อาหารต้านมะเร็ง โดย ไพศาล เลาห์เรณู บทที่ ๕ กันดีกว่าแก้



บทที่ 5 กันดีกว่าแก้

Preventive is better than curative (กันดีกว่าแก้) เป็นคำพังเพยหรือปรัชญาที่มีคุณค่ายิ่งต่อสุขภาพชีวิตของประชากรทั่วไป หากประชากรรู้วิธีป้องกันภัยอันตรายต่างๆที่มีต่อสุขภาพ โรคต่างๆที่เกิดขึ้นก็จะมีภัยน้อยลง และประชากรก็จะเจ็บป่วยน้อยลงไปด้วย ซึ่งจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจและผลผลิตของประเทศโดยตรง

วงการแพทย์ของไทยพัฒนาตามอย่างวงการแพทย์ของประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่แพทย์ไทยนิยมไปศึกษาต่อ วงการแพทย์ในประเทศตะวันตกเน้นสอนนักศึกษาแพทย์ให้รู้วิธีวินิจฉัยโรคต่างๆ รู้ขบวนการรักษาโรคทั้งทางอายุรกรรมและศัลยกรรม โดยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนโดยตรงจากดุตสาหกรรมเภสัชที่ต้องการผลิตยาต่างๆ เพื่อใช้ในการรักษาโรคและเพิ่มมูลค่าของยาและบริษัทผู้ผลิต วงการแพทย์ในประเทศเหล่านี้ไม่เน้นการสอนการป้องกันโรค ผลที่ตามมาอย่างที่ไม่คาดคิดก็คือ ประชากรป่วยเป็นโรคต่างๆมากขึ้นโดยเฉพาะจากการบริโภคอาหารหลายชนิดที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย และจากมลพิษจากสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยขณะนี้ผลิตแพทย์ได้ปีละ 3000คน เพิ่มขึ้นจากปีละ 800 คนในรอบ 30-40 ปีที่แล้ว แต่ยิ่งมีแพทย์มากขึ้น คนไข้ก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว หรืออาจพูดได้ว่าผลิตแพทย์เท่าไรก็ไม่พอเพียงกับจำนวนคนไข้ โดยเฉพาะประชากรสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น จำเป็นต้องได้รับบริการทางการแพทย์มากกว่าประชากรทั่วไป

คนไข้ล้นโรงพยาบาล

ท่านผู้ใดมีโอกาสเข้าไปในโรงพยาบาลของรัฐทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จะเห็นว่าทุกโรงพยาบาลมีคนไข้แน่นไปหมด คนไข้ต้องใช้เวลาครึ่งค่อนวันรอจนกว่าจะได้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหรือตรวจรักษา คนไข้อาการหนักอาจไม่มีเตียงรับรักษา หรือหากมีเตียง ก็จะแออัดใน ward ซึ่งจะเป็นสถานที่แพร่เชื้อโรคได้เป็นอย่างดี ญาติคนไข้ที่ต้องการอยู่เป็นเพื่อนอาจต้องนอนใต้เตียงเพราะไม่มีที่ว่างเพียงพอที่จะอยู่เป็นเพื่อนคนไข้ได้

แพทย์บางท่านที่มีชื่อเสียงและประสบการสูงทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและของเอกชน จะมีคนไข้มารักษาเป็นจำนวนมาก เพราะคนไข้มีความเชื่อมั่นว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถรักษาโรคของตนได้ แพทย์มีชื่อบางท่านมีคนไข้วันละไม่ต่ำกว่า 200 คน ที่ท่านจะต้องใช้เวลาวินิจฉัย ตรวจและรักษาอย่างรีบเร่ง ผู้เขียนรู้จักแพทย์ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งที่ได้รับการยกย่องนับถือทั่วไป ท่านมีเวลาตรวจรักษาคนไข้เพียงคนละ 1 นาที เพราะท่านต้องแบ่งเวลาตรวจรักษาคนไข้จำนวนมากทุกวัน ทำให้คนไข้ไม่ได้รับการรักษาอย่างมีคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของแพทย์ผู้นั้นที่ต้องเครียดกับการรักษาคนไข้จำนวนมาก

กันดีกว่าแก้ วงการแพทย์ตัวอย่าง

มีประเทศเล็กๆประเทศหนึ่ง ที่ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทั้งมูลค่าผลผลิตสินค้าต่างๆและค่าบริการ) อยู่ในระดับต่ำ ที่ 66 ของ GDP ประเทศต่างๆทั่วโลก (จากข้อมูลของ World Bank) นำปรัชญา กันดีกว่าแก้ มาใช้ในวงการแพทย์อย่างได้ผลดียิ่ง ผลก็คือประชากรของเขามีอายุเฉลี่ย 78.5 ปี (ทั้งหญิงและชาย) เขาลงทุนค่าดูแลสุขภาพประชากรตกคนละประมาณ US$2,000 ต่อปี ประเทศนี้คือประเทศ คิวบา (หากต้องการเปรียบเทียบ GDP ของไทยอยู่อันดับ 27)

หากจะเปรียบเทียบการดูแลสุขภาพประชากรกับประเทศอื่นๆ จะเห็นว่า ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ลงทุนค่าดูแลสุขภาพประชากรเฉลี่ยคนละ US$10,000 ต่อปี ประเทศไทยลงทุนคนละ US$1000/ปี อายุเฉลี่ยของประชากร (Life expectancy)ในสหรัฐอเมริกาใกล้เคียงกับคิวบา คือประมาณ 78 ปี ทั้งๆที่ลงทุนสูงกว่าคิวบาถึง 5 เท่า อายุเฉลี่ยของประชากรไทย 74.5 ปี/คน ซึ่งนับว่าไม่เลวกับการลงทุนคนละประมาณ US$1000/ปี

ผู้เขียนมีโอกาสไปประเทศคิวบา 2 ครั้ง ในปีค.ศ. 1977 และ 1987 เมื่อยังปฏิบัติงานให้องค์การสหประชาชาติ ได้สังเกตว่าชาวคิวบามีสุขภาพดี นิสัยรื่นเริง ตอนแรกก็คิดว่าอาจจะเพราะเป็นชาวเกาะ ที่อยู่ท่ามกลางสายลม แสงแดด และชายทะเล (sun, sea and sand) มีมลพิษทางอุตสาหกรรมน้อย ถึงแม้จะมีนิสัยชอบสูบซิการ์และเครียดจากระบบการเมืองบ้าง แต่เขาดูแลสุขภาพของประชากรดีที่สุดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ถึงขนาดที่คิวบาส่งแพทย์ไปช่วยดูแลสุขภาพประชากรในประเทศลาตินอเมริกาอื่นๆ เช่น เวนิซูเอลล่า นิคารากัว พาราไกว ฯลฯ

วิธีปฏิบัติของคิวบาก็คือ เขาส่งแพทย์ไปหาคนไข้ ซึ่งตรงกันข้ามกับวิธีของประเทศตะวันตกและประเทศไทย ที่แพทย์จะประจำที่ศูนย์การแพทย์ เช่นโรงพยาบาล แล้วรอให้คนไข้ที่มีอาการเจ็บป่วยมาหา ทุกเช้าแพทย์คิวบาและพยาบาล 1 คน จะออกตรวจสุขภาพของชาวบ้านในภูมิลำเนาของตน แนะนำชาวบ้านให้รู้จักวิธีปฏิบัติ ทั้งอาหารการกินอยู่ หากพบผู้ใดป่วยก็จะทำการรักษาที่บ้าน ไม่ปล่อยให้คนไข้เจ็บหนักแล้วถึงหามมารับการรักษาที่โรงพยาบาล ข้อมูลของคนไข้ทุกคนได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน จากการป้องกันการเจ็บป่วยตั้งแต่ในบ้าน ทำให้จำนวนคนเจ็บป่วยมีน้อยลง สุขภาพของชาวบ้านดีขึ้น ค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคก็ไม่สูงนัก

ผู้เขียนอยากจะเห็นวงการแพทย์ของไทยเน้นวิธี กันดีกว่าแก้ ในการดูแลสุขภาพประชากร อยากจะชวนเชิญวงการแพทย์ไทยให้ศึกษาวิธีปฏิบัติของคิวบาที่ดูแลสุขภาพประชากรดี โดยมีค่าใช้จ่ายไม่สูง ผลที่ได้ก็คือสุขภาพของประชากร ที่วัดได้จากอายุเฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศที่อายุยืนร่วม 80 ปี จะเป็นไปได้ไหมที่กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับวิทยาลัยแพทย์บางแห่งทำการวิจัยวิธีการดูแลสุขภาพของคิวบาแล้วทดลองปฏิบัติในอำเภอใดอำเภอหนึ่ง ว่าจะได้ผลเหมือนกับที่คิวบาทำหรือไม่ หากได้ผลดีก็น่าจะส่งเสริมให้แพร่หลายออกไป เพื่อรักษาสุขภาพอนามัยของประชากรให้ดียิ่งขึ้น

เป็นที่น่ายินดีที่กระทรวงสาธารสุขได้เริ่มโครงการ แพทย์ครอบครัว เพื่อแนะนำและรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ทราบว่าโครงการนี้ จะนำปรัชญา กันดีกว่าแก้ มาใช้ในทางปฎิบัติหรือไม่

 


 

หมายเลขบันทึก: 637112เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2017 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2017 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท