ชีวิตที่พอเพียง : 2950a. ความหมายของไม้ยืนต้น : (๖) ป่าจุลชีพ


จุลินทรีย์ที่ใกล้ชิดไม้ยืนต้นที่สุดน่าจะได้แก่เชื้อรา โดยเชื้อราจะงอกเข้าไปในขนของปลายราก เพื่อทำงานเป็นหุ้นส่วนกัน เส้นใยของเชื้อราจะงอกไปทั่ว และไปเชื่อมกับรากของไม้ต้นอื่น กลายเป็น ตัวเชื่อมระหว่างต้นไม้ต่างต้น เป็นทั้งท่อแลกเปลี่ยนสารอาหารระหว่างต้นไม้ และเป็นท่อส่งข่าวสารแก่กัน เช่นข่าวว่าโดนแมลงรังแก

ชีวิตที่พอเพียง : 2950a. ความหมายของไม้ยืนต้น : (๖) ป่าจุลชีพ

บันทึกชุด ความหมายของไม้ยืนต้น ตีความจากหนังสือ The Hidden Life of Trees     ตีความได้ว่า ป่าไม้ยืนต้น และป่าจุลชีพ ทั้งเกื้อกูลและทำลายกัน

ผู้เขียน (Wohlleben) เล่าเรื่องพลังของจุลชีพที่เกื้อกูลป่าตั้งแต่ย่อหน้าแรกของบทที่ ๑ เลยทีเดียว    และผมได้ตีความเล่าใน บันทึกตอนที่ ๒ แล้ว    

เท่ากับป่านั้น มีทั้งส่วนที่เรามองเห็น และส่วนที่เรามองไม่เห็น   หนังสือ The Hidden Life of Trees ช่วยไขความลี้ลับบางส่วนให้เราได้เข้าใจ   ผู้เขียนบอกว่า ความตั้งใจของการเขียนหนังสือเล่มนี้ก็เพื่อ ช่วยให้ผู้อ่าน ได้มีมุมมองต่อป่าในมิติใหม่ๆ ในการสัมผัสป่าครั้งต่อไป   โดยป่าในที่นี้หมายถึงป่าธรรมชาตินะครับ ไม่ใช่ป่าปลูก   

ตกลงป่าที่แท้จริงนั้น เป็นป่าสองชั้น  คือป่าตามองเห็นหรือป่าไม้  กับป่าตามองไม่เห็น คือป่าจุลชีพ   

ที่จริงป่าซับซ้อนกว่านั้น ดังจะกล่าวในตอนต่อๆ ไป   ในตอนนี้จะเน้นที่ป่าที่ตามองไม่เห็นก่อน  

เรื่องราวของป่าจุลชีพกล่าวไว้อย่างเด่นชัดในบทที่ ๙ (United We Stand, Divided We Fall)  และบทที่ ๒๑ (Mother Ships of Biodiversity)   

ป่าจุลชีพกับป่าไม้อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ขาดกันไม่ได้   ที่น่าสนใจคือทรากของต้นไม้ที่ตายและล้มแล้ว เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับ ระบบนิเวศน์แห่งป่า   การชักลากไม้ที่ล้มออกจากป่า จึงเป็นการทำร้ายป่า    โดยไม้ใหญ่ที่ตายและล้มจะทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารของป่า ในลักษณะของการรีไซเคิ้ล   โดยมีแมลงและ จุลินทรีย์เป็นพนักงานรีไซเคิ้ล   ต้นไม้ใหญ่ที่ตายนี้จะทำคุณประโยชน์แก่ป่าต่อไปอีกเป็นศตวรรษ จนสลายกลายเป็นฮิวมัสทั้งหมด   หรือในบางกรณีกลายเป็นถ่านหิน   แต่ถ่านหินและน้ำมันที่ขุดขึ้นมาใช้นั้น เป็นผลผลิตของต้นไม้เมื่อร้อยล้านปีก่อน

เขาบอกว่า หนึ่งในห้าของสิ่งมีชีวิตที่เรารู้จัก (เท่ากับหกพันชนิด) อาศัยอาหารจากทรากต้นไม้    การชักลากไม้ล้มเหล่านี้จึงเท่ากับแย่งอาหารของสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก   นอกจากนั้นยังจะทำร้ายต้นไม้ในป่านั้น ทางอ้อม    คือเมื่อจุลินทรีย์บางชนิดไม่มีต้นไม้ตายแล้วสำหรับเป็นอาหาร จึงเข้าเล่นงานต้นที่ยังมีชีวิต   

ที่จริงต้นไม้มีชีวิตอยู่โดยมีศัตรูรอบด้าน เหมือนกับชีวิตคน    สัตว์ป่า นก แมลง และจุลชีพ มีทั้งบทบาทเกื้อกูล และทำลายต้นไม้    เหมือนกับสภาพแวดล้อมของมนุษย์ ทั้งเกื้อกูลและทำลายมนุษย์    และมนุษย์ก็ทั้งเกื้อกูลและทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน  

ต้นไม้จึงต้องแข็งแรง จึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้    มิฉนั้นก็จะมีจุดอ่อนให้จุลชีพโจมตี   จุลชีพเหล่านี้ ทั้งแข่งขันและร่วมมือกันในการเข้าโจมตีต้นไม้   เพื่อใช้เป็นอาหารของตน   ต้นไม้จึงต้องปล่อยสารพิษออกมา ป้องกันตัว เรียกรวมๆ ว่า phytoncides (หน้า ๑๕๖)    แต่ก็เห็นบ่อยที่ต้นไม้ใหญ่โดนจุลินทรีย์โจมตีกินเนื้อไม้ จนกลายเป็นโพรงมหึมา รถยนต์แล่นผ่านได้    แต่ต้นไม้ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้  

จุลินทรีย์ที่ใกล้ชิดไม้ยืนต้นที่สุดน่าจะได้แก่เชื้อรา    โดยเชื้อราจะงอกเข้าไปในขนของปลายราก เพื่อทำงานเป็นหุ้นส่วนกัน  เส้นใยของเชื้อราจะงอกไปทั่ว และไปเชื่อมกับรากของไม้ต้นอื่น   กลายเป็น ตัวเชื่อมระหว่างต้นไม้ต่างต้น   เป็นทั้งท่อแลกเปลี่ยนสารอาหารระหว่างต้นไม้  และเป็นท่อส่งข่าวสารแก่กัน เช่นข่าวว่าโดนแมลงรังแก   

เขาจึงเปรียบเชื้อราว่าเป็นเสมือน อินเทอร์เน็ตแห่งป่า   ให้บริการด้านการสื่อสารแก่ต้นไม้   รวมทั้ง เอื้อให้ต้นไม้ดูดน้ำและสารอาหารได้มากขึ้น   แต่เชื้อราไม่เหมือนอินเทอร์เน็ตตรงที่อินเทอร์เน็ตมันไม่บงการเรา    แต่เชื้อราบงการต้นไม้ โดยสร้างฮอร์โมนของพืช ออกมาสื่อสารกับต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้ทำตามที่เชื้อราต้องการ   และได้กล่าวแล้วว่า ค่าบริการของเชื้อราค่อนข้างแพง    คืออาจสูงถึงหนึ่งในสามของน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรท ที่ต้นไม้ผลิตได้  

แต่บริการของเชื้อราที่ให้แก่ต้นไม้ยังมีอีกหลายอย่าง ได้แก่บริการกรองสารพิษ ไม่ให้ไปถึงต้นไม้   เขายกตัวอย่างเห็ดที่ขึ้นในพื้นดินที่มีพิษ เช่นกัมมันตรังสี ในเห็ดจะมีกัมมันตรังสีสูงกว่าในดินมาก    นอกจากนั้นเชื้อรายังให้บริการดูแลสุขภาพให้แก่ต้นไม้   โดยการป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้ามาทำอันตราย   

ข้อความในหน้า ๕๔ บอกว่าเชื้อราเก่งกว่าที่เราคิด ดังกรณีเชื้อราชื่อ Laccaria bicolor เป็นหุ้นส่วนกับต้นสน   ในยามที่ดินขาดไนโตรเจน   เชื้อราจะดำเนินการสร้างไนโตรเจนให้แก่ต้นสน โดยปล่อยสารพิษออกมาทำให้สัตว์ในดินตายและปล่อยไนโตรเจนออกมาเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นสน และแก่เชื้อราเอง 

เชื้อราบางชนิดเป็นหุ้นส่วนกับต้นไม้ชนิดเดียว    แต่เชื้อราบางชนิดก็เป็นหุ้นส่วนกับต้นไม้ได้หลายชนิด   และอาจเป็นตัวเชื่อมระหว่างต้นไม้ต่างชนิดในโลกใต้ดิน

เชื้อราอาจมีชีวิตเป็นหุ้นส่วนกับต้นไม้เป็นร้อยปี   และยามที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อเชื้อราก็ตาย   ต้นไม้จะหาหุ้นส่วนใหม่ทันที

ป่าจุลชีพยังมีความลี้ลับอีกมากมาย    

ขอขอบคุณ รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้

วิจารณ์ พานิช

๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 630561เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2017 05:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2017 05:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท