สอนให้น.ศ.เข้าใจตัวเอง


เข้าใจแม่แล้ว ทำไมแม่เลิกเหล้าไม่ได้..

KM.ด้านการเรียนการสอน
เรื่อง  “ทำไมแม่เลิกเหล้าไม่ได้”
อ.โศภิณสิริ  ยุทธวิสุทธิ

 นักศึกษานำปัญหาที่ค้างคาใจเรื่องแม่ติดเหล้า ไม่ยอมเลิกเหล้ามาเล่าให้กลุ่มฟังในชั่วโมง lab การให้การปรึกษา นักศึกษาเล่าว่า.... “ เรารู้สึกเกลียดแม่ที่แม่ไม่ยอมเลิกเหล้า เคยขอร้องให้แม่เลิกเหล้าเพื่อเรา แต่แม่ทำไม่ได้ ...แม่เลิกกินเหล้าได้ 2 อาทิตย์แล้วแม่ก็กลับไปกินมันใหม่.. แม่ไม่รักเรา ...เราอายที่มีแม่ขี้เหล้า...” ขณะที่เล่ามีทั้งอารมณ์โกรธ  อาย ผิดหวัง  เสียใจ  “เหล้ามันไม่มีอะไรดีเลย  แม่ก็ยังไปกินมัน..ถ้าแม่รักเราจริง แม่ต้องเลิกเหล้าได้  เราจะไม่ยอมกลับบ้านถ้าแม่ยังกินเหล้าอีก”  ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าแม่กินเหล้าเพราะเสียใจที่รู้ว่าพ่อมีภรรยาใหม่ แม่ใช้เหล้าดับความทุกข์มาตลอด 4 ปี ถ้าแม่ไม่กินเหล้าแม่จะมือสั่น ทำงานไม่ได้ หงุดหงิด
 ปัญหาของนักศึกษาก็คือ โกรธแม่ ไม่เข้าใจว่าทำไมแม่ไมยอมเลิกเหล้า ถึงแม่จะบอกว่ารักตนเอง แต่นักศึกษาไม่เชื่อไม่ให้อภัยแม่ ลงโทษว่าที่ครอบครัวเป็นเช่นนี้ เพราะ ใช้เงื่อนไขว่าถ้าแม่ไม่เลิกเหล้า ตนเองจะไม่ยอมกลับบ้านไปพบแม่อีก ซึ่งทำให้นักศึกษาเครียด เก็บกด การเรียนตกต่ำ ครุ่นคิดแต่เรื่องแม่ตลอด
 ครูใช้วิธีการให้นักศึกษาหาสิ่งที่ตนเองติดมากที่สุด ต้องทำสิ่งนั้นทุกวัน ขาดไม่ได้ พบว่านักศึกษาติดการพูดโทรศัพท์มือถือกับแฟน โดยเฉพาะในช่วง 20.00-24.00 น. จะเป็นช่วงที่มีความสุขมากที่ได้พูดโทรศัพท์กับคนรัก ครูสร้างเงื่อนไขให้นักศึกษาหยุดการใช้โทรศัพท์เป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน ห้ามการติดต่อกับทุกๆคน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง และให้บันทึกความรู้สึกนั้นทุกวัน และนำสิ่งนั้นมาพูดคุยกันกับกลุ่ม
 จากบันทึกและคำพูดของนักศึกาในช่วงที่งดการใช้โทรศัพท์ “หงุดหงิดมาก ทรมาน  ..อยากโทรหาแฟน ..ยิ่งช่วงเวลา 20.00 น. รู้ว่าเป็นช่วงที่เขาจะโทรมา แต่เราพูดกับเขาไม่ได้ บอกเขาไม่ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น..งุ่นง่าน...เดินไปหาเพื่อน อ่านหนังสือที่ชอบ กินขนมที่ชอบก็ช่วยไม่ได้ มันทุรนทุราย ..อึดอัด ..ร้องไห้..โมโห ..ไม่รู้ว่าทำไมต้องอดทน  อยากแอบโทรหามากแต่สัญญากับอาจารย์ไว้แล้ว ..ทำได้ 2 วันก็ผิดสัญญากับอาจารย์ ทนไม่ได้ โทรไปหาแฟน หนูขอโทษที่ผิดสัญญากับอาจารย์  หนูทำไม่ได้  หนูติดโทรศัพท์”   “ หนูใช้โทรศัพท์คุยกับแฟนมานานเท่าไหร่แล้ว”  “2 เดือน คุยทุกวัน”  “แม่ติดเหล้ามานานเท่าไหร่”  “4-5 ปี” ครูถามต่อ “คิดอะไรได้บ้าง”  “แต่การโทรศัพท์ไม่ได้มีโทษเหมือนการกินเหล้า “   “ ใช่..เหล้ามีสารเสพติด  แต่โทรศัพท์ไม่ใช่  หนูคิดว่าอะไรเลิกง่ายกว่ากัน”   “หนูคิดอะไรได้บ้าง”  
 นักศึกษาร้องไห้มาก... “หนูเข้าใจแม่แล้ว…..แม่ทุกข์ทรมานมากกว่าหนู   หนูขาดโทรศัพท์แค่ 2 วัน หนูแทบบ้า  ทั้งๆที่โทรศัพท์ไม่ใช่สารเสพติด  หนูติดโทรศัพท์แค่ 2 เดือน  แต่แม่ติดเหล้ามา 4-5 ปี  จะให้แม่เลิกเหล้าเลยมันทำไม่ได้  แม่เคยพยายามเลิกมันเพื่อหนูได้   2 อาทิตย์  หนูรู้แล้วว่าแม่ทรมานมาก หนูเองควรจะให้กำลังใจแม่ ให้เลิกเหล้าให้ได้ แต่หนูกลับมองว่า มันเลิกได้ถ้าแม่อยากเลิก หนูไม่เคยคิด  หนูไม่รู้พิษของมัน  หนูอยากขอโทษแม่ หนูเข้าใจแม่แล้วค่ะ..หนูรู้แล้วว่าหนูควรจะช่วยแม่อย่างไร ...”
 ผลที่ได้ นักศึกษากลับบ้านไปขอโทษแม่  ให้กำลังใจแม่เพื่อที่จะให้แม่เลิกเหล้า  ไม่ตำหนิแต่ใช้ความเข้าใจแม่แทน ปัจจุบันแม่เลิกเหล้าได้แล้ว  ครอบครัวมีความสุข ผลการเรียนดีขึ้นมาก

หมายเลขบันทึก: 63293เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2006 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วิธีการช่วยเหลือครั้งนี้ใช้วิธีการเทียบเคียงให้น.ศ.รับรู้ถึงความรู้สึกของการที่แม่ติดเหล้ากับความรู้สึกที่น.ศ.ติดการคุยโทรศัพท์กับคนรัก  โดยใช้การปฏิบัติจริงเมื่อน.ศ.เข้าใจถึงความทุกข์ทรมารของการที่ต้องเลิกจากสิ่งที่ตนเองติด จะเกิดความเข้าใจในความทุกข์ของแม่ที่พยายามจะเลิกเหล้า เกิดการตระหนักรู้เข้าใจตนเอง  เข้าใจแม่ และหาวิธีการที่เหมาะสมที่จะช่วยแม่ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท