ชีวิตที่พอเพียง : 3007. มั่งคั่งและความเหลื่อมล้ำ



ลูกสาวคนเล็กมาแนะนำบทความในบางกอกโพสต์ Thailand Third Most Unequal Country in the World ที่ผมพลาดไป    บางกอกโพสต์ลงไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ปีที่แล้ว  

เขาวัดความไม่เท่าเทียมง่ายๆ ด้วยสัดส่วนร้อยละของสินทรัพย์ที่คนรวยที่สุด 1% ครอบครอง    อันดับหนึ่งคือรัสเซีย ร้อยละ ๗๔.๕   อันดับสองอินเดีย ๕๘.๔  เฉือนอันดับสามคือไทยไปนิดเดียว ซึ่งอยู่ที่ ๕๘.๐  

ผมอยากรู้ว่าประเทศใดที่ความเหลื่อมล้ำต่ำติดอันดับ    ต้องเข้าไปดูที่รายงานต้นตอ คือ Global Wealth Databook 2016  ของบริษัท Credit Suisse   ซึ่งผมดูไม่ค่อยเป็น    พบในตาราง 6-5  ว่าประเทศญี่ปุ่น คนรวยที่สุด 1%  ครอบครองความมั่งคั่งร้อยละ ๑๘.๕ ของทั้งประเทศ    ประเทศที่ตัวเลขต่ำสุดคือฮังการี ๑๗.๙    ตัวเลขของทั้งโลกคือ ๕๐.๘   ในโลกนี้คนรวยที่สุดร้อยละ ๑ ครอบครองความมั่งคั่งเกินครึ่งหนึ่งของโลก    ตามตารางนี้คนกลุ่มนี้มีความมั่งคั่งต่ำสุดคนละ ๗๔๔,๓๙๖ เหรียญ หรือเท่ากับประมาณ ๒๖ ล้านบาท    ใครอยากรู้ว่าตนเองอยู่ใกลุ่ม the one percent หรือไม่เทียบเอาเองนะครับ    ผมค้นด้วยกูเกิ้ลพบว่าเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกในขณะนี้คือ บิลล์ เกตส์ มีความมั่งคั่งประมาณ ๓ ล้านล้านบาท   ลองหารดู พบว่าในกลุ่ม the one percent คนครองอันดับหนึ่ง กับคนครองอันดับสุดท้าย (ประมาณอันดับที่ ๗๒.๔ ล้าน) มีความมั่งคั่งต่างกันกว่าหนึ่งหมื่นเท่า หรือจริงๆ แล้ว เกือบหนึ่งหมื่นสองพันเท่า    

 มาเตะตาที่ตาราง 1-4 การเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่ง (market capitalization) ระหว่างปี 2015 – 2016 ของไทยลดลงร้อยละ ๖.๗    โดยที่ประเทศส่วนใหญ่ติดลบแบบไทย    แต่มีประเทศอิหร่านติดบวกนำโด่ง ที่ร้อยละ ๑๘๘.๑   โดยเวียดนามก็ติดบวกร้อยละ ๑๖.๔   ประเทศที่ติดลบสูงสุดคือ ยูเครน ร้อยละ ๙๖.๘   ประเทศไทยเราสินทรัพย์ทั้งประเทศติดลบ แต่ราคาบ้านสูงขึ้นร้อยละ ๖.๕   

เอกสารนี้บอกวิธีการวิจัยเก็บข้อมูลที่ซับซ้อนมาก    ผมอ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง มาติดใจที่ข้อความ ตอนท้ายๆ ของ section 1.5    ที่บอกว่า wealth is more unequally distributed than income    นอกจากนั้น ความมั่งคั่งติดลบได้ (คือเป็นหนี้)   รายได้ไม่มีวันติดลบ (แต่อาจน้อยกว่ารายจ่าย)    ในตาราง 1-5 คอลัมน์ 10% ล่างของความมั่งคั่ง  คนกลุ่มนี้ของประเทศส่วนใหญ่มีความมั่งคั่งติดลบเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งญี่ปุ่น    เสียดายไม่มีข้อมูลของไทย  

ในตารางที่ 1-1 เขาจัดประเทศไทยอยู่ใน Lower Middle Income นะครับ   ไม่ใช่ Upper Middle อย่างที่เราเข้าใจกัน   

ตารางที่ดูสนุกที่สุดคือตาราง 2-1 Country Details    ซึ่งตัวเลขบอกว่าสหรัฐอเมริกา มีความมั่งคั่งอันดับหนึ่ง (ร้อยละ ๓๓.๒ ของโลก) ที่ทิ้งประเทศอันดับสองคือญี่ปุ่น (ร้อยละ ๙.๔) ห่างมาก    และที่สามคือจีน (๙.๑)   ผมแปลกใจที่เยอรมนีอยู่ที่ร้อยละ ๔.๙   น้อยกว่าสหราชอาณาจักร (๕.๕)    ส่วนฝรั่งเศส อยู่ที่ ๔.๗    ไทยเรามีความมั่งคั่งรวมทั้งประเทศ ร้อยละ ๐.๒ ของทั้งโลก  โดยที่เรามีพลเมือง ร้อยละ ๑ ของโลก    แต่ไทยเรายังนับว่าดีกว่าอีก ๑๑๑ ประเทศ ที่ความมั่งคั่งแสดงในตาราง 2-1 เท่ากับ ๐.๐   คือไม่ถึง ๐.๑ แปลว่าไม่ถึงหนึ่งในพันของความมั่งคั่งของทั้งโลก

ในตาราง 2-1 ส่วนประเทศไทย   มีข้อมูลดังนี้  GDP per Adult 2016 = $10,080, Wealth per Adult 2000 = $2,570, Wealth per Adult 2016 = $7,926, Total Wealth $402 billion    จะเห็นว่าในเวลา ๑๖ ปี ความมั่งคั่งของคนไทยที่เป็นผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นกว่าสามเท่า    โปรดสังเกตว่า หน่วยที่รายงานนี้ใช้ ไม่ใช่ต่อหัวประชากรนะครับ    แต่เป็นหน่วยต่อผู้ใหญ่หนึ่งคน  

ข้อมูลที่บอกความเหลื่อมล้ำ อยู่ในตาราง 6-5  Wealth shares and minimum wealth of deciles and top percentiles for regions and selected countries, 2016   ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่ได้รับเลือกเอาข้อมูล ไว้ในตารางนี้ด้วย    และเป็นที่มาของข่าวใน นสพ. บางกอกโพสต์ ข้างต้น     ซึ่งข้อมูลของไทยมีดังนี้ สัดส่วนความมั่งคั่งของคน 10% ล่าง  ร้อยละ ๐.๑,  สัดส่วนความมั่งคั่งของคน 10% บน   ร้อยละ ๗๙.๙    คนสองกลุ่มนี้มีความมั่งคั่งหรือสินทรัพย์ต่างกัน ๗๙๙ เท่า    สัดส่วนความมั่งคั่งของคน 1% บน ร้อยละ ๕๘.๐  

แปลก ที่ประเทศส่วนใหญ่ คน 10% ล่างมีความมั่งคั่งติดลบเกือบทั้งนั้น    และประเทศแถบยุโรปเหนือ ที่ผมเคยคิดว่าเขามีความเหลื่อมล้ำน้อย คน 10% ล่าง กลับมีตัวเลขความมั่งคั่งติดลบสูง เช่น เดนมาร์ก -๑๒.๖   เป็นตัวเลขติดลบสูงสุด    นอร์เวย์ -๔.๑   ไอร์แลนด์ -๓.๑   ตัวเลขทั้งโลก -๐.๔   ทำให้ผมคิดว่า นิยามของการเป็นหนี้มีหลายนิยาม    และมีผลต่อการดำรงชีวิตต่างกัน    รวมทั้งนิยามก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม 

ตาราง 6-1 บอกตัวเลขสถานภาพความมั่งคั่งของทั้งโลก และรายประเทศ มีตัวเลขของโลก และของ (ไทย)  ดังนี้    จำนวนประชากร ๗,๓๔๑.๖ (๗๐.๑) ล้าน,  จำนวนประชากรผู้ใหญ่ ๔,๘๔๑.๒ (๕๐.๗) ล้าน,  ความมั่งคั่งรวม ๒๕๕,๗๐๘ (๔๐๒) พันล้านเหรียญสหรัฐ,  ความมั่งคั่งเฉลี่ย (mean) ต่อผู้ใหญ่ ๑ คน ๕๒,๘๑๙ (๗,๙๒๖) เหรียญ,  กึ่งกลาง (median) ความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อผู้ใหญ่ ๑ คน ๒,๒๒๒ (๑,๔๖๙) เหรียญ,   จำนวนเศรษฐีมีสมบัติหนึ่งล้าน (เหรียญ) ขึ้นไป ๓๒.๙ ล้าน (๒๘,๐๐๐) คน,   คนที่มีความมั่งคั่งระดับ 10% บนของโลก ๔๘๔.๑ (๐.๔๙) ล้านคน,  คนที่มีความมั่งคั่งระดับ 1% บนของโลก ๔๘.๔ ล้านคน (ของไทย ๓๙,๐๐๐ คน)  


วิจารณ์ พานิช

๑๒ ส.ค. ๖๐

วันเฉลิมพระชนม์พรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙

 


หมายเลขบันทึก: 637217เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2017 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2017 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท