เก็บตกเล็ก ๆ จากงานเสวนา "เข็นเด็กนอกบ้านให้เป็นคนปกติ ด้วยวินัยเชิงบวก"


เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสทองได้ไปร่วม กิจกรรม ห้องเรียนพ่อแม่ ตอน "เข็นเด็กนอกบ้านให้เป็นคนปกติ ด้วยวินัยเชิงบวก"ที่ได้ คุณหมอจาก 3 เพจดังใน Facebook 

หมอมินบานเย็น จากเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา หมอโอ๋ จากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน  หมอก้อยและหมอตั้ม เพจเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ

 ณ อาคาร ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) จัดโดย SOOK สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) 

เลยเก็บสะเก็ดความรู้มากฝากค่ะ ใครอยากดู Live ช่วงเสวนา สามารถเข้าไปดูที่ได้เพจ สิ่งเล็กๆที่สร้างลูก  ส่วนเนื้อหาช่วงเวิร์คช็อปมีสรุปไว้ที่เพจ SOOK   ใครสนใจเข้าไปอ่านเพิ่มเติมกันได้นะคะ  ส่วนที่จะนำมาแบ่งปันนั้นเป็นการเก็บตก ข้อคิดดีๆ ที่สะกิดใจตัวเอง จากการเข้าร่วมในกิจกรรมนี้ค่ะ 

1. เป็นต้นแบบที่ดี ให้ลูกดู ดีกว่าคำสั่งสอนดีๆ ที่บางทีพ่อแม่นี้ก็ทำไม่ได้555 

 2. การเป็นต้นแบบที่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ที่ดีเลิศ ดีพร้อม ดีพร่องบ้างก็ได้นะ แต่เป็นพ่อแม่ที่พร้อมจะปรับปรุงตนให้ดีขึ้นๆ 

3. พ่อแม่ควรมีเป้าหมายในการเลี้ยงลูก ใครเป้าหาย หานะคะ ว่าเป้าหมายในการเลี้ยงลูกของเราคืออะไร เพราะเป้าหมายนี้จะเป็นเข็มทิศนำทางให้เราไปพบหนทางแห่งการไปถึงเป้าหมายนั้น (เป้าหมายของหมอโอ๋คือ ต้องการให้ลูกคิดเป็น มีความนับถือตัวเอง และมีความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิต)  

4. การเลี้ยงลูก ควรทำความเข้าใจการพัฒนาของ "สมองมนุษย์" เด็กๆ เกิดมาพร้อมสมองที่ยังพัฒนาไม่พร้อมกันทุกด้าน สมองประกอบไปด้วย 3 ส่วน สมองส่วนล่าง หรือสมองส่วนสัญชาตญาณ, สมองส่วนกลาง หรือ สมองส่วนอารมณ์ และสุดท้าย สมองส่วนบน หรือสมองส่วนคิด สมองจะพัฒนาจากล่างขึ้นบน โปรดเข้าใจลูก หากลูกยังไม่พร้อมจะเข้าใจเหตุผลของเรา(สมองส่วนเหตุผลจะพัฒนาได้สมบูรณ์ก็ประมาณ อายุ 25 ปี) พัฒนาสมองเราก่อน แล้วค่อยพัฒนาสมองลูกนะคะทุกคน5555  

5. ปริมาณของเวลา ไม่สำคัญเท่า คุณภาพของเวลาที่ใช้ร่วมกันกับลูก 

6. ของเล่น ไม่สำคัญ เท่า คนเล่นด้วย เล่นกับลูกกันเถอะ 

7. การเล่นที่ผิดพลาดได้ เป็นโอกาสในการเสริมสร้างพัฒนาการที่ีดีของลูก ยอมให้ลูกเล่นผิดพลาดบ้าง อย่ากำกับถูกเยอะนะคะ หรือที่เขากำลังฮิตกันอะ พัฒนา EF (Executive Functions) 

8. พ่อแม่ควรเรียนรู้ว่าวัยใดเหมาะสมที่จะใช้เทคโนโลยี ไม่ต้องรีบนะคะ (ใครอยากรู้กลับไปอ่านรายละเอียด อันนี้เก็บตก) 

9. แสงสีฟ้าจากหน้าจอจะไปกดการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนิน (สารที่หลั่งแล้วทำให้นอนหลับ) แสงสีฟ้าและการดูสื่อต่าง ๆ ใกล้เวลาเข้านอนนั้นไม่ควรทำนะจ๊ะ เพราะจะกระตุ้นให้สมองตืนตัวและนอนไม่หลับ แต่หากใครอยากนอนดึก ไม่นึกถึงสุขภาพก็ตามใจไม่ขัดใจกัน5555 ดูแลลูกเรื่องเวลาการใช้โทรศัพท์ หรือสื่อเทคโนโลยี 

10. การใช้สื่อโซเชียล อาจทำให้เรา/ลูกเกิดความทุกข์ง่ายขึ้น อาจทำให้เรา/ลูกเกิดความคิดเปรียบเทียบตัวเรา ลูกเรา กับบ้านอื่น ๆ ทุกข์ที่ไม่จำเป็นนะจ๊ะ โปรดระวังใจ 

11. เรื่องการชมนั้น สำคัญม๊ากมาก คือ ความจริงใจ รู้สึกจริง ๆ จากใจแล้วค่อยไหลออกปากเป็นคำชม คำชมนั้นจะทรงพลัง ทั้งนี้ก็กลับไปอ่านองค์ประกอบของคำชมและวิธีการชมกันอีกที จะได้ทรงพลังมากยิ่งขึ้น คิดคำชมไม่ออก ก็กอดไว้ก่อน5555และส่วนตัวไม่ชอบให้ใครมาลูบหัว ลูบหลังเวลาชม บอกไว้เผื่อใครจะชมแบบสัมผัสเมื่อเจอกัน5555 

12. การชมนั้นอย่าคาดหวังผลลัพธ์ แต่มีหวังได้ งงไหมคะ555เพราะการชมแล้วเราคาดหวังผลลัพธ์ อาจกลายเป็นสร้างความรู้สึกกดดันให้ลูกได้ ลูกอาจรู้สึกได้ว่าแม่มีแผนร้าย เอ้ย ไม่ใช่ มีแผนการ ไม่ได้ตั้งใจจะชมอย่างจริงใจ อันนี้เคยเจอกับตัวเอง5555 

13. ในกรณีมีลูกมากกว่า 1 คน ขณะที่กำลังชมน้องอยู่นั้น พี่เกิดอาการไม่พอใจ งอนแม่ จงชมน้องต่อไป อย่าหยุดชม ไม่ใช่ไม่ห่วงใยความรู้สึกพี่ แต่ให้คุยกันพี่อีกทีว่าเราชมน้อง เพราะน้องทำดีจริงๆ และคำชมพวกนี้แม่ก็เคยชมลูก(พี่)เหมือนกัน จำได้ไหม ครั้งที่........เล่าไป.......... กอดๆ จุ๊บๆ แสดงความรัก 

14. จงสร้างตนให้เป็นคนที่ลูกอยากฟังเรา อันดับแรกคือ หมั่นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ ใช้วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกนี้แหละช่วยได้ๆ จริงๆ +

15. จงฝึกจัดการอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน ค่อยไปจัดการอารมณ์ลูก วิธีการมีมากมาย เช่น เจริญสติแบบชาวพุทธ ทำสมาธิแบบตะวันตก ออกกำลังกาย ฯลฯ 

16. คาถา 3 ข้อ ที่หมอโอ๋แจกมา เวลาที่ลูกมีปัญหามาเล่าให้ฟัง คิดอะไรไม่ออก ให้ท่องคาถา 3 ข้อนี้ "แม่เข้าใจเลย","ลูกคิดว่าจะทำอย่างไรดี" และ "มีอะไรอยากให้แม่ช่วยไหม" กรุณาศึกษาเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้งด้วยนะคะ ว่าควรมีท่าทีในการฟังอย่างไร 

17. เวลาลูกร้องไห้ กรุณาตั้งเป้าหมายให้ถูก ส่วนใหญ่พ่อแม่มักตั้งเป้าหมายว่าจะ "ทำให้ลูกหยุดร้องไห้" จงเปลี่ยนเป้าหมายใหม่เป็น "ทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้น" 

18. เรื่องการปลอบลูก อันดับแรก ที่ต้องทำคือ ตั้งสติ555 ฟังอย่างมีสติ พยายามเข้าใจความรู้สึกลูก เข้าใจมุมมองของลูก เข้าใจความต้องการของลูก ถ้าไม่เข้าใจสามารถถาม หรือเดาไปก่อนได้ค่ะ เช่น "อืม...ลูกคงรู้สึกเสียใจมาก(รู้สึก) ที่เพื่อนมาแกล้งผลักลูกล้ม(มุมมองของลูก) ลูกคงอยากให้เพื่อนเล่นกับลูกดี ๆ (ความต้องการของลูก) ถ้าไมเ่ข้าใจ ไม่แน่ใจ อาจเดาและถาม ลูกคงรู้สึกเสียใจมากใช่ไหม ที่เพื่อนมาแกล้งผลักลูก" คืออันนี้ไม่ใช่ความคิดของเรานะคะ เราไม่ได้ตัดสิน เราแค่รับฟังจากลูกและพูดสะท้อนความรู้สึกลูกออกไป 

19. อ้อ ก่อนจะปลอบอะไร พูดอะไร ควรทำให้ลูกสงบอารมณ์ก่อนนะคะ ณ เวลานั้นสมองส่วนหน้ายังไม่ทำงาน พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ อาจเป็นโทษด้วยซ้ำ 

20. น้ำเสียง และท่าทีที่เราใช้ มีความสำคัญนะคะ โปรดเลือกโหมดอารมณ์เสียงให้เข้ากับเรื่องราวลูกด้วย55555 

21. ตั้งคำถามชวนให้ลูกคิดเอง ดีกว่านะจ๊ะ การที่ลูกคิดได้เองจะเปลี่ยนความเชื่อเขาได้มากกว่าเราสั่งสอน  

22. บางสิ่งที่เราเห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เราเข้าใจทั้งหมด เช่นพฤติกรรมที่ลูกแสดงออก อาจไม่ใช่อย่างที่เราคิด โปรดระวังการตีความของเรา อย่ารีบด่วนสรุปเองตามความคิดตัวเองนะตัวเอง  

23. ในการปลอบคิดอะไรไม่ออก ก็ให้ "กอด" นิ่ง ๆ ไม่ต้องพูดก็ได้ บางเรื่องอาจต้องใช้เวลาและความรักของเราเยียวยานานนิดนึง แต่เชื่อเถอะความรักของเราทรงพลังเสมอ ***ฝึกการสื่อสารเชิงบวกด้วยนะตัวเธอ*** และถ้าลูกไม่ยอมให้กอด ณ ตอนนั้นก็อย่าเอาแต่ใจ ตีโพยตีพาย เคารพสิทธิลูกด้วยนะคะ555  

24. ความรู้สึกผิดในการเลี้ยงลูกเกิดขึ้นได้ปกติ รู้สึกผิดเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะให้เราอยากแก้ไขตัวเอง ที่สำคัญคือ อย่าจมกับความรู้สึกผิดนะจ๊ะ ให้อภัยตัวเองแล้วซะ แก้ไขและก้าวต่อไป

25 เมื่อเกิดเหตุ เราต้องแยก "อารมณ์" กับ "พฤติกรรม" ออกจากกัน ลูกสามารถแสดงอารมณ์ที่ไม่ดีได้ เราควรยอมรับอารมณ์ของลูกไม่ปฏิเสธอารมณ์หรือความรู้สึกไม่ดีของเขา แต่ที่ยอมรับไม่ได้คือพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น พี่ทะเลาะกับน้องที่น้องแย่งของเล่น แล้วตีน้อง เราเข้าใจยอมรับความรู้สึกของพี่ที่โกรธน้อง แต่ไ่ม่ยอมรับการตีน้อง อาจพูดว่า "น้องมาแย่งของเล่นหนู ไม่ขอดีๆ หนูโกรธน้องใช่ไหมคะ"อาจกอดปลอบประโลมด้วย และรับฟังลูก จากนั้นก็คุยเมื่อดูว่าลูกพร้อมฟังเรา "ลูกโกรธน้องได้นะ แต่ไม่ควรตีน้อง" จะใช้หลักเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือวิธีใดก็ว่าไป พูดเมื่อลูกพร้อมฟัง

จบดีกว่า เก็บตกเล็กๆ รวมกันก็ได้เยอะเชียว555555 หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย หรือหากไม่ได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นเลย ก็ไม่เป็นไรค่ะ จะดีใจมาก แสดงว่ามีความรู้เยอะมากอยู่แล้ว5555 +++หมายเหตุ เหล่านี้ถ่ายทอดจากความเข้าใจและมีความในใจของตัวเองด้วยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 631674เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2017 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2017 08:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่ถ่ายทอด แบ่งปันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท