ใจนำพาศรัทธานำทาง : (น้ำท่วม) กระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนลงสู่ชุมชน


หลักๆ แล้วผมเน้นเรื่อง “บริบทชุมชม” ผ่านการบอกเล่าประกอบภาพถ่าย เพื่อก่อให้เกิดความเป็นรูปธรรมของการรับรู้ รวมถึงการเกริ่นหลักคิดของการทำงาน “อาสาสมัคร” ที่ต้องเปิดใจเรียนรู้ กระตือรือร้น ไม่เกี่ยงงาน ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เคารพชุมชน ฯลฯ หรือแม้แต่การปลุกเร้าให้นิสิตมองว่า “การงานในครั้งนี้ เสมือนเราเป็นคนในหมู่บ้านนั้นกำลังกลับมาเยี่ยมบ้าน –มาฟูมฟักเยียวยา หรือในอีกมุมก็ขอให้มองว่า ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติขาดไม่ได้

ก่อนการเดินทางลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม 2560 ณ บ้านท่าเยี่ยม ต.วังหลวง  อ.เสลภูมิ  จ.ร้อยเอ็ด  ทีมเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อสังคม)  ได้ร่วมกันบรรจุสิ่งของอันเป็นถุงยังชีพและอื่นๆ –

 


กระบวนการ “บอกบุญ”


กิจกรรมการบรรจุถุงยังชีพ-ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการเตรียมความพร้อมและสร้างการมีส่วนร่วมที่ผมให้ความสำคัญไม่แพ้การลงพื้นที่ในวันจริง  ซึ่งการบรรจุถุงยังชีพที่ว่านี้ได้ดำเนินการในวันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2560 ณ ห้องนิทรรศการ อาคารพัฒนานิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ก่อนกระบวนการที่ว่านี้จะเริ่มขึ้น  ผมให้หลักคิดโดยองค์รวมเกี่ยวกับการจัดเตรียมถุงยังชีพและสิ่งของต่างๆ ผ่านเจ้าหน้าที่และน้องๆ นิสิตทั้งที่เป็นแกนนำและทีมงานทั้งหมดในหลายๆ ประเด็น อาทิเช่น  การสร้างมุมมองว่าการจัดเตรียมข้าวของเช่นนี้คือกระบวนการ “บอกบุญ”  แก่ผู้คนให้ได้รับรู้ข่าวสาร เพื่อให้ “ผู้มีใจ” ได้มาร่วมทำบุญร่วมกัน  โดย “บุญ” ที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการนำข้าวของมาบริจาคก็ได้  หากแต่หมายถึงการนำเอา “เรี่ยวแรง” ทั้ง “กายและใจ”  มาร่วมกัน


กระบวนการที่ว่านี้  ผมถือว่าคือการหลอมรวมพลังร่วมกัน แม้ใครไม่สะดวกเดินทางลงไปยังหมู่บ้าน  ก็ยังมีโอกาสได้มี “ทำบุญ”  ด้วยการบรรจุสิ่งของช่วยกันได้  รวมถึงนัยสำคัญอันหมายถึงการมาเป็น “กำลังใจ” ของทีมงานที่จะเดินทางไปทำหน้าที่ในนามมหาวิทยาลัยฯ หรือพลเมืองคนหนึ่งนั่นเอง

เช่นเดียวกับการเชื่อมั่นว่ากระบวนการจัดเตรียมสิ่งของเช่นนี้คือกระบวนการอันสำคัญของการละลายพฤติกรรมของคณะทำงานเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้มากที่สุด  เสมือนการหลอมฐานใจผ่านฐานกายที่มีกิจกรรมเป็นสะพานเชื่อม –  ผสมผสานกับการสร้างเครือข่ายการทำงาน  ทั้งในรูปขององค์กร หน่วยงานและปัจเจกบุคคลไปพร้อมๆ กัน



ลงพื้นที่สำรวจจริง : ออกแบบกิจกรรม


กรณีการบรรจุถุงยังชีพนั้น – เราทำงานกันค่อยข้างพิถีพิถันพอสมควร  เริ่มจากการสำรวจพื้นที่เป้าหมายในวันที่ 3 สิงหาคม 2560  เรียกได้ว่า “ลงพื้นที่สัมผัสความจริงด้วยตนเอง”  โดยประสานผ่านเครือข่ายศิษย์เก่า (อ.ณัฐพงษ์ ราชมี)  ที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดและลงสู่ศูนย์พักพิงในเทศบาลตำบลวังทอง  จากนั้นก็ลงสำรวจจริงในพื้นที่เป้าหมาย  โดยเจ้าของพื้นที่ชี้เป้าไปยัง “บ้านท่าเยี่ยม” เป็นบ้านหลัก  เพราะเป็นหมู่บ้านที่ประสบภัยสาหัสมากกว่าบ้านอื่นๆ

การลงพื้นที่จริงช่วยให้เรามองเห็น “ชะตากรรม” อันเป็นจริงอย่างไม่ปรุงแต่ง  สภาพบ้านเรือนหลายหลังพังถล่มและพ่ายพับไปกับสายน้ำ  เรือกนาไร่สวนจมดับเป็นทะเลน้ำจืด  ระบบน้ำท่า-ไฟฟ้า-ห้องสุขา ใช้งานไม่ได้  ถนนสายหลักในบางเส้นทางของหมู่บ้านถูกตัดขาดจากสังคมภายนอก  ผู้คนจำนวนมากต้องขึ้นมา “กินนอน” บนถนนโดยมีเต็นท์ของเทศบาลติดตั้งเป็นเพิงพักชั่วคราว –


จากการลงสำรวจพื้นที่ครั้งนี้  ทั้งผมและทีมงานตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชนได้วิเคราะห์ร่วมกันถึงประเด็นความช่วยเหลือในระยะต้นผ่าน “ถุงยังชีพ”  เราวิเคราะห์ถึงทรัพยากรที่มีทั้งหมดในศูนย์พักพิง หรือกระทั่งที่ชาวบ้านได้รับบริจาคมาว่าขาดเหลืออะไร  มิใช่มองภาพรวมแล้วจัดซื้อหรือจัดหาลงไปจนมากมายก่ายกองและออกอาการ “ล้นเหลือ” 

ด้วยวิธีคิดเช่นนั้น  ข้าวของที่เราจัดเตรียมหลักๆ จึงมุ่งเน้นไปยังเครื่องอุปโภคทั่วไปและเน้นไปยังเครื่องบริโภคระยะยาวโดยเฉพาะข้าวสารอาหารแห้ง  รวมถึงหยูกยาและเสื้อผ้า เพราะสิ่งเหล่านี้คือความขัดเขินหรือขาดแคลนที่เราทุกคนมองตรงกันว่าต้องเร่งเติมเต็มและเยียวยา


ในทำนองเดียวกันเราก็มองเชื่อมโยงไปยังระบบของศูนย์พักพิงฯ  เป็นการมองให้เกิดการทำงานยึดโยงกับภาคท้องถิ่น  ด้วยการจัดเตรียม “ครัวเคลื่อนที่”  ไปประกอบอาหารสดให้กับชาวบ้าน รวมถึงการบริการต่อผู้คน-อาสาสมัครคนที่เข้าไปช่วยเหลือทั้งที่เป็นนิสิตนักศึกษาและอื่นๆ  รวมถึงการจัดเตรียมถุงยังชีพและข้าวปลาอาหารสดอีกจำนวนหนึ่งส่งมอบให้กับศูนย์พักพิงฯ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปตามเห็นสมควร

และนั่นยังรวมถึงกิจกรรมบูรณาการอื่นๆ ที่เราจะนำเข้าไปบริการในหมู่บ้าน  เป็นต้นว่า  ตรวจคัดกรองระบบสุขภาพ  ดนตรีบำบัด  การนวดผ่อนคลาย  ฯลฯ  ซึ่งจะเป็นการบูรณาการการทำงานหลากวิชาชีพของมหาวิทยาลัยฯ รวมถึงการทำงานบูรณาการระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาครัฐ เอกชนและชุมชนผู้ประสบภัยอย่างจริงๆ จังๆ 


ปฐมนิเทศก่อนลงพื้นที่ :  เรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน


ภายหลังการบรรจุสิ่งของต่างๆ เสร็จสิ้นลง  เรามีนัดพบปะโสเหล่อีกรอบในช่วงเวลา 18.00 น. (วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2560)  หลักๆ คือกระบวนการเตรียมความพร้อม (ปฐมนิเทศ)  ในกลุ่มแกนนำที่จะลงสู่การปฏิบัติการจริง ที่ประกอบด้วยแกนนำเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม  ผู้แทนนิสิตคณะแพทยศาสตร์  -คณะพยาบาลศาสตร์ – ภาควิชาภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและการกีฬา (คณะศึกษาศาสตร์)  สภานิสิต  องค์การนิสิต  ชมรม กลุ่มนิสิตและนิสิตทั่วไปที่สนใจ –

เวทีพบปะดังกล่าว  ผมให้นิสิตได้สะท้อนถึงรูปแบบกิจกรรมที่จะมีขึ้น  ตรวจเช็คความพร้อมในแต่ละส่วน รวมถึงการจัดแบ่งทีมงานให้เหมาะสมกับงานในพื้นที่  โดยเน้นย้ำว่า “เตรียมให้พร้อมแล้วค่อยไปปรับเปลี่ยนหน้างานตามความเหมาะสม”


ในส่วนที่ผมรับผิดชอบ  หลักๆ แล้วผมเน้นเรื่อง “บริบทชุมชม”  ผ่านการบอกเล่าประกอบภาพถ่าย เพื่อก่อให้เกิดความเป็นรูปธรรมของการรับรู้  รวมถึงการเกริ่นหลักคิดของการทำงาน “อาสาสมัคร”  ที่ต้องเปิดใจเรียนรู้ กระตือรือร้น ไม่เกี่ยงงาน ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์  เคารพชุมชน  ฯลฯ  

หรือแม้แต่การปลุกเร้าให้นิสิตมองว่า “การงานในครั้งนี้  เสมือนเราเป็นคนในหมู่บ้านนั้นกำลังกลับมาเยี่ยมบ้าน –มาฟูมฟักเยียวยา หรือในอีกมุมก็ขอให้มองว่า ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติขาดไม่ได้” นั่นเอง

รวมถึงการพยายามจำกัดจำนวนคนเพื่อมิให้เป็นภาระของชุมชน  และการเตือนย้ำว่านี่คืองานจิตอาสา-จิตสาธารณะ หรือการเป็นอาสาสมัคร  มิใช่การท่องเที่ยวในภาวะภัยพิบัติ ! 

เช่นเดียวกับการย้ำคิดว่า "ใจนำพาศรัทธานำทาง"  มิใช่การทำงานที่ปราศจากข้อมูลดังที่หลายคนเข้าใจ  ตรงกันข้ามคือการทำงานบนหน้าตักของข้อมูล  และการจริงใจต่อสิ่งที่ทำ  เพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอันสร้างสรรค์ต่อเราและคนรอบกาย  หรือแม้แต่สังคม

และอื่นๆ อีกจิปาถะที่ผมขออนุญาตไม่กล่าวถึง ----

แต่ในตอนท้ายของเวทีผมได้เชื้อเชิญให้นิสิตได้ร่วมกันสะท้อนแนวคิดร่วมกันในประเด็นอันเป็นข้อควรตระหนักในการไปจัดกิจกรรมในครั้งนี้ 

กรณีดังกล่าวนี้  จริงๆ แล้วผมก็สามารถแนะนำหรือกำหนดเองได้  แต่ผมต้องการสร้างการเรียนรู้กับนิสิต  โดยให้นิสิตได้ประมวลความรู้ของตนเอง (สกัดความรู้-จัดการความรู้) ออกมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ  ซึ่งเท่าที่ประมวลออกมาได้โดยสังเขปก็มีหลักคิดสำคัญๆ เช่น 

  • ปฏิบัติต่อชาวบ้านอย่างให้เกียรติ เสมือนญาติมิตรของเราเอง (ไม่ใช่ญาติก็เหมือญาติขาดไม่ได้)
  • สำรวมกริยาวาจา  ไม่นำเอาชะตากรรมของชาวบ้านมาล้อเล่น หรือโพสข้อความผ่านสังคมออนไลน์ในลักษณะของการไปสงเคราะห์ชาวบ้าน  หรือการเป็นนักท่องเที่ยว
  • พูดคุยกับชาวบ้าน  หรือสอบถามสารทุกข์สุกดิบอย่างมีศิลปะ เน้นการพูดคุยด้วยความห่วงใย มากกว่าการสัมภาษณ์ หรือสอบถามอย่างเป็นทางการ 
  • จริงจังและจริงใจต่อข้อมูลระบบสุขภาพของชาวบ้าน เพื่อส่งต่อไปยังส่วนที่เกี่ยวข้อง


  • ตื่นตัวต่อการเรียนรู้คู่บริการอยู่ตลอดเวลา  พร้อมที่จะรับมือต่อทุกสถานการณ์  พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่น  โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง  มิใช่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนกิจกรรม
  • รักและสามัคคีกันในทีม  อดทนต่อการเรียนรู้และการทำงานในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดทั้งด้านโลกทัศน์และชีวทัศน์ 
  • ทำงานเสมือนเป็นเจ้าภาพในพื้นที่ร่วมกับชุมชนและภาคส่วนต่างๆ
  • เรียนรู้บริบทชุมชน หรือภาวะภัยพิบัติเพิ่มเติมด้วยตนเอง ผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างกลมกลืน 
  • ฯลฯ

 

นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวและกระบวนการเรียนรู้เล็กๆ ที่ผมออกแบบและสร้างการเรียนรู้แก่นิสิตและเจ้าหน้าที่ก่อนลงปฏิบัติการจริงในชุมชน

ยอมรับว่า - บางเรื่องก็อธิบายอย่างชัดแจ้ง  ขณะที่บางเรื่องก็ซ่อนซุกไว้ในแบบเนียนๆ  เพื่อให้แต่ละคนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง รวมถึงการเน้นหลักคิด "การทำงานแบบมีส่วนร่วม" และการทำงานในแบบเฉพาะกิจโดยใช้ชุมชนและสถานการณ์เฉพาะกิจเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้คู่บริการ

ยิ่งในตอนท้ายเวที  ดร.มลฤดี  เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต  ได้เข้ามาพบปะให้กำลังใจแก่นิสิต  ผมยิ่งถือว่าการงานในครั้งนี้มีความสำคัญกับการพัฒนานิสิตสู่ครรลองของการเป็นพลเมืองของสังคมอย่างมหาศาล  สัมพันธ์กับอัตลักษณ์นิสิต (นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุนชน)  ยึดโยงกับปรัชญาของการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมอย่างตรงประเด็น  โดยท่านเน้นย้ำว่า  ...

  • ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ  แต่เราต้องทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด
  • อย่าเรียนเพียงเพื่อใบปริญญา  โดยไม่รู้คุณค่าของการใช้ชีวิต
  • เราทุกคนคือผู้แทนมหาวิทยาลัย  และมีความชอบธรรมที่จะดูแลสังคมเท่าที่เรามีความสุขและมีศักยภาพที่พึงกระทำได้




หมายเหตุ

เขียน : จันทร์ที่  7 สิงหาคม 2560
ภาพ : เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม / พนัส  ปรีวาสนา</p>



ความเห็น (7)

มมส. รอดจากน้ำท่วมไหมครับ?

สวัสดีคัรบ   อ.วัส Wasawat Deemarn  

สถานการณ์ตอนนี้  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ยังไม่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมครับ  มีบ้างที่ฝนตกแล้วน้ำท่วมขังบนท้องถนนทางเข้าสู่มหาวิทยาลัยฯ  อันเป็นถนนที่ยังต้องใช้ร่วมกับชุมชน  --- ช่วงนี้เฝ้าระวังชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยฯ  และชุมชนต่างจังหวัด  ที่เข้าไปหนุนเสริมบ้างแล้วก็สกลนคร  ร้อยเอ็ด 

ขอบคุณในความห่วงใย ครับ

ท่วมเยอะเลยครับ

มีอะไรพอช่วยได้ยินดี

สงสารชาวบ้านนะครับ

-สวัสดีครับ

-ตามมาให้กำลังใจผู้ประสบภัย

-พรานกระต่ายก็เกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อต้นเดือน พ.ค.

-เห็นใจและต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นนะครับ

-ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ

สวัสดีครับ


ขจิต ฝอยทอง

ขอบพระคุณมากๆ ครับ  ตอนนี้ประเมินสถานการณ์เรื่อยๆ ร่วมกับเครือข่าย  รอน้ำลดคงได้จัดทำโครงการลงไปฟื้นฟูอีกรอบ  ตอนนี้ชุมชนต้องการเรื่องคมมนาคมเร่งด่วน  รวมถึงระบบน้ำและไฟฟ้าชั่วคราว  ส่วนของบริจาคก็ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ  ซึ่งหมู่บ้านนี้ต้องทำแผนพัฒนาฟื้นฟู - เยียวยาอย่างครบวงจร  บางทีอาจถึงขั้นเวนคืนที่ และนำพาไปสู่การตั้งถิ่นฐานกันใหม่ด้วยก็เป็นไปได้เช่นกันครับ

ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจ นะครับ


อ.เพชรน้ำหนึ่ง

หมู่บ้านท่าเยี่ยมฯ  ว่างเว้นการเจอภาวะน้ำท่วมมา 30 ปีแล้วครับ  ชุดความรู้ว่าด้วยการรับมือกับภัยพิบัติแทบจะเรียกว่าเลือนหายไปกับกาลเวลาเลยก็ว่าได้

นี่คือนาฏการณ์ที่หนักอึ้งกว่าคราวก่อน  การถอดบทเรียนเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ ณ หมู่บ้านนี้ จึงเป็นเรื่องท้าทายเป็นที่สุด ครับ


ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจ นะครับ


อ.เพชรน้ำหนึ่ง

หมู่บ้านท่าเยี่ยมฯ  ว่างเว้นการเจอภาวะน้ำท่วมมา 30 ปีแล้วครับ  ชุดความรู้ว่าด้วยการรับมือกับภัยพิบัติแทบจะเรียกว่าเลือนหายไปกับกาลเวลาเลยก็ว่าได้

นี่คือนาฏการณ์ที่หนักอึ้งกว่าคราวก่อน  การถอดบทเรียนเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ ณ หมู่บ้านนี้ จึงเป็นเรื่องท้าทายเป็นที่สุด ครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท