หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ(กุญชร) : หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา ผู้ริเริ่มเรียกผู้นิเทศว่า “ศึกษานิเทศก์”


       บุคคลสำคัญในวงการนิเทศการศึกษาท่านที่ 3 ที่ผมอยากให้ศึกษานิเทศก์และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านได้ศึกษาอย่างยิ่ง ถือว่าท่านเป็นแม่พิมพ์ของศึกษานิเทศก์โดยแท้ คือ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ(กุญชร)  โดยประวัติที่ผมนำมาเล่าครั้งนี้ ได้เรียบเรียงมาจากหนังสือหลายเล่มคือ หนังสือ“ความสำเร็จและความล้มเหลว” ที่ท่านเป็นผู้เขียนเอง  หนังสือในความทรงจำ ฐะปะนีย์ นาครทรรพ  หนังสือประวัติครูของคุรุสภา พ.ศ.2526 วารสารวิทยาจารย์ ฉบับที่ 6 เมษายน 2557ที่ผมเขียน  รวมทั้งจากบทความบางเรื่องที่ท่านเคยเขียนไว้

          หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ(กุญชร) เกิดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2454 ที่บ้านคลองเตย ถนนสุนทรโกษา จังหวัดพระนคร เป็นธิดาเจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์(หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) กับหม่อมนวล กุญชร ณ อยุธยา เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนด์ การเรียนใช้ภาษาอังกฤษทุกวิชา             พ.ศ.2465 ไปเรียนต่อที่โรงเรียนคอนแวนต์ปีนัง จบการศึกษาชั้นมัธยมเมื่อ พ.ศ.2471 กว่าจะได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองให้เข้าเรียนในชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนเซนต์แมรีส์ ก็เมื่ออายุ 20 ปีแล้ว จนสามารถสอบชั้นมัธยมบริบูรณ์ของกระทรวงธรรมการได้

           หม่อมหลวงบุญเหลือ สำเร็จได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต(อ.บ.)จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อพ.ศ.2479 และได้รับประกาศนียบัตรวิชาครูมัธยม(ป.ม.)จากสถาบันเดียวกัน  เมื่อ พ.ศ.2480 ได้เริ่มรับราชการครูที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต่อมาได้ทุนสมาคมสตรีอุดมศึกษาอเมริกันไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญามหาบัณฑิตทางการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมินนะโซตา เมื่อกลับมาแล้วได้รับราชการที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งบริหารในสถาบันการศึกษาหลายแห่งกล่าวคือ ได้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา(ฝ่ายมัธยมศึกษา) เป็นรองอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน และเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เตรียมการจัดตั้งวิทยาลัยทับแก้วและคณะอักษรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร

                หลังจากลาออกจากราชการใน พ.ศ.2513 ได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาเกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีที่คณะอักษรศาสตร์และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น ทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการบริหารโครงการภาษาอังกฤษองค์การซิมิโอ และเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างหลักสูตรวิชาภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอีกด้วย

         ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ  อดีตหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ และอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าเรื่องราวของหม่อมหลวงบุญเหลือที่เกี่ยวข้องกับศึกษานิเทศก์ในครั้งนั้นไว้ในหนังสือในความทรงจำ ฐะปะนีย์ นาครทรรพตอนหนึ่งว่า

“...เราเริ่มมีศึกษานิเทศก์ และมีการตั้งหน่วยศึกษานิเทศก์กรมวิสามัญศึกษา(ฝ่ายมัธยม)ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2498โดยมีท่านอาจารย์หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณเป็นหัวหน้าหน่วย โดยเริ่มสร้างหน่วยศึกษานิเทศก์ ขึ้นมาจากความไม่มีอะไร สำนักงานหน่วยศึกษานิเทศก์ครั้งแรก เป็นเรือนไม้ฝาขัดแตะชั้นเดียว มี 3 ห้องตั้งอยู่บริเวณหอพักคุรุสภาในปัจจุบัน

    ในสำนักงานหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา ตอนนั้นมีศึกษานิเทศก์ไม่เกิน 10 คน จำแนกเป็นสายวิชาละ 1-2 คน เช่นศึกษานิเทศก์สายสังคมศึกษามีคุณหญิงศรีนาถ สุริยะ และ อาจารย์สุมนา คำทอง สายวิทยาศาสตร์ มีอาจารย์ประชุมสุข อาชวะบำรุง สายคณิตศาสตร์ มีอาจารย์เศวต จึงเจริญ สายภาษาอังกฤษมีอาจารย์หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ อาจารย์วรรณะ คัมภิรานนท์ และอาจารย์สมร คุณะดิลก ส่วนอาจารย์ฐะปะนีย์เป็นศึกษานิเทศก์สายภาษาไทย

       ศึกษานิเทศก์ในตอนนั้นจะจบปริญญาโทกันแทบทั้งหมดแต่หน่วยศึกษานิเทศก์จะขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ แม้แต่กระดาษสำหรับพิมพ์เอกสารก็ต้องไปขอที่กองวิชาการ แต่ก็ทำงานกันได้ เพราะมีหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์คืออาจารย์หม่อมหลวงบุญเหลือที่เราเรียกกันว่าห.ศน.ที่มีความเป็นผู้นำถึงพร้อมด้วยเมตตาธรรมขันติธรรมและสมรรถภาพทางวิชาการ 

     ท่านห.ศน.หม่อมหลวงบุญเหลือ เคยไปเรียนวิชา Supervisionที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2489 ท่านบอกว่าในต่างประเทศจะเรียกศึกษานิเทศก์ว่า Inspector บ้าง Supervisorบ้าง มีคนถามท่านว่า ของไทยจะเรียกว่าอะไร ท่านก็บอกว่าเรียก "ศึกษานิเทศก์"ซึ่งแปลว่า "ผู้ชี้แจงทางการศึกษา"เราจึงใช้คำนี้มาจนถึงปัจจุบัน…”  

        ผมเคยอ่านบทความเรื่องหนึ่งที่หม่อมหลวงบุญเหลือเขียน แต่จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว จำได้ว่า ครั้งหนึ่งในที่ประชุมกรมฯถามท่านว่าจะเรียกหน่วยงานที่ศึกษานิเทศก์สังกัดว่าอะไรดี ท่านก็ตอบไปว่าเรียก “หน่วยศึกษานิเทศก์” ดังนั้นที่มาของคำว่า “ศึกษานิเทศก์” และ “หน่วยศึกษานิเทศก์” ก็มาจากหม่อมหลวง

บุญเหลือนี่เอง

     มาดูเรื่องศาสตราจารย์ฐะปะนีย์บันทึกไว้ต่อดีกว่า ท่านบอกว่า

“...ท่านห.ศน.หม่อมหลวงบุญเหลือ จะสอนงานการเป็นศึกษานิเทศก์ให้ทุกคน ท่านทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นประชาธิปไตย มีปัญหาอะไรก็มาประชุมปรึกษาหารือกันและช่วยกันแก้ทุกคนเรียนรู้วิชานิเทศการศึกษาด้วยการลงมือปฏิบัติจริง โดยท่านจะเป็นผู้แนะนำและถ่ายทอดประสบการณ์ให้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คอยให้กำลังใจ ให้กล้าพูดกล้าแสดงความเห็น และกล้าเขียนเอกสารการนิเทศ ทั้งๆที่ศึกษานิเทศก์ส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ท่าน ห.ศน.ก็แนะนำให้อ่านหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งมอบงานแปลบางชิ้นให้ทำหรือมิฉะนั้นก็ให้เรียบเรียงเรื่องที่ค้นคว้าได้เพื่อทำเป็นเอกสารการนิเทศแต่ละวิชา เมื่อท่าน ห.ศน.อ่านแล้วเห็นว่าใช้ได้ก็ให้ผลิตเอกสารนั้นส่งไปยังโรงเรียนเพื่อให้ครูแต่ละสายวิชาอ่าน เป็นการเพิ่มพูนความรู้ เอกสารบางเรื่องก็ต้องให้เพื่อนศึกษานิเทศก์อ่านและวิจารณ์ หากพบข้อบกพร่องท่าน ห.ศน. ก็จะช่วยตรวจแก้ให้…”

        การจัดตั้งให้มีศึกษานิเทศก์ในตอนนั้นเนื่องจากประสงค์จะช่วยเหลือทางวิชาการแก่โรงเรียนฝึกหัดครูตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีการสอนเพียงปีเดียว สูงขึ้นไปกว่ามัธยมปีที่ 6 กรมวิสามัญศึกษา ซึ่งยังรับผิดชอบงานฝึกหัดครูอยู่ จึงหาคนกลุ่มหนึ่งประมาณ 3-4 คน เป็นอาจารย์วิทยาศาสตร์ไปเที่ยวช่วยเหลือทางวิชานี้ก่อน ต่อมาจึงได้ขยายมาถึงศึกษานิเทศก์ฝ่ายภาษาอังกฤษ ซึ่งนอกเหนือจากจะช่วยเหลือโรงเรียนฝึกหัดครูแล้วยังต้องช่วยโรงเรียนมัธยมทั่วไปด้วย ต่อมา พ.ศ.2497 ได้ตั้งกรมการฝึกหัดครูขึ้น กรมวิสามัญศึกษาจึงรับผิดชอบเฉพาะฝ่ายมัธยมศึกษา ถึง พ.ศ.2502 กรมวิสามัญศึกษา กรมสามัญศึกษา กรมการฝึกหัดครู และกรมอาชีวศึกษาได้ตั้งหน่วยศึกษานิเทศก์ขึ้น สำหรับกรมพลศึกษามีแผนกพลศึกษานิเทศก์เป็นหน่วยอิสระสังกัดกรม มีหน้าที่แนะนำ ให้ความเห็นและช่วยแก้ปัญหาแก่โรงเรียนในสังกัด

         หม่อมหลวงบุญเหลือซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์กรมวิสามัญศึกษา มีแนวความคิดว่าศึกษานิเทศก์ควรมีหน้าที่ช่วยเหลือทางวิชาการโดยเฉพาะ ไม่มีอำนาจหน้าที่อย่างอื่น เช่นการเสนอให้ความดีความชอบ ดังนั้นศึกษานิเทศก์จึงได้รับความไว้วางใจจากครูเป็นอย่างดี แม้บางท่านจะข้องใจว่า เมื่อศึกษานิเทศก์ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษครูได้แล้ว ครูก็จะไม่ทำตามคำแนะนำของศึกษานิเทศก์ ประเด็นนี้ท่านมีความเห็นว่า ถ้าคนไม่มีศรัทธาที่จะปรับปรุงการกระทำของตนเองแล้ว อำนาจก็จะไม่เป็นเครื่องอนุเคราะห์แต่ประการใด ถ้าไปบังคับเข้าก็จะถูกหลอกได้โดยง่าย เพราะมิได้อยู่ใกล้ชิดกันเหมือนเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ ดังนั้นถ้าจะให้ศึกษานิเทศก์มีอำนาจบังคับครู ก็เป็นการรับรองว่าครูไม่ได้ปรับปรุงการสอนตามศรัทธาของตน การปรับปรุงนั้นจึงไม่มีคุณค่าแต่ประการใด ศึกษานิเทศก์จำเป็นต้องรับรู้ว่างานแนะนำคนนั้นเป็นงานยากยิ่ง ภารกิจประการหนึ่งของผู้ทำหน้าที่นิเทศคือ ทำอย่างไรให้ครูเข้าใจว่า คนทุกคนทุกเหล่าไม่สามารถทำอะไรได้โดยไม่มีข้อบกพร่อง ศึกษานิเทศก์จะไม่ใส่ใจกับข้อบกพร่องเล็กๆน้อยๆของครู แต่จะสนใจในความผิดพลาด เช่นการให้ความรู้ผิดไปเพราะรู้ไม่พอ หรือใช้วิธีสอนที่ทำให้นักเรียนเบื่อหน่ายและท้อถอยต่อการเรียนวิชานั้นๆด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ

       หม่อมหลวงบุญเหลือได้บันทึกเกี่ยวกับการนิเทศในต่างจังหวัดไว้ในหนังสือ "ความสำเร็จและความล้มเหลว"ไว้ตอนหนึ่งว่า

     “...เมื่อศึกษานิเทศก์ไปถึงจังหวัดใด ก็ได้รับการต้อนรับด้วยดี คงมีหลายสาเหตุด้วยกัน อาจเป็นเพราะเป็นของใหม่หรืออาจเป็นเพราะน้ำใจดีของคนไทยในต่างจังหวัดด้วยก็ได้ ครูโดยมากวางตนเป็นฝ่ายเดียวกับศึกษานิเทศก์ มักจะเล่าเหตุการณ์ทุกประเภทให้ศึกษานิเทศก์ฟัง แต่ศึกษานิเทศก์ก็ถือเป็นหลักมั่นคงว่าเรื่องที่ครูเล่าให้ฟังนั้น จะไม่กลายเป็นรายงานขึ้นมาเลย รายงานของศึกษานิเทศก์จะเป็นไปตามหลักวิชาโดยสุจริต...”

      หม่อมหลวงบุญเหลือได้รับสมญาว่าเป็น "แม่พิมพ์ของศึกษานิเทศก์" เพราะท่านอุทิศตนเพื่องานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ใช้ความรู้ควบคู่คุณธรรมในการปฏิบัติงานตลอดเวลา ท่านวางหลักปฏิบัติว่า ศึกษานิเทศก์เลือกในทางไม่มีอำนาจ ก็ต้องทำตามหลักนั้นอย่างเคร่งครัด การทำตามหลักปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ช้าครูก็เริ่มเข้าใจว่า ศึกษานิเทศก์ไปเยี่ยมโรงเรียนเพื่อช่วยเหลือครู ไม่ใช่ไปเพื่อจับผิด ที่ใดมีปัญหาก็เข้าไปช่วยแก้ไขให้ลุล่วงไปด้วยดี เพื่อส่งเสริมคุณภาพของการเรียนการสอน เมื่อทำงานร่วมกับครูไปได้ระยะหนึ่งก็ได้รับความไว้วางใจและไมตรีจิตจากครู

         หม่อมหลวงบุญเหลือมีความรู้แตกฉานทั้งในเรื่องอักษรศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ ดนตรีไทย ศาสนา มารยาทเกี่ยวกับสังคม ท่านมีผลงานวิชาการที่เป็นบทความและตำราที่ดีเด่น เช่น “ข้อสังเกตเกี่ยวกับระเบียบวิธีการสอนภาษาอังกฤษ” “ข้อสังเกตเรื่องวรรณคดีไทย” “หัวเลี้ยวของวรรณคดีไทย” “ภาษาไทย : วิชาที่ถูกลืม” “วิเคราะห์รสวรรณคดีไทย” เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ประพันธ์นวนิยายและเรื่องสั้นหลายเรื่อง เช่น “สะใภ้แหม่ม”“ทุติยะวิเศษ”“ตกหลุมตกร่องแล้ว”“ใดใด ก็ดี”“ศิลาอาถรรพณ์”  เป็นต้น

       หม่อมหลวงบุญเหลือได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

       หม่อมหลวงบุญเหลือถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2525 สิริอายุได้ 70 ปี 5 เดือน 25 วัน ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ ได้เขียนบทประพันธ์บูชาพระคุณท่านไว้ว่า     

“ท่านเป็นครูของครูผู้ทรงสิทธิ์       ครองชีวิตเพื่องานการศึกษา      

จิตผ่องแผ้วเพียรมั่นเลิศปัญญา           มากเมตตาต่อศิษย์นิจนิรันดร์         ท่านเป็นนักการศึกษาปรีชายิ่ง          รักความจริงค้นคว้าวิชาสรรพ์      

ทุกระดับการศึกษามีค่าครัน               รู้เชิงขั้นบริหารงานพัฒนา         

ท่านได้เป็นหัวหน้าศึกษานิเทศก์         วางขอบเขตงานใหญ่ไพสิฐค่า

  บริหารงานดีด้วยปรีชา                       เห็นคุณค่าของครูชื่นชูใจ        

ท่านเป็นนักประพันธ์ชั้นเยี่ยมยอด       ภาพไพจิตรถ่ายทอดช่างแจ่มใส

วรรณศิลปจินตนาการพิศาลไกล          “สาร”แฝงไว้ให้วินิจทรงอิทธิพล    ท่านเป็นปราชญ์เทิดธรรมประจำจิต    มีชีวิตเพื่อความดีศรีกุศล      

มุ่งแต่ “ให้” เพื่อผู้อื่นชื่นกมล               แม้วายชนม์เกียรติคุณสุนทรเเอย            **********************

หมายเลขบันทึก: 630298เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2017 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2020 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท