ชีวิตที่พอเพียง : 3006. เพื่อนพ้องจุลชีพ : เพื่อนร่วมร่าง



หนังสือ Follow Your Gut เขียนโดย Rob Knight และ Brendan Buhler บอกว่าชีวิตเราขาดเธอไม่ได้ … จุลชีพ

ในร่างกายคนคนหนึ่งมีเซลล์ของเราเองประมาณ ๑๐ ล้านล้านเซลล์    แต่มีจุลชีพหลากหลายชนิด อยู่ในตัวเรา ประมาณ ๑๐๐ ล้านล้านตัว   และอยู่ในทุกที่ในร่างกาย ทั้งภายในร่างกาย และที่ผิวหนัง       มากที่สุดในทางเดินอาหาร    เวลานี้สามารถตรวจ ลายพิมพ์นิ้วมือจุลชีพ (microbial fingerprint) ที่มีความจำเพาะของคนแต่ละคนได้    โดยมีความแม่นยำที่ร้อยละ ๘๕

มนุษย์ต้องรู้จักวิธีอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมร่าง (กาย) เหล่านี้    จึงจะมีชีวิตที่ดี    หากเราทำบางพฤติกรรม โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่ทำให้ “เพื่อนร่วมร่าง” ของเราเดือดร้อน ตัวเราก็เดือดร้อนด้วย

การกระทำที่ทำให้ขาด “เพื่อนร่วมร่าง” ที่มนุษย์ได้มาตามธรรมชาติ   มนุษย์ผู้นั้นก็อาจมีสุขภาพ ไม่สมบูรณ์    เช่นการผ่าท้องคลอด    ทำให้ทารกไม่มีโอกาสผ่านช่องคลอด และรับเอาจุลชีพในช่องคลอด ของแม่มาเป็นของตน    เติบโตขึ้นเป็นโรคภูมิแพ้  และโรคอ้วน มากกว่าคนที่คลอดตามปกติ    มีผู้ค้นพบว่าในช่องคลอดของหญิงตั้งครรภ์มีแบกทีเรียบางชนิด เช่น Lactobacillus เพิ่มขึ้น    

มีการทดลองแก้ปัญหาในเด็กผ่าท้องคลอด โดยเอาสำลีสะอาดพันปลายไม้เอาไปทาที่ช่องคลอดแม่    แล้วเอาไปทาในปาก ผิวหนัง และหูของทารกผู้เป็นลูก เพื่อให้ลูกได้รับจุลินทรีย์จากช่องคลอดแม่ เป็นมรดกปกป้องสุขภาพของตนต่อไป    จะได้ผลหรือไม่ได้ผลแค่ไหนต่อไปคงจะมีผลการวิจัยออกมาเผยแพร่ 

ความจำเพาะของคนแต่ละคนเมื่อวัดที่ ดีเอ็นเอ    คนเรามีความเหมือนกันร้อยละ ๙๙.๙๙    แต่ความเหมือนของจุลชีพในทางเดินอาหาร ในคนต่างคน เหมือนกันเพียงร้อยละ ๑๐   และจุลชีพที่นิ้วมือ มีความเหมือนกันร้อยละ ๑๕  

จุลชีพในร่างกายคนส่วนใหญ่อยู่ในทางเดินอาหาร และทำหน้าที่สำคัญ ๒ อย่าง  (๑) จะสะกัดพลังงานจากอาหารมากน้อยเพียงใด  (๒) ควบคุมการทำงานของยาที่เรากิน 

จุลินทรีย์ที่ผิวหนังกินของเสียที่เราปล่อยออกมาทางผิวหนัง และปล่อยกลิ่นที่ต่างกัน และมีแรงดึงดูดยุงมากัดต่างกัน    มีคนเล่าว่า นี่เป็นผลการวิจัยของเด็กชั้นประถม    ที่สังเกตว่าน้องสาวถูกยุงกัดมากกว่าตนเอง    จึงจัดการขัดสีฉวีวรรณน้องสาว แถมด้วยทาแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ    คราวนี้น้องสาวไม่ดึงดูดยุงอีกแล้ว 

จุลินทรีย์เพื่อนร่วมร่างยังมีผลต่อความอ้วนและอารมณ์ของเราอีกด้วย    การทดลองเรื่องจุลชีพกับน้ำหนักตัว  ทำในหนู   เมื่อเอาจุลินทรีย์จากหนูอ้วนถ่ายไปใส่ให้หนูผอม    มีผลให้หนูผอมมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น    และเมื่อเอาจุลินทรีย์จากคนผอมใส่ให้หนูอ้วน    พบว่าจุลินทรีย์จากคนผอมทำให้จุลินทรีย์ตัวการอ้วนทำงานไม่ได้ และหนูอ้วนมีน้ำหนักลดลง    ในเรื่องความอ้วนนั้น จุลินทรีย์สาเหตุอ้วนเข้าไปส่งสัญญาณให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารเข้าร่างกายมาก

ผมเคยเล่าเรื่องจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารส่งอิทธิพลต่อการทำงานของสมอง ที่นี่    ซึ่งเป็นเรื่องราวของ microbiome - gut – brain axis 

 เขาบอกว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้า     มักมีอาการซึมเศร้าร่วมกันกับอาการอักเสบในทางเดินอาหาร    การอักเสบนี้ทำให้แบกทีเรีย oscillobacter  ปล่อยสาร gamma – aminobutyric acid ออกมา    สารนี้มีฤทธิ์กล่อมประสาท ช่วยการนอนหลับ     แต่ก็ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ด้วย    ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง จุลินทรีย์แหล่งอารมณ์ดี ที่นี่

อีกโรคหนึ่งที่พบหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับแบกทีเรียในทางเดินอาหาร คือ ออทิสซึ่ม    ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าสาร 4-EPS มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมแบบออทิสซึ่ม   โดยเมื่อเอาไปฉีดเข้าหนู  หนูจะมีพฤติกรรมแบบออทิสซึ่ม    แต่เมื่อให้จุลินทรีย์ Bacterioides fragilis แก่หนูนั้น    พบว่า นอกจากพฤติกรรมออทิสซึ่มหายไปแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาการเรียนรู้ และปัญหาทางลำไส้ด้วย    ผมไม่ได้อ่านรายละเอียดเอง จึงเล่ารายละเอียดไม่ได้   และยังไม่ใช่ผลการศึกษาในคน    ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารกับออทิสซึ่ม ที่นี่

เรื่องมาถึง probiotics และ prebiotics ที่เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาหารสุขภาพ    probiotics คือจุลินทรีย์ที่มีหลักฐานว่าออกฤทธิ์ดีต่อสุขภาพ    ส่วน prebiotics คือสารอาหารที่จุลินทรีย์ดังกล่าวชอบ    ธุรกิจอาหารเสริมที่มี probiotics และหรือ prebiotics จึงเฟื่องฟูมาก     มีทั้งที่มีหลักฐานเชื่อถือได้ และที่แอบอ้างเกินจริง    ผมไม่เสียเงินซื้อเลย

เรื่องสุดท้ายและสำคัญที่สุดคือการฆ่าเพื่อน หรือทำให้เพื่อนกลายเป็นผู้ร้ายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์    ผ่านการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ หรือใช้อย่างผิดหลัก    โดยเฉพาะการใช้ในอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ เพื่อช้วยให้สัตว์โตเร็ว น้ำหนักดี   ก่อให้เกิดเชื้อแบกทีเรียดื้อยา    เกิดการระบาด และทำให้คนตายในปัจจุบัน ๗ หมื่นคนทั้งโลก     ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในปี ค.ศ. 2050 จะมีคนตายจากเชื้อดื้อยา ๑๐ ล้านคน    มากกว่าการตายจากโรคมะเร็ง 


วิจารณ์ พานิช

๗ ส.ค. ๖๐

 


หมายเลขบันทึก: 637113เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2017 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2017 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Gut bacteria is fast becoming another group of 'food'. They are already recognized as important factors in our 'gut' (stomach and intestines). Currently, gut bacteria are accepted as  'catalysts' and 'pre-processors' for processing the 'classical' types [from อาหารต้านมะเร็ง โดย ศ. ไพศาล เลาห์เรณู, บทที่ ๓  องค์ประกอบของอาหาร: น้ำ คาร์โบไฮเดรค (แป้งและน้ำตาล) โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ สารมีสี (pigments) น้ำมันหอมระเหย (aromatic compounds)] of food in our 'bio-reactor' (gut).

"Sufficiency" seems to be the 'law of food' that holds true for all types of food, including gut bacteria. How much is sufficient for a healthy body and mind will take some more time and research to establish.

Gut bacteria is fast becoming another group of 'food'. They are already recognized as important factors in our 'gut' (stomach and intestines). Currently, gut bacteria are accepted as  'catalysts' and 'pre-processors' for processing the 'classical' types [from อาหารต้านมะเร็ง โดย ศ. ไพศาล เลาห์เรณู, บทที่ ๓  องค์ประกอบของอาหาร: น้ำ คาร์โบไฮเดรค (แป้งและน้ำตาล) โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ สารมีสี (pigments) น้ำมันหอมระเหย (aromatic compounds)] of food in our 'bio-reactor' (gut).

"Sufficiency" seems to be the 'law of food' that holds true for all types of food, including gut bacteria. How much is sufficient for a healthy body and mind will take some more time and research to establish.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท