ชีวิตที่พอเพียง 2971. กระเพาะอาหารเสวนากับสมอง



บทความเรื่อง Mind over Meal : Does Weight-Loss Surgery Rewire Gut-Brain Connection? ลงในนิตยสาร Scientific American Mind ประจำเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๖๐   บอกเราว่า มนุษย์มี “สมองที่สอง” อยู่ในท้อง     และสมองทั้งสองคุยกันผ่านเครือข่ายใยประสาท และผ่านระบบ wireless    แต่ไม่ใช่ wireless แบบใช้คลื่นนะครับ    เป็น ระบบสารเคมี คือฮอร์โมน

ฝรั่งชอบพูดว่า ที่ตัดสินใจนั้นใช้ gut feeling   อาจแผลงเป็นสะแลงไทยสุดๆ ว่า “ใช้ตูดคิด” (แทนที่จะใช้หัวคิด)   คือฝรั่งเขาใช้กระเพาะอาหารตัดสินใจได้    เราใช้ส่วนปลายสุดของระบบทางเดินอาหารคิด ใครจะทำไม


เวลาคนเรามีอารมณ์รุนแรง อาจถึงกับอาเจียน  หรือเกิดความปั่นป่วนมวนท้อง แบบที่ฝรั่งบอกว่า มีผีเสื้อบินว่อนอยู่ในท้อง    แสดงว่าการรับรู้อารมณ์สื่อสารไปยังระบบทางเดินอาหารได้   


ที่จริงมีความรู้เรื่อง “ระบบประสาทของลำไส้” (enteric nervous system) มานานมากแล้ว    แต่ความสำคัญของระบบประสาทนี้ฟื้นขึ้นมาเมื่อมีการค้นพบว่า กลไกที่การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร เพื่อแก้ไขโรคอ้วน ที่เรียกว่าการผ่าตัด bariatric นั้น    กลไกสำคัญสู่การลดน้ำหนักจากการลดปริมาณอาหารนั้น ผลจากขนาดของกระเพาะอาหารเล็กลงทำให้อิ่มเร็ว เป็นผลส่วนน้อย   กลไกส่วนใหญ่เกิดจากการผ่าตัดไปทำให้ สมองที่สองกับสมองที่หนึ่งคุยกันด้วยสัญญาณที่ต่างออกไป    นอกจากนั้น การผ่าตัดยังทำให้เชื้อจุลินทรีย์ ในลำไส้เปลี่ยนแปลง  มีผลเปลี่ยนแปลงสัญญาณประสาทระหว่างสมองที่สองกับสมองที่หนึ่งอีกด้วย    ทั้งหมดนั้นทำให้สมองได้รับสัญญาณอิ่มชัดเจนขึ้น    สัญญาณเจริญอาหารจึงถูกควบคุมง่ายขึ้น  


เขาเล่าเรื่องพยาบาลอายุ ๔๑ ปี ที่น้ำหนักค่อยๆ เพิ่มตั้งแต่เด็ก และก่อนผ่าตัดน้ำหนัก ๑๒๒ กิโลกรัม    หลังผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออกไปร้อยละ ๘๕   เหลือเท่ากับกล้วยหอม ความอยากอาหารของเธอลดลงไป     แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือความอยากอาหารมันๆ หวานๆ หายไป    กลายเป็นคนที่กินอาหารสุขภาพ     และนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า     การเปลี่ยนปลงนั้นเกิดจากกระเพาะอาหารคุยกับสมองด้วยสัญญาณที่แตกต่าง ไปจากเดิม 


ความรู้เรื่องสื่อสัญญาณระหว่างกระเพาะอาหารกับสมอง นำไปสู่การวิจัยค้นหาแนวทางรักษาโรคอ้วน โดยไม่ต้องผ่าตัด    โดยมีหลักฐานว่าโรคอ้วนไม่ใช่โรคเดียว     แต่เป็นกลุ่มอาการที่เกิดได้จากสาเหตุที่แตกต่างกัน     บางคนอาจรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายจุลินทรีย์ในลำไส้    บางคนรักษาโดยการบำบัดเชิงพฤติกรรม (behavioral therapy)    บางคนอาจรักษาด้วย โปรไบโอติกส์  หรือยาปฏิชีวนะ  



วิจารณ์ พานิช

๒๘ มิ.ย. ๖๐

 


 

 

หมายเลขบันทึก: 632102เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2017 00:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2017 00:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

There are many studies on "gut bacteria" and behaviour/mood or state of mind/brain (neuriscience perspective)/... I read some but am confused whether 'we' as a 'sentient being' (In Buddhists term with 'sati') are the master of our body (parts) and mind or 'they' (the lives that live on us) are very much influential on us -- in much the same way we human impact our "world".

We have seen how the tools 'we' created can change 'us' - including the 'view' we created can change societies.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท