​ชีวิตที่พอเพียง : 2929a. ความหมายของไม้ยืนต้น : (๒) ป่าใต้ดิน


ยิ่งอ่านก็ยิ่งพิศวง และยิ่งเปลี่ยนโลกทัศน์ของผมต่อไม้ยืนต้น (trees) ป่า และองค์ประกอบ อื่นๆ ของป่า

ชีวิตที่พอเพียง : 2929a. ความหมายของไม้ยืนต้น : (๒) ป่าใต้ดิน

สัปดาห์ที่แล้ว ผมเล่าความประทับใจจากการอ่าน หนังสือ The Hidden Life of Trees สามบทเแรก ที่นี่ บัดนี้จะเล่าต่อ เพราะยิ่งอ่านก็ยิ่งพิศวง และยิ่งเปลี่ยนโลกทัศน์ของผมต่อไม้ยืนต้น (trees) ป่า และองค์ประกอบ อื่นๆ ของป่า

ที่สำคัญ ทำให้ผมเห็นข้อจำกัดของการรับรู้ของมนุษย์ ข้อเขียนในบทที่ 9 United we stand, Divided we fall นอกจากเล่าเรื่องความร่วมมือระหว่างต้นไม้ด้วยกันแล้ว ยังเล่าความร่วมมือระหว่างต้นไม้กับเชื้อราด้วย อ่านไปๆ รู้สึกว่าเชื้อราจะเป็นฝ่ายรุกมากกว่า แต่ผลลัพธ์คือการอิงอาศัยกัน (symbiosis) โดยผลลัพธ์อันแสน มหัศจรรย์คือเครือข่ายรากและรา ที่แลกเปลี่ยนเผื่อแผ่อาหารแก่กันและกัน ทั้งระหว่างรากกับรา และระหว่างรากของต่างต้น อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าโลกใต้ดิน ก็มีเรื่องราวหรือกิจกรรมมากมายไม่แพ้บนดิน เพียงแต่มนุษย์เราไม่มีโอกาสสัมผัสได้โดยตรง

ผมตกใจที่เขาบอกว่า ต้นไม้จ่ายค่าบริการต่างๆ ของเชื้อรา เป็นอาหาร (น้ำตาลและคาร์โบไฮเดรทอื่นๆ) ถึงหนึ่งในสามของที่ต้นไม้ผลิตได้ และตกใจที่เขาบอกว่ากลุ่มเส้นใยของเชื้อราชื่อ honey fungus ที่พบที่รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา มีอายุ ๒,๔๐๐ ปี มีขนาดกว้าง ๒ พันเอเคอร์ หรือกว่าห้าพันไร่ มีน้ำหนัก ๖๖๐ ตัน ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ที่จริงบทที่ ๙ ของหนังสือ ว่าด้วยการอิงอาศัยระหว่างพืชกับสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งตัวใหญ่ที่สุดคือรา ที่ช่วยให้บริการการดูดน้ำและเกลือแร่ ให้บริการปกป้องรากจากผู้รุกราน (เช่น แบคทีเรีย และเชื้อราอันตราย) และช่วยดูดสารพิษจากสภาพแวดล้อม

และยังมีเพื่อนของต้นไม้อีกมาก ที่เขายกตัวอย่างนกหัวขวาน ที่ท่าเกาะต้นไม้ใหญ่ วิ่งขึ้นลงตามลำต้น คือท่าหาหนอนที่เปลือกไม้ เป็นการช่วยให้ต้นไม้ปลอดภัยจากการถูกหนอนเจาะไชลำต้น แต่เขาก็บอกว่า นกหัวขวานก็ทำร้ายต้นไม้โดยการเจาะโพรงไม้ทำรัง เป็นการสร้างบาดแผลให้แก่ต้นไม้ เป็นจุดอ่อน ให้เชื้อราอันตรายเข้าบุกรุกได้

นอกจาก “ป่าใต้ดิน” แล้ว ข้อความในหนังสือยังนึกถึงคำว่า “ป่าใต้ร่ม” ซึ่งเป็นสภาพในป่าธรรมชาติ ไม่ใช่ป่าปลูกเพื่ออุตสาหกรรมป่าไม้ ในป่าธรรมชาติ “ลูกๆ” ของ “แม่” กำลังเติบโตบ่มเพาะพละกำลังอยู่ใต้ร่ม ของแม่และเพื่อนๆ ของแม่ เป็นสภาพที่แสงแดดลงมาถึงเพียงร้อยละ ๓ ของแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังยอดไม้ ลูกๆ จึงโตช้ามาก และปรับตัวอยู่กับสภาพดังกล่าวเป็นเวลาถึง ๖๐ - ๘๐ ปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงอายุวัยเด็ก ของต้นไม้ เพราะว่าต้นไม้ในป่าเริ่มเป็นหนุ่มสาว (หมายถึงพร้อมสืบพันธุ์) เมื่ออายุ ๘๐ - ๑๒๐ ปี และ “แก่” พร้อมตายเมื่อายุประมาณ ๔๐๐ ปี

เมื่อ “แม่” (หรือ “พ่อ”) ต้นใดต้นหนึ่งตาย ลูกๆ ก็จะปรับตัว เปลี่ยนสภาพภายในเพื่อรองรับ สภาพแวดล้อมใหม่ ที่มีแดดจ้า เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ เป็น “แม่” หรือ “พ่อ” ต่อไป ต้นอื่นๆ ก็จะเฉาตายไป อายุไม่ยืน

“แม่” หนึ่งต้นอาจให้ลูกหลายล้านเมล็ด หรือเป็นพันล้าน แต่ตามสถิติ ต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้น จะมี “ลูก” ที่เติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่เพียงหนึ่งต้น ตลอดชีวิตของตน นี่คือกฎแห่งป่า และสะท้อนกฎของการคัดเลือก ผู้แข็งแรงที่สุด (survival of the fittest) ที่ชัดเจนยิ่ง

ขอขอบคุณ รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 629215เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2017 05:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 06:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"ป่าใต้ดิน" น่าจะกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้อย่างดีค่ะ (ใช้ตัวเองที่คลิกเข้ามาอ่านทันทีเป็นตัวบ่งชี้) มีกลุ่มเด็กๆ ที่กำลังศึกษาเรื่องเหล่านี้ เด็กๆ คงดีใจที่หนูจะนำเรื่องนี้ไปเล่าต่อให้ฟัง ขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูงที่แบ่งปันเรื่องน่ารู้สนุกๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท