ชีวิตที่พอเพียง : 2965a. ความหมายของไม้ยืนต้น : (๙) สัตว์ป่าเพื่อนยาก


สัตว์ป่าเป็นส่วนหนึ่งของ "ผองพื่อนพืช" (phytobiome)

ชีวิตที่พอเพียง : 2965a. ความหมายของไม้ยืนต้น  : (๙) สัตว์ป่าเพื่อนยาก

บันทึกชุด ความหมายของไม้ยืนต้น ตีความจากหนังสือ The Hidden Life of Trees     เอ่ยถึงสัตว์ป่ากระจัดกระจายในหลายที่    แสดงบทบาทแก่ป่าทั้งด้านช่วยเหลือและทำลาย    พอจะสรุปได้ว่า สัตว์ป่าช่วยให้ป่าเป็นป่า และดำรงความเป็นป่าอยู่ได้   

ข้อคิดเห็นของคุณ sr ใน บันทึกนี้  กระตุ้นให้ผมตีความบทบาทของสัตว์ป่า ต่อป่าธรรมชาติ ที่เป็นเรื่องราวของหนังสือ The Hidden Life of Trees ที่ผมตีความ   

ผมเพิ่งพบบทความ Building a Better Harvest. To avert a future famine, scientists are manipulating the complex conversation that plants have with microbes, pests and other elements of the phytobiome ในนิตยสาร Scientific American ฉบับประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐    ที่ทำให้รู้จักคำว่า phytobiome    ที่สื่อมุมมองเชิงระบบ ในการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตสูง     ที่ส่วนหนึ่งเป็นมุมมองเชิง web of life แนวเดียวกันกับหนังสือ The Hidden Life of Trees     ต่างกันที่มุมมองเชิงควบคุม  กับมุมมองเชิงให้อิสรภาพ

ความจริงที่เราลืมนึกคือ ครึ่งหนึ่งของ biomass ในป่า อยู่ที่พื้นดินใต้ร่มไม้    ที่เกือบมืดสนิท    biomass ส่วนนี้แหละที่ค้ำจุนชีวิตของสัตว์ป่าส่วนใหญ่    ได้แก่ กวาง  หมูป่า  สัตว์กินเนื้อ  และนก    ในดินเพียงกอบเดียว ก็มีสิ่งมีชีวิตจำนวนมากกว่าจำนวนมนุษย์บนโลก     ในดินเพียง ๑ ช้อนชา ก็มีเส้นใยเชื้อรายาวหลายกิโลเมตร    สิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านี่แหละ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในดิน และทำให้พื้นดินเหมาะสมต่อการ ดำรงชีพของพืชยืนต้น    ผมได้เขียนบันทึกเรื่องจุลชีพในดินไว้แล้ว ที่นี่

จุลชีพและสัตว์ตัวเล็กๆ ในดิน เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายใยชีวิต    ที่นกก็มีส่วนช่วยแพร่พันธุ์ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้จากป่าหนึ่งสู่ป่าหนึ่ง     ผ่านการ “อาบดิน” คือนอนคลุกดิน    ทำให้จุลชีพและสัตว์ตัวเล็กๆ ติดไปกับขนนก   

คงไม่ต้องเล่าเรื่องนกใช้ต้นไม้เป็นที่อยู่อาศัยหลากหลายรูปแบบ    แต่ที่เราไม่เคยนึก คือการที่นก กินลูกไม้    แล้วไปขี้ปล่อยเมล็ดพืชเคลือบจุลชีพในลำไส้นกออกมาในที่ห่างไกล    นอกจากช่วยการแพร่พันธุ์แล้ว    ยังช่วยให้ phytobiome ที่ช่วยความแข็งแรงให้แก่ต้นอ่อนที่งอกออกมาด้วย   

นกบางชนิด และกระรอก มีนิสัยสะสมเมล็ดพืชไว้กินในฤดูหนาว    เก็บซ่อนหลายที่ จนบางทีก็ลืม     ทำให้เมล็ดพืชรอดจากการถูกสัตว์อื่น (เช่นกวาง หมูป่า) กิน    ได้โอกาสงอกในฤดูใบไม้ผลิถัดไป  

คุณ sr เอ่ยถึงกวางมีคุณต่อทุ่งหญ้า Serengeti ในอัฟริกา    และไม่สบายใจที่ผมเขียนว่ากวางมีส่วนทำให้ ต้นไม้วัยเยาว์ตาย    ซึ่งหนังสือเล่าละเอียดว่า จริงๆ แล้วกวาง และหมูป่ากินเมล็ดของพืชป่าหลายชนิด    รวมทั้งบางเมล็ดก็โดนรากิน    จนเหลือบางเมล็ดเท่านั้นที่มีโอกาสงอก    และเมื่อบางเมล็ดงอกและโตขึ้นมาได้     จนลำต้นมีขนาดหนึ่งกวางที่คันโคนเขาต้องการผลัดเขาจะมาใช้ลำต้น เป็นที่งัดให้เขาหลุด    การงัดนี้รุนแรงมากจนต้นไม้ต้นนั้นตาย    เป็นธรรมชาติของป่า  

ธรรมชาติของป่าธรรมชาติสมบูรณ์คือ ในตลอดช่วงชีวิตของต้นไม้  บางชนิดผลิตเมล็ดกว่า หนึ่งล้านเมล็ด    บางชนิดผลิตกว่าพันล้านเมล็ด    ไม่ว่าจะผลิตเมล็ดมากแค่ไหน โดยเฉลี่ยต้นไม้ในป่าที่อายุยืน จนตายไปเมื่ออายุ ๔๐๐ - ๕๐๐ ปี  จะมี “ต้นลูก”  ที่เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่และอายุยืนเช่นนั้นเพียง ๑ ต้นเท่านั้น    เพียง ๑ ต้นก็เพียงพอต่อการดำรงป่า ให้เป็นป่าที่สมบูรณ์

ขอขอบคุณ รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.ค. ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 631428เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2017 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2017 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for the continuation of this series.

And thank you for taking my comment seriously. I had in mind that the statement "...กวางเป็นตัวทำลายอนาคต ของต้นไม้วัยเยาว์ที่จะอยู่ไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์..." might be taken verbatim and become a firm view for some readers. This view might result in more actions that are harmful to some wildlifes. Wildlifes are already suffering from loss of feeding and living grounds.

However, in my comment I also over-reacted and encouraged another extreme view too. For this I apolgize. More politically correct I should have said, European settlement had started a change of views and technologies among African population. Then for some 100 years, human activities in Africa have been and are now detrimental natural systems and wildlifes.

Plants and animals are still stuck in natural systems. Human are almost completely changed to cultural systems with views and technologies; we can do both great harm and great good.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท