ชีวิตที่พอเพียง 2959. ชื่นชมการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องของโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก รับรู้ผ่านการไปร่วม RGJ Congress 18



วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ ผมไปร่วมงาน RGJ-Ph.D. Congress 18 ของ สกว.   ซึ่งปีนี้ใช้ชื่อจุดเน้นว่า “Global Sustainability : Lesson Learned from the Royal Projects”   และเป็นปีแรกที่จัดที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี    และเป็นปีแรกที่เน้นเป็นการประชุมแบบ (ที่เกือบจะ) paperless

ผมไปเห็นการริเริ่มสร้างสรรค์ต่อเนื่องของโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเศก (คปก.) ในสามเรื่องคือ (๑) คปก. อาเซียน + 6  (๒) คปก. เพื่อหน่วยงานของรัฐ  (๓) ทีมงานรุ่นหนุ่มสาวจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มาช่วยงาน สกว./คปก. ด้านการจัดการวิชาการ 

ผมได้รู้จักคำว่า “คปก. โลกาภิวัตน์” ว่าหมายถึง คปก. หลัก ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น 

การริเริ่มสร้างสรรค์ต่อเนื่องของ สกว. ที่ผมไปรับรู้และชื่นชมได้แก่

การประชุมนี้ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด  รวมทั้งพิธีเปิดด้วย    ท่านประธานในพิธีเปิด คือท่านรองนายกฯ พล อ.อ. ประจิม จั่นตอง ก็อ่านคำกล่าวเปิดเป็นภาษาอังกฤษ

ผมไปร่วมงานเฉพาะช่วงเช้าวันที่ ๘ มิถุนายน   ได้รับฟังการบรรยาย ๔ เรื่อง ที่แสนจะประเทืองปัญญา ได้แก่

 


การศึกษาเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย

โดย ศ. ธงทอง จันทรางศุ

ยกตัวอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙   ในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต    ไม่ใช่จบการศึกษา     พระราชดำริเรื่องสารานุกรมไทย ตามพระราชดำริ เพื่อให้คนในครอบครัวอ่านด้วยกัน    เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้ร่วมกันของคนต่างวัย

โครงการพระดาบส   ไม่ต้องมีความรกรุงรังของระบบราชการ    เพื่อเรียนรู้จาก “กูรู” เรื่องใดเรื่องหนึ่ง   ที่เป็นการฝึกปฏิบัติ  เช่นความรู้และทักษะในการซ่อมทีวี    เรียนฟรี ไม่เสียเงิน  จบแล้วเอามาใช้ทำมาหากินได้เลย    โครงการนี้ยังดำเนินการต่อเนื่องในปัจจุบัน  

การศึกษาของพระ

โครงการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา สถานีวังไกลกังวล หัวหิน 

การวิจัยและพัฒนา ฝนหลวง (มรว. เทพฤทธิ์ เทวกุล)    การวิจัย T-Eternal พัฒนาไบโอดีเซล ผลเบื้องต้นได้น้ำมันดีเซลในราคาแพง     แต่เมื่อวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง   ก็ให้ผลดี   เป็นตัวอย่างว่า การวิจัยต้องทำอย่างต่อเนื่อง พัฒนาไม่หยุดยั้ง    

   

ความหลากหลายทางชีวภาพ สุขภาพ และสังคม ในอุษาคเนย์

โดย Prof. Serge Morand, CNRS INEE – CIRAD ASTRE, France  และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (คณะวนศาสตร์) และมหาวิทยาลัยมหิดล (คณะเวชศาสตร์เขตร้อน)

ท่านผู้นี้เป็น evolutionary ecologist, health ecologist, conservation biologist และเป็นนักวิทยาศาสตร์ เชิงระบบอีกหลายอย่าง    ที่มาทำงานร่วมกับหลากหลายสถาบันในประเทศไทยอยู่สิบปีแล้ว    และทำร่วมกับอีก หลายประเทศในหลายทวีป   

ท่านชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพกับโรคไม่ติดเชื้อ เช่น โรคของระบบอิมมูน    และความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความหลากหลายของโรค    หากสูญเสียความหลากหลายเหล่านี้ โอกาสเกิดโรคระบาดจะมากขึ้น  

ข้อเสนอที่น่าตื่นตาตื่นใจมากคือ ในโลกนี้มี hotspot ด้านความหลากหลายของสปีชี่ส์ของสัตว์เลี้ยงลูก ด้วยนม ทั้งในน้ำและบนบก อยู่ ๓ พื้นที่  คืออเมริกาใต้ อัฟริกาส่วนใต้ทะเลทรายสะฮารา  และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้    แต่ที่เป็น hotspot ของการสูญพันธุ์มีพื้นที่เดียว คือ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้     โดยที่เมื่อมองด้านประวัติศาสตร์ของนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงให้เป็นสัตว์เลี้ยง (domestication)    พื้นที่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างสัตว์เลี้ยงมากชนิดที่สุด      

 

จีโนมของบุคคลเพื่อการดูแลสุขภาพ

โดย ศ. นพ. วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์  คณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ท่านชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว การแพทย์ยุคใหม่ ที่เรียกว่า personalized medicine ก็คือการแพทย์ที่ใช้ข้อมูล ที่มีความจำเพาะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย คือข้อมูลจีโนมของบุคคลนั่นเอง    ข้อมูลนี้เวลานี้ตรวจได้ในราคาถูกลงมาก นับร้อยเท่า    คือการตรวจ genome sequence ของ exome ซึ่งมีขนาดร้อยละ ๒ ของจีโนมทั้งหมดของมนุษย์ จ่ายเพียงประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท    ซึ่งจะช่วยให้พลังความจำเพาะในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และรักษาโรคเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

ที่น่าชื่นชมคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงทุน ๑๐๐ ล้านบาทเพื่อหนุนผู้มีความสามารถสูงเยี่ยมท่านนี้ ให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานนี้ให้แก่บ้านเมือง    

 

คะตะไลซิส เพื่ออินทรียสังเคราะห์

โดย Prof. Albrecht Berkessel, U of Cologne, Germany

ศาสตราจารย์นักเคมีท่านนี้มีความเป็นครูสูงมาก สามารถอธิบายเรื่องยากและซับซ้อนให้เข้าใจง่าย    ให้ได้เข้าใจความหมายของ catalyst    ที่เป็นหัวใจของอินทรียสังเคราะห์ (organic synthesis)   และถือเป็น green chemistry   แต่ในตอนท้ายๆ ของเวลาครึ่งชั่วโมง เมื่อเรื่องมันเคมีจ๋าสุดๆ    ผมก็จากมา

เป็นช่วงสองชั่วโมงเศษ ที่แสนจะประเทืองปัญญา



วิจารณ์ พานิช

๘ มิ.ย. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 631043เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2017 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2017 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

May I ask if there are 'social media' releases (videos, notes, slides,...) of the content of presentations in the conference?

Perhaps TEDtalks can be invited to join/observe the conference.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท