ย้อนรอยอดีตศึกษานิเทศก์ เมื่อคราแรกเริ่ม ...อาจารย์นิรันดร์ นวมารค : แบบอย่างครูภาษาไทยชั้นเยี่ยมที่หาตัวจับได้ยาก


           บันทึก“ย้อนรอยอดีตศึกษานิเทศก์ เมื่อคราแรกเริ่ม” ที่ผมจะนำมาเล่าในลำดับต่อไปนี้ คือท่านอาจารย์นิรันดร์  นวมารค  ซึ่งถือว่าท่านเป็นแบบอย่างของครูทั้งด้านความขยันหมั่นเพียร การตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจัง  ความแม่นและแน่นในเนื้อหาความรู้ที่สอนอย่างหาตัวจับยาก รวมทั้งมีลีลาการสอนที่ได้แรงบันดาลใจและแบบอย่างจากบรมครูชั้นยอด  โดยท่านเอาใจใส่ต่อการสอนทั้งด้านความรู้และด้านการประพฤติปฏิบัติตนอย่างจริงจัง   ที่จริงท่านตั้งใจแน่วแน่ที่จะเป็นครูภาษาไทยจนตลอดชีวิต  ด้วยท่านเป็นครูที่รักภาษาไทย รักการสอนภาษาไทยเป็นชีวิตจิตใจ  แต่ช่วงหนึ่งของชีวิตท่านต้องมาช่วยทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์ให้กับกรมวิสามัญศึกษา  เพราะในช่วงเริ่มก่อตั้งหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญใหม่ๆ จำเป็นต้องสรรหาครูเก่ง  ผู้บริหารเก่ง มาเป็นศึกษานิเทศก์เพื่อช่วยให้คำแนะนำการจัดการเรียนการสอนแก่ครู  และครูที่ได้รับการสรรหามาเป็นศึกษานิเทศก์ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  และอาจารย์นิรันดร์ก็เป็นครูสอนภาษาไทยชั้นเยี่ยมของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาด้วย  ท่านจึงต้องมาช่วยงานนิเทศการศึกษาอยู่ระยะหนึ่ง  แต่จิตวิญญาณของท่านยังฝังแน่นกับการเป็นครูภาษาไทยมาตลอดชีวิต  จึงเชิญชวนท่านอ่านประวัติชีวิตและแบบอย่างความเป็นครูของท่านอาจารย์นิรันดร์ รวมทั้งจะได้ทราบบรรยากาศการเรียนการสอนและเหตุการณ์ในสมัยนั้นได้ด้วย  โดยผมได้สรุปมาจากหนังสือประวัติครูของคุรุสภา พ.ศ.2543 ครับ           
          อาจารย์นิรันตร์ นวมารค  เกิดที่บ้านในตรอกบวรรังษี ถนนตะนาว จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นบุตรคนที่ ๒ ของ นายพันตํารวจตรี หลวงสมัครโยธีการ (ขัน นวมารค) และนางสมัครโยธีการ (เจียร นวมารค)  เมื่อเยาว์วัยเรียนหนังสือกับมารดาจนพออ่านออกจึงไปเข้าเรียนที่โรงเรียน ใกล้บ้านชื่อ “ดรุณศึกษา” จนจบชั้นประถมปีที่ ๑ แล้วไปเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสตรีวิทยาจนจบชั้นประถมปีที่ ๓ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของประโยคประถมศึกษาและเป็นชั้นสูงสุดที่อนุญาตให้นักเรียนชายเข้าเรียนได้ แล้วไปเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๑ แผนกภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล ถนนสามเสน ซึ่งขณะนั้นอาจารย์นิรันตร์ อายุได้ ๘-๙ ขวบ เมื่อนายนิรันตร์เรียนถึงชั้น ๕ ได้เรียนภาษาไทยกับมหาฟู อาจารย์นิรันตร์เกิดศรัทธาในการสอนและวิธีสอนภาษาไทยของมหาฟูมาก ซึ่งเป็น เหตุหนึ่งที่ทําให้อาจารย์นิรันดร์รักภาษาไทยและเป็นครูสอนภาษาไทยมาตลอดชีวิต ดังข้อความตอนหนึ่งที่อาจารย์นิรันดร์เขียนเล่าในบทความเรื่อง ผมต้องสอนภาษาไทย ซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ ตอนหนึ่งว่า

“...มาถึงชั้นห้านี้สิครับ ผมได้ครูภาษาไทยคนหนึ่งชื่อ ฟู เป็นมหามาแต่เดิม... ท่านมหาฟูสอนภาษาไทยทั้งไวยากรณ์และกวีนิพนธ์ นี่เรียกแบบโบราณนะครับ ก่อนสอน ท่านมหาจะต้องเขียน โคลง กลอน ฉันท์ บนกระดานก่อนสักบทสองบทโดยคิดแต่งขึ้น สดๆ ผมยังจําท่าท่านมหาได้ ท่านนุ่งผ้าพื้นโจงกระเบน เสื้อราชประแตน ยืนบนม้าหน้ากระดานดํา จับชอล์กเหมือนจับปากกาดินสอ จดแล้วยก จดแล้วยกสักสองทีก็เขียนลงวรรคหนึ่ง ทําอย่างนี้ทุกทีที่เข้าสอน ผมไม่ทราบว่าท่านมหาฟูจะท่องมาก่อนหรือเปล่า แต่ออกจะนับถือความเป็นกวีอยู่เต็มหัวใจ และเริ่มเอาอย่างท่านตั้งแต่นั้นมา...”

         เมื่ออาจารย์นิรันตร์เรียนถึงชั้น ๗ ก็ต้องการสอบชั้นมัธยมปีที่ ๘ ของกระทรวงฯ จึงไปเรียนกวดวิชาที่โรงเรียนสุนทรภาษิตของขุนสุนทรภาษิต (ถนอม เกยานนท์) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสนามกีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน สามารถสอบชั้นมัธยมปีที่ ๘ แผนกวิทยาศาสตร์ได้  จากนั้นได้ไปสมัครสอบเข้าเรียนแพทย์ แต่เมื่อทราบว่าผลสอบ วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาเป็นคนละแบบกับของกระทรวงฯ จึงได้ กลับไปเข้าเรียนชั้น ๘ แผนกภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเซ็นต์คาเบรียลอีกปีหนึ่ง ซึ่ง ในตอนนี้ขุนสุนทรภาษิตได้มาเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยชั้น ๘ ทั้งแผนกภาษาอังกฤษและแผนกภาษาฝรังเศสที่โรงเรียนเซ็นต์คาเบรียลแล้ว อาจารย์นิรันดร์เห็นว่าการสอนภาษาไทยน่าสนุกเพราะขุนสุนทรภาษิตสอนสนุกมาก ถึงสิ้นปีอาจารย์นิรันตร์ สอบได้ทั้งชั้นมัธยมปีที่ ๘ แผนกภาษาและสอบได้ชั้น ๘ แผนกภาษาอังกฤษของ โรงเรียนเซ็นต์คาเบรียลด้วย จึงได้ไปเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังข้อความอีกตอนหนึ่งที่อาจารย์นิรันตร์เขียนเล่าไว้ใน บทความเรื่องเดิมว่า

“...ผมก็มาจินตนาการว่า เราก็มีประกาศนียบัตร ม.๘ ตั้งสี่ฉบับ เข้าเรียน อักษรศาสตร์ดีกว่าเรื่องมันก็ง่ายแล้วที่จะเป็นครูสอนภาษาไทย  ยังครับยัง  ความจรรโลงใจ มีอีก คือได้เห็นอาจารย์ท่านทองทีฆายุ อาจารย์รอง อาจารย์เจ้าคุณอุปกิต ฯ อาจารย์ เจ้าคุณอนุมานฯ อาจารย์เหล่านี้ท่านเล็กเชอร์เรื่อย ไม่เห็นดูหนังสือหนังหาอะไร บางทีก็มี กระดาษแผ่นเล็กๆ บันทึกข้อความไว้นิดหน่อยช่วยความจํา ผมก็เลยเอามั่งแล้วก็เมื่ออยู่ โรงเรียนฝรั่งนั้น บรรดามาสเตอร์ บราเดอร์ทั้งหลายเคี่ยวเข็ญให้ท่องจําบทเรียนอย่าง สาหัสจนจะทําอะไรก็ท่องจําได้เสมอ เลยท่องจําอะไรต่ออะไรเรื่อยมา...”

            อาจารย์นิรันตร์เรียนสําเร็จได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ และเรียนต่อประโยคครูมัธยม (ป.ม.) อีก ๑ ปี สําเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ พอดีเกิดสงครามมหาเอเชียบรูพา ทุกกระทรวงปิดรับไม่บรรจุตําแหน่งใหม่ เว้นแต่กระทรวงศึกษาธิการเพียงแห่งเดียว อาจารย์นิรันตร์จึงไปสมัครเป็นครู  หม่อนหลวงปิ่น มาลากุล ผู้อํานวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จําอาจารย์นิรันตร์ได้จึงให้เป็นครูลูกจ้างที่โรงเรียน เตรียมอุดมศึกษาระยะหนึ่ง จนมีตําแหน่งว่างจึงได้บรรจุเข้ารับราชการ อาจารย์นิรันตร์ เล่าถึงการสอนหนังสือครั้งแรกๆ ไว้ในบทความเรื่องเดิมว่า

“...ผมก็งัดเอาบรรดากิริยาท่าทางอัธยาศัยเท่าที่ผมพอจะจําได้จากอาจารย์ ทุกท่านที่ผมเคยเรียนกับท่านมา นําออกใช้ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่ผมสอนเลย ผมสอนประวัติวรรณคดีโดยมีกระดาษเล็กๆ เขียนตัวเลข พ.ศ. และชื่อบุคคลไว้สองสามชื่อ แล้วผมก็ว่าเรื่อยไปช้า ๆ พอให้นักเรียนจดทัน ทําอย่างนี้สักเดือนหนึ่งต่อไปก็พูดเร็วๆ อย่างเล็กเชอร์นักเรียนก็จดทัน ผมบอกว่าฝึกไว้ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย นักเรียนเขาก็เห็นดีด้วย... เวลาสอนเวสสันดร ตะเลงพ่าย ผมก็เรียนมาตั้งแต่ชั้นเจ็ดชั้นแปดจนจําได้เกือบหมดแล้ว พอมาสอนผมก็ดูหนังสือบ้างไม่ดูบ้าง แต่พอนักเรียนอ่านผิดผมก็ท้วงทันที่ไม่ปล่อยให้ผิด แม้แต่ตัวควบกล้ํา ตัว ร ล นักเรียนหาว่าผมเข้มงวดเกินไป ผมก็ยอมรับโดยดี แต่ก็ไม่ยอมลดให้...”

         พ.ศ. ๒๔๘๗ สงครามทวีความรุนแรงขึ้น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึง ต้องย้ายไปอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ อาจารย์นิรันตร์ต้องย้ายตามไปด้วย ขณะเดินทาง หนังสือตําราต่างๆ ของอาจารย์นิรันตร์ถูกน้ํามันเครื่องรถบรรทุกหกรดเสียหาย อาจารย์ นิรันตร์จึงสอนโดยไม่มีตําราเนื่องจากจําได้ทั้งหมด จนสงครามสงบใน พ.ศ. ๒๔๘๘ จึงได้ย้ายกลับมาอยู่ที่เดิม

          วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ กระทรวงศึกษาธิการมีคําสั่งให้จัดตั้ง แผนกฝึกหัดครูมัธยมขึ้นในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาอีกแห่งหนึ่ง (เรียกกันย่อๆ ในภายหลังว่า ฝค.ตอ.) หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร ทรงดํารงตําแหน่งหัวหน้า แผนก อาจารย์นิรันตร์ได้รับมอบหมายให้มาสอนวิชาภาษาไทยที่แผนกนี้ด้วย และสอน ตลอดมาจนแผนกฝึกหัดครูมัธยมโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายกฐานะขึ้นเป็น วิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ และยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรตปทุมวัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยที่ยังสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียน เตรียมอุดมศึกษาด้วย และเมื่ออาจารย์สอนวิชาฝรั่งเศสของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ทุนไปศึกษาต่อ อาจารย์นิรันตร์ก็ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาภาษาฝรั่งเศส อีกวิชาหนึ่ง

              อาจารย์นิรันตร์มีความเชี่ยวชาญในการสอนวิชาภาษาไทยมาก เวลาสอนหลัก ภาษาไทยก็จะใช้หลักวิทยาศาสตร์เข้าช่วย เช่น สอนให้สั้น กระชับ และจําได้ง่าย เป็นต้น เวลาสอนแต่งคําประพันธ์ก็จะแต่งคําประพันธ์เป็นคําถามง่ายๆแล้วให้นักเรียนแต่งตอบ ดังข้อความอีกตอนหนี่งทีอาจารย์นิรันตร์เขียนเล่าไว้ในบทความเดิมว่า

“ผมสอนหลักภาษาไทยโดยเอาหลักวิทยาศาสตร์เข้าจับ คือพยายามทําคําอธิบาย ให้ตรงเป้า สั้น กระชับ ให้ท่องได้น้อยที่สุด จําได้ง่ายที่สุด เช่น คํานิยามเรื่องคําครุ ผมให้ นักเรียนจดไว้ว่า คําครุ คือ คําทุกคําที่มีเสียงตัวสะกดและคําที่ผสมกับสระเสียงยาวใน แม่ ก. กา รวมทั้งสระอํา ไอ ใอ เอา เห็นไหมครับผมตัดปัญหาเรื่องมาตราตัวสะกดแม่อะไรๆ หมดเลย นักเรียนเขาก็พอใจ หรืออย่างคํานิยาม คําตาย คือ คําที่มีเสียงตัวสะกด ในแม่กก แม่กด แม่กบ แล้วคําที่ผสมกับสระเสียงสั้นในแม่ ก.กา ยกเว้นสระ อํา ไอ ใอ เอา แต่ถ้านักเรียนตอบเอาเรื่องตัวสะกดมาไว้หลังข้อความยกเว้นในสระเสียงสั้นละก็ผมไม่ยอม และชี้แจงว่าถ้าเอาคําที่มีเสียงตัวสะกดมาไว้หลังข้อความยกเว้น มันก็กลายเป็น ยกเว้นไปหมด แล้วก็เลยพูดถึงการผูกประโยคในการเรียงความต่อไปเลย

เวลาผมสอนแต่งคําประพันธ์ ผมก็ทําคล้ายแบบครูฟูของผม ผมสั่งงานเป็น คําประพันธ์ชนิดที่กําลังสอนและจะให้ทําการบ้าน พอตอนตรวจผมก็แต่งติชมลงเป็น คําประพันธ์... ผมสอนพวก ว.ศ. ปทุมวัน ผมก็ทําอย่างนี้อีก นักเรียนไม่เบื่อ ดีกว่าให้ คะแนน บางทีผมก็แต่งคําถามง่ายๆ เป็นคําประพันธ์ให้นักเรียนตอบ บางทีครี้มๆ ก็ให้นัก เรียนแต่งคําถามเป็นคําประพันธ์ ผมจะตอบเป็นคําประพันธ์อย่างเดียวกัน ทีนี้ใครๆ ก็ อยากจะถามให้ครูตอบ แย่งกันแต่งออกมาเขียนถามที่กระดานดํา ครูตอบแทบไม่ทัน...”

          พอกรมวิสามัญศึกษาตั้งให้มีหน่วยศึกษานิเทศก์ และให้มีศึกษานิเทศก์ขึ้น  อาจารย์นิรันตร์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นศึกษานิเทศก์พิเศษของกรมวิสามัญศึกษาด้วย  ตอนออกไปปฏิบัติงานนิเทศการศึกษาอาจารย์นิรันตร์ได้เขียนตําราให้ครู โดยเฉพาะคู่มือครู การสอนแต่งคําประพันธ์ และต้องออกไปนิเทศการสอนตามโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  ในส่วนภูมิภาคได้มีการแบ่งการนิเทศเป็นสายๆตามภาคการศึกษา(ต่อมาเรียกเขตการศึกษา)ทั้ง 12 ภาคการศึกษาทั่วประเทศ          
         ระหว่างออกไปนิเทศในจังหวัดต่างๆ อาจารย์นิรันดร์  ได้แต่งบทกลอนเอาไว้บทหนึ่ง แม้จะเป็นการเขียนเพื่อความครื้นเครงสนุกสนาน แต่ก็สะท้อนให้เห็นชีวิตการทำงานของศึกษานิเทศก์ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี                
        “เป็นศึกษานิเทศก์พิเศษแสน                   ต้องวางแผนงานเฉพาะให้เหมาะสม                 
        ทั้งภาคต้นภาคปลายหมายนิยม               ให้ครูชมว่าเขาได้อะไรดี                 
        ถึงหน้าร้อนเราเลี่ยงไปเชียงใหม่              หนาวลงใต้ไปยะลาว่าเต็มที่                 
        ไปอุดร อุบล ยลธานี                         
      ตามที่มีกำลังตั้งงบมา                  
        นอนรถไฟไปสบายก็หลายหน                ไปรถยนต์ตู้โอ่ โตโยต้า                 
        ถ้าแค่เพชร ประจวบ รวบเวลา                 ใช้รถยนต์หลายคราพากันจร                 
       ได้ไปชมชนบทแสนสดสวย                     ได้ไปช่วยเพื่อนครูรู้ทางสอน                 
       ได้นำเอาปัญหามาว่าวอน                      ให้กรมร้อนใจช่วยด้วยใจจริง”
         
         จะเห็นได้ว่าการทำงานของศึกษานิเทศก์แต่ไหนแต่ไรมา ล้วนทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงนโยบายของกรมไปสู่การปฏิบัติที่โรงเรียน  โดยมีแผนเป็นตัวนำ ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่ก็มีการอบรม  ผลิตสื่อ วิจัย และนิเทศติดตามผล แล้วก็สรุปรายงานกรม ซึ่งก็เหมาะกับบริบทในยุคนั้นๆ ที่มีความจำกัดของจำนวนศึกษานิเทศก์          
        หันกลับมาคุยเรื่องบทบาทการเป็นครูผู้สอนของอาจารย์นิรันตร์ต่อ  นอกจากจะสอนวิชาความรู้แล้ว อาจารย์นิรันดร์ยังสอนจรรยามารยาทให้นักเรียนเป็นคนดีด้วย ดังที่อาจารย์นิรันตร์เขียนเล่าไว้ใน บทความเรื่อง เราก็ศิษย์อาจารย์  พิมพ์ลงในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ ตอนหนึ่งว่า

“ ข้อสำคัญครูต้องอบรมจริยาด้วย  ครูน่ะจะสอนแต่วิชาอย่างเดียวเห็นจะไม่ได้เป็นครูของชาติ เป็นได้แค่ผู้สอนเพราะไม่ได้ทําอะไร ได้แต่บอกว่าอะไรเป็นอย่างไร แต่ถ้า เป็นครูต้องทํางานหนักกว่านั่นแยะ ต้องสอนวิชาการแล้วต้องสอนใจคนให้ดีขึ้นละเอียดขึ้นด้วย... ถ้าสอนวิชาให้ลูกศิษย์เอาวิชาไปทําชั่วเอาไปเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ผู้สอนวิชานั้นก็ไม่น่าเรียกว่าครู เพราะไม่บอกวิธีใช้วิชาในทางชอบให้ศิษย์”

           อาจารย์นิรันตร์มีผลงานเป็นจํานวนมาก ทั้งที่เป็นบทความเผยแพร่ตามวารสาร ต่างๆ และเผยแพร่ทางวิทยุศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งที่เป็นบทร้อยกรอง บทอาศิรวาท และทั้งที่เป็นตําราทางภาษาไทย นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการอีก หลายคณะ เช่น กรรมการจัดทําหนังสือเรียน และคู่มีอครูวิชาภาษาไทย วิชาบังคับ มัธยมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการที่ปรึกษาจัดทําหนังสือเรียนภาษาไทย ชุดวรรณสารวิจักษ์ อนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทําหนังสือราชาศัพท์ของสํานักงาน เสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

          อาจารย์นิรันตร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าตึก ๓ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งผู้ช่วยผู้อํานวยการฝ่ายบริหาร และยังคงสอน หนังสือไปด้วยจนกระทั่งเกษียณอายุราชการเมื่อ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ รวมเวลาที่สอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ ๓๕ ปี

           หลังเกษียณอายุราชการแล้ว อาจารย์นิรันตร์ยังได้รับเชิญไปสอนตามสถาบันการศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะที่โรงเรียนจิตรลดา ได้ถวายความรู้ทางภาษาไทย แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา อาจารย์นิรันตร์สอนหนังสือที่ โรงเรียนจิตรลดาจนอายุได้ ๘๓ ปี จนเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ อาจารย์นิรันตร์เริ่มมีอาการอ่อนเพลียจึงเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน  ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ ย้ายมารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ จนกระทั่งถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ สิริอายุได้ ๘๓ ปี ๔ เดือน ๑๙ วัน

หมายเลขบันทึก: 634396เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2017 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2017 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
น้ำฝน คูณเจริญรัตน์

อยากเรียนสอบถามว่าอ.นิรันตร์ท่านเกี่ยวข้องอย่างไรกับอ.สิริสุข นวมารค ค่ะ คุณพ่อเคยเป็นลูกศิษย์อ.สิริสุขค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท