๕๙๐. ศึกษา "ศาสตร์พระราชา" เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา..บูรณาการสู่งานประกันคุณภาพ..


ขั้นสุดท้าย..ที่ผมเคยใช้กับนักเรียนมาแล้ว คือ “พัฒนา”การเรียนรู้ บูรณาการสู่สาระวิชา..ฝึกทักษะ “การเขียน” ในลักษณะการคิดวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน..ให้นักศึกษาลงมือเขียนเรื่องประกอบภาพ..วันนี้นักศึกษาทำอะไร (พอประมาณ)..ทำไมถึงต้องทำ(เหตุผล) และ ทำแล้วได้อะไร (ภูมิคุ้มกัน)

ผมบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กมานานนับ ๑๐ ปี พัฒนาไปตามสภาพบริบทอย่างแท้จริง..ให้ความสำคัญทั้ง”คุณภาพ”และ “ปริมาณ” คุณภาพ คือการเรียนการสอน ส่วนปริมาณ คือแหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม..

ด้วยตระหนักว่า..นโยบายการศึกษาของชาติ ยังจะประเมินสถานศึกษาทุกขนาดด้วยเครื่องมือและมาตรฐานเดียวกันตลอดแนว..ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กจะอยู่ยาก ถ้าหากยังทำงานแบบเดิมๆ การทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นสิ่งที่ดี และยิ่งจะดีมากกว่า ถ้าทำอย่างต่อเนื่องและ..ยั่งยืน..

ผมจะพูดกับคณะที่มาศึกษาดูงานอยู่เสมอว่า..โรงเรียนบ้านหนองผือ ไม่ได้พัฒนาไปสู่การเป็น “ต้นแบบ” หรือ ดีเด่นกว่าใคร ไม่ได้แสวงหาเกียรติบัตรหรือรางวัล..แต่ครูกับผมจะทำงานให้มีความสุข สร้างสรรค์ให้นักเรียนอยากมาโรงเรียน และสร้างองค์กรให้ชุมชนศรัทธา..

เมื่อวันก่อน..นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี จำนวน ๑๓๐ คน มาศึกษาดูงาน “ศาสตร์พระราชา” ที่ผมนำมาพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ผมก็พูดเหมือนเดิม ใช้การบรรยายเรียบง่าย ไม่ได้วางแฟ้มจัดนิทรรศการ ไม่ได้วางโล่เกียรติยศแม้แต่น้อย..

เพียงแค่บอกนักศึกษาว่า..โรงเรียนแห่งนี้..ต้นทุนต่ำ..มานานมาก อุปสรรคและความขาดแคลน เป็นสิ่งที่ผมรู้และเลือกมาทำงาน..ดังนั้น นักศึกษาพยาบาลก็เช่นเดียวกัน ต้องออกไปทำงานตามโรงพยาบาลประจำอำเภอต่างๆ..ชีวิตอาจจะไม่มีความสุข สะดวกสบาย..แต่ก็ต้องอดทน ยิ้มสู้กับงานบริการสังคม..มีจิตอาสา อย่าใช้แต่วิชาที่ร่ำเรียนมาด้วยสมองที่ฉลาด..แต่ต้องใช้ “หัวใจ”ในการทำงานด้วย

ครู...ก็ไม่แตกต่างจากพยาบาล ทำงานหนักเหมือนกัน ต้องบริการลูกค้า..ที่เป็นนักเรียนและผู้ปกครอง..ดูแลรักษาโรคไม่รู้หนังสือ ด้วยการจัดประสบการณ์และกิจกรรมพัฒนา “ทักษะชีวิต”

วิธีการที่ผมใช้..พัฒนาสถานศึกษา เป็นวิธีการเดียวกันกับที่ผมใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาพยาบาลที่มาดูงาน..เริ่มต้นจากความ “เข้าใจ” ผมเข้าใจว่า..โรงเรียนขนาดเล็กบุคลากรก็น้อยเงินก็น้อย จะขยับทำอะไรก็ยาก..อย่าคิดทำการใหญ่เกินตัว ประยุกต์ใช้ในสิ่งที่มี นี่คือ “ความพอประมาณ”เบื้องต้น ก่อนที่จะ “ระเบิดจากข้างใน” คือ ทำเรื่องในห้องเรียนให้มีคุณภาพก่อน การอ่านออกเขียนได้ไม่ต้องใช้เงินมาก...

ผมนำพานักศึกษาเดินรอบบริเวณ โดยมีคณะมัคคุเทศก์น้อยชั้น ป.๕ เดินร่วมขบวนด้วย เพื่อฝึกการพูดและความกล้าแสดงออก แหล่งเรียนรู้ ที่เริ่มจาก.สวนสมุนไพร โรงเห็ด เล้าไก่ บ่อปลา บ่อกบ แปลงผัก และแปลงนา  เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจว่า..สิ่งที่เหล่านี้มีอยู่จริงและจำเป็นสำหรับโรงเรียน ..เข้าใจว่า ทำไมอาจารย์ของนักศึกษาจึงต้องให้มาศึกษาดูงาน..ที่นี่

ผม”เข้าถึง”สิ่งเหล่านี้ จากคำสอนของพ่อหลวง ..ที่สอนให้เราอดทนและทำงานให้เป็นระเบียบ จากโครงการพระราชดำริของพระองค์ที่ทรงมี “เหตุผล” เพียงพอ..ในส่วนของโรงเรียน..แหล่งเรียนรู้ คือนวัตกรรมหรือเครื่องมืออันทรงคุณค่า ที่ใช้ควบคู่กับการเรียนการสอนในห้องเรียน..

แค่นี้..ก็เป็นเหตุผลที่มากพอ ที่ไม่เคยทำให้ผมหยุดพัฒนา จนถึงทุกวันนี้ที่มีความสอดคล้องกับการประกันคุณภาพแนวใหม่..ในมาตรฐานที่ ๓ ที่ว่าด้วยกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ..

การจะให้นักเรียนนักศึกษา..เข้าถึง.ไม่ต้องบรรยาย ให้ลงมือปฏิบัติการจริงๆ สร้างบทเรียนชีวิตให้ตนเอง..สั่งสมทักษะเล็กๆ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนางานในอนาคต..ผมให้นักศึกษาช่วยกันปลูกดาวเรือง ๖๐๐ ต้น  ช่วยกันทำน้ำหมักชีวภาพ และทำนางาดำในพื้นที่ ๒ ไร่...

ขั้นสุดท้าย..ที่ผมเคยใช้กับนักเรียนมาแล้ว คือ “พัฒนา”การเรียนรู้ บูรณาการสู่สาระวิชา..ฝึกทักษะ “การเขียน” ในลักษณะการคิดวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน..ให้นักศึกษาลงมือเขียนเรื่องประกอบภาพ..วันนี้นักศึกษาทำอะไร (พอประมาณ)..ทำไมถึงต้องทำ(เหตุผล) และ ทำแล้วได้อะไร (ภูมิคุ้มกัน)

อย่าลืมว่า..พยาบาล.ก็ต้องมีทักษะการเขียนลำดับความให้เชื่อมโยงเกี่ยวกับการรักษาคนไข้ เพื่อรายงานให้คุณหมอทราบ ก็เท่ากับสร้างภูมิคุ้มกันในวิชาชีพของตนเองด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมด ..ก็เป็นมุมมองของผมเกี่ยวกับการดำเนินงานประกันคุณภาพภายใน ที่มุ่งเน้นภาพเชิงประจักษ์มากกว่าตัวเลขและงานกระดาษ แล้วยิ่งทราบว่าคณะกรรมการฯจะประเมินกระบวนการแบบไม่แยกส่วน โดยดูที่ภาพรวม หรือ “องค์รวม”ด้วยแล้ว..ทุกมาตรฐานจะเตรียมการได้ง่ายและเป็นธรรมชาติ

ท้ายที่สุด..ผมให้นักเรียนล่นเพลงพื้นบ้าน(เพลงฉ่อย) และ บรรเลงกลองยาว เพื่อบ่งบอกคุณภาพผู้เรียนที่หลากหลาย..และการสร้างหรือบ่มเพาะเรื่องแบบนี้..ต้องใช้เวลา

ครับ..ยังไม่สายถ้าใครจะประกันคุณภาพภายในอย่างที่ผมทำ..ขอแต่เพียง.อย่าบ่น อย่าท้อ ทำทุกคนและทำทุกวัน..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๘  สิงหาคม  ๒๕๖๐ 

 









หมายเลขบันทึก: 635037เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2017 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2017 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบชื่นชมครับ

นักศึกษาพยาบาลไปไกลกว่าคนในแวดวงการศึกษามากนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท