เชียงราย : สวรรค์บนดินถิ่นไทย


พ่อขุนเม็งราย : มหาราชของชาวล้านนา

         จังหวัดเชียงราย    ดินแดนอันงดงามเหนือสุดของประเทศไทย มีรอยต่อลาว พม่า โอบล้อมไปด้วยสายหมอก ดอกไม้ ขุนเขา ป่าไม้ พืชพรรณ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำและน้ำตกอันงดงาม มีประชากรหลายเชื้อชาติ ซึ่งต่างมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

           พ่อขุนเม็งราย : มหาราชของชาวล้านนา (https://th.wikipedia.org )                                                                                                                              พญามังราย เป็นพระราชโอรสของลาวเมง พระมหากษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงราว กับนางเทพคำขยาย พระราชธิดาของท้าวรุ่งแก่นชายแห่งเมืองเชียงรุ่งสิบสองพันนา  เมื่อเสวยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 25 แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงราวแล้ว ได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายเป็นเมืองหลวงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1805 ทรงสร้างเมืองฝาง  เมืองชะแว เวียงกุมกาม และยังทรงตีได้อีกหลายเมืองรวมถึงเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) ในปี พ.ศ. 1839 ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ พระราชทานนามว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่                                                                                                                            พญามังราย มีพระสหายร่วมสาบาน คือ พญางำเมือง แห่งแคว้นพะเยา และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งอาณาจักรสุโขทัย  เมื่อจะทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ก็ได้ปรึกษากับพระสหายทั้งสอง  พญามังรายทรงต้องอสนีบาตถึงแก่พระชนชีพกลางเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 1854 สิริพระชนม์เจ็ดสิบสามพรรษา  พระญามังราย ได้รับการยกย่องเป็น “มหาราช” เมื่อ 646 ปีก่อน จากหลักฐานศิลาจารึกวัดพระยืน (พ.ศ.1913) จ.ลำพูน ยกย่องพระองค์ว่า “พระญามังรายหลวง” ซึ่งหมายถึงกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ หรือ “มหาราช” นั่นเอง (รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน, พระญามังรายหลวง : สนพ.บ้านมงคล, 2560)

          ชื่อไหน? พ่อขุนเม็งรายหรือพระญามังราย

          ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ-โบราณคดี ได้กล่าวไว้ใน คอลัมน์ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 28  มติชนสุดสัปดาห์ (www.matichonweekly.com) สรุปได้ว่า  เอกสารโบราณทุกชิ้นใช้ “พร(ะ)ญามังราย” ทั้งสิ้น ไม่มีคำว่า “พ่อขุนเม็งราย” คำว่า “เม็งราย” (เมงราย) พบครั้งแรกในหนังสือ “พงศาวดารโยนก” โดยพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) พิมพ์เมื่อพ.ศ.2450 พงศาวดารเล่มนี้ได้นำมาใช้เป็นต้นแบบในการเรียบเรียงประวัติศาสตร์สยาม   คำว่า “เม็งราย” ถูกประดิษฐ์ขึ้นตามวิเทโศบายการเมืองระหว่างประเทศในสมัย ร. 5 เนื่องจากอังกฤษได้พม่าเป็นอาณานิคม แล้วอ้างว่าล้านนาต้องตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษตามพม่า เพราะ 1. ในอดีต ล้านนาเคยเป็นส่วนหนึ่งของพม่า แต่เหตุผลข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะขณะนั้นล้านนาอยู่ในฐานะประเทศราชของสยามแล้ว 2.แม้แต่ปฐมกษัตริย์ของล้านนาเองก่อนยุคที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ก็ยังทรงมีเชื้อสายพม่า เหตุเพราะทรงมีพระนามว่า “มังราย” (คำว่า “มัง” เป็นคำนำหน้าของคนชั้นสูงในพม่า ระดับกษัตริย์หรือขุนนาง) ทีมกุนซือราชสำนักสยามจึงมอบให้พระยาประชากิจกรจักร์ แก้ไขชื่อจาก “มังราย” เป็น “เม็งราย”                                                                                                                                                                        คำว่า “พระญา”  ในดินแดนภาคเหนือมีความหมายถึง “กษัตริย์” ทำไมกษัตริย์ล้านนาไม่ใช้ “พระเจ้า” นำหน้า เหตุเพราะว่า “พระเจ้า” ได้นำไปใช้เรียกชื่อของพระพุทธรูปแล้ว จึงเกรงว่าจะเกิดความสับสน                                                                                                                                                                  พ่อขุนรามคำแหง นามนี้เองที่นักประวัติศาสตร์ไทยได้เอามาเป็นต้นแบบในการขนานนามกษัตริย์อื่นให้กลายเป็น พ่อขุน ตามไปด้วย คำว่า“พ่อขุน”ไม่เคยปรากฏในเอกสารหรือศิลาจารึกหลักใดในล้านนา                                                                                                                                                  2 ธ.ค. 2559 มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ (ประเทศไทย)  ได้จัดเสวนาวิชาการ “777 ปี ชาตกาลพระญามังราย : การสร้างเมือง การบริหารรัฐ นโยบายรัฐสัมพันธ์ และมรดกทางประวัติศาสตร์” ณ ห้องประชุม ม.เชียงใหม่ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ นำมาถ่ายทอดในปริศนาโบราณคดี มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 ธ.ค. 2559 ถึง ฉบับวันที่ 3-9 ก.พ.2560 (รวม 8 ฉบับ)                                                                                  ด้วยความสำคัญและทรงคุณค่า บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัดได้จัดสร้างแสตมป์ที่ระลึกในวาระครบรอบ ๗๕๐ ปีแห่งการสถาปนาเมืองเชียงราย จำหน่ายเมื่อ ๒๖ ม.ค. ๒๕๕๕ (http://www.cm77.com)

           สถานที่ท่องเที่ยวเมืองเชียงราย   เชียงราย มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เช่น  วัดร่องขุ่น, วัดพระแก้ว, ไร่บุญรอด, ภูชี้ฟ้า, ดอยผาตั้ง, ดอยแม่สลอง, พระตำหนักดอยตุงและสวนแม่ฟ้าหลวง, วัดพระธาตุดอยตุง, วัดพระสิงห์, วัดพระธาตุจอมทอง, วัดห้วยปลากั้ง, พิพิธภัณฑ์บ้านดำ, ล่องน้ำกก, ตลาดแม่สาย, วัดร่องเสือเต้น ฯลฯ  วัดร่องเสือเต้น กำลังได้รับความสนใจ มี พระทนงศักดิ์ กตสาโร เป็นเจ้าอาวาส ฝีมือช่างโดย พุทธา กาบแก้ว (สล่านก) ชาวเชียงราย  ลูกศิษย์ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และเคยทำงานสร้างวัดร่องขุ่น

           สถาบันพระปกเกล้ากับเชียงราย (อีกครั้ง)

           นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง ปบถ.3 สถาบันพระปกเกล้า ประกอบด้วย วันชัย  จงสุทธานามณี นายก ทน.เชียงราย,  กิตติพงศ์ สีเหลือง นายก อบต.เสม็ดใต้, จงกลนี แก้วสด ผอ.สำนักบริหารกลางองค์การสวนสัตว์ฯ, จรัส ไชยา นายก ทต.เมืองแกนพัฒนา, ชาญวิจารณ์ เกียรติวุฒินนท์ นายก ทต.จันดี, ทรงยศ ยอดมนตรี รองนายก ทน.สุราษฏร์ธานี, ปุณยวีร์ โพธิพิพิธ นายก ทต.ท่าเรือพระแท่น, มนตรี จอมผา สท.เมืองสมุทรสงคราม, ยงยุทธ สุวรรณบุตร นายก ทต.แพรกษา, วิชิตร์ แสงทองล้วน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ, รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกูล อธิการ ม.ราชภัฏนครราชสีมา, อภิสมา โพธารากุล นายก ทต.ท่ามะกา ภายใต้การดูแลของ รศ.วุฒิสาร ตันไชย, ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล ได้ศึกษาเทศบาลนครเชียงรายในฐานะเมืองต้นแบบแห่งการศึกษา สรุปได้ว่า                                                                                                                                                   รูปแบบการพัฒนา ขั้น 1 ต่อยอดความร่วมมือระหว่างโรงเรียนทั้งในและต่างประเทศ ขยายไปสู่สังคมนอกโรงเรียน ชุมชน สังคมรอบข้าง เน้นการเรียนรู้ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามบริบท สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมและยุทธศาสตร์การพัฒนา ขั้น 2 ยกระดับการจัดการเรียนการสอนไปสู่การเน้นทักษะการคิด โดยสนับสนุนครูและบุคลากรให้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ วิธีการสอนที่หลากหลาย กระตุ้นให้นักเรียนได้ พัฒนาทักษะทางการคิด การปฏิรูปหลักสูตรและตำราเรียน  ขั้น 3  พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน ปรับภูมิทัศน์ มีห้องเรียนที่เพียงพอ หนังสือเรียนที่ครบมีมาตรฐาน สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย ครูและบุลคลากรทางการศึกษามีศักยภาพและครบถ้วน                                                                                                                                 นายกฯ วันชัย จงสุทธานามณี ประกาศด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างเชียงรายให้เป็น “นครแห่งการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม” ได้เอาใจใส่ทุกเพศ ทุกวัยในทุกมิติ รวมถึงการจัดสร้างหอนาฬิกาให้เป็นจุดเด่นของเมือง ออกแบบโดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หลังเคารพธงชาติ 18.00 น. ทุกวัน จะเปิดแสงสีส่องหอนาฬิกา พร้อมกับเปิดเพลง “เชียงรายรำลึก” ให้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงรายอีกด้วย

            บรรดาเราเหล่าสามัคคีวิทยาคม

            โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม (สวค.) เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ก่อตั้งขึ้นโดย พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ผู้ว่า จ.เชียงราย เมื่อ พ.ศ. 2451 ตรงกับปีที่ 41 ในรัชกาลที่ 5 เป็นสถานศึกษาของรัฐอันดับที่ 15 ของประเทศ อันดับที่ 4 ของภาคเหนือ อันดับที่ 1 ของเชียงราย  จัดการศึกษาระดับมัธยม รูปแบบสหศึกษาเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ มีศิษย์เก่า เช่น ถวัลย์  ดัชนี (https://th.wikipedia.org)                                                                          ส.น.ส. คือชื่อย่อของ สมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม  เป็นนิติบุคคล ปัจจุบันมี อนุสรณ์ วงศ์ใหญ่ อัยการ จ.เชียงราย เป็นนายกสมาคม  โดยศิษย์เก่าแก่ละรุ่นจะมีประธานรุ่นเป็นตัวแทนสมาชิกรุ่นนั้นๆ เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการ ส.น.ส. สม่ำเสมอ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับศิษย์ปัจจุบัน เช่น  ส่งเสริมด้านการศึกษาบุตร หลาน, ปลูกป่าและหญ้าแฝก, ทำฝายชะลอน้ำ ฯลฯ โดยแต่ละรุ่นจะต้องใช้คำว่า ส.น.ส. แล้วตามโดยตัวเลขรุ่นนั้นๆ  เช่น  ส.น.ส.25/28  หมายถึงศิษย์เก่า จบ ม.3 ปี 2525 หรือ จบ ม.6 ปี 2528                                                                                                  ส.น.ส.25/28  มีธวัช แก้วจินดา ปลัด ทต.ดงมะดะ เป็นประธาน  ผู้ร่วมขับเคลื่อน เช่น  ผจญ ใจกล้า, สุรไกร สนองญาติ, พนม วรรณชยพล, นิวัฒน์  ตั้งตระกูล, ประเสริฐ  ศรีประเสริฐ, ประหยัด  ชัยวีระ, ธีรศักดิ์  วิงวรรณ, สาคร หน่อแก้ว ก่อเกิดกิจกรรมรังสรรค์วัดร่องเสือเต้น และ จ.เชียงรายสืบมา                                                                                                                                                                                                                                    เฉลิมชัย  โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายศิลปินเชียงราย จัดประชุมเพื่อผลักดัน จ.เชียงรายเป็นเมืองศิลปะ เมืองศิลปิน เนื่องจาก จ.เชียงรายมีศิลปวัฒนธรรมเป็นจุดเด่น โดยมีนายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติเป็นผู้เริ่มต้น ในปี 2561 จ.เชียงรายเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ จะใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างถนนศิลปะครั้งแรกในไทยที่ยิ่งใหญ่ โดยความร่วมมือของศิลปินใน/ต่างประเทศเพื่อดึงนักท่องเที่ยว (มติชน 11 ก.ค.2560 หน้า 17)                                                                                                                                          ณ.ที่แห่งนี้ยังรอคอยท่านอยู่ เพื่อสัมผัส อ้อมกอดเมืองเชียงราย  ดินแดนแห่งลูก หลานพญามังราย ที่อุดมไปด้วยศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีถิ่น บรรยากาศสวยสดงดงาม อบอวลไปด้วยสายใยแห่งมิตรภาพ บนดินแดนนครแห่งความสุข สวรรค์บนดินบนพื้นถิ่นไทยที่สัมผัสได้เพียงแค่มาเยือน.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท