หัวข้อที่ 1 บทนำ


ข้อความคิดเบื้องต้นและสาเหตุที่เลือกที่จะวิจารณ์หนังสือเล่มนี้และความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุในการวิจารณ์กับกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

1.        บทนำ

          ถ้าจะกล่าวถึงกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศแล้ว โดยมากหลายท่านจะนึกถึงกฎหมายการค้าระหว่างประเทศเป็นอันดับแรก ซึ่งจริงๆแล้วกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศมิได้มีแต่เพียงการค้าระหว่างประเทศแต่เพียงประการเดียว แต่ประกอบด้วยกฎหมายที่สำคัญอีกสามประการได้แก่ กฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ กฎหมายการเงินระหว่างประเทศ และกฎหมายการพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งกฎหมายทั้ง 4 ประการอันได้แก่     

 1. กฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ

2. กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ

3. กฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ

4. กฎหมายการพัฒนาระหว่างประเทศ

          กฎหมายทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในฐานะบรรทัดฐานที่กำหนดนิติสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยรวม (as a whole) และทางปฏิบัติระหว่างรัฐ (State Practice) ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ (opinio jusis) แล้วว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่และต้องถือปฏิบัติเป็นกฎหมายที่ก่อให้เกิดเป็นธรรมและสมประโยชน์ของทุกๆฝ่ายให้มากที่สุด  

          การมองปัญหาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้น การให้ความสำคัญเพียงแง่ใดแง่หนึ่งไม่ไม่วิธีที่ดีที่สุดในการพิจารณากำหนดแนวทางในการกำหนดนโยบายหรือกฎหมายภายในประเทศ แต่ถ้าเป็นไปได้ควรจะมองจากทุกเรื่องของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศประกอบกันเพื่อป้องการเกิดช่องว่างของกฎหมายที่จะก่อให้เกิดข้อได้เปรียบในการใช้และการตีความในข้อบทใดข้อบทหนึ่งซึ่งเอื้อประโยชน์เฉพาะในบางประเทศเท่านั้น

          โดยส่วนตัวของดิฉันให้ความสำคัญกับกฎหมายทั้ง 4 ประการอย่างเท่าเทียมกัน เพียงแต่ดิฉันขอนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจเป็นเรื่องการค้าระหว่างประเทศในกรอบองค์การการค้าโลกซึ่งเป็นความตกลงระดับพหุภาคีโดยเฉพาะการกำหนดประเด็นในการเจรจาเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่(Controversial Issues) และเห็นว่าในปัจจุบันองค์การการค้าโลกมีความสำคัญในการกำหนดกรอบนิติสัมพันธ์ทางการค้าและการค้าบริการระหว่างประเทศ เนื่องจากการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้าขององค์การการค้าโลกนั้นย่อมกระทบต่อประเทศสมาชิกโดยตรง รวมทั้งประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศสมาชิกประเทศหนึ่ง ย่อมต้องผูกพันตามพันธกรณีที่เกิดขึ้นด้วย    นอกจากนี้ในสังคมระหว่างประเทศไม่อาจปฏิเสธที่จะไม่ติดต่อสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศใดๆได้ โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ไม่อาจอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวฉันใด รัฐซึ่งอยู่ในฐานะบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่อาจอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวได้ฉันนั้น แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วการประสานประโยชน์ระหว่างประเทศสมาชิกยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพอันเนื่องมาจากประเด็นทางการเมือง(Political Issues)เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดประเด็นในWTO ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมักมีอำนาจในการต่อรองมากกว่าประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา แม้ว่าการเจรจาการค้าระดับพหุภาคี(Multilateral Trade Negotiation) จะสามารถกำหนดกรอบในความตกลงเพื่อประโยชน์ในสังคมระหว่างประเทศอย่างเท่าเทียมกัน แต่กรอบในการใช้และการตีความของWTO ยังคงมีปัญหาเนื่องจากเป็นความตกลงพหุภาคีซึ่งต้องคำนึงถึงบทบัญญัติเพื่อให้สมประโยชน์แก่ประเทศสมาชิกทุกประเทศมากที่สุด จึงไม่ได้นิยามศัพท์ให้ชัดเจนในการใช้และการตีความอย่างเพียงพอเพราะเหตุตัวบทที่เคลือบคลุม  ยังผลให้ประเทศสมาชิกหันมาทำความตกลงทวิภาคีแทนเนื่องจากสะดวกในการบังคับใช้และตรงกับวัตถุประสงค์ในทางการค้ามากมากว่า

          ดังนั้นดิฉันจึงขอหยิบยกมุมหนึ่งของกฎหมายการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศขึ้นมาวิจารณ์ เนื่องจากองค์การการค้าโลกเป็นองค์การระหว่างประเทศองค์การหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ อันเกิดจากเจตจำนงของประเทศสมาชิกก่อตั้งขึ้นตามความตกลงมาราเกช(Marrakech Agreement) ก่อตั้งองค์การการค้าโลกขึ้นและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1995 จากการเจรจาเวทีแกตต์รอบอุรุกวัย(1993) ยังผลให้มีสภาพบุคคลแยกต่างหากจากรัฐสมาชิกและพันธกรณีในการกำหนดนิติสัมพันธ์ในทางระหว่างประเทศของรัฐว่าต้องปฏิบัติตนในการค้าระดับพหุภาคีอย่างไรจึงจะเป็นการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรมอันเป็นกรอบวัตถุประสงค์หลักขององค์การการค้าโลก ทั้งเพื่อให้ประเทศไทยรู้เท่าทันในการกำหนดนโยบายและกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศและสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศไทยมากที่สุด เนื่องจากประเด็นที่เกิดขึ้นในองค์การการค้าโลกทุกวันนี้เป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศโดยตรง เพียงแต่เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าอันเป็นผลมาจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในกรอบ WTO ที่ประเทศฮ่องกงหรือเรียกว่า “Millennium Round” ในค.ศ. 2000 เช่น นโยบายการแข่งขันทางการค้า มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ล้วนแต่เป็นประเด็นใหม่ที่น่าสนใจในการศึกษาอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามดิฉันก็ไม่อาจที่จะไม่พิจารณาถึงผลกระทบของประเด็นที่นำมาวิจารณ์ต่อกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในองค์รวมได้ จึงขอพิจารณาประเด็นในการวิจารณ์นั้นโดยเชื่อมโยงกับกฎหมายที่เหลือด้วย เพื่อประโยชน์ในการนำไปปรับใช้ในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายภายประเทศให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และให้รู้เท่าทันในการอนุวัติการกฎหมายต่างๆที่จะเป็นการลดอำนาจอธิปไตยของตน เพื่อให้เกิดผลดีต่อประเทศสมาชิกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

          แม้ว่าหนังสือที่นำวิจารณ์เล่มนี่จะจัดพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2543 และเป็นประเด็นในกรอบของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แต่ดิฉันเห็นว่ายังคงมีประเด็นที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศ เช่น ประเด็นมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ เป็นต้น และอาจขยายไปสู่การลงทุนระหว่างประเทศได้ในไม่ช้า



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท