​หฤหรรษ์แห่งการสอน (ด้วยใจ)


มีหลายอย่างที่ “ครูเพื่อศิษย์” ไม่ทำ เช่น ไม่ใช้เกรดเป็นเครื่องมือลงโทษ ไม่เอาเรื่องความประพฤติ กับเรื่องผลการเรียนด้านวิชาการมาปนกัน ไม่ให้ความสำคัญต่อห้องเรียนที่เงียบสงบเหนือการทำงาน เพื่อเรียนรู้ ไม่ใช้ worksheet มากเกินไป ไม่คาดหวังต่ำต่อผลการเรียนรู้ในชั้นเรียน และไม่กล่าวอ้างว่า ทำดีที่สุดแล้ว ไม่ประเมินผลงานของตนตามการปฏิบัติตามคำสั่งของหน่วยเหนือ ตามการสอนครบ ตามหลักสูตร ไม่พยายามอธิบายว่าทำใมตนเองจึงสอนศิษย์ได้ผลลัพธ์ต่ำ และไม่ให้การบ้าน เพื่อผลคำตอบที่ชัดเจน โดยนักเรียนไม่ได้ฝึกทักษะกล้าเสี่ยง

หฤหรรษ์แห่งการสอน (ด้วยใจ)

หนังสือ Variable Learning for Teachers : Maximizing Impact on Learning โดย John Hattie  หน้า ๓๔ - ๓๖ กล่าวถึง inspired teaching หรือการสอนอย่างมีไฟ   มีพลัง  ให้ความสุข  และสร้างการเรียนรู้สูง  ทั้งต่อศิษย์และต่อครู 

คนมีไฟนี่คล้ายโรคติดต่อนะครับ    มันชวนให้คนอื่น ซึ่งในที่นี้คือศิษย์ พลอยมีไฟไปด้วย    ทำให้มีการเรียนรู้ อย่างมีชีวิตชีวา    และเคล็ดลับสำคัญคือ ครูได้รับแรงบันดาลใจจากศิษย์ด้วย

เขาเรียกการสอนแบบนี้ว่า inspired and passionate teaching - การสอนอย่างมีแรงบันดาลใจและมีความคลั่งใคล้ ใหลหลง     ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • มีการพัฒนาการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา     “ครูเพื่อศิษย์” เหล่านี้เชื่อว่าสามารถพัฒนาการสอน ได้อย่างไม่รู้จบ    โดยเรียนรู้จากเหตุการณ์ในห้องเรียน เปรียบเทียบกับทฤษฎีหรือหลักการด้านการศึกษา     เชื่อว่าสามารถปรับปรุงวิธีการสอนให้น่าสนใจต่อนักเรียนยิ่งขึ้น    เชื่อว่าตนเองมีความรับผิดชอบ ต่อการเรียนรู้ของศิษย์    มีความคลั่งใคล้วิชาหรือสาระที่ตนสอน    และใช้ความพยายามช่วยเหลือ นักเรียนที่ยังเรียนไม่ทันหรือไม่เข้าใจ ให้บรรลุผลการเรียนรู้ที่ตั้งเป้าไว้จนได้    ครูจะเอาใจใส่เรียนรู้จาก ความผิดพลาดของนักเรียนและของตนเอง   และจะแสดงความดีใจ หรือเฉลิมฉลอง เมื่อนักเรียนบรรลุ ผลการเรียนรู้ตามเป้าหมาย    ครูที่มีความเชื่อและพฤติกรรมเช่นนี้ นักเรียนจะสัมผัสได้    และจะ ประทับใจไม่รู้ลืม    ต่อครูที่มีจิตวิญญาณครูเช่นนี้ ที่หนังสือใช้คำว่ามี sense of idealism and purpose 
  • มีการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการสอนและการเรียน    กระบวนการสอน (และการเรียน) เป็นกระบวนการทางสังคม (socialization)    และเป็นปฏิสัมพันธ์หลายทาง     คือทั้งปฏิสัมพันธ์ ระหว่างนักเรียนกับครู  และปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง    ปฏิสัมพันธ์บางส่วนหรือบางแบบ อาจก่อผลร้ายต่อการพัฒนาตัวนักเรียนทั้งหมดหรือบางคน    ครูจึงต้องเอาใจใส่และว่องไวต่อการตีความ สำหรับนำสู่การจัดการห้องเรียนที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น    รวมทั้งใช้เป็นประเด็นเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครู ในกระยวนการ PLC ได้ด้วย    การร่วมกันตีความและสร้างการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง จะให้คุณค่า สูงต่อชีวิตครู
  • ใส่ใจบริบท    การเรียนที่ไร้บริบทคือการท่องจำทฤษฎีหรือหลักการ ไม่เป็นการเรียนที่นำไปสู่การ “รู้จริง” (mastery learning)    ครูจึงต้องออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนจากการทำงานเป็นทีม ในหลากหลายบริบท    เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ความรู้เชิงทฤษฎีในหลากหลายบริบท     นอกจากนั้น บริบทยังมีความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ครูเป็นอย่างยิ่ง     ในชั้นเรียนที่มีนักเรียน ๓๐ คน ย่อมมี อย่างน้อย ๓๐ บริบทสำหรับครู     เพราะนักเรียนแต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตนเอง    การที่ครูเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายคน เท่ากับเอาใจใส่บริบท หรือนิสัยใจคอที่แตกต่างกันนั่นเอง        
  • ติดตามตรวจสอบการเรียนรู้    ครูที่แท้จะหมั่นตรวจสอบสภาพการเรียนรู้ของศิษย์ทั้งชั้น และของศิษย์ แต่ละคนอยู่ตลอดเวลา     และใช้ข้อมูลที่ได้ในการ feedback ต่อชั้นเรียน และต่อนักเรียนเป็นรายคน    รายละเอียดอยู่ในบันทึกชุด ประเมินเพื่อมอบอำนาจ     
  • ทดสอบสมมติฐาน    การเรียนรู้ไม่มีสูตรสำเร็จรูปตายตัว     การออกแบบและจัดการเรียนรู้ของครู จึงมีสมมติฐานอยู่เบื้องหลัง    ครูจึงต้องสังเกตและเก็บข้อมูลกระบวนการ และผลการเรียนรู้ของศิษย์ นำไปใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิด    ยิ่งได้นำไปตีความและเรียนรู้ร่วมกันใน PLC ของครู ยิ่งจะเกิด การเรียนรู้ที่มีพลังยิ่งขึ้น
  • แสดงความเคารพและให้เกียรติแก่ทุกคนในโรงเรียน    สำนักพุทธฉือจี้เรียกกระบวนการนี้ว่า สำนึกบุญคุณ และมีวิธีการง่ายๆ เป็นรูปธรรม    เริ่มตั้งแต่เช้าที่ลงรถที่หน้าโรงเรียน   โปรดรออ่านในบันทึกของวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๐ 
  • แสดงความคลั่งใคล้ไหลหลงในการสอนและการเรียน    ท่าทีเอาจริงเอาจังของครูจะกระตุ้นความเอาจริง เอาจังของนักเรียน     ครูเช่นนี้จะสัมผัสได้ด้วยตนเองต่อความสุข หรือหฤหรรษ์ที่เกิดจากการสอน อย่างคลั่งใคล้ใหลหลง (inspired teaching)    ซึ่งผมขอเรียกว่า “สอนด้วยวิญญาณครูเพื่อศิษย์”
  • ช่วยให้นักเรียนเข้าใจความซับซ้อน   วิธีการเรียนให้เข้าใจความซับซ้อนทำโดยการปฏิบัติ (action)  ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection)   และการสอนที่ช่วยให้เข้าใจความซับซ้อนได้ดีเรียกว่า open approach   ครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ แห่งโรงเรียนเพลินพัฒนาได้ลงบันทึกเรื่องนี้ไว้มาก  อ่านได้ ที่นี่

             มีหลายอย่างที่ “ครูเพื่อศิษย์” ไม่ทำ เช่น ไม่ใช้เกรดเป็นเครื่องมือลงโทษ    ไม่เอาเรื่องความประพฤติ กับเรื่องผลการเรียนด้านวิชาการมาปนกัน    ไม่ให้ความสำคัญต่อห้องเรียนที่เงียบสงบเหนือการทำงาน เพื่อเรียนรู้    ไม่ใช้ worksheet มากเกินไป    ไม่คาดหวังต่ำต่อผลการเรียนรู้ในชั้นเรียน และไม่กล่าวอ้างว่า ทำดีที่สุดแล้ว    ไม่ประเมินผลงานของตนตามการปฏิบัติตามคำสั่งของหน่วยเหนือ ตามการสอนครบ ตามหลักสูตร    ไม่พยายามอธิบายว่าทำใมตนเองจึงสอนศิษย์ได้ผลลัพธ์ต่ำ     และไม่ให้การบ้าน เพื่อผลคำตอบที่ชัดเจน  โดยนักเรียนไม่ได้ฝึกทักษะกล้าเสี่ยง  

นี่คือมุมมอง, ปฏิบัติการ, และผลลัพธ์เชิงบวก    ซึ่งในชีวิตจริงก็มีด้านตรงกันข้ามด้วย    และน่าเสียดาย ที่ในขณะนี้เมฆหมอกในระบบการศึกษาไทยหนามาก     ผมคิดว่าคนไทย ต้องช่วยกันขับเคลื่อนขบวนการปฏิรูป ระบบการศึกษา เพื่อช่วยลดด้านตรงกันข้าม (ที่เป็นเมฆหมอกบดบังเส้นทางสู่ “ประเทศไทย ๔.๐”)    และขยายการสอนอย่างมี แรงบันดาลใจและมีความคลั่งใคล้ ใหลหลง ออกไปให้เต็มแผ่นดิน

ผมเชื่อว่า ผู้ได้รับผลดีสูงสุดจาก inspired teaching  คือตัวครูเอง    ผู้ได้รับผลดีอันดับสองคือศิษย์   

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ก.ค. ๖๐

 

หมายเลขบันทึก: 635663เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2017 07:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2017 07:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท