​ชีวิตที่พอเพียง : 2940a. ความหมายของไม้ยืนต้น : (๔) กฎแห่งป่า


ต้นไม้ที่ล้มและตาย เป็นทรากต้นไม้นั้น ทำหน้าที่เป็น แหล่งอาหารหนึ่งในห้าของป่า คือต้นไม้ตายแต่ยังมีประโยชน์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในป่า

ชีวิตที่พอเพียง : 2940a. ความหมายของไม้ยืนต้น : (๔) กฎแห่งป่า

บันทึกชุด ความหมายของไม้ยืนต้น ตีความจากหนังสือ The Hidden Life of Trees อ่านแล้วอดตีความ ออกเผยแพร่ไม่ได้ แต่สาระในการตีความนี้น่าจะมีรายละเอียดไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ของในหนังสือ

กฎแห่งป่าก็คือกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง เราเข้าใจส่วนเดียว เฉพาะที่มีคนสังเกตเห็นและตีความ ระบุในหนังสือหน้า ๑๑๓ บทที่ ๑๙ ว่าหมายถึงความอยู่รอด สิ่งมีชีวิตในป่าต่อสู้ แข่งขัน และร่วมมือกัน เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง รายละเอียดของการต่อสู้ แข่งขัน และร่วมมือที่พรรณาในหนังสือเล่มนี้ เป็นความรู้ใหม่สำหรับผมเกือบทั้งหมด

ที่น่าสนใจคือ ท่านผู้เขียนหนังสือ (Peter Wohlleben) บอกว่า ทุกสปีชี่ส์ในป่าต่างก็พยายามปกป้องป่า จากการถูกใช้ประโยชน์เกินควร (overexploitation) ซึ่งเป็นพฤติกรรมเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ผ่านการ ทำเพื่อส่วนรวม ทำให้ผมนึกถึงเรื่อง ภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ที่มนุษย์ในประเทศต่างๆ ตกลงกันปกป้องโลก แต่ประธานาธิบดีทรัมป์นำประเทศสหรัฐอเมริกาออกจาก สนธิสัญญาปารีส เสียแล้ว

ยกตัวอย่างพฤติกรรมเพื่อตนเอง และมีประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของป่า คือพฤติกรรมของนก jay (ไทยเรียก นกตะขาบ) ที่กินเมล็ดพืช และสะสมเมล็ดพืชไว้กินในฤดูหนาว เมล็ดพืชที่เหลือ ได้แพร่พันธุ์ต่อ

เขาบอกว่า ป่าเป็นเสมือน “ร้านชำ” ขนาดใหญ่ ที่มี “สินค้า” นานาชนิด แต่มีกำแพงป้องกัน การเข้าถึง ยกตัวอย่างไม้ยืนต้นที่โตเต็มวัยเพียงต้นเดียว เป็นแหล่งพลังงานนับล้านแคลอรี อยู่ในรูปของน้ำตาล เซลลูโลส ลิกนิน และคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ แต่มีเปลือกหนาป้องกัน (ที่จริงยังมีสารพิษในรูปต่างๆ อีกด้วย) แต่ก็จะมีผู้เปิดประตูสู่ขุมทรัพย์นี้ คือ นกหัวขวาน

ผู้เปิดประตูร้านชำคือนกหัวขวาน ที่ใช้จงอยปากอันแข็งแรงเจาะ เพื่อกินน้ำหวานที่กำลังไหลพุ่งแรง ในลำต้นและกิ่งไม้ในฤดูใบไม้ผลิ

เมื่อประตูเปิด “ลูกค้า” ที่หลากหลายก็เข้าไปใช้บริการ รายแรกคือเพลี้ย (aphid) นักดูดน้ำหวาน กรองหาโปรตีนเอาไว้ใช้ และขับน้ำหวานออกมาเป็นหยดน้ำหวาน (honeydew) ที่ก้น ซึ่งกลายเป็นอาหาร ของสัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อื่นต่อไป เช่น เต่าทอง มด เชื้อรา แบกทีเรีย และผึ้ง

“ลูกค้า” เข้าสู่ “ร้านชำ” ได้หลายทาง เช่น แมลงสร้างปม (gall midges) ไข่ลงบนใบไม้ ตัวอ่อนกินน้ำหวานจากใบไม้และปล่อยสารเคมีออกมากระตุ้นให้ใบไม้สร้างปมขึ้นล้มรอบตัวอ่อน เป็นปราการแห่งความปลอดภัยของตัวอ่อน ให้กินน้ำหวานจากใบไม้ได้อย่างปลอดภัย จนถึงฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้รวมทั้งตัวอ่อนร่วงลงสู่พื้นดิน ตัวอ่อนกลายเป็นดักแด้ และออกจากดักแด้ในฤดูใบไม้ผลิ ครบวงจรชีพของแมลง

หนอนผีเสื้อ (caterpillar) มาอีกแบบ คือกินใบไม้ทั้งใบ หากมีหนอนผีเสื้อจำนวนมาก ป่าอาจใบโกร๋นทั้งป่า และเสียงเคี้ยวใบไม้ของหนอนดังสนั่นป่า

ต้นเชอร์รี่นก (bird cherry) มีต่อมขับน้ำหวานที่ใบ ดึงดูดมดมากิน และมดยังช่วยกินหนอนผีเสื้อ ที่ทำอันตรายคือกินใบไม้ทั้งใบ แต่บางทีมดก็ทำเกินเลยความประสงค์ของต้นเชอร์รี่นก คืออาศัยทำฟาร์มเพลี้ย (aphid) บนใบเชอร์รี่ ให้เพลี้ยดูดน้ำหวานจากใบ แล้วมดคอยลูบตัวเพลี้ยเอาน้ำหวานอีกต่อหนึ่ง

ตัวอย่างที่รุนแรงตามกฎแห่งป่าสุดขั้ว คือการต่อสู้จนตายไปข้างหนึ่ง ระหว่างด้วงเจาะเปลือกไม้สน (bark beetle) กับต้นสน spruce ที่ด้วงเจาะเปลือกไม้เข้าไปถึงชั้น cambium แล้วส่งกลิ่นเชื้อเชิญเพื่อนๆ มารุมกันกินน้ำหวานและแร่ธาตุจาก cambium แต่ต้นไม้จะสู้สุดฤทธิ์ โดยปล่อยสารพิษ คือน้ำมันสนที่มีสาร terpenes และ phenols ออกมาฆ่าแมลง และอาจปล่อยยางสน (resin) ออกมาล้อมตัวแมลง ทำให้ตัวด้วงตาย แต่ด้วงก็มีอาวุธมาช่วย คือเชื้อรา ที่อาศัยอยู่ตามตัวของด้วง เมื่อด้วงเจาะเปลือกสนได้ เชื้อราก็เข้าไปยังยั้ง ไม่ให้ต้นสนปล่อยสารเคมีออกมาป้องกันตัวได้ เมื่อด้วงจำนวนมากมารุมกิน ต้นไม้ก็ถึงตาย

ต้นไม้วัยเยาว์ (อายุ ๐ - ๘๐ ปี) ไม่ใช่ว่าจะอยู่ใต้ร่มของแม่ ได้แสงแดดเพียงร้อยละ ๓ ตลอดทั้งปี มีช่วงเวลาก่อนฤดูใบไม้ผลิครึ่งเดือน และก่อนฤดูหนาวครึ่งเดือน ที่แม่ใบโกร๋น วันไหนมีแดด แดดจะส่องลงไปถึงชั้นล่างของพุ่มไม้ในป่า เป็นโอกาสให้ต้นไม้วัยเยาว์ได้มีโอกาสสังเคราะห์แสง

แต่แสดงแดดหมายถึงน้ำตาลและความหอมหวานที่กวางชอบอย่างยิ่ง ยอดไม้เหล่านี้จึงตกเป็นอาหาร ของกวางได้ง่าย ยอดใดสูงพ้นความสามารถของกวางก็รอดตัวไป ยอดใดโดนกวางกินโอกาสต่อสู้ในฝูง ต้นไม้วันเยาว์ที่จะเป็นต้นทดแทนเมื่อแม่ตายก็จะแทบกล่าวได้ว่าหมดสิ้น คือกวางเป็นตัวทำลายอนาคต ของต้นไม้วัยเยาว์ที่จะอยู่ไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์

กฎแห่งป่าที่ผมพิศวงยิ่งอีกอย่างหนึ่งคือต้นไม้ที่ล้มและตาย เป็นทรากต้นไม้นั้น ทำหน้าที่เป็น แหล่งอาหารหนึ่งในห้าของป่า คือต้นไม้ตายแต่ยังมีประโยชน์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในป่า มีประโยชน์ยิ่งกว่าโคควายในสุภาษิตโลกนิติ์ ที่ว่า

“โคควายวายชีพได้ เขาหนัง

เป็นสิ่งเป็นอันยัง อยู่ไซร้”

คือต้นไม้ตาย ทรากของเขายังทำประโยชน์แก่ป่าต่อไปอีกเป็นศตวรรษ รายละเอียดของประโยชน์ของทรากไม้ในป่าน่าพิศวงอย่างยิ่ง

อย่าลืมว่าทรากไม้เมื่อร้อยล้านปีก่อน กลับมาเอื้อประโยชน์ให้เรามีรถยนต์ขับ มีไฟฟ้าใช้ อยู่ในปัจจุบัน

ขอขอบคุณ รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้

วิจารณ์ พานิช

๔ มิถุนายน ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 629923เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2017 04:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2017 04:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

I am uneasy about this : "...กวางเป็นตัวทำลายอนาคต ของต้นไม้วัยเยาว์ที่จะอยู่ไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์ ..."

We may have failed to see that "pruning" and wastes left behind by grazing animals also encourage growth (of plants). The case of the famous 'Serengeti' Plain (ecosystem) in northern Africa shows that annual grazing and trampling by millions of migratory animals -that has been going on for millions of years, did less harm than 100 years of human interference (European settlement in Africa).

อย่าเพิ่ง ตกใจ.+.(ฝรั่ง ผู้วิจัยเรื่อง ป่า กล่าวว่า..เมื่อทำให้ต้นไม้เครียด..แทนที่เขาจะฟอก ออกซิเจน..กลับเพิ่ม คารบอน อันเป็นสาเหตุโลกร้อนประการหนึ่ง..ด้วย..

Prof Vicharn added explanations in reponse to my comment ("...กวางเป็นตัวทำลายอนาคต ของต้นไม้วัยเยาว์ที่จะอยู่ไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์...) above - as follows "...คุณ sr เอ่ยถึงกวางมีคุณต่อทุ่งหญ้า Serengeti ในอัฟริกา    และไม่สบายใจที่ผมเขียนว่ากวางมีส่วนทำให้ ต้นไม้วัยเยาว์ตาย    ซึ่งหนังสือเล่าละเอียดว่า จริงๆ แล้วกวาง และหมูป่ากินเมล็ดของพืชป่าหลายชนิด...กวางที่คันโคนเขาต้องการผลัดเขาจะมาใช้ลำต้น เป็นที่งัดให้เขาหลุด    การงัดนี้รุนแรงมากจนต้นไม้ต้นนั้นตาย    เป็นธรรมชาติของป่า..." (อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/631428). To which I also commented with my reason. In short, we need to investigate and understand "the truth" before we "hold something true" and act with that view or belief.

Please also note in my comment about "migratory" grazing animals in Serengeti. We can see the practice of moving cattle and sheep from paddock to paddock (to allow regrowth of grass in pafdocks) in the West (eg. Aus, NZ, USA).

In modern 'feed-lots' cattle and sheep are fed but kept in small areas. The animals will strip off all vegetation in the areas. A feed-lot is far from being a natural system.


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท