ย้อนรอยอดีตศึกษานิเทศก์ เมื่อคราแรกเริ่ม ...อาจารย์ผจงวาด วายวานนท์ :ศึกษานิเทศก์ผู้เป็นทั้งนักวิชาการ นักการศึกษา และผู้บริหารชั้นยอด


นี่คืออดีตศึกษานิเทศก์ที่เราภาคภูมิใจยิ่งท่านหนึ่ง เพราะท่านเป็น ศึกษานิเทศก์ผู้เป็นทั้งนักวิชาการ นักการศึกษา และผู้บริหารชั้นยอด อย่างแท้จริง

                มีอดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษาท่านหนึ่ง คืออาจารย์บรรจง  พงศ์ศาสตร์ เคยกล่าวคำว่า “สามใบเถา” ซึ่งหมายถึง  ผู้บริหาร  ครู  และศึกษานิเทศก์  โดยท่านบอกว่า “ถ้าสามใบเถาทำงานร่วมกันเมื่อไร คุณภาพการศึกษาก็จะไปได้โลด”
               ผมได้อ่านประวัติของอดีตศึกษานิเทศก์รุ่นแรกๆหลายท่าน  พบว่า ก่อนที่ท่านจะได้รับคัดเลือกมาเป็นศึกษานิเทศก์ ทุกท่านจะต้องผ่านการเป็นครูเก่งๆแต่ละสาขาวิชามาก่อน แล้วท่านก็จะถูกคัดเลือกมาเป็นศึกษานิเทศก์บ้าง  บางท่านก็ถูกคัดเลือกมาเป็นผู้บริหารโรงเรียนก่อน  แล้วถูกคัดเลือกให้เป็นศึกษานิเทศก์อีกครั้งหนึ่ง  และอาจสลับกันไปสลับกันมาระหว่างการเป็นผู้บริหารกับศึกษานิเทศก์  ซึ่งเป็นการยืนยันคำว่าสามใบเถาดังกล่าวข้างต้น และแสดงให้เห็นว่า การนิเทศกับการบริหารการศึกษามีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างแยกไม่ออก เพราะการนิเทศการศึกษาจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ตั้งไว้ก็ต้องอาศัยพึ่งพาการบริหารจัดการที่ดี ในขณะเดียวกันการนิเทศการศึกษาที่ช่วยให้ครูและบุคลากรได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพสูงขึ้นในการจัดการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานศึกษาเช่นกัน
            ที่เกริ่นนำมาข้างต้นก็เพื่อจะเล่าถึงประวัติของอดีตศึกษานิเทศก์รุ่นแรกๆท่านหนึ่งคือ  อาจารย์ผจงวาด  วายวานนท์  ซึ่งท่านอาจารย์รัชนี  ศรีไพรวรรณ อดีตศึกษานิเทศก์ที่เคยร่วมงานกับท่าน ได้เรียบเรียงประวัติไว้ในหนังสือประวัติครู พ.ศ. 2541 ผมจึงขอสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญมาเล่าต่อเพื่อย้อนรอยอดีตศึกษานิเทศก์ท่านนี้  กล่าวคือ
            อาจารย์ผจงวาด  วายวานนท์(สกุลเดิม คชเสนี)  เกิดเมื่อวันที่ 10  กุมภาพันธ์  2449  ที่บ้านถนนตะนาว  อำเภอพระนคร  จังหวัดพระนคร  เป็นบุตรรองเสวกเอกหลวงประจักษ์  อักษรนิติ์(วุฒิ  คชเสนี) และนางทองคำ  เริ่มเรียนชั้นมูลศึกษา(ต่อมาเปลี่ยนเป็นประถมศึกษา)ที่โรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อ พ.ศ.2455  จบหลักสูตรประโยคมัธยมบริบูรณ์หญิง(มัธยมปีที่ 6) ใน พ.ศ. 2462  ต่อมา พ.ศ.2464 สอบได้วุฒิครูมูล(ป)  พ.ศ.2469 สอบได้ประกาศนียบัตรประโยคครูประถม(ป.ป.)  พ.ศ. 2471 สอบได้ประโยคครูมัธยม(ป.ม.) โดยสอบได้วิชาชุดภาษาอังกฤษและชุดภาษาฝรั่งเศส   ต่อมาเข้าเรียนภาษาอังกฤษของสามัคยาจารย์สมาคมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย(ภาคค่ำ) พ.ศ. 2472 สอบได้มัธยมปีที่ 7 ของสามัคยาจารย์สมาคม  พ.ศ.2473 สอบได้วิชาภาษาอังกฤษอย่างเอกชั้นประโยคมัธยมบริบูรณ์ชาย(มัธยมปีที่ 8) ของกระทรวงศึกษาธิการ  ต่อมา พ.ศ.2477ได้เรียนวิชาชุดครูประโยคครูอุดม(ป.อ.)ที่แผนกอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ภาคบ่าย) ในชั้นปีที่ 3  พ.ศ.2478 สอบได้วิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ ในชั้นปีที่ 4   พ.ศ. 2483 ได้เข้าเรียนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสต่ออีกแต่การเรียนในครั้งนั้นไม่มีการสอบ
           อาจารย์ผจงวาด เข้ารับราชการครูครั้งแรกที่โรงเรียนสตรีวิทยาใน พ.ศ. 2464  ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งและหน้าที่ราชการสูงขึ้นตามลำดับคือ  พ.ศ.2475  ครูใหญ่โรงเรียนสตรีวัดภาวนาภิรตาราม และในปีเดียวกันได้ย้ายไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนสตรีวิทยา  พ.ศ. 2478 ดำรงตำแหน่งตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเบญจมราชาลัย  พ.ศ. 2497 ได้รับคัดเลือกและแต่งตั้งให้เป็นศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา  พ.ศ. 2498 เป็นศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู  และในกลางปีเดียวกันได้รับแต่งตั้งให้ไปรักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย และได้เป็นอาจารย์ใหญ่ในปีถัดมา  พ.ศ. 2500 ได้กลับมาเป็นศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครูอีกครั้งหนึ่ง  จน พ.ศ. 2508 ได้ลาออกจากราชการขณะดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์เอก กรมการฝึกหัดครู
        อาจารย์ผจงวาดเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงมาก  เข้ารับราชการเป็นครูตั้งแต่อายุเพียง 15 ปี และได้เป็นครูใหญ่เมื่ออายุ 26 ปี  ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารโรงเรียนสตรี  วิธีการบริหารจะใช้การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างแก่ครูและนักเรียนทั้งในเรื่องการปรพฤติปฏิบัติตน  การเป็นผู้ใฝ่ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ มิได้หยุดนิ่งในการพัฒนาตนเอง แม้จะเป็นผู้บริหารก็เข้าศึกษาและอบรมความรู้ในสถาบันต่างๆ  ในเรื่องความประพฤติอาจารย์ผจงวาดได้ชื่อว่าเป็นกุลสตรี  มีความประพฤติดี มีมรรยาทเรียบร้อย  มีความยุติธรรมตรงไปตรงมา  และมีระเบียบวินัยเคร่งครัด มีเมตตา และมีเหตุผล จึงส่งผลถึงครูและนักเรียนตามไปด้วย
          การปกครองนักเรียนนั้น  อาจารย์ผจงวาดใช้ระบบหัวหน้านักเรียนให้ดูแลกันเอง โรงเรียนจะคัดเลือกหัวหน้านักเรียนจากผู้มีความรู้ ความประพฤติดี  ทำให้การปกครองนักเรียนมีระบบระเบียบดียิ่ง  อาจารย์ผจงวาดจะอบรมดูแลนักเรียนด้วยความรักความห่วงใย ดุจมารดาจะพึงรักและห่วงใยบุตร  ทำให้นักเรียนที่อาจารย์ผจงวาดเป็นผู้บริหารทุกแห่ง มีความประพฤติเรียบร้อย  เรียนดี  เป็นที่ชื่นชมของผู้ปกครองและบุคคลทั่วไป
            ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา  กรมามัญศึกษาแบ่งเป็น  สำนักงานเลขานุการ  กองคลัง  กองโรงเรียนรัฐบาล  กองโรงเรียนราษฎร์  กองโรงเรียนประชาบาล  และกองฝึกหัดครู  หลังสงครามใน พ.ศ. 2495 ได้เปลี่ยนชื่อกรมสามัญศึกษาเป็นกรมวิสามัญศึกษา  และได้ปรับปรุงการศึกษาให้ก้าวหน้าและได้ผลดียิ่งขึ้น  โดยได้เริ่มการแนะแนวทางการศึกษาเรียกว่า การนิเทศการศึกษาขึ้น โดยดำเนินงานทั้งด้านวิสามัญและด้านฝึกหัดครู  จุดประสงค์ขั้นต้นก็เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในส่วนภูมิภาคที่สังกัดกองฝึกหัดครู 28 โรงเรียน  และโรงเรียนที่เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค 20 จังหวัด  กรมวิสามัญศึกษาจึงจัดอบรมผู้นิเทศการศึกษา เรียกว่าศึกษานิเทศก์ เป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2495 และเกิดหน่วยศึกษานิเทศก์ขึ้นคือ หน่วยศึกษานิเทศ กรมวิสามัญศึกษา แยกเป็น 2 ฝ่ายคือ หน่วยศึกษานิเทศก์ฝ่ายฝึกหัดครู และหน่วยศึกษานิเทศก์ฝ่ายภาษาอังกฤษ โดยคัดเลือกครูผู้มีความรู้ความสามารถในทางวิชาการด้านต่างๆมีประสบการณ์ในการสอนและการบริหาร  มีมนุษยสัมพันธ์ดี  กล้าแสดงความคิดเห็น  รักการบุกเบิกงาน  จากโรงเรียนต่างๆของกรมวิสามัญศึกษา  ขณะนั้นอาจารย์ผจงวาดเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเบญจมราชาลัย ก็ได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นศึกษานิเทศก์ด้วย ใน พ.ศ.2497           
             เมื่อแยกกองฝึกหัดครูตั้งเป็นกรมการฝึกหัดครูแล้ว  ได้โอนหน่วยศึกษานิเทศก์ ฝ่ายฝึกหัดครูไปขึ้นกรมการฝึกหัดครู คงอยู่แต่หน่วยศึกษานิเทศก์ ฝ่ายภาษาอังกฤษ ซึ่งได้รับอนุมัติให้ตั้งขึ้นเป็น หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษาตั้งแต่ พ.ศ.2498  อาจารย์ผจงวาดเป็นศึกษานิเทศก์ฝ่ายฝึกหัดครู จึงทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครูตั้งแต่นั้นมา
          โรงเรียนฝึกหัดครูในต่างจังหวัดสมัยนั้น ส่วนมากเคยเป็นโรงเรียนประกาศนียบัตรครูมูล  และเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก  เมื่อต้องเปลี่ยนมาสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา(ป.กศ.) จึงเกิดปัญหาความไม่พรักพร้อมทางด้านบุคลากร อุปกรณ์ สถานที่ ฯลฯ เป็นอันมาก  อาจารย์ผจงวาดเป็นผู้มีประสบการณ์สูงเพราะเคยเป็นผู้บริหารมานาน  ได้ใช้ความรู้ความสามารถช่วยแก้ปัญหา  ทำให้การปฏิบัติงานพัฒนาเข้ารูป เกิดความเรียบร้อยในระยะเวลาไม่นานนัก  ทั้งได้ให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆแก่อาจารย์ใหญ่ของวิทยาลัยครู(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฎ)เป็นอย่างดีตลอดมา
           การปฏิบัติงานนิเทศการศึกษาของอาจารย์ผจงวาด ได้ช่วยแบ่งเบาภาระในด้านการบริหารของหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์(ดร.ก่อ  สวัสดิ์พาณิชย์) เป็นอันมาก  ในเวลาที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ไปราชการต่างจังหวัดหรือไปต่างประเทศ อาจารย์ผจงวาดก็ได้รับความไว้วางใจให้รักษาการหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์เป็นประจำ  นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการสอบไล่วิชาชุดครูมูลทุกปี  เป็นกรรมการสอบไล่เลื่อนขั้นข้าราชการกรมการฝึกหัดครู  เป็นกรรมการปรับปรุงหลักสูตรวิชาอนุกาชาดระดับมัธยมปลาย และงานสำคัญๆอีกหลายเรื่อง
           อาจารย์ผจงวาดเป็นผู้มีความรู้ในด้านร้อยกรองเป็นอย่างดียิ่งกอรปกับมีความสามารถในการขับร้องเพลงไทยด้วย  จึงได้ประพันธ์เนื้อเพลงโดยใช้ทำนองเพลงไทยไว้หลายเพลง   นอกจากนี้ยังใช้ความสามารถในด้านภาษาอังกฤษอันดีเยี่ยม ถอดความจากบทประพันธ์ของนักประพันธ์ผู้เรืองนามของต่างประเทศ เช่น  เชกสเปีย  ลองเฟโล  สก๊อต เบิร์น  เป็นต้น เช่น
                   Death                                                    ความตาย         
       Like the dew on the mountain              เฉกน้ำค้างพร่างพรมบนภูผา
       Like the foam on the river                     ฟองธาราลอยตามลำน้ำไหล
       Like the bubbles on the fountain          ดุจน้ำพุสาดกระเซ็นเป็นฝอยไป
       Like art gone, and forever!                     เปรียบเธอไซร้ไปลับชั่วกัปกัลป์
               อาจารย์ผจงวาด สมรสกับนายเชื้อ  วายวานนท์  มีบุตร 3 คน คือ นายอาชวัน  พันตรีอรรณพ วายวานนท์  และนางวันเนาว์  บุลสุข   อาจารย์ผจงวาดถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 27  มิถุนายน 2540 สิริอายุ 91 ปี 4 เดือน 17 วัน โดยได้รับพระราชทานน้ำอาบศพและพระราชทานหีบทองลายก้านแย่งประกอบศพ
               นายจรูญ  ชูลาภ  อดีตเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฎ ได้กล่าวสดุดีอาจารย์ผจงวาด ไว้ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ผจงวาด ความตอนหนึ่งว่า               
              “อาจารย์ผจงวาด  วายวานนท์ เกิดมาเพื่อส่งเสริมและสร้างคุณค่าให้แก่วงการศึกษาและกรมการฝึกหัดครูหรือสถาบันราชภัฎโดยแท้
               อาจารย์ผจงวาด  วายวานนท์  เป็นทั้งนักวิชาการ  นักการศึกษาชั้นยอด และเป็นผู้บริหารที่มีฝีมืออย่างหาใครเทียบเคียงได้ยาก แม้กระทั่งไปดูงานการศึกษาต่างประเทศกลับมาแล้ว ก็ได้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ที่ได้พบเห็น รวมทั้งคิดริเริ่มพัฒนางานในหน่วยงานจนเกิดความสำเร็จหลายอย่าง              
              ในสมัยที่ยังมีชีวิตรับราชการอยู่  อาจารย์ผจงวาด  วายวานนท์ มีความเป็นอยู่อย่างสมถะและซื่อสัตย์  ขยันขันแข็ง  ถ่อมตน  เป็นนักสู้เพื่องาน  เป็นรูปแบบที่ดีที่ผู้ใกล้ชิดและผู้ใต้บังคับบัญชาได้ยึดถือเป็นแบบอย่างทั้งในด้านการปฏิบัติงาน  และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข  ไม่ท้อถอยต่อปัญหาและอุปสรรค ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานใหญ่มากมาย...”
 
               นี่คืออดีตศึกษานิเทศก์ที่เราภาคภูมิใจยิ่งท่านหนึ่ง เพราะท่านเป็น ศึกษานิเทศก์ผู้เป็นทั้งนักวิชาการ นักการศึกษา และผู้บริหารชั้นยอด อย่างแท้จริง
                                         
                                                                                 

 

หมายเลขบันทึก: 631648เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2017 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2017 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท