ชีวิตที่พอเพียง : 2955a. ความหมายของไม้ยืนต้น : (๗) เด็กข้างถนน


ต้นไม้ที่เป็น “เด็กในป่า” มีชีวิตแบบแร้นแค้น ทั้งแสงแดด น้ำ และอาหาร อยู่เป็นเวลา ๖๐ - ๘๐ ปี รอดชีวิตมาได้เพราะ “แม่” ช่วยส่งอาหารให้ทางราก ผ่านสายใยเชื้อรา ชีวิตแร้นแค้นยามเด็ก ทำให้ลำต้นแกร่ง และติดนิสัยประหยัด หากรอดชีวิตโตขึ้นเป็นไม้ใหญ่ได้ ก็จะอายุยืน เพราะสั่งสมความเข้มแข็งมาตั้งแต่เด็ก

ชีวิตที่พอเพียง : 2955a. ความหมายของไม้ยืนต้น  : (๗) เด็กข้างถนน

บันทึกตอนนี้ ตีความจากหนังสือ The Hidden Life of Trees บทที่ 27 Street Kids   เล่าเรื่องต้นสน redwood ในยุโรป    ที่อายุ ๑๕๐ ปีแล้ว ความสูงเพียงแค่ ๑๖๐ ฟุต     ในขณะที่ในป่าที่เป็นต้นกำเนิด ที่แคลิฟอร์เนีย ต้น Redwood อายุเท่าๆ กันจะสูงสองเท่านี้     ทำไม?

Peter Wohlleben ผู้เขียนหนังสืออธิบายว่า เป็นเพราะต้น redwood ในยุโรปเป็น “เด็กข้างถนน”   ไม่มีพ่อไม่มีแม่ ไร้ญาติขาดมิตร    คือไม่ได้เติบโตในป่า แต่ปลูกอยู่ในสวนสาธารณะโดยราชวงศ์หรือนักการเมือง    การไม่ได้เติบโตในป่า  ขาดการฟูมฟักจากแม่และญาติพี่น้องทำให้ redwood ไม่สูง     แต่โตออกด้านข้าง คือลำต้นใหญ่    เส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๘ ฟุต   

เขาอธิบายรายละเอียดของการฟูมฟักจากแม่และญาติพี่น้องละเอียดมาก    โดยเฉพาะการแบ่งปันอาหาร ทางรากผ่านเส้นใยของเชื้อราที่เล่าแล้วในตอนที่ ๑    รวมทั้งการที่ในป่ามีระบบนิเวศน์ของป่าช่วยฝึกความเข้มแข็ง ปูพื้นฐานสู่การมีชีวิตได้ถึง ๔ - ๕ ศตวรรษ    ทนพายุฤดูหนาว  ทนความแห้งแล้ง  และทนต่อการเบียดเบียน จากแมลง  เชื้อรา  แบกทีเรีย  และไวรัส   และในบางกรณี จากไม้ปรสิต

คำอธิบายที่ละเอียดสะกิดใจผมคือ การที่  redwood อยู่ในสวนสาธารณะ จึงมีคนเดินมาชมที่ โคนต้นบ่อยๆ    ทำให้ดินที่โคนต้นแน่นกว่าดินในป่า     เมื่อฝนตกลงมา น้ำจะซึมลงไปเก็บไว้ที่โคนต้นได้น้อยกว่า    ทำให้ต้นไม้ขาดน้ำในฤดูร้อน  

ที่ร้ายที่สุดคือสภาพในเรือนเพาะชำ ที่ดูแลต้นกล้า redwood อยู่หลายปี    มีการตกแต่งรากอยู่เสมอ เพื่อให้ย้ายไปปลูกได้ง่าย    ในสภาพธรรมชาติ ต้น redwood สูง ๑๐ ฟุต จะมีรากแผ่กว้าง ๒๐ ฟุต    แต่ในเรือนเพาะชำ รากของต้น redwood จะถูกตัดให้เหลือเพียง ๒๐ นิ้ว     จนในที่สุดเมื่อนำไปปลูก สภาพของรากจะไม่ชอนไชลงลึก จะอยู่ตื้นๆ ไม่เกิน ๒๐ นิ้วเท่านั้น    ทำให้หาน้ำได้ไม่เก่ง     เป็นสาเหตุให้ไม่สูง    โดยที่การตัดแต่งราก เท่ากับเป็นการทำลายระบบ “สมอง” ของพืช    ทำให้พืชขาดความสามารถด้านการรู้ทิศทาง  

แต่มองอีกมุมหนึ่ง คือมุมของมนุษย์    ต้นไม้ในเรือนเพาะชำ และต่อมาในสวนสาธารณะเหล่านี้คือ  “คุณหนู” นะครับ    ได้รับการดูแลประคบประหงมอย่างดี    ได้แดดได้น้ำได้ปุ๋ยอย่างดี    ไม่ต้องแข่งขันกับพี่ๆ น้องๆ อย่างในป่า    ซึ่งมีผลทำให้ต้นไม้ ไม่แกร่งเหมือนอยู่ในป่า     

ผมอ่านหน้า ๑๗๒ ไปเถียงท่านผู้เขียนไป    ว่าการที่ต้น redwood ในสวนสาธารณะในยุโรปประพฤติตน เช่นนั้น ก็เพราะเขาทำตามสัญชาตญาณหรือธรรมชาติของต้นไม้    ในสภาพที่แดดดีดินดีน้ำดี เขาย่อมโตเร็ว และลำต้นโพรก คือเนื้อไม้ไม่แน่นและมีกระเปาะอากาศแทรกอยู่    และไม่ต้องแย่งกันโตแบบทลึ่งขึ้นที่สูง เพราะไม่ต้องแย่งแสงแดดกับใคร    รวมทั้งมีแดดทุกทิศทาง ทำให้กิ่งล่างๆ ได้แดดและมีขนาดโต    รูปทรงพุ่มจึงเปลี่ยนไปจากต้น redwood ในป่าเนวาดา ของแคลิฟอร์เนีย    จากทรงพุ่มสูงชลูด เป็นเตี้ยล่ำ      

เพราะรากไม่แข็งแรง จึงมีผลสองอย่าง คือ (๑) ลำต้นไม่สูงมาก  (๒) ไม่ทนพายุ ล้มง่าย    แต่ต้น redwood ก็มีดีตรงที่มีสารต่อต้านเชื้อราโดยธรรมชาติอยู่ในเนื้อไม้    ดังนั้นลำต้นที่ไม่แข็งแรงก็จะยังทนยืนอยู่ได้อีก หลายสิบปี หลังจากอายุครบศตวรรษ   แม้จะมีรอยโรคเกิดขึ้นที่เปลือก      

ในฐานะนักท่องเที่ยวชมสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์    ผมจึงตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ เมื่อผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า กระบวนการที่เรียกว่า pruning ให้แก่ไม้ยืนต้นที่มีธรรมชาติเป็นไม้ป่านั้น    เป้าหมายสำคัญคือช่วยให้สวนและพุ่มไม้ดูสวยงามในสายตามนุษย์    แต่เป็นการทำร้ายต้นไม้    เพราะเมื่อต้นไม้มีกิ่งและใบสำหรับสังเคราะห์แสงจำกัด   อาหารสำหรับเลี้ยงระบบรากก็ขาดแคลน    รวมทั้งเชื้อราเข้าไปทางรอยแผลที่ตัด    เขาบอกว่าการทายากันราที่รอยแผลเป็นการซ้ำเติมต้นไม้    คือทำให้น้ำระเหยออกไปทางรอยตัดไม่ได้   จึงขังอยู่ในลำต้น ให้ความชุ่มชื้นแก่เชื้อรา    ช่วยให้เชื้อราที่เข้าไปกินลำต้น (หรือกิ่ง) เติบโตได้ดี 

คำว่า “เด็กข้างถนน” มีอีกความหมายหนึ่ง    เป็นเด็กข้างถนนจริงๆ คือต้นไม้ป่าที่ปลูกริมถนน    เป็นการเอาต้นไม้มาทรมานในที่ที่ไม่เหมาะกับธรรมชาติของเขา    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุมากขึ้น ก็จะพบสภาพที่มีข้อจำกัดต่อระบบราก    เพราะเมื่อรากเติบโตขยายตัว ก็จะไปพบดินอัดแน่นเพื่อทำถนน    

มาถึงสภาพที่ปลูกต้นไม้ในพื้นที่จำกัด    เช่นในท่อเพื่อบังคับให้รากหยั่งลึก และมีการให้ปุ๋ยให้น้ำ ได้เต็มที่    สภาพเช่นนี้เป็นการฝึกต้นไม้เด็กๆ ให้คุ้นกับชีวิตที่อุดมสมบูรณ์   มีการเติบโตสร้างเนื้อไม้อย่างรวดเร็ว แต่เนื้อไม้ไม่แน่น มีกระเปาะอากาศ    เมื่อโตขึ้น ชีวิตยากลำบากขึ้น เพราะระบบรากไม่แข็งแรง และโดนมนุษย์ ตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่ม   เมื่อเชื้อราเข้าไปในเนื้อไม้จะเจริญเติบโตทำลายต้นไม้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะเนื้อไม้ไม่แน่น และมีอากาศช่วยการดำรงชีวิตของเชื้อรา

ภูมิอากาศในเมือง ที่ “เด็กข้างถนน” ดำรงชีวิตอยู่ เป็นสภาพที่แสนจะไม่เอื้อให้ต้นไม้มีความสุข    เขายกตัวอย่างการที่สุนัขถ่ายปัสสาวะรดโคนต้นไม้  (ที่ผมเคยคิดว่าเป็นปุ๋ย เพราะมียูเรีย) นั้น เป็นการทำร้ายต้นไม้ เพราะปัสสาวะอาจมีฤทธิ์ไหม้เปลือกและทำให้รากตาย     อีกอย่างหนึ่งคือพิษจากเกลือ ที่ใช้หว่านถนนละลายหิมะ   เมื่อรถวิ่ง เกลือจะถูกเหวี่ยงขึ้นไปในอากาศและไปโดน “เด็กข้างถนน”  และทำร้ายต้นไม้    เขาบอกให้สังเกตรอยไหม้ที่ใบไม้ที่เกิดจากเกลือ  

เพราะภูมิอากาศในเมืองอบอุ่นกว่าในป่า แมลงที่อาศัยพืชเฉพาะชนิดเป็นอาหารจึงนิยมมาอยู่กับ “เด็กข้างถนน”     เขายกตัวอย่างแมลง oak processionary ที่นิยมไปไข่บนต้นโอ๊กที่เป็น “เด็กข้างถนน”     พอโตเป็นหนอนก็พากันเดินแถวลงมาที่โคนต้น   ใครโดนขนของมันเข้าก็เป็นพิษผื่นคัน      

ต้นไม้ที่เป็น “เด็กในป่า” มีชีวิตแบบแร้นแค้น ทั้งแสงแดด น้ำ และอาหาร อยู่เป็นเวลา ๖๐ - ๘๐ ปี   รอดชีวิตมาได้เพราะ “แม่” ช่วยส่งอาหารให้ทางราก ผ่านสายใยเชื้อรา     ชีวิตแร้นแค้นยามเด็ก ทำให้ลำต้นแกร่ง   และติดนิสัยประหยัด   หากรอดชีวิตโตขึ้นเป็นไม้ใหญ่ได้ ก็จะอายุยืน    เพราะสั่งสมความเข้มแข็งมาตั้งแต่เด็ก    ทำให้ผมอดนึกถึงชีวิตของตนเองไม่ได้    ที่ชีวิตช่วงต้น ๑๕ ปี ในฐานะเด็กบ้านนอก ได้ช่วยสั่งสมความเข้มแข็ง ให้แก่ตนเอง     จนสามารถมีชีวิตที่ดีได้ถึงขนาดนี้

ขอขอบคุณ รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้

เพิ่มเติม ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐

    เช้าวันนี้ ไปพบเหตุการณ์ต้นหูกวางล้มทับรถตู้ ที่ข้างโรงอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล    จึงถ่ายรูปมาให้ดู ว่า "เด็กข้างถนน" มีระบบรากที่อ่อนแอเพียงใด

วิจารณ์ พานิช

๔ มิถุนายน ๒๕๖๐  เพิ่มเติม ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 630850เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2017 04:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2017 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I also think that 'street trees' have more to endure: (particulate, aerosol, noise, vibration,...) pollution and 'management' (pruning, restricting, feeding,...) than 'forest trees'.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท