การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในมหาวิทยาลัย


ควรเน้นฝึกคุณธรรมจริยธรรมที่บูรณาการอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่คุณธรรมจริยธรรมที่แสดงออกโดยการทำกิจกรรมพิเศษ

การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในมหาวิทยาลัย

สภามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีมติให้คณะวิชาและส่วนงานต่างๆ ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม     มีการตั้งคณะกรรมการจริยธรรม    มอบหมายให้ส่วนงานไปคิดและดำเนินการกิจกรรมเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรม ส่วนงานละหนึ่งโครงการ    แล้วนำมารายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ  

เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้รับรายงานก็พบว่า ส่วนงานรายงานกิจกรรมมาจำนวนมากมาย    มีส่วนงานหนึ่งรายงานถึง ๖๐ กิจกรรม เช่น พิธีดำหัวผู้อาวุโส   กีฬาสานสัมพันธ์  พิธีตักบาตร ฯลฯ    ทำให้ผมให้ความเห็นว่าน่าจะได้ทบทวนเป้าหมายและมาตรการเรื่องการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในมหาวิทยาลัย

ผมจึงเสนอว่า น่าจะพิจารณาเป้าหมายตาม  Lawrence Kohlberg stages of moral development    หรือตามหลักการอื่น ที่เป็นคุณธรรมจริยธรรมที่บูรณาการอยู่ในชีวิตประจำวัน    ไม่ใช่คุณธรรมจริยธรรม ที่แสดงออกโดยการทำกิจกรรมพิเศษ    แนวทางที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือแนวทางของสำนักพุทธฉือจี้ ที่ผมเคยลงบันทึกไว้ ที่นี่

การจัดการเรื่องนี้น่าจะมีการโฟกัสเป้าหมายที่มีความสำคัญในบริบทของมหาวิทยาลัยนั้น ในช่วงเวลานั้น    นำมากำหนดประเด็นขับเคลื่อนในช่วง ๑ ปี เช่นเรื่องความซื่อสัตย์    ให้แต่ละส่วนงานไปคิดและดำเนินการมาตรการ    รวมทั้งช่วยกันคิดกำหนดตัวชี้วัด    ว่าจะวัดอย่างไรว่ากิจกรรมหรือมาตรการนั้นๆ ส่งผลดีจริงๆ    ไม่ใช่แค่ทำเพื่อให้ ได้ชื่อว่าทำ   

ผมมีความเชื่อว่า กิจกรรมที่จะส่งผลพัฒนาจิตใจด้าน Moral Quotient จริงๆ คือการผ่านเหตุการณ์จริง หรือ เหตุการณ์เสมือน ที่สั่นคลอนความมั่นคงทางจริยธรรม ที่เรียกว่า integrity    แล้วนำมาทำ reflection ร่วมกัน    จะเกิด การเรียนรู้เชิงคุณธรรมเป็นอย่างมาก 

ที่จริงการเรียนรู้แบบ activity-based ที่ทำเป็นกลุ่ม ก็เป็นการฝึกจริยธรรมที่ดีไปในตัว    มีการฝึก give and take   การช่วยเหลือเพื่อน   การรับฟัง  การแสดงความเคารพต่อความเห็นที่แตกต่าง  การมีความพากเพียรพยายาม   การมีอิทธิบาทสี่    หากหลังจากกิจกรรมมีการทำ reflection ร่วมกัน โดยอาจารย์ตั้งคำถามเชิงจริยธรรม    ก็จะเกิดการเรียนรู้ ด้านคุณธรรมจริยธรรมทั้งในมิติปฏิบัติ และมิติทฤษฎี      

ผมได้เขียน บล็อก ชุด การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม เสนอแนวทางจัดการศึกษาที่มีการเรียนรู้ในมิติของสมอง ใจ และวิญญาณไปพร้อมๆ กัน    อ่านได้ ที่นี่  

วิจารณ์ พานิช

๒๕ มิ.ย. ๖๐

 

หมายเลขบันทึก: 631795เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2017 04:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2017 04:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท