การปรับใช้หลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-refoulement Principle) ในประเทศไทย


ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณายกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกความตามกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ.2560 โดย บงกช นภาอัมพร

การปรับใช้หลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-refoulement Principle) ในประเทศไทย

ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณายกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกความตามกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ.2560

บงกช นภาอัมพร

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความคุ้มครอง ณ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำสำนักงานส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UNHCR Regional Office for South-East Asia) โดยได้เริ่มต้นค้นคว้าและยกร่าง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 (*เนื้อหาที่ปรากฏในบทความฉบับนี้เป็นบทวิเคราะห์ส่วนตัวของผู้เขียน โดยมิได้เกี่ยวข้องกับ UNHCR แต่อย่างใด ข้อผิดพลาดใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว)


บทนำ

คำว่า “ห้ามผลักดันกลับ หรือ non-refoulement” นั้น มาจากคำภาษาฝรั่งเศส “refouler” แปลว่า ส่งกลับ หรือ ขับไล่ หลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-refoulement Principle) เป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (customary international law) ที่กำหนดพันธกรณีแก่รัฐ ห้ามส่งกลับหรือขับไล่บุคคลออกนอกประเทศ หากมีเหตุอันควรเชื่อ (substantial grounds) ได้ว่า ว่าการผลักดันนั้นจะทำให้บุคคลได้รับอันตรายต่อชีวิตหรือเสรีภาพ

หลัก Non-refoulement มีสถานะเป็นกฎหมายบังคับเด็ดขาด (peremptory norms หรือ jus cogens) ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศใดก็ตามจะขัดกับหลักกฎหมายบังคับเด็ดขาดไม่ได้ และรัฐเองก็ไม่อาจยกเว้นที่จะไม่ปฏิบัติหลัก Non-refoulement ในสถานะที่เป็นกฎหมายบังคับเด็ดขาดได้เช่นกัน[1]

นอกจากในสถานะของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศแล้ว หลัก Non-refoulement ยังเป็นหลักการที่มีความสำคัญในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย (Refugee law) และกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (International Human rights) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ ผู้ศึกษามุ่งเน้นให้ข้อมูลและวิเคราะห์ หลัก Non-refoulement รวมถึงหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามหลักการนี้ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันรัฐไทยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณายกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกความตามกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ.2560 โดยเฉพาะในบทบัญญัติกล่าวถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคงสถานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย แต่ “ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศที่บิดาหรือมารดามี หรือเคยมีภูมิลำเนา หรือเคยอาศัยอยู่ได้”


พันธกรณีที่ปรากฏในกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งผูกพันรัฐไทย

หลัก Non-refoulement เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญที่ปรากฏในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1951 หรือ พ.ศ.2494[2] และได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ[3] เนื่องจากหลักการ Non-refoulement ได้กลายเป็นทางปฏิบัติของรัฐ โดยไม่มีรัฐใดแม้แต่รัฐที่มิได้เป็นภาคีอนุสัญญาคัดค้านหลักการดังกล่าว นอกจากนี้ หลักการ Non-refoulement ยังได้กลายเป็นความเชื่อโดยทั่วไปว่าเป็นทางปฏิบัติที่ห้ามกระทำโดยปริยาย[4] ดังนั้น หลักการ Non-refoulement จึงผูกพันทุกรัฐรวมถึงรัฐไทยให้ต้องปฏิบัติตาม

นอกจากความผูกพันต่อรัฐไทยในสถานะของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศแล้ว หลักการ Non-refoulement ยังปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่รัฐไทยเป็นภาคี อาทิ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ค.ศ.1966 (พ.ศ.2509) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: CRC) ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) และ อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527)

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ค.ศ.1966 (พ.ศ.2509)[5]

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองไม่ได้มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงหลักการ Non-refoulement โดยตรง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Committee) ได้มีข้อวินิจฉัยตีความพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิในชีวิต (ข้อ 6(1)[6]) และสิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือต่ำช้า (ข้อ 7[7]) ซึ่งสะท้อนหลักการ Non-refoulement ไว้ว่า รัฐภาคีต้องไม่ให้บุคคลตกอยู่ในอันตรายจากการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี จากการกลับคืนสู่ประเทศอื่นโดยการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน การขับไล่ หรือการผลักดันกลับ บุคคลใดออกจากดินแดน ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวมีความเสี่ยงที่แท้จริงต่ออันตรายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ โดยสิทธินี้เป็นสิทธิของทุกคนที่อยู่ในดินแดนและในทุกสถานการณ์โดยไม่อาจเพิกถอนได้”[8]

จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติให้ความสำคัญต่อหลักการ Non-refoulement โดยเล็งเห็นว่าหลักการนี้เป็นหนึ่งในหลักการพื้นฐานสำคัญที่จะป้องกันการละเมิดสิทธิในชีวิตและสิทธิจะไม่ถูกทรมานของบุคคลในสถานการณ์หนึ่งๆ ที่อาจจะถูกผลักดันออกนอกประเทศได้ ซึ่งบุคคลในสถานการณ์ดังกล่าวครอบคลุมบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนของรัฐหรืออยู่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐ รวมถึง คนไร้สัญชาติ (stateless persons) ผู้แสวงหาที่พักพิง (asylum-seeker) ผู้ลี้ภัย (refugee) และ แรงงานข้ามชาติ (migrant workers) ด้วย[9]

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: CRC) ค.ศ.1989 พ.ศ.2532[10]

อนุสัญญาฉบับนี้มุ่งให้ความคุ้มครองสิทธิของเด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์) และแม้จะไม่ได้มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงหลักการ Non-refoulement แต่การให้ความคุ้มครองเด็กเพื่อไม่ให้ถูกผลักดันกลับ ก็ปรากฏในบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองสิทธิในชีวิต (ข้อ 6[11]) สิทธิจะไม่ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือต่ำช้า (ข้อ 37(a)[12]) และการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ใช้บังคับกับรัฐภาคีในกรณีพิพาทกันด้วยอาวุธซึ่งเกี่ยวข้องกับเด็ก (ข้อ38(1)[13]) ซึ่งสอดคล้องกันกับบทบัญญัติที่ปรากฏในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติได้ให้ความเห็นในข้อวินิจฉัยที่ 6 ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเด็กซึ่งอพยพออกจากประเทศต้นทางและต้องพลัดพรากจากบิดามารดาหรือถูกทอดทิ้ง (Unaccompanied and Separated Children) ซึ่งกล่าวถึงพันธกรณีของรัฐภาคีที่ต้องเคารพหลักการ Non-refoulement ไว้ว่า “รัฐภาคีต้องไม่ส่งเด็กกลับไปยังประเทศซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ยังมีสถานการณ์ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับอันตรายต่อชีวิตหรือเสรีภาพ ดังเช่นที่ระบุไว้อย่างชัดแจ้งในบทบัญญัติมาตรา 6 และ มาตรา 37 ภายใต้อนุสัญญานี้”[14] นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้แนะนำให้รัฐภาคีคำนึงถึงหลักการ Non-refoulement ในกรณีเด็กอาจจะถูกส่งกลับไปยังประเทศที่ยังอยู่ในภาวะสงครามว่า “รัฐภาคีควรพิจารณาที่จะไม่ส่งเด็กกลับไปยังประเทศที่ยังอยู่ในภาวะสงคราม และมีความเสี่ยงที่เด็กจะถูกเกณฑ์ไปเข้าร่วมในกองทัพของรัฐหรือกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่กองทัพของรัฐ หรือถูกบังคับให้บริการทางเพศในสภาวะดังกล่าว”[15]

อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527)[16]

อนุสัญญาต่อต้านการทรมานเป็นอนุสัญญาที่มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงหลักการ Non-refoulement ไว้อย่างชัดแจ้งในข้อ 3[17] ซึ่งมุ่งเน้นคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และห้ามขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับ) หรือส่งบุคคลในฐานะของผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน

รัฐภาคีไม่สามารถยกเลิกเพิกถอนและกำหนดข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามข้อ 3 ได้ บทบัญญัตินี้จึงให้ความคุ้มครองแก่บุคคล รวมถึงผู้ลี้ภัย ดีกว่าหลักการเดียวกันที่ปรากฏในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ซึ่งมีการกำหนดข้อยกเว้นในกรณีที่มีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าผู้ลี้ภัยเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดอาญาร้ายแรงอันเป็นภัยต่อประชาชนภายในประเทศนั้น ในกรณีนี้ผู้ลี้ภัยจะไม่สามารถอ้างประโยชน์จากหลักการห้ามผลักดันกลับได้


หลักเกณฑ์ในการพิจารณาการห้ามผลักดันกลับและการปรับใช้ในประเทศไทย

จากการพิจารณาบทบัญญัติและข้อวินิจฉัยของกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งผูกพันรัฐไทยข้างต้น ผู้ศึกษาพบว่าคณะกรรมการต่อต้านการทรมานและคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติได้ให้ข้อเสนอแนะถึงหลักเกณฑ์ที่รัฐภาคีควรพิจารณาการใช้หลักการ Non-refoulement ไว้ ซึ่งพอจะวิเคราะห์และนำมาเป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาปรับใช้ในประเทศไทยได้ ดังต่อไปนี้

  • รัฐไทยควรพิจารณาเหตุอันควรเชื่อว่าการผลักดันนั้นจะทำให้บุคคลได้รับอันตรายต่อชีวิตหรือเสรีภาพ โดยนำ (1) เงื่อนไขของประเทศต้นทางหรือประเทศที่จะส่งบุคคลกลับออกไป และ (2) เงื่อนไขเฉพาะตัวของบุคคล มาประกอบการวินิจฉัย
  • การพิจารณา “เงื่อนไขของประเทศต้นทางหรือประเทศที่จะส่งบุคคลกลับออกไป” โดยรวมอาจจะดูได้หากในประเทศนั้นๆ ปรากฏสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและขยายตัวเป็นวงกว้าง อาทิ มีเหตุการณ์ซ้อมทรมานและการละเว้นการลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด มีการใช้ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อย ปรากฏความรุนแรงที่อาจจะนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีการใช้ความรุนแรงด้วยเหตุของเพศภาวะ หรือกระทั่งอยู่ในภาวะสงคราม
  • ในเรื่อง “เงื่อนไขเฉพาะตัวของบุคคล” นั้น รัฐอาจจะพิจารณาข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ของบุคคลเพื่อประกอบการวินิจฉัย
    • ความเป็นมาทางด้านชาติพันธุ์/เชื้อชาติ โดยเฉพาะในกรณีที่ประเทศต้นทางหรือประเทศจะส่งบุคคลนั้นกลับออกไปมีความรุนแรงหรือความขัดแย้งเกิดขึ้นต่อกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว
    • เพศภาวะของบุคคล ที่อาจจะเป็นประเด็นให้เกิดความเสี่ยงของการถูกเลือกปฏิบัติ หรือใช้ความรุนแรง เช่น บางประเทศในแถบตะวันออกกลาง ถือว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีโทษโดยการโบย จำคุก หรืออาจจะถึงขึ้นประหารชีวิต เป็นต้น
    • การนับถือศาสนา ซึ่งในบางประเทศเรื่องของศาสนาได้กลายเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนถึงขั้นมีการวิสามัญฆาตกรรมบุคคลที่นับถือศาสนาต่างจากคนในชุมชน หรือบุคคลที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น และในบางประเทศมีการกำหนดบทลงโทษตามกฎหมายของการเปลี่ยนศาสนาอีกด้วย
    • ข้อมูลสถานะสุขภาพของบุคคล ซึ่งอาจจะพิจารณาได้ใน 2 กรณี คือ (1) กรณีที่บุคคลอยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลและ/หรือมีความเสี่ยงภัยต่อชีวิตหากมีการเคลื่อนย้ายหรือถูกผลักดันออกนอกประเทศ และ (2) กรณีที่ประเทศต้นทางหรือประเทศที่จะส่งบุคคลกลับออกไปไม่มีความพร้อมที่จะทำการรักษาบุคคลดังกล่าวซึ่งกำลังอยู่ในการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลของไทย กรณีนี้อาจจะเป็นการคงสถานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยแบบชั่วคราวหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ซึ่งสามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาได้
  • ตัวอย่างข้อควรพิจารณาเพื่อชี้วัดความเสี่ยงภัยต่อชีวิตและเสรีภาพของบุคคลที่จะถูกส่งกลับหรือผลักดันออกนอกประเทศ ได้แก่
    • บุคคลดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะถูกจำคุกและอาจถูกซ้อมทรมานหรือได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายด้วยเหตุดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น หรือไม่?
    • บุคคลดังกล่าวจะถูกผลักดันออกไปยังประเทศที่มีสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและขยายตัวเป็นวงกว้าง หรือมีหลักฐานที่ชี้ได้ว่ามีการใช้ความรุนแรงที่อาจจะนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือไม่?
    • บุคคลดังกล่าวจะถูกผลักดันออกไปยังประเทศที่เขามีความเสี่ยงที่จะถูกบังคับเป็นทาส หรือบังคับใช้แรงงาน หรือตกเป็นเหยื่อยของการค้ามนุษย์ หรือไม่?
    • บุคคลดังกล่าวเป็นเด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูณ์) จะถูกผลักดันออกไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะถูกเกณฑ์ไปเข้าร่วมในกองทัพของรัฐหรือกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่กองทัพของรัฐ หรือถูกบังคับให้บริการทางเพศในสภาวะดังกล่าว หรือไม่?
  • ทั้งนี้ รัฐไทยอาจจะขอข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและมีความเชี่ยวชาญในประเด็นดังกล่าวเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยในประเด็นสถานการณ์ของประเทศต้นทางหรือประเทศที่จะส่งบุคคลกลับออกไป หรือรัฐไทยอาจร้องขอให้องค์การระหว่างประเทศดังกล่าวร่วมพิจารณาในบางกรณีที่มีความซับซ้อน อันแสดงถึงความโปร่งใสในการปฏิบัติตามหลักการ Non-refoulement ของประเทศไทย

 

[1] ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช. หลักการห้ามผลักดันไปเผชิญอันตราย (Non-Refoulement) กับประเทศไทย: กรณีโรฮิงญา. 2558. ที่มา: https://prachatai.com/journal/2015/05/59440

[2] ข้อ 33(1) อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 ระบุว่า “รัฐภาคีผู้ทำสัญญาจะไม่ขับไล่หรือส่งกลับ (ผลักดัน) ผู้ลี้ภัยไม่ว่าโดยลักษณะใดๆ ไปยังชายเขตแห่งดินแดน ซึ่ง ณ ที่นั้น ชีวิตหรืออิสรภาพของผู้ลี้ภัยอาจได้รับการคุกคามด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางสังคมหรือความคิดด้านการเมือง”. ที่มา: https://www.unhcr.or.th/sites/...

[3] โปรดดู UN High Commissioner for Refugees (UNHCR), The Principle of Non-Refoulement as a Norm of Customary International Law. Response to the Questions Posed to UNHCR by the Federal Constitutional Court of the Federal Republic of Germany in Cases 2 BvR 1938/93, 2 BvR 1953/93, 2 BvR 1954/93, 31 January 1994, available at: http://www.refworld.org/docid/437b6db64.html

[4] ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) ได้อธิบายถึงกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศว่าเป็นทางปฏิบัติทั่วไปอันเป็นที่ยอมรับว่าเป็นกฎหมาย หลักอันเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายเห็นพ้องกันว่ากฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ประการ คือ ทางปฏิบัติของรัฐ (usus) และความเชื่อว่าทางปฏิบัติดังกล่าวเป็นสิ่งต้องกระทํา ต้องห้าม หรืออนุญาตให้กระทําได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของกฎเกณฑ์นั้นๆ ในเชิงกฎหมาย (opinio juris sive necessitatis). ที่มา: International Review of the Red Cross, Volume 87, Number 857, March 2005, available at: https://www.icrc.org/eng/assets/files/other/thai-irrc_857_henckaerts.pd

[5] รัฐไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2539 และมีผลบังคับใช้กับรัฐไทยตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2540 เป็นต้นมา

[6] ข้อ 6(1) ระบุว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาแต่กำเนิด สิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายบุคคลจะต้องไม่ถูกทำให้เสียชีวิตโดยอำเภอใจ”

[7] ข้อ 7 ระบุว่า “บุคคลจะถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือต่ำช้ามิได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลจะถูกใช้ในการทดลองทางการแพทย์ หรือทางวิทยาศาสตร์โดยปราศจากความยินยอมอย่างเสรีของบุคคลนั้นมิได้”

[8] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน General Comment No.20: Article 7 (Prohibition of torture, or other cruel, inhuman or degrading treatment or punishment), U.N. Doc. HRI/GEN/1/Rev.7 (1992), ย่อหน้า 9

[9] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, General comment no. 31: The Nature of the General Legal Obligation Imposed on States Parties to the Covenant, U.N. Doc. CCPR/C/21/Rev.1/Add.13 (2004), ย่อหน้า 10

[10] รัฐไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 และมีผลบังคับใช้กับรัฐไทยตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2535 เป็นต้นมา

[11] ข้อ 6 ระบุว่า “1. รัฐภาคียอมรับว่า เด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวที่จะมีชีวิต 2. รัฐภาคีจะประกันอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ ให้มีการอยู่รอด และการพัฒนาของเด็ก”

[12] ข้อ 37(a) ระบุว่า “รัฐภาคีประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใดได้รับการทรมาน หรือถูกปฏิบัติ หรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือต่ำช้า จะไม่มีการลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตที่ไม่มีโอกาสจะได้รับการปล่อยตัวสำหรับความผิดที่กระทำโดยบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี”

[13] ข้อ 38(1) ระบุว่า “รัฐภาคีรับที่จะเคารพ และประกันให้มีความเคารพต่อกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ใช้บังคับกับรัฐภาคี ในกรณีพิพาทกันด้วยอาวุธซึ่งเกี่ยวข้องกับเด็ก”

[14] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, General comment no. 6: Treatment of Unaccompanied and Separated Children Outside Their Country of Origin, U.N. Doc. CRC/GC/2005/6 (2005), ย่อหน้า 27

[15] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, General comment no. 6: Treatment of Unaccompanied and Separated Children Outside Their Country of Origin, U.N. Doc. CRC/GC/2005/6 (2005), ย่อหน้า 28

[16] รัฐไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2550 และมีผลบังคับใช้กับรัฐไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 เป็นต้นมา

[17] ข้อ 3 ระบุว่า “1. รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับ) หรือส่งบุคคลในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน 2. เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะวินิจฉัยว่ามีเหตุอันควรเชื่อเช่นว่าหรือไม่ เจ้าพนักงานผู้มีอ่านาจต้องค่านึงถึงข้อพิจารณาทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการที่มีรูปแบบที่ต่อเนื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐนั้นอย่างร้ายแรง โดยซึ่งหน้า หรืออย่างกว้างขวางด้วย หากมี”

หมายเลขบันทึก: 634080เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2017 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2017 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I have questions on key factors for determination of "อันตรายต่อชีวิตหรือเสรีภาพ". Is poverty which is indirectly a danger to life, health and liberty, an acceptable criterion? Economic refugees are presently considered otherwise, why? In countries where a dominant religion permeates into laws and governance, there are suppresions of liberty (in forms of conformity or tradition) such that female and young members of communities are severely restricted from expressing their potentials and/or creativities. Is this an acceptable criterion for "อันตรายต่อชีวิตหรือเสรีภาพ"? 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท