สมการการเมือง (ที่ชุมพร)


ผมตั้งข้อสังเกตและเชื่อว่าชาวชุมพรมีรูปแบบการเลือกนักการเมืองในทุกระดับโดยอาศัยปัจจัยประกอบด้วย พวกพ้อง, เงินทอง, อำนาจบารมี, กระแส และชื่อเสียงความดี

ในความรู้สึกของผมสัญญาณการขับเคลื่อนขบวนการ ปฏิรูปการเมือง ในต่างจังหวัดได้เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) ของทุกจังหวัดได้ดำเนินการจัดประชุมสรรหาผู้แทนภาคเศรษฐกิจ-สังคมทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย การเกษตร, อุตสาหกรรม, การบริการ, สมาคมหรือมูลนิธิ

ทั้งนี้เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัส และเป็น 1 ใน 2 คนที่ผ่านการสรรหาด้วยวิธีการลงคะแนนเลือกกันเองในด้านการบริการ ร่วมกับคุณวิภา วิภาสวัชรโยธิน พวกเราจะต้องทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสมัชชาแห่งชาติของจังหวัดชุมพร ซึ่งมีอยู่ 12 คน ไปรวมกับสมาชิกสมัชชาฯ จากภาคต่าง ๆ ทั้งหมด 2,000 คน เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนของการสรรหาให้เหลือ 200 คน และ 100 คนในขั้นตอนสุดท้าย

เหตุการณ์ลักษณะนี้อาจจะเป็นช่องทางให้ใครบางคนก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง แต่ถ้ามีใครมาถามผม คำตอบมีอยู่เพียงประการเดียวสั้น ๆ ว่า ไม่ คำตอบในใจอาจจะมีมากกว่านั้น คือ ถ้าไปก็ถือว่า โง่ และ บ้า ที่ไม่รู้จักตัวเอง หลอกได้แม้กระทั่งตัวเอง

เหตุที่ทำให้ผมมีคำตอบในเรื่องนี้อย่างชัดเจนก็คือ ผมตั้งข้อสังเกตและเชื่อว่าชาวชุมพรมีรูปแบบการเลือกนักการเมืองในทุกระดับโดยอาศัยปัจจัยประกอบด้วย พวกพ้อง, เงินทอง, อำนาจบารมี, กระแส และชื่อเสียงความดี

ความที่ร่ำเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ในระดับปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยมหิดล ก็เลยติดนิสัยที่จะมองเหตุการณ์นี้ออกมาเป็นสมการทางคณิตศาสตร์ หรือจะเรียกให้โก้หรูสักหน่อยก็ต้องว่า Math Model ดังนี้ครับ

คะแนนเสียงที่ผู้สมัครได้รับ = (พวกพ้อง + เงินทอง + อำนาจบารมี)กระแส + ชื่อเสียงความดี

โดยกำหนดให้ปัจจัย 4 ตัวแรก คือ พวกพ้อง, เงินทอง, อำนาจบารมี, กระแส มีคะแนนเต็มตัวละ 5 คะแนน ชื่อเสียงความดี กำหนดให้คะแนนเต็ม 2,000 คะแนน ไปเลย

สมการสนุก ๆ แบบนี้ผมได้มาจากการตั้งข้อสังเกตเมื่อเห็นผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ครั้งที่ผ่านมาก่อนการปฏิวัติ ทดลองกำหนดค่าคะแนนให้กับผู้สมัครแต่ละคนโดยประเมินจากมุมมองที่ผมรู้จักและมีข้อมูลอยู่ เมื่อคำนวณออกมาได้ผลคะแนนใกล้เคียงกับคะแนนเสียงที่เกิดขึ้นจริงก็เลยตั้งเป็นข้อสรุปส่วนตัวว่า

การเมืองบ้านเราผู้ที่ประสบชัยชนะเขาเน้นกันที่ พวกพ้อง, เงินทอง, อำนาจบารมี โดยมีปัจจัยสำคัญที่สุด คือ กระแส (ของพรรคการเมืองยอดนิยม) เป็นอะไรที่จะต้องเข้าไปไขว่คว้าเอามาให้ได้ เพราะเป็นตัวยกกำลัง ทำให้ผลแพ้ชนะวัดกันที่กระแส

ชื่อเสียงความดี แม้จะดูเหมือนว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ แต่ขอโทษทีชาวบ้านเขาไม่เลือกกันที่ตรงนั้น ผู้สมัคร ส.ว. หลายท่านซึ่งมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีสะสมกันมาตลอดช่วงชีวิตจึงไม่สามารถฝ่าด่านสำคัญจากปัจจัย 4 -5 ตัวดังที่กล่าวมา

เห็นด้วยกับผมไหมครับว่า ถ้ามีแต่ปัจจัย ชื่อเสียงความดี แล้วยังจะริไปเล่นการเมือง โง่ และ บ้า เท่านั้นคือคำตอบ

บ้านเมืองอื่นโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ไม่เป็นอย่างนี้นะครับ ดูเหมือนว่าปัจจัยเรื่อง กระแส ของเขายกกำลังอยู่ที่ ชื่อเสียงความดี คะแนนที่ได้รับโดยเฉพาะคะแนนอันดับต้น ๆ ของการเลือกตั้ง ส.ว. จึงออกมาชัดเจนแบบที่อ่านได้ว่าไม่มีกระแสของพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

คงอีกนานที่สมการการเมืองของบ้านเราจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคการเมืองใหม่ที่เอื้ออำนวยให้ ชื่อเสียงความดี เป็นปัจจัยสำคัญในการแพ้-ชนะของนักเลือกตั้ง แต่ก็ไม่แน่ ถ้ารัฐธรรมนูญที่จะร่างกันขึ้นมาใหม่สามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง

เรามาตั้งความหวัง และเป็นแรงกายแรงใจให้กับขบวนการ ปฏิรูปการเมืองกันอีกสักครั้งนะครับ.

หมายเลขบันทึก: 63287เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2006 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท