บทเรียน จากประสบการณ์ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์


เกษตรอินทรีย์

ผมมีโอกาสเข้าร่วมเวทีเสวนาของคนจริงที่ทำและส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในชุมชน ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กามหาชน) เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ที่จังหวัดอุดรธานี ที่ผ่านมา ผมเห็นว่าเนื้อหาสาระในวงเสวนาดังกล่าวมีประโยชน์และสร้างการเรียนรู้ให้แก่ทุกๆท่านได้ จึงขอนำบันทึกวงเสนาที่ผมจัดทำขึ้นมาแบ่งปันให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ


นายวิพัฒน์ วงษ์ชารี
บริษัท เกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัวลำภู วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

แต่เดิมเป็นมนุษย์เงินเดือน เป็นผู้จัดการฟาร์มเอกชน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็มาตั้งหลักเอาดีทางการเกษตร เริ่มแรกใช้ชีวิต ๓ ปีอยู่กับสารเคมีมาโดยตลอด ตอนนั้นสุขภาพดีมาก ล้างมือด้วยน้ำที่ผสมยาฆ่าหญ้าก็ไม่กลัว สุดท้ายเมื่อสุขภาพเริ่มแย่ลง ได้ไปตรวจสุขภาพถึงสองโรงพยาบาลและวิเคราะห์ว่าเป็นผลจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร จึงถือโอกาสหักดิบและหันมาทำเกษตรอินทรีย์

ด้วยเป็นนายก อบต. จึงเริ่มต้นชักชวนพี่น้องให้ทานข้าวอินทรีย์ และสุขภาพชาวบ้านก็ดีขึ้น ประกอบกับนายก อบจ. ให้ความสำคัญ เฝ้าระวังเรื่องสารเคมีการเกษตรตลอดมา มีการทำงานเชิงสถิติ ศึกษาข้อมูลจากโรงพยาบาล และพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคที่เชื่อมโยงจากสารเคมีทางการเกษตรโดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า มีจำนวนมาก

ในขั้นแรกของการทำเกษตรอินทรีย์คือการที่เราทำเองทานเอง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยาก แต่บันไดขั้นที่สองไม่ใช่เรื่องง่าย คือการรวมกลุ่มพี่น้องที่มีหัวใจเดียวกัน ทำครั้งแรกตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เราคืนข้อมูลให้พี่น้อง เอาข้อมูลเรื่องสารเคมีให้ชาวบ้านฟัง มีทั้งคนเห็นด้วย และคนไม่เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย และบอกว่าไม่ใช้เคมีจะได้ข้าวทานหรือ มาถึงวันนี้ จากเรื่องยากเริ่มง่าย เพราะเครือข่ายเราเติบโตขึ้น มีรูปธรรมให้เห็นชัดเจน

ขั้นที่สาม คือการรวมเครือข่ายทางธุรกิจ เรามีทีมในการทำงาน สร้างเป็นคอขวดในการตรวจรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ให้มีมาตรฐาน โดยตั้งเป็นบริษัท เกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัวลำภู วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

 

นายสุนทร คมคาย
ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี

 อยู่ในวงการเคมีเกษตรมานาน เป็นทั้งเซลล์ขายเคมีเกษตรอยู่ ๑๐ ปี จากนั้นก็เปิดร้านขายเคมีเกษตรให้ชาวบ้าน จนวันหนึ่งเริ่มป่วย จึงได้มาทดลองทำเกษตรอินทรีย์ในปี ๒๕๕๕ และได้ชักชวนลูกค้าเกษตรเคมีมาทดลองทำเกษตรอินทรีย์ด้วย

 ปัญหาที่พบ คือ เราขาดองค์ความรู้ด้านการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ องค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยหรืองานวิจัยที่เป็นผลประจักษ์ มีน้อยมาก นอกจากการส่งเสริมความรู้เกษตรอินทรีย์ เราต้องพัฒนาเกษตรทางหลักด้วย คือ สารเคมีชนิดใดที่เป็นอันตรายก็ต้องถูกยกเลิกเพื่อให้ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงระบบการตรวจสอบ ก็ต้องถูกพัฒนาและมีความชัดเจนมากขึ้น

ที่ปราจีนบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ดังนั้นก่อนทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เราจึงต้องทำเรื่องปกป้องพื้นที่เกษตรและอาหารด้วย ที่วังดาล ปราจีนบุรี ทุกวันนี้ไม่สามารถดื่มน้ำฝน หรือ กินปลาได้ เพราะมีสารปนเปื้อน ชาวบ้านจึงไม่สามารถใช้น้ำให้แหล่งน้ำธรรมชาติในการอุปโภคและบริโภคได้ นับว่าสถานการณ์รุนแรงมาก เมื่อเราไปตรวจแปลงเกษตร พบว่า มีความสุ่มเสี่ยงที่จะปนเปื้อนจากโรงงานอุตสาหกรรม แปลงเกษตรของเราจึงไม่ปลอดภัยและมีโอกาสตกมาตรฐานได้

ในด้านการส่งเสริม เราขยายทั้งแนวคิด และรับซื้อผลผลิตด้วย ปัญหาของเราทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องการหาตลาด แต่คือสินค้าไม่เพียงพอจำหน่าย การค้าขายก็เป็นแบบแฟร์เทรด เช่น ขายกระท้อนให้บริษัท เลม่อนฟาร์ม เขาก็จะถามว่าคนผลิตอยู่ได้ไหม ไม่กดราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์

เคยมีนักศึกษามาฝึกงานที่ชุมชน อาจารย์ที่ปรึกษาถามนักศึกษาว่า การทำเกษตรอินทรีย์ที่ เขาไม้แก้วดีอย่างไร เราก็ช่วยนักศึกษาตอบว่า เราคือผู้มีโอกาสเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้ทั้งสามมื้อ ไม่ต้องไปรออาหารปลอดภัยจากที่อื่น

ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่าแปลกคือสำนักงานพาณิชย์ให้การสนับสนุนเรื่องเกษตรอินทรีย์มากกว่าสำนักงานเกษตร เหมือนจะผิดฝาผิดตัว แต่หากทั้งสองหน่วยงานร่วมกันไปในทิศทางเดียวกันได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีกว่า

 

นายเกษมสันต์ แสงสิงแก้ว
เครือข่ายธรรมเกษตรอินทรีย์ จังหวัดอำนาจเจริญ

 ผมเป็นชาวบ้านตัวเล็กๆ แต่มีความฝันที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตผมเคยเป็น สจ.อำนาจเจริญ ๑ สมัย คุณแม่ผมเป็นตัวอย่างในการใช้สารเคมีฆ่าปูฆ่าหอย ใช้โพลีดอนละลายน้ำฉีดผัก ทิ้งไว้ ๗ วันแล้วก็นำมากิน ทุกวันนี้ นิ้วมือนิ้วเท้าของคุณแม่งอ สมัยคุณพ่อยังอยู่ ก็ไม่สามารถทำนาอินทรีย์ได้เพราะความเชื่อว่าทำแล้วจะไม่ได้ผลผลิตกิน แต่ทุกวันนี้ผมก็ทำให้คนอื่นๆ เห็นแล้วว่าเกษตรอินทรีย์ทำได้จริง จากบทเรียนที่ผ่านมาก็ทำให้พบว่าคนเรามีปัญหาคือ ไม่รู้จริง มักง่าย และขี้เกียจ จึงเป็นที่มาของการใช้สารเคมีทางการเกษตร

บุคคลที่ทำให้ผมรู้จักเกษตรอินทรีย์ คือ ท่านอาจารย์บุญยง สาระ ท่านทำรายการทีวีชื่อ เปลี่ยนความคิดชีวิตเปลี่ยน และได้ทำรายการวิทยุร่วมกับอาจารย์ในชื่อรายการเดียวกัน จนทำให้เปลี่ยนความคิดของผมหลายเรื่อง และทำให้ผมมาทำงานด้วยจิตอาสามาจนถึงทุกวันนี้

อำนาจเจริญมีสภาองค์กรชุมชนครบ ทุกพื้นที่ เรารวมตัวกันทุกสภาองค์กรชุมชนเพราะความยากจนของคนในพื้นที่ มาหารือกันว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เราเห็นว่าเราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงระดับชาติได้ จึงได้ตัดสินใจจัดทำ “ธรรมนูญเมืองธรรมเกษตร” ร่วมกัน ซึ่งคำว่า “เมืองธรรมเกษตร” หมายถึง เมืองที่ประชาชนปกครองตนเอง ด้วยความเสมอภาค เสมอธรรม ดำรงวิถีเกษตรอินทรีย์ การศึกษาที่เกื้อหนุน บุญฮีตคองนำชีวิตให้มั่นยืน  

ใน “ธรรมนูญเมืองธรรมเกษตร” มี ๙ หมวด ๑๑๓ ข้อ ในหมวดที่ ๕ ข้อ ๖๘ ระบุว่า ชุมชนต้องทำเกษตรอินทรีย์ โดยรัฐต้องสนับสนุนให้ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์สูงกว่าสินค้าเกษตรเคมี ข้อ ๑ หมวด ๖ ระบุว่า รัฐต้องไม่อนุญาตให้นำเข้าสารเคมี และส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ด้วยภูมิปัญญาวิถีไทย ธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการจัดพิมพ์จำนวนแปดหมื่นฉบับแจกจ่ายให้ทุกครอบครัว โดยได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.

จากนั้น เราดึงภาคีภายนอกมาช่วยวิจัย ถอดบทเรียน สังเคราะห์ จนออกมาเป็นแผนพัฒนาจังหวัดเกษตรอินทรีย์ของภาคประชาชน ในวันนี้แผนดังกล่าวเข้าไปสู่แผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดเรียบร้อยแล้ว และเมื่อผู้ว่าราชการคนใหม่เข้ามาก็ประกาศให้อำนาจเจริญเป็นเมือง “คนดี สุขภาพดี รายได้ดี” เราจึงขอเพิ่มสร้อยเข้าไปเป็น “คนดี สุขภาพดี รายได้ดี สู่เมืองธรรมเกษตร ด้วยวิถีธรรมเกษตร”

 

 

นางสาวนิธิมา บินตำมะหงง
บริษัท หุ่นไล่กากรุ๊ป จำกัด จังหวัดสตูล

 "จริงๆ แล้ววิถีเกษตรอยู่ในวิถีชีวิตเรามาตั้งแต่ดั้งเดิม "

เคยมีนักวิทยาศาสตร์ทดลองนำปลาตัวใหญ่กับปลาตัวเล็กอยู่ด้วยกัน และนำกระจกใสกั้นไว้ ปลาตัวใหญ่ก็พยามยามกินปลาตัวเล็ก แต่ก็ไม่สามรถทำได้เนื่องจากมีกระจกกั้นไว้ ผ่านไปหลายวันเมื่อปลาตัวใหญ่หยุดความพยายาม นักวิทยาศาสตร์ก็นำกระจกออก ปลาตัวใหญ่ก็ไม่พยายามกินปลาตัวเล็ก เพราะคิดว่ามีกระจกกั้นไว้ เปรียบกับตัวเราที่บางครั้งอาจถูกกลืนกินและไม่เชื่อว่าเราทำได้ทั้งที่เรามีศักยภาพ

ในทุกพื้นที่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่าเราหลงใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีจนกลายเป็นวิถี และไม่เชื่อว่าเกษตรอินทรีย์ทำได้ และที่น่าตกใจมาก คือ ทำไมเกษตรกรถึงไม่รู้ว่าทำไมสิ่งที่ใช้เป็นอัตรายทั้งต่อสุขภาพของเขา และเป็นการทำลายแผ่นดินด้วย

ที่สตูลมีความหลายหลากทางธรรมชาติ ทั้งเขา นา และทะเล เราเริ่มขยับจากเครือข่ายทะเล สู่เครือข่ายนา โดยใช้หุ่นไล่กาเป็นโลโก้ในการขับเคลื่อน พยายามเชื่อมกับเครือข่าย ทุกเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอ็นจีโอ สสส. สกว. เครือข่ายประชาสังคม ฯลฯ เพื่อให้พี่น้องได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาโอกาสได้มาขับเคลื่อนงานร่วมกัน

ที่โซนเขา เรามีป่า ไล่ลงมาจะพบสวนยางพารา สวนปาล์ม ซึ่งทั้งหมดใช้สารเคมี และสารเคมีเหล่านี้ก็ไหลลงจากเขาสู่ที่นา จากเกษตรที่เคยเป็นแบบผสมผสานก็กลายเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีทั้งหมด การจะรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ก็ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะไม่ว่าจะทำแนวกันชนไว้อย่างไร แต่น้ำ ที่ปนเปื้อนย่อมไหลลงจากเขาสู่พื้นล่างเสมอ

ที่โซนนา บางฤดูปลูกข้าว บางฤดูปลูกแตงโม บางฤดูปลูกผัก ในแต่ละนาจะมีบ่อขุดเอาน้ำมาใช้ในการเกษตร บางแปลงผักเป็นแปลงแบบ Contract farming มีนายทุนเอาเมล็ดพันธุ์มาให้ปลูก ใช้สารเคมีตามที่ระบุ คนสตูลเองก็แทบจะไม่รู้เลยว่าผักที่รับประทานมาจากที่ไหน หรือมีสารปนเปื้อนอะไรบ้าง

โซนทะเล มีหมู่บ้านหนึ่งอพยพมาจากมีนบุรี หมู่บ้านนี้เต็มไปด้วยขยะทั้งที่ผลิตขึ้นเอง และที่พัดมาจากเมือง ที่หมู่บ้านนี้มีการใช้เรืออวนรุน ซึ่งผิดกฎหมาย เราจึงได้เข้าไปชวนชาวบ้านคุย จนชาวบ้านเริ่มเอาขยะออกไปจากหัวใจ คือ รู้จักจัดการและคัดแยกขยะในชุมชน และมีการปรับเปลี่ยนวิถีการหาปลาให้ถูกต้อง

เราพยายามทำงานเชื่อมทั้งเขา นา ทะเลเข้าด้วยกัน ทำมาหลายปีแต่ก็ยังไม่ระเบิดจากภายในเสียที จนได้มาสรุปบทเรียนก็พบว่า ถ้าทำแบบเดิมๆ คือ พอมีหน่วยงานเรียกประชุมก็มาพูดๆ แล้วต่างคนก็กลับบ้านใครบ้านมัน ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงตัดสินใจที่จะทำบริษัท หุ่นไล่กากรุ๊ป จำกัด มีการทำปฏิญญาร่วมกันก่อนระดมหุ้นและตั้งบริษัท ที่ผ่านมาเราเป็นมือล่าง ใครมีอะไรให้เราทำเราก็ทำ แต่ต่อจากไปนี้ไปเราจะเป็นมือบน เพราะเราระดมหุ้นกันเอง และจะกำหนดและควบคุมทิศทางของ เราเอง

ในพื้นที่เรามีชาวมุสลิมอยู่เยอะ เราคิดว่าเราจะปรับวิธีรับรองมาตรฐานทั้งเกษตรอินทรีย์และมาตรฐานอาหารฮาลาลให้เป็นแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ เราทำสติ๊กเกอร์สีเขียวเขียนว่า Green เพื่อรับรอบให้พี่น้อง แต่ในที่นี้ยังไม่ใช่การรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์

ล่าสุดในงาน Organic Thailand ได้มีโอกาสถวายข้าวให้แก่พระองค์โสมสวลี ซึ่งพระองค์ทรงได้กลิ่นหอมของข้าว จึงทรงดมแล้วดมอีก เราจึงได้ถวายข้าวให้แก่พระองค์ ซึ่งพวกเรารู้สึกปลื้มปิติเป็นอย่างมาก

 

 

 

ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

ในการทำงานพัฒนาชุมชน เรามักมองว่าภาคธุรกิจหรือองค์กรภายนอกมีศักยภาพ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ หน่วยงานภายนอกจะเข้าไปสนับสนุนในมุมและทิศทางไหน

พี่น้องในชุมชนมีจุดอ่อนในการลุกขึ้นมาประกอบการ เราบอกว่าเราเป็นเกษตรกร ไม่มีใครบอกว่าเราเป็นผู้ประกอบการเกษตร ทำอย่างไรเราจะลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่จะต้องมีการจัดการ มีการวางแผน มีการทำการตลาด หลายเรื่องทั้ง การทำฉลาก การขอ อย. ฯลฯ ก็เป็นจุดอ่อน เป็นข้อจำกัดสำคัญ ซึ่งถ้าเราไม่ยกระดับกระบวนทัศน์และบทบาทของเราไปถึงผู้ประกอบการ เกษตรกรเราจะยังคงวนอยู่ในภาวะความยากจน

การประชุมครั้งนี้ จึงไม่ใช่การประชุมที่มานั่งฟัง แต่พี่น้องต้องช่วยกันเขย่าความคิด จัดการความคิด แล้วมองย้อนกลับไปว่าจะทำอย่างไรให้เหมือนต้นแบบที่อยู่บนเวที เราต้องมีกลไกการจัดการร่วมกันในการประกอบการเกษตรในระดับคลัสเตอร์อย่างไร ซึ่งต้องเริ่มจากพื้นที่ที่ต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเองให้ได้ก่อน

โครงการ ๙๑๐๑ พี่น้องจะนำงบประมาณ ๒.๕ ล้าน มาทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร ถ้าเรามองเป็นโอกาส จะเกิดเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล แต่หากนำมาทำโครงการแบบครั้งเดียวจบ งบประมาณดังกล่าวก็ละลายทิ้ง พี่น้องก็ไปต่อไม่ได้ รอคอยงบประมาณรอบใหม่ต่อไป

 

 

นายวิพัฒน์ วงษ์ชารี
บริษัท เกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัวลำภู วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

คำถามสำคัญที่ผมถามตนเองเสมอคือ ๑) เราจะเดินอย่างไรกับตัวเราในฐานะผู้ผลิต ๒) เราจะจัดการกับผู้บริโภคอย่างไร ๓) สิ่งแวดล้อมของเราจะทำอย่างไร และ ๔) เงินในกระเป๋าของเราจะจัดการได้อย่างไร

ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดมอบเงินให้ ๑๗ ล้านบาทเพื่อให้ขยับเรื่องเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มขยับจากเรื่องน้ำก่อน คุณภาพน้ำลำพะเนียงในปัจจุบันอยู่ในระดับเสื่อมโทรมเพราะมีสารเคมีปนเปื้อน เราจะเข้าไปทำงานกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ๕๒ เครือข่ายเพื่อจัดการปัญหาเรื่องนี้

ปัจจุบันคนสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ในหนองบัวลำภูมีมากขึ้น มีคนปลูกกินที่บ้านมากขึ้น เหมือนเป็นคลังเกษตรอินทรีย์ในบ้าน เรามีทีมผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ ให้ทีมนี้เป็นทั้งผู้ตรวจรับรอง และให้ความรู้เกษตรอินทรีย์แก่ชาวบ้าน

เราวางแผนให้คนกินคนซื้อเข้าถึงสินค้าอินทรีย์ผ่านตลาดเขียวใน ๓ อำเภอจาก ๖ อำเภอของจังหวัด เราจะประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่ได้รับรู้ว่ามีพื้นที่ใดที่จำหน่ายเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึง

ในงานด้านสิ่งแวดล้อม เรามีสภาองค์กรชุมชนที่มีแกนนำขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์และป่าชุมชนซึ่งเป็นกำลังหลักและเป็นกำลังสำคัญของเรา

ส่วนคำถามว่าทำอย่างไรกับเงินในกระเป๋า คือ การสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรมาทำเกษตรอินทรีย์ ส่วนเรื่องการตลาดที่เกษตรกรไม่ถนัด เรา ในที่นี้คือ บริษัท เกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัวลำภู วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ ซึ่งมีกรรมการ ๓ ชุด คือ ๑) ทีมก่อตั้งบริษัท ๒) ทีมบริหาร ซึ่งมีภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเป็นกรรมการ และ ๓) ทีมปฏิบัติการ ซึ่งมีงานตรวจรับรอง งานการตลาด งาน Business Matching และงานท่องเที่ยวโดยชุมชน

 

 

นางสาวนิธิมา บินตำมะหงง
บริษัท หุ่นไล่กากรุ๊ป จำกัด จังหวัดสตูล

ถ้าเราจะขยับเกษตรอินทรีย์ เราต้องสร้างอัตลักษณ์ของสินค้าที่สะท้อนหัวใจของคนทำเกษตรอินทรีย์ และต้องทำให้เกษตรกรเห็นว่าเกษตรอินทรีย์สามารถทำได้ทั้งใน Scale ใหญ่ในแปลงผัก และ Scale เล็กในการใช้งานในครัวเรือน ต้องทำให้เรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัว แต่เมื่อจะทำเป็นการค้าก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ต้องคำนวนต้นทุน ทำเรื่องบรรจุภัณฑ์ วางแผนการผลิตและเก็บเกี่ยว ซึ่งต้องพัฒนากันต่อ

เรามีบทเรียนความล้มเหลวซึ่งเราจะไม่ผิดซ้ำซ้อน คือ เราทำแล้วต้องมีกำไร และกำไรต้องคืนให้ทั้งพี่น้อง และชุมชน จึงจะมีความยั่งยืน เราเชื่อว่าทั้งประเทศกำลังขยับในลักษณะเดียวกัน และเราต้องเชื่อมโยงเครือข่ายกันเพื่อให้เกิดภาพใหญ่ในระดับประเทศ เมื่อเราไปที่ใดเราก็หวังว่าเราจะได้ทานอาหารปลอดภัย และเมื่อใครมาเยี่ยมสตูลก็จะได้ทานอาหารปลอดภัยเช่นกัน

เมื่อเราขับเคลื่อนร่วมกันไปแล้ว ถ้าล้มก็ต้องล้มด้วยกัน ลุกก็ต้องลุกด้วยกัน ไม่ใช่ล้มแล้วก็มาพูดตามหลังว่า “ว่าแล้ว” ซึ่งเป็นคำที่เจ็บปวด เราต้องมาคิดและทำร่วมกัน และถ้าเราไม่เริ่มกันวันนี้ ลูกหลานเราจะรู้จักหรือได้กินเกษตรอินทรีย์ไหม

 

นายสุนทร คมคาย
ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี

แนวคิดของเราชัดเจนเรื่องอาหารปลอดภัยและการปกป้องพื้นที่อาหาร แต่เรากำลังปรับโหมดเข้าสู่ชีวิตจริง คือทำเกษตรอินทรีย์ต้องเลี้ยงตนเองและครอบครัวให้ได้ เพราะปัจจุบันปราจีนบุรีและภาคตะวันออกถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ในการพัฒนาอุตสาหกรรม เราเป็นจังหวัดที่รวยอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่เมื่อพนักงานโรงงานมีอายุมากขึ้น ก็ถูก Lay off ออกจากบริษัท ไม่มีอาขีพไม่มีงานทำ เราจึงทำศูนย์เรียนรู้ให้คนเข้ามาเรียนรู้บนชีวิตจริง

เมื่อมีคนที่มาดูงานที่เขาไม้แก้ว ไม่ต้องถามว่าเราทำอย่างไร เอาแค่ว่า “มาดูแล้วเชื่อหรือไม่ว่าเกษตรอินทรีย์ทำได้จริง เลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวได้จริง” ถ้าเราเชื่อเหมือนกัน เรามาคุยเป็นพี่น้องกัน เพราะเรามาคุยกันวันเดียวไม่มีทางที่จะกลับไปทำได้ แต่ถ้าเราเชื่อเหมือนกัน เราจะเชื่อมกันง่าย เป็นพี่น้องกันง่าย มีการถ่ายทอดความรู้ให้กันได้ง่ายตามศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ที่เราตั้งขึ้น

 

นายเกษมสันต์ แสงสิงแก้ว
เครือข่ายธรรมเกษตรอินทรีย์ จังหวัดอำนาจเจริญ

เราสำเร็จได้ด้วยข้อมูล เราต้องการตัวเลข เพราะเป็นสิ่งที่เราขาด ซึ่งเราได้มหาวิทยาลัยมหิดลมาช่วยทำข้อมูล สิ่งต่อมาการประสานงานต้องไม่ขาด ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ และการสร้างระบบระเบียบให้เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราแยกกันทำกลุ่มใครกลุ่มมันซึ่งมีกว่า ๔๐ กลุ่ม

เราจะจัดทำ ๑ จังหวัด ๑ แผนเกษตรอินทรีย์ ในวันที่ ๙ กันยายนนี้ เชิญบุคคลภายนอกมาเป็นที่ปรึกษา พยายามทำให้ทุกองคาพยพมาร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นหนึ่งเดียว เพราะตอนนี้เรามีพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากกว่า ๖๐,๘๘๘ ไร่

สิ่งที่เราทำมาไม่ไกลเกินฝัน ผู้ว่าราชการเอาด้วย เกษตรจังหวัดก็ลงพื้นที่ด้วย เรื่องเกษตรอินทรีย์เราทำแต่เรื่องเกษตรอย่างเดียวไม่พอ เราต้องประชาสัมพันธ์ ส่งเข้ากลุ่มไลน์ เชิญประธานสภาเกษตรประเทศมาเป็นสักขีพยานการทำ MOU เรามีของดีในพื้นที่อยู่มากต้องเผยแพร่ออกไป การประชาสัมพันธ์จึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์

เป้าหมายของเราในวันนี้จึงไม่ใช้แค่การทำเกษตรอินทรีย์ แต่ต้องไปให้ถึงนโยบายสาธารณะเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้ได้

 


 

นางศิรินารถ ใจมั่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เราให้ความสำคัญเรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างมากทั้งในรัฐบาลและในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ปัญหาที่ผ่านมา คือ เราขาดข้อมูลจริง ซึ่งมีการพูดถึงในวันนี้ ถ้าเราไปดูยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ คือเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์เป็น ๖ แสนไร่ จาก ๓ แสนไร่ ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการ แต่จริงๆ เราไม่มีข้อมูลในส่วนนี้

มีคนเคยถามว่าถ้ารัฐบาลส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แล้วมีคนทำมากขึ้น ถ้าราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ตกจะทำอย่างไร แม้กระนั้นเราเองก็ยึดมั่นในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เพราะไม่ใช่เรื่องราคาสินค้าอย่างเดียว แต่คือสุขภาพและความปลอดภัยทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภค

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้อนุมติโครงการเชื่อมโยงตลาด คือ ลดดอกเบี้ยถ้าโรงสีไปกู้เงินธนาคารพาณิชย์ไปซื้อข้าวให้เกษตรกร โดยถ้าโรงสีทำ MOU ซื้อขายกับเกษตรกร รัฐบาลจะช่วยจ่ายดอกเบี้ย ๓###/span#< จากทั้งหมด ๗###/span#< ในการกู้กับธนาคาร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการเรื่องเอกสารภายในกระทรวง

ปัญหาที่ผ่านมา เราเคยคุยกับตลาด อตก. เพื่อเปิดพื้นที่จำหน่ายให้แก่เกษตรกรโดยตรงแบบไม่ผ่านคนกลาง แต่พบว่าไม่มีเกษตรกรคนไหนที่ไปจำหน่ายสินค้าได้อย่างต่อเนื่องเพราะต้องกลับมาดูแลแปลงเกษตรของตนเอง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข้อจำกัดสำคัญ

เราเคยคุยกับตลาดไทซึ่งยินดีที่จะให้สินค้า GAP ไปวางจำหน่าย แต่เมื่อเราไปค้นข้อมูลพบว่าผักที่ได้รับ GAP ทั้งหมดถูกส่งห้างสรรพสินค้าหมดแล้ว จึงไม่มีพอที่จะส่งไปจำหน่ายที่ตลาดไท นั่นสะท้อนว่าสินค้าไม่เพียงพอ เรื่องการตลาดจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือกำลังการผลิต



พีธากร ศรีบุตรวงษ์

ผู้สรุปและบันทึกสาระสำคัญ





หมายเลขบันทึก: 634978เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2017 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2017 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท