การพัฒนามาตรฐาน/ตัวบ่งชี้คุณภาพ (KPIs) ของห้องสมุดมหาวิทยาลัย (ตอนที่ 1)


การพัฒนามาตรฐาน หรือตัวบ่งชี้คุณภาพ (KPIs) ของห้องสมุดมหาวิทยาลัย ที่สามารถใช้เป็นเกณฑ์กลางในการประกันคุณภาพการดำเนินงานห้องสมุด ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปรับปรุง/พัฒนาคุณภาพการให้บริการ
การพัฒนามาตรฐาน หรือตัวบ่งชี้คุณภาพ (KPIs) ของห้องสมุดมหาวิทยาลัย ที่สามารถใช้เป็นเกณฑ์กลางในการประกันคุณภาพการดำเนินงานห้องสมุด ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปรับปรุง/พัฒนาคุณภาพการให้บริการ ผู้บริหารห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ในฐานะคณะกรรมการอำนวยการข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) มีแนวคิดที่จะพัฒนาตัวบ่งชี้คุณภาพห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาขึ้น โดยได้มอบหมายให้สำนักหอสมุด ม.บูรพาเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาตัวบ่งชี้คุณภาพห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วยผู้แทนจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคทุกแห่ง โดยมี ผศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ จาก มอ. เป็นประธานคณะทำงาน และดร.ขวัญชฏิล พิศาลพงศ์ มบ. เป็นรองประธาน

ดิฉันเองในฐานะคณะทำงานจาก มอ. ขอแจ้งให้ทราบว่า คณะทำงานชุดดังกล่าว ได้มีการประชุม ไป 2 ครั้ง ครั้งแรกประชุมที่ ม. บูรพา เมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม 2549 เพื่อพิจารณาและกำหนดมาตรฐานคุณภาพ ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การประเมินตัวบ่งชี้ ซึ่งจากผลการประชุมดังกล่าวคณะทำงานได้กำหนดมาตรฐานห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา เป็น 6 มาตรฐานหลักคือ งานบริการ งานเทคนิค ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การบริหารจัดการที่ดี ความร่วมมือระหว่างห้องสมุด และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม 18 มาตรฐานย่อย และ 42 ตัวบ่งชี้

และระหว่างวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2549 คณะทำงานย่อย ได้มีการประชุมอีกครั้งที่หอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มอ. หาดใหญ่ เพื่อกำหนดประเภท และเกณฑ์การประเมินตัวบ่งชี้ จากการประชุมดังกล่าว คณะทำงานได้กำหนดเกณฑ์การประเมินตัวบ่งชี้ซึ่งถือเป็นฉบับร่าง ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานชุดใหญ่หรือคณะทำงานเพื่อพิจารณามาตรฐานคุณภาพ ตัวบ่งชี้ ประเภทและเกณฑ์การประเมิน ในวันที่ 5 ธันวาคม 2549 ณ กองห้องสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หลังจากนั้นอาจต้องนำเสนอคณะกรรมการอำนวยการพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

สำหรับ (ร่าง) ตัวบ่งชี้คุณภาพห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ล่าสุด ประกอบด้วยมาตรฐานหลัก มาตรฐานย่อยและจำนวนตัวบ่งชี้คุณภาพ ดังนี้
1. งานบริการ มีมาตรฐานย่อย จำนวน 5 มาตรฐาน 13 ตัวบ่งชี้คุณภาพ
2. งานเทคนิค มีมาตรฐานย่อย จำนวน 2 มาตรฐาน 3 ตัวบ่งชี้คุณภาพ
3. ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ มี 2 ตัวบ่งชี้คุณภาพ
4. การบริหารจัดการที่ดี มีมาตรฐานย่อย จำนวน 9 มาตรฐาน 11 ตัวบ่งชี้คุณภาพ
5. ความร่วมมือระหว่างห้องสมุด มี 1 ตัวบ่งชี้คุณภาพ
6. การทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม มี 1 ตัวบ่งชี้คุณภาพ

โดยสรุป จะมี 6 มาตรฐานหลัก 16 มาตรฐานย่อย และ 30 ตัวบ่งชี้คุณภาพ ลดลงจากการประชุมครั้งแรกเล็กน้อย

ส่วนรายละเอียดคงจะมีการเผยแพร่ หลังจากกระบวนการพัฒนาเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าในส่วนของมาตรฐานหลัก 2 มาตรฐานคือ งานบริการ และ การบริหารจัดการที่ดี จะมีมาตรฐานย่อย และ จำนวนตัวบ่งชี้ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับมาตรฐานอื่น ๆ คงไม่แปลกใช่ไหมคะ ก็เราเป็นหน่วยงานบริการนี่คะ

ห้องสมุดของท่านละ มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างไรบ้าง ยกเว้นห้องสมุดที่ร่วมข่ายงาน PULINET นะคะ เพราะคณะทำงานได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันเรียบร้อยแล้วคะ
หมายเลขบันทึก: 63591เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับค่ะพี่ ดีใจจัง เดี๋ยวจะกลับมาอ่านอีกครั้งค่ะ ขอแสดงความดีใจก่อน ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท