้สอนไปหรือไม่” ไม่อยากให้ติว แต่อยากให้ครูในชั้นเรียนสอบวัดความรู้เด็กๆวันต่อวัน และถ้าครูเลือกใช้วิธีประเมินด้วยการสอบถี่ยิบวันต่อวันเช่นนี้ หรือเน้นเรียนเพื่อให้ทำข้อสอบได้ การเรียนการสอนในชั้นเรียนจะเข้าทางติวเตอร์ทันที ที่ไม่อยากให้แห่ไปติวเตอร์ ก็คงจะเป็นไปในทางตรงข้าม และในที่สุดครูในโรงเรียนคงถูกกลืน ด้วยการใช้วิธีบรรยาย แบบเดียวกับการติวอีกเช่นเคย
เมื่อวานก่อนฟังรองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวเปิดการประชุมสัมมนา ท่านเล่าว่า มีโอกาสคุยกับอธิการบดีระหว่างพิธีเปิดมหกรรมการติวนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหลายจังหวัดในละแวกนี้ ผู้สอนเป็นติวเตอร์ชื่อดังระดับประเทศหลายท่าน อธิการบดีมหาวิทยาลัยปรารภกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดว่า(ตามที่ท่านเล่า) “ทำไมโรงเรียน หรือที่ห้องเรียน ครูไม่สอนให้เหมือนกับติวเตอร์เหล่านั้นเสียเลย” ท่านยังเสนอแนะเพิ่มเติมด้วย น่าจะถอดบทเรียนติวเตอร์ดังๆทั้งหลาย เพื่อเป็นต้นแบบให้กับครูผู้สอนในโรงเรียน ซึ่งจะทำให้การติวเป็นไปโดยตลอดเวลา มิใช่ดำเนินการแค่ชั่วครู่ชั่วยามอย่างทุกวันนี้
ถ้าใครไม่ลืม แนวคิดนี้มีมาทุกสมัย ไม่ว่ารมต.จะมาจากพรรคการเมืองใด ครั้งหนึ่งศธ.ถึงกับเคยจัดติวผ่านทีวีด้วยตัวเองก็เคยมาแล้ว แม้แต่รัฐบาลนี้ก็เถอะ ความคิดเหล่านี้ปรากฎให้เห็นอยู่เนืองๆ ก่อนหน้านี้ รมต.เคยให้สัมภาษณ์ชื่นชมสถาบันติวเตอร์ชื่อดังแห่งหนึ่งอย่างน่าประหลาดใจถึงความคิดของคนระดับเจ้ากระทรวง อีกวาระหนึ่งในรัฐบาลนี้ก็คือ การเชิญติวเตอร์ชื่อดังทั้งหลายมาสอนบันทึกวีดีทัศน์ แล้วแจกจ่ายไปยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อนำไปใช้สอนหรือเปิดให้นักเรียนเรียน
คณะศึกษานิเทศก์(ศน.)มาตรวจเยี่ยมโรงเรียน ก็พูดลักษณะนี้ ทำยังไงผลการสอบโอเน็ตจึงจะมีคะแนนสูงขึ้น สูงกว่าร้อยละ 50 หรือมีพัฒนาการกว่าเดิมร้อยละ 3 ต้องเน้นการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ให้ตรงตามมาตรฐานหรือตัวชี้วัดของหลักสูตร โดยไม่เน้นติวเหมือนที่ผ่านมา ข้อเสนอแนะของศน.ก็คงได้รับการถ่ายทอดมาจากรมต. เพราะเหมือนกันทุกประการ “เน้นให้ทำข้อสอบได้ เน้นการจัดการเรียนการสอนในชั้น” คำพูดของศน.จึงมีความขัดแย้งในตัวเองเช่นกัน เน้นให้ทำข้อสอบได้ เน้นให้ได้คะแนนดีจากการทำข้อสอบ เมื่อเน้นที่ข้อสอบ เน้นที่ความรู้ วิธีที่ดีที่สุดคงไม่พ้นการบรรยายหรือติวอีกนั่นเอง
การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ตาม พ.ร.บ.การศึกษา 2542 หรือหลักสูตรแกนกลาง 2551 ในปัจจุบัน กำหนดให้ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กล่าวคือ เน้นให้เด็กๆคิดเอง ทำเอง ลงมือปฏิบัติ นำเสนอ หรือ สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้เน้นเพียงความรู้ แต่ยังเน้นให้คิดเป็นทำเป็นด้วย รู้เฉยๆไม่เพียงพอ ต้องนำไปประยุกต์ใช้ได้ หรือต้องมีทักษะกระบวนการ นอกจากนั้น ยังต้องมีศีลธรรมอันดีงาม ต้องเป็นคนดี คนดีอาจสำคัญกว่าคนเก่งด้วยซ้ำ เด็กๆที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ซึ่งจะนำพาให้สังคมสงบสุข ร่มเย็น เป็นสังคมน่าอยู่ จำเป็นที่ครูผู้สอนต้องปลูกฝังเรื่องเหล่านี้
การเรียนการสอนในชั้นเรียนจึงไม่สามารถเน้นให้เด็กๆทำข้อสอบโอเน็ตได้ หรือทำข้อสอบ PISA ได้เพียงอย่างเดียว ครูต้องพัฒนาเด็กหลายๆประการควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ ทักษะกระบวนการ การนำไปใช้ หรือมีเจตคติที่ดีก็ตาม
ล่าสุด อ่านข่าวรมต.ศธ.พูดถึงการสอบ PISA ประกอบกับการรับรู้ต่อเรื่องนี้ จากหลายรัฐบาลที่ผ่านมา รู้สึกสงสัย..
บ้านเมืองเราจะเน้นเรียนแค่ให้ทำข้อสอบได้ จะเอาอย่างนั้นจริงๆหรือ?
ระหว่างการนำองค์ความรู้มาสร้างนวัตกรรมกับการทำข้อสอบ pisa มีกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกัน ทั้งนวัตกรรมและ pisa ก็ต้องใช้ การคิดวิเคราะห์ คิดวิพากษ์ คิดสร้างสรรค์ ก็ส่งเสริมให้ไปด้วยกันได้ แต่พอมาพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความสับสนก็เกิดขึ้น
การสอนของติวเตอร์บางที่เน้นการทำข้อสอบ
ไม่ได้เน้นการปูพื้นฐานเพื่อให้ผู้เรียนมีพื้นฐานที่ดี
พอนักเรียนหรือนักศึกษาพ้นการสอบมาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยจะมีปัญหามาก
เพราะเรียนเพื่อสอบอย่างเดียวไม่ได้คิดวิเคราะห์อะไรเลย
ขอบคุณมากๆครับ
สบายดีนะครับ
ตัวเองคิดอย่างนี้ครับท่านอาจารย์..
1.สอบโอเน็ตเพื่อวัดมาตรฐาน ซึ่งทุกโรง ทุกคน ควรจะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ..หลักการดี แต่พอนำไปสู่การปฏิบัติ แทนที่เราจะไปเน้นจัดการเรียนการสอนในชั้น แต่ที่ผ่านมา ที่เราเห็น ติวกันระเบิดเถิดเทิง ลามเข้าไปถึงชั้นเรียน(จ้างติวเตอร์มาสอนที่โรงเรียนเลย) เลยเถิดไปถึง
ขนาดบางรัฐบาลจัดติวเองเลยด้วยซ้ำไป..
2.สอบPISA วัดความสามารถของเยาวชนในการคิด วิเคราะห์ สื่อสาร..หลักการดีอีก แต่พอนำไปสู่การปฏิบัติ ดูจะไม่ต่างจากโอเน็ตครับ แทนที่จะไปเน้นการเรียนการสอนในชั้น ให้คิดวิเคราะห์ยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามหลักสูตร ที่เรามีอยู่แล้ว..
เท่าที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอด คำพูดของทุกๆคน เพิ่งจะเปลี่ยนหรือเพิ่งได้ยินอย่างนี้เมือเร็วๆนี้นี้เอง "ว่าต้องเน้นการจัดการเรียนการสอนในชั้น" แต่หางเสียงก็ยังทะแม่งๆอยู่ดี
แต่ถ้าเป็น ศน. หรือที่โรงเรียนทุกวันนี้ การปฏิบัติยังเป็นในทิศทางเดิมๆครับ คือ เน้นทำข้อสอบให้ได้คะแนนดีๆ การติวยังมิได้ลดความสำคัญลง การเรียนการสอนในชั้น ไม่ได้ถูกเน้นอย่างคำพูด..ซึ่งเพิ่งเคยได้ยินในระยะหลังๆ
ขอบคุณข้อคิดเห็นท่านอาจารย์Preechaมากๆครับ
ขอบพระคุณในวิทยาทานครับ
ส่วนตัวผมชอบในแนวคิดและวิถีของ PISA มากเลย พึ่งสนใจและติดตามรายงานสองครั้งล่าสุดกับสถิติ ทุก 3 ปีที่ผ่านมา
ทำให้ผมนึกถึงสองคำคือ "เรียนเพื่อรู้-เรียนเพื่อผ่าน" วัดผลทีไรนักเรียนก็ยังสบสนเช่นเคยครับ