ตัวอย่างการปฏิบัติงาน..พอจะเรียก"PLC"ได้ไหม?


ส่วนผลการปฏิบัติจริงจะออกมาอย่างไร สิ้นปีการศึกษา คงต้องพินิจพิเคราะห์ข้อมูลต่างๆที่ได้จากการเก็บรวบรวมร่วมกันอีกว่า ปัญหาหรือข้อติดขัดต่างๆนั้น ทุเลาเบาบางลงหรือไม่ อย่างที่เราตั้งสมมติฐานและร่วมคิดร่วมดำเนินการแก้ไข ด้วยการปรับปรุงกฎ กติกาต่างๆ ให้มีความชัดเจนขึ้น หรือถ้าจะไม่เป็นอย่างที่เราคิดหรือปฏิบัติ วงพูดคุยเราก็ต้องมานั่งถกต่อกันอีกว่าเป็นด้วยเหตุผลกลใด หาวิธีแก้ไข ปรับปรุงอย่างอื่นต่อๆไป

วงพูดคุยในกลุ่มงานวิชาการ โรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม ซึ่งผู้เขียนอยากจะเรียกว่า PLC (Professional Learning Community) มาแบบธรรมชาติ จากการทำงานจริง เมื่อไม่นานมานี้เอง

ก่อนปิดภาคเรียนที่ผ่านมา(ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559) ช่วงงานทะเบียนวัดผลรวบรวมผลจัดการเรียนรู้ของคณะครู เพื่อประกาศผลการเรียนให้แก่นักเรียนได้ทราบ ระหว่างนั้นงานทะเบียนได้เปรยในเชิงปรึกษาหารือถึงเรื่อง ผลการประเมินคุณลักษณะ กับผลประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียน ของปีการศึกษานี้ ที่คุณครูประจำวิชาได้ทยอยส่งผลกันมาแล้ว จนเกือบครบ

กล่าวคือ “เมื่อพิจารณาในภาพรวม ผลการประเมินที่ได้ผิดปกติไปจากปีก่อนๆ” โดยเฉพาะข้อสังเกตนี้มาจากจากคุณครู ผู้ซึ่งทำหน้าที่งานทะเบียนนักเรียนมาอย่างยาวนาน “นักเรียนบางคนน่าจะมีผลสูงกว่านี้ ขณะบางคนน่าจะต่ำกว่านี้” งานทะเบียนนักเรียนยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า “ภาคเรียนนี้เป็นครั้งแรกที่โรงเรียนเราใช้โปรแกรม SGS ประมวลผลทั้งหมด ก่อนนั้นและตลอดมาเราใช้โปรแกรมเดิมคือ Student หรือ Bookmark สำหรับ SGS เป็นโปรแกรมล่าสุดที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)กำหนดให้โรงเรียนใช้

วงพดคุยในงานวิชาการ ของโรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม จึงเริ่มต้นจากที่นี่ ตามคำสั่งโรงเรียน ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ในระดับโรงเรียน ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาและประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์และคณะกรรมการพัฒนาและประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน ได้ร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่โต๊ะประชุมภายในห้องผู้อำนวยการทันที ซึ่งมีข้อคิดเห็นอย่างหลากหลาย ในส่วนโปรแกรม SGS ที่ปรับเปลี่ยน เพิ่งใช้ในภาคเรียนนี้ เราคงแก้ไขอะไรไม่ได้ หรือไม่สามารถจะปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เพราะทุกโรงเรียนถูกกำหนดให้ใช้

สำหรับส่วนอื่นที่เป็นการดำเนินการ ซึ่งเป็นความสามารถของเราเอง บางท่านเสนอให้ปรับเปลี่ยนผลการประเมินนักเรียนบางคน ที่ไม่ค่อยตรงกับความรู้สึกที่ต่างเห็นพ้อง ขณะบางท่านบอกว่า เมื่อแนวปฏิบัติของโรงเรียน ให้ครูผู้สอนหรือครูประจำวิชาเป็นผู้ประเมินร่วมกับการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนของตนเอง แล้วจึงนำผลของครูทุกวิชามาหาค่าฐานนิยม(Mode) มาเป็นผลการประเมินรายภาค รายปี และจบการศึกษาของนักเรียนแต่ละคน “ในเมื่อครูผู้สอนหลายท่านประเมินผลมาแล้ว แม้คณะกรรมการจะมีหน้าที่พิจารณาตัดสินผลการประเมินนั้น แต่เราก็ควรยึดผลการประเมินของครูผู้สอนหรือครูประจำวิชาไว้ก่อน เพราะวิธีปฏิบัติตลอดมาเราเป็นเช่นนั้น”

ผลการระดมสมองวันนั้น ลงเอยที่ว่า เราจะยึดผลการประเมินเดิมที่ประมวลผลออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้งานทะเบียนนักเรียนหรือคณะกรรมการผู้ที่มีหน้าที่ จะเห็นความผิดปกติในผลการประเมินของนักเรียนบางคนบ้างก็ตาม

นอกจากเรื่องนี้ วงพูดคุยเราขยับไปสู่บางเรื่องที่เกี่ยวข้องอีกด้วย อาทิ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยเฉพาะ กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์(จิตอาสา)และกิจกรรมศึกษาค้นคว้า ซึ่งติดขัดในการปฏิบัติงานอยู่บ้างในลักษณะคล้ายๆกัน เมื่อพวกเราไล่เรียงมาจนถึงตรงนี้ จึงเกิดคำถามร่วมกันว่า แล้วสาเหตุของเรื่องราวต่างๆที่พูดคุยและร่วมกันหาข้อสรุปอยู่นี้ ไม่ว่าจะเป็นผลการประเมินคุณลักษณะ ผลประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียน ตลอดจนกิจกรรมจิตอาสาและศึกษาค้นคว้านั้น ต้นเหตุหรือปัญหาในการปฏิบัติงานของเรา เกิดจากอะไรแน่

เมื่อพิจารณาและอภิปรายด้วยประเด็นนี้ ทุกคนในวงพูดคุยพบว่า ข้อปฏิบัติหรือวิธีดำเนินงานของเราเองที่ผ่านมายังขาดความชัดเจน จนทำให้เข้าใจไม่ตรงกันในการปฏิบัติงาน ดังนั้นคณะกรรมการเราจึงมีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

  • กลุ่มงานวิชาการจะสังคายนา ปรับปรุง แก้ไข แนวปฏิบัติต่างๆที่อาจสร้างความเข้าใจไม่ตรงกันให้ชัดเจนขึ้น ด้วยการร่างแนวปฏิบัติต่างๆ อาทิ แนวปฏิบัติการประเมินคุณลักษณะ แนวปฏิบัติการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียน รวมถึง แนวปฏิบัติกิจกรรมจิตอาสาและศึกษาค้นคว้า รวมถึงเกณฑ์ประเมินให้ละเอียดรัดกุมยิ่งขึ้น
  • เปิดภาคเรียน(ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560) เราจะกลับมาประชุมร่วมกันอีก เพื่อพิจารณาร่างแนวปฏิบัติต่างๆและเกณฑ์การประเมิน เพื่อประกาศเผยแพร่ ให้กับคณะครูและนักเรียนอย่างเป็นทางการต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ด้วยความมุ่งหวังลดข้อติดขัดบางประการหรือปัญหาในการปฏิบัติงานบางอย่างที่เราประสบจนต้องเป็นที่มาของวงสนทนาครั้งนี้

ส่วนผลการปฏิบัติจริงจะออกมาอย่างไร สิ้นปีการศึกษา คงต้องพินิจพิเคราะห์ข้อมูลต่างๆที่ได้จากการเก็บรวบรวมร่วมกันอีกว่า ปัญหาหรือข้อติดขัดต่างๆนั้น ทุเลาเบาบางลงหรือไม่ อย่างที่เราตั้งสมมติฐานและร่วมคิดร่วมดำเนินการแก้ไข ด้วยการปรับปรุงกฎ กติกาต่างๆ ให้มีความชัดเจนขึ้น

หรือถ้าจะไม่เป็นอย่างที่เราคิดหรือปฏิบัติ วงพูดคุยเราก็ต้องมานั่งถกต่อกันอีกว่าเป็นด้วยเหตุผลกลใด หาวิธีแก้ไข ปรับปรุงอย่างอื่นต่อๆไป

วงสนทนา พูดคุย และการทำงาน เพื่อแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานร่วมกันลักษณะนี้ พอจะเรียก PLC ได้ไหม?

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ PLC

หมายเลขบันทึก: 632135เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2017 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2017 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ใช่เลยพี่ครูแบบนี้เป็นวงแลกเปลี่ยนในโรงเรียนที่ดีมาก

รอดูความก้าวหน้า

ขอบคุณมากๆครับที่นำ ข้อมูลมา link ด้วย

ชอบจัง  เดี๋ยวค่อย ๆ เลียนแบบ ... วงตั้งคุย PLC ใน รพ.  ก็เป็น Health Professional นะคะ

ชอบยอดไม้เลื้อย ... การเวก  ใช่ไหมคะ

  • กำลังสงสัยว่า แนวปฏิบัติของสพฐ.จริงๆ จะรับรองเฉพาะการจัดการเรียนรู้ครับ
  • ขอบคุณอ.ขจิตมากครับ
  • ศธ. เพิ่งจะเริ่มๆเอาจริงเอาจังกับ PLC ครับ..
  • ใช่ครับ..ยอดการะเวก เก่งจังครับ เห็นแค่ยอดเอง
  • ขอบคุณทพญ.ธิรัมภามากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท