ชีวิตที่พอเพียง 2958. ทศวรรษ R2R พัฒนาคนสู่สังคม 4.0



ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ครั้งที่ ๑๐ มีการจัดทำวารสารสุขศาลา ใน theme : R2R พัฒนาคนสู่สังคม 4.0    และทีมงานขอให้ผมเขียนความเห็นเพื่อตอบ ๓ คำถาม ดังนี้

  • ท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มีความคิดเห็นว่า เรื่อง  “KM ที่จะนำให้เกิดการพัฒนาคน องค์กร ที่ไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 " ควรเป็นอย่างไร 
  • ท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มีความคิดเห็นว่า “ความสำคัญของการพัฒนางาน และพัฒนาคน ให้สอดคล้องในยุค Thailand 4.0” ควรเป็นอย่างไร
  • ท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มีความคิดเห็นว่า “KM 4.0 จะปรับตัว เปลี่ยนบทบาทไปอย่างไร”

ผมจึงเขียนบทความสั้นๆ ให้    จึงขอนำมา ลปรร. ดังต่อไปนี้

 

ทศวรรษ R2R พัฒนาคนสู่สังคม 4.0[*]

 

วิจารณ์ พานิช

................

 

 

สังคม 4.0  ต้องการพลเมือง 4.0   และ R2R คือเครื่องมืออย่างหนึ่งของการสร้างพลเมือง 4.0 สู่สังคม 4.0    โดยผมตีความว่า สังคม 4.0 หมายถึงสังคมที่การดำรงชีพและการทำมาหากินของผู้คนและองค์กร/สังคม เน้นที่การสร้างสรรค์นวัตกรรม    พลเมือง 4.0 จึงหมายถึงประชาชน/พลเมืองที่มีสมรรถนะในการสร้างสรรค์ นวัตกรรม    ซึ่งจะต้องมีวัฒนธรรมของความร่วมมือ มีจินตนาการ และมีความมุ่งมั่นอดทนมานะพยายาม ดำเนินการสิ่งใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จ 


โดยที่ R2R คือกระบวนการใช้งานประจำเป็นบ่อเกิดของการสร้างสรรค์ความรู้ หรือการวิจัยหรือนวัตกรรม    ดังนั้น R2R จึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับสร้างพลเมือง 4.0  กว่าสิบปีมาแล้ว เมื่อเริ่มกิจกรรมส่งเสริมให้คนหน้างานหาทางหัฒนาคุณภาพงานของตน และเก็บข้อมูลประมวลเป็นผลงานวิจัย    ทีมจัดการ R2R ของศิริราชทำงานไม่ออก    เพราะเมื่อไปชักชวน คนหน้างานทำงานวิจัยจากงานประจำ     คำว่า “วิจัย” เป็นยาขมของคนทั่วไป    จึงไม่มีคนสนใจเข้าร่วม    แต่เมื่อทีมจัดการงานวิจัยใช้กลยุทธไปหาคนในศิริราชที่มีผลงานวิจัย จากงานประจำของตนมาเล่าเรื่องราว ความคิดและความสำเร็จของตน    ผู้ได้รับฟังก็ประจักษ์ว่า การตั้งคำถามต่องานประจำของตนเอง เพื่อหาทางพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ หรือเป็นที่พึงพอใจของคนไข้หรือผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น  ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด    กลยุทธดังกล่าวเรียกว่า “การจัดการความรู้” (KM – Knowledge Management)  


R2R กับ KM จึงเป็นของคู่กัน   ส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน 


ไม่ว่าศาสตร์ หรือเทคโนโลยีใด ต่างก็มีวิวัฒนาการก้าวหน้าไม่หยุดยั้งทั้งสิ้น    เพื่อให้มีพลังยิ่งขึ้น ใช้ได้ผลยิ่งขึ้น    KM ก็เช่นเดียวกัน    ในขณะนี้ สคส. (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) กำลังดำเนินการขับเคลื่อน KM ประเทศไทย ให้เป็น KM 4.0    ซึ่งหมายความว่า เป็น KM ที่มีการจัดการ เชิงระบบภายในองค์กร  ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ    และมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน สู่เป้าหมายการประยุกต์ใช้ ทั่วทั้งองค์กร หรือเกือบทั้งองค์กร    หวังผลที่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงาน ที่สำคัญอย่างน้อย ๑๐ ประการคือ (๑) เปิดรับการเปลี่ยนแปลงหรือความรู้ใหม่ๆ  ไม่ใช่แก้ตัวว่าที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว  ปัญหาอยู่ที่อื่น ไม่ใช่ตนเอง  (๒) มีความซื่อตรงต่อผลงานที่เกิดขึ้น  ไม่ใช่รายงานผลหลอกๆ ตามที่ผู้บริหารระดับสูงต้องการ  (๓) มั่นใจว่าการเริ่มพัฒนางานของตนจะได้รับการสนับสนุน ไม่ใช่อ้างว่าที่ไม่ทำเพราะไม่ได้รับการสนับสนุน  (๔) เป็น “ผู้เรียน” มากกว่าเป็น “ผู้รู้”  (๕) ต้องการแชร์ มากกว่า ต้องการปกปิดความรู้  (๖) ตั้งคำถามมากกว่า ยอมรับมาตรการต่างๆ อย่างเชื่องๆ  (๗) ร่วมมือ มากกว่า แข่งขัน   (๘) จดจำเรื่องราวจากการทำงาน ไม่ใช่ลืมหมด  เพื่อจะได้นำข้อเรียนรู้จากหน้างานสู่การสร้างสรรค์และนวัตกรรม  (๙) อดทนมานะพยายามทำงานเชิงกลยุทธ เพื่อผลระยะยาว   ไม่ใช่มุ่งผลงานระยะสั้นเป็นหลัก และ (๑๐) มุ่งผลงานที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ไม่ใช่พอใจอยู่กับ สภาพปัจจุบัน  


KM 4.0 จึงต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมายชัดเจน และมีการเลือกหรือกำหนดลำดับความสำคัญ ของเป้าหมาย   อันจะนำไปสู่การกำหนดความรู้ที่มีความสำคัญยิ่งยวด (critical knowledge) ในการบรรลุ เป้าหมายนั้น    และมีการ “จัดการ” ความรู้นั้นเป็นวงจรยกระดับหลายๆ รอบ    เพื่อยกระดับทั้งผลงานและความรู้


จะเห็นว่า ทั้ง R2R และ KM 4.0 มองในมุมหนึ่ง เป็นเครื่องมือพัฒนา พลเมือง 4.0   อันเป็นพลังสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อน ประเทศไทย 4.0   


โจทย์ใหญ่คือการนำ R2R และ KM 4.0 ไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน และอย่างมียุทธศาสตร์


……………..



หมายเลขบันทึก: 631016เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2017 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2017 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

I think the list given in "...การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงาน ที่สำคัญอย่างน้อย ๑๐ ประการ..." is lacking in addressing 'corruption issues'. Tea money (ค่าน้ำร้อน น้ำชา) is very well-known overseas - many (most) tourism websites promoting Thailand also demoting Thailand's reputation and quality of public servants. Social responsibility against corruption should be included in the list.

กราบขอบพระคุณกับบันทึกดีดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท