บันทึกการเดินทาง Japan Spring 2017: Uji อูจิ ได้รู้จักแล้วจะรักเธอ/ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยุคเฮอันผ่าน The Tale of Genji


การเยือนอูจิครั้งแรกนี้ผู้เขียนไม่ได้ศึกษาข้อมูลมากมายนักเกี่ยวกับThe Tale of Genji แต่พอกลับมาและลงมือเขียนบล็อก เลยตั้งใจว่าจะหาข้อมูลอีกสักนิดเพื่อเพิ่มรสชาติในการรู้จักนิยายเรื่องนี้ เพราะมีอะไรเกี่ยวกับนิยายนี้กระจายอยู่ทั่วเมือง จึงพบเรื่องราวที่น่าทึ่งมากมายทั้งของ Lady Murasaki Shikibu ซึ่งเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของจักรพรรดินี/วิธีการเขียน-เนื้อหา/ โลกทัศน์ ชีวิตของคนในสมัยเฮอัน และวัฒนธรรมยุคเฮอันที่แสนติดสุข ล่องลอยในการปรุงแต่งหลักศาสนาพุทธให้รองรับการกระทำของตนอย่างเหลือเชื่อว่าคิดเช่นนั้นได้อย่างไร และ ชาย-หญิงสนใจรูปลักษณ์ภายนอกตั้งแต่ทรงผม ผิวพรรณ การแต่งกาย มากกว่าจริยธรรม

แม้จะได้รับการกล่าวขานว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีและศิลปะ มรดกวัฒนธรรมที่หลงเหลือมาวันนี้ คือ วรรณกรรม บทกลอนมากมาย รูปแบบพิธีกรรมราชสำนัก และการแต่งกายของสตรีในยุคนั้นที่ยังทำให้คนยุคหลังจนทุกวันนี้ตื่นตะลึงในศิลปะการแต่งกาย การดูแลรูปลักษณ์ ในที่สุดไม่นานนักยุคเฮอันก็สิ้นสุดลง

บันทึกนี้จึงขอนำข้อมูลที่น่าสนใจของ The Tale of Genji และวัฒนธรรมยุคเฮอันมาบางส่วนมาเล่าสู่กัน และจะเตรียมไว้สำหรับพากัลยาณมิตรที่ชอบเที่ยวญี่ปู่นเช่นกันไปเยือนอูจิอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสีปลายปี2017นี้ด้วยค่ะ โดยตั้งใจจะเข้าชม The Tale of Genji Museum ซึ่งทริปที่ผ่านมาผู้เขียนไม่ได้เข้าชม

 

 

The Tale of Genji Museum

By 663highland - 663highland, CC BY 2.5, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=12277750

 

 

รูปปั้น Lady Murasaki Shikibu

ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับว่านิยายนี้เขียนไว้เมื่อไร คนเขียนจริงๆชื่ออะไร ไม่มีข้อมูลยืนยันเลยค่ะ คนยุคหลังจึงได้แต่พยายามตีความ

อย่างชื่อผู้ประพันธ์ Murasaki ที่จริงเป็นคำที่ใช้เรียกสตรีที่เป็นนางข้าหลวงทุกคนในราชสำนัก และ Shikibu เป็นตำแหน่งของบิดาเธอ เขาว่าคนสมัยเฮอันจะไม่มีการเรียกชื่อตรงๆเพราะไม่สุภาพ

Murasaki เป็นลูกสาวขุนนางระดับกลางๆที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากนัก แต่ก็เป็นตระกูล Fujiwara นะคะ (คงยังจำได้ว่าอำนาจในการปกครองบ้านเมือง แท้จริงอยู่ในมือของตระกูลนี้) นางได้รับการศึกษาอย่างดี จึงสามารถประพันธ์ The Tale of Genji ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีใครเขียนอะไรแบบนิยายเลย นางจึงมีชื่อเสียง เมื่อสามีเสียชีวิตเลยทำให้ได้เข้าไปเป็นนางสนองพระโอษฐ์ด้วยความสามารถในการประพันธ์เรื่องและการเขียนโคลงกลอนที่ปรากฏในนิยายรักเกนจิ

กว่าที่จะมีการแกะภาษาที่ใช้เขียนซึ่งเป็นภาษาที่ผู้หญิงในราชสำนักใช้เขียน ให้อ่านออกได้และนำมาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นธรรมดาก็ข้ามไปอีกศตวรรษเลยล่ะค่ะ

อักษรที่ใช้เขียนนิยายรักเกนจิ คือแบบ Kana /Hiragana ถูกเรียกว่า "women's writing" แพร่หลายอยู่เฉพาะในราชสำนัก ในชนชั้นสูง ที่เอาไว้เขียนกลอน เขียนจดหมายรักจีบกัน คำศัพท์ สำนวนคำพูด จึงเป็นแบบโบราณที่คนยุคหลังไม่เข้าใจ จึงเป็นอุปสรรคของการแปลนั่นเอง (ผู้ชายจะเขียนด้วยอักษรแบบ Kanji ซึ่งรับมาจากจีน)

Determined, 600 Scenes of Genji, Scene 566, 2008 Acrylic & Gouache on Paper over Wood 27.5″ x 35.5″

http://bookriot.com/2014/12/18/cool-bookish-things-agameishis-illustrations-tale-genji/

 ในภาพเขียนจะเห็นลักษณะของอักษรแบบ Kana ที่ Murasaki Shikibu ใช้ในการเขียนนิยายรักเกนจิ

ถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีตัวอักษรหลายแบบ น่าพิศวง งงงวยค่ะ


พวกฝรั่ง ต่างชาติ ที่ศึกษาประวัติศาสตร์/วัฒนธรรมญี่ปุ่น ก็ให้ความสนใจนำเรื่องราว The Tale of Genji ไปแปลกันหลายคน

การเขียนนิยายยาวขนาดร่วม 1300 หน้านี้ มีตัวละครราวสี่ร้อยคน เป็นเรื่องราวครอบคลุมคนถึง 3 รุ่น แล้วไม่เรียกชื่อตรงๆ แต่จะเอ่ยถึงตำแหน่ง หรือลักษณะพิเศษ ทำให้คนแปลและคนที่สนใจศึกษานิยายรักเกนจิพากันมึนอย่างยิ่งค่ะ

ยกตัวอย่าง เช่น ตัวเอก Genji ซึ่งเป็นโอรสของจักรพรรดิที่เกิดกับนางสนมที่ไม่มีพวกในวัง ไม่มีอำนาจอะไรนั้น จึงถูกทำให้เป็นสามัญชนเพราะเรื่องของอำนาจและให้เกิดความปลอดภัย ชื่อ Genji แปลว่า คนธรรมดา-สามัญชน  ชื่อเต็มคือ Hikaru Genji คำแปลชื่อ ของพระเอกนี้คือ The Shining Prince

พอปรับฐานะให้เป็นสามัญชน เกนจิก็ยังคงอยู่ในวังหลวงที่เกียวโต มีวีรกรรมรักมากมาย

ผู้เขียนอ่านเรื่องย่อที่มีคนแปลเป็นภาษาอังกฤษค่ะ


รูปโฉมของเกนจิที่มีฉายาว่า The Shining Prince ถูกบรรยายไว้ว่า ได้ชื่อนี้เพราะหล่อเหลาแบบไม่ธรรมดา ขนาดว่าเอามาเทียบกับสตรีแสนสวยเขาว่าทำเอาสตรีนั้นยังถูกรัศมีความหล่องามของเจ้าชายองค์นี้บังให้หมองไปเลยค่ะ อาจเรียกว่าเป็น ผู้ชายสวยได้มังคะ ผิวขาวผ่อง แต่งกายหรูหราสุดมีรสนิยม ตัวหอมกรุ่น เก่งในศิลปะวิทยาแบบเจ้าคือ ยิงธนู แต่งโคลงกลอนไพเราะ ลายมือสวย ท่าทางโอ่อ่ามีเสน่ห์(สมเป็นเจ้าชาย) แต่เป็นชายแท้ๆที่แสนเจ้าชู้ โรแมนติก อันเป็นลักษณะของผู้ชายในระดับชนชั้นสูงทั่วไปในยุคเฮอันที่มากรัก แม้มีภรรยาแล้วก็ยังมีหญิงอื่นอีกมากมายเป็นเรื่องธรรมดา

 

 ส่วนหนึ่งของเรื่องราวนิยายรักเกนจิ  ที่อยู่ใน 10 บทสุดท้าย (Uji Chapters)ซึ่งมีอูจิเป็นฉากของเรื่องราว 

(บทที่ 1-43 ฉากเรื่องราวเกิดใน เกียวโต  และ บทที่ 44-54 ฉากของเรื่องราวเกิดที่เมืองอูจิ  )

ภาพวาดบนฉากกั้นห้อง สมบัติของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Metropolitan Museum of Art, New York

 http://www.metmuseum.org/toah/works-of-art/55.94.1,2/

ในภาพเจ้าชาย Niou หลานชายของเกนจิลักพาตัว เจ้าหญิง Ukifune ซึง Ukifune แปลความได้ว่า นางที่ลอยไปกับน้ำ เพราะเกิดรักสามเส้าระหว่าง Kaoru ลูกชายของเกนจิ กับ Niou ผู้เป็นหลานของเกนจิ (Niou แปลว่าตัวหอมฟุ้งอะไรประมาณนั้น เพราะเป็นลักษณะของเจ้าชายองค์นี้ไปที่ไหนหอมเป็นเอกลักษณ์ หญิงจำได้หมดค่ะ)

 Niou และ Kaoru สองคนเป็นเพื่อนกัน Ukifune สับสนตัดสินใจไม่ได้ และในส่วนลึกของหัวใจก็รู้ว่า Kaoru ซึ่งมาจีบนางก่อนนั้นมีค่ามากกว่าเจ้าชาย Niou นางเลยกระโดดแม่น้ำอูจิฆ่าตัวตาย แต่ไม่ตาย ภายหลังได้บวชชีและตัดขาดกับทุกคนอย่างสิ้นเชิง

รูปปั้นหนุ่มสาวนั่งที่ริมแม่น้ำอูจิเชิงสะพานสีแดง เป็นการจำลองฉากเดียวกับภาพวาดข้างบนค่ะ

 

นิทรรศการในThe Tale of Genji Museum

 image © Michael Lambe        http://www.insidekyoto.com/a-trip-to-uji

 ท่านผู้อ่านดูทั้งรูปปั้น ภาพวาด และภาพจากนิทรรศการเห็นรูปลักษณ์และการแต่งกายแล้วคงสังเกตเห็นได้ว่า ในยุคเฮอัน ผู้ชายหน้าขาว ผู้หญิงก็หน้าขาว เพราะแฟชั่นคือผัดแป้งจนหน้าขาวผ่องค่ะ ประวัติศาสตร์ยังบอกอีกว่าแฟชั่นไว้ฟันดำนิยมกันทั้งหญิงและชาย

 ผู้หญิงจะทาปากแดงให้เล็กกว่ารูปปากตัวเองอีก ขนคิ้วถูกถอนหรือโกนออก แล้วไปเขียนคิ้วบนหน้าผาก ให้สูงกว่าตำแหน่งเดิม และผมต้องดำ เงางาม ไว้ตรงยาวสลวย

 ขนาดว่ายุคนั้นผู้หญิงก็จะอยู่แต่ในกลุ่มผู้หญิง ใช่ว่าจะพบปะผู้ชายพูดคุยมองตากันได้นะคะ แต่นางจะต้องแต่งตัวสวยงามอลังการให้ถูกต้องตามเดือน-ฤดูกาล และการเลือกสีสันก็ต้องมีรสนิยม ชุดที่ใส่เป็นไหมซ้อนๆกันหลายชั้น มากได้ถึง 12 ชั้น เป็นการแต่งกิโมโนที่มีรูปแบบ หากแต่งกันเต็มที่สามารถหนักถึง 20 กิโลกรัมนะคะ ปัจจุบันในงานพิธีการหรือราชพิธีก็มักเป็นการแต่งกายตามสไตล์ยุคเฮอันนี้ค่ะ

ในยุคเฮอันผู้ชายจะเห็นผู้หญิงได้แบบมีฉากกั้นเท่านั้น ดังนั้นชุดของนางจะโผล่แค่ส่วนแขนให้เห็น จึงต้องแสดงให้เต็มที่ค่ะว่าเป็นสตรีที่ได้รับการอบรมมาดีมีความรู้ มีรสนิยมดี เลือกสีสันของกิโมโนในแต่ละชั้นให้ประกอบกันได้เหมาะเจาะ และยังต้องมีความสามารถแต่งโคลงกลอนไว้โต้ตอบจดหมายรักได้ ลายมือต้องเขียนได้สวยงาม


http://www.faterising.com/blog-2/files/tag-japanese-heian-clothing.html

การแต่งกายแบบสตรีราชสำนักในยุคเฮอัน แต่ในภาพเธอไม่ได้ผัดหน้าขาววอก โกนคิ้ว เขียนใหม่ให้คิ้วอยู่สูง ทาปากสีแดงให้เล็ก ให้งามแบบคนยุคนั้น หากทำมาครบเต็มรูปแบบอาจจะน่าตกใจมากกว่าน่าชมสำหรับคนยุคเรานะคะ

คติของคนยุคนั้นคือ ความสวยงาม ทั้งรูปร่างหน้าตาและการแต่งกายนั้นสำคัญมาก เพราะจะบ่งบอกว่าเป็นคนทำบุญมาดีในชาติก่อน กรรมดีจึงส่งให้เกิดมาหล่อ มาสวย บวกกับการอยู่ในฐานะสูง แต่งกายหรูหรา เป็นสิ่งบ่งชัดแสดงความเป็นคนดี

คนดี = คนสวย แต่งกายดี  = คนมีบุญ = คนชั้นสูง  = ทำอะไรก็ถูกหมด   

ความเชื่อเช่นนี้นำไปสู่ความเสื่อมอย่างยิ่ง

 

ญี่ปุ่นได้อนุรักษ์และส่งเสริมให้ทุกคนญี่ปุ่นได้รู้จัก The Tale of Genji โดยการหยิบยกนิยายรักเกนจิขึ้นมาเป็นหัวข้อต่างๆอย่างเช่น นิยาย ภาพยนตร์ การ์ตูน และ ละครเวทีพวกคาบูกิ รวมทั้งละครโทรทัศน์อยู่เสมอ

http://www.nytimes.com/2009/01/04/travel/04footsteps.html

ภาพจากบทความ  Kyoto Celebrates a 1,000-Year Love Affair ของ MICHELLE GREEN จากเว็บไซท์ของ The New York Times  ปี 2008เป็นการจัดงานฉลองครบรอบ 1000 ปี The Tale of Genji กันทั่วประเทศ 

ภาพที่นำมาให้ชมเป็นงานที่ เกียวโต ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงในยุคเฮอัน และยังเป็นบ้านเกิดของ Lady Murasaki Shikibu ผู้ประพันธ์อีกด้วย

ดูหนัง ดูละคร + อ่านนิยาย แล้วจะให้เกิดประโยชน์ก็ต้องย้อนกลับมามองตนเอง และสังคมนะคะ

ในยุคเฮอันที่ชีวิตในวังและชนชั้นสูงอันแสนหรูหราฟู่ฟ่า แต่ไร้แก่นสารและประโยชน์สุขเพื่อคนส่วนใหญ่ นับว่าเป็นความอ่อนแอ บ้านเมืองจึงค่อยๆดำเนินสู่ความเสื่อมจนสิ้นยุค


นิยายรักเกนจินี้มีผู้ที่สนใจในวรรณกรรมหลายคนได้พยายามศึกษา ทำความเข้าใจ วิเคราะห์และตีความ แปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษ มีหนังสือมากมายที่แปลหรือเขียนถึงนิยายรักเกนจิ 

ผู้เขียนตั้งใจว่า ครั้งหน้าเมื่อมีโอกาสไปอูจิอีก จะต้องเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ข้อมูลบอกว่าการจัดแสดงทำได้ดี น่าสนใจมาก ได้ไปชมแล้วจะนำกลับมาเล่านะคะ


หมายเลขบันทึก: 630886เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2017 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2017 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นิยาย..รัก..มีไว้..ประโลมโลก..จริงๆนะเจ้าคะ....นิยายรัก.ที่มี.ในทีวีบ้านเรา..ก็คงคล้ายๆกันกับ..เมื่อ หลายพันปีที่แล้วมา...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท