๕๖๓. สภาพปัจจุบันปัญหาการบริหารการศึกษาของไทยกับการก้าวสู่มาตรฐานสากล


หลายครั้งที่ผู้นำการศึกษาของชาติ ไม่ได้บริหารการเปลี่ยนแปลงบนรากฐานหรือบริบทที่ควรจะเป็น และบางครั้งก็เข้าไม่ถึง”ศาสตร์พระราชา” ไม่กำหนดให้สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา..ลูกชายคนโตจะไปสอบเรียนต่อปริญญาโท เอกบริหารการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม...

ลูกชายผมจบ ป.ตรี วิชาเอกดนตรี เป็นครู คศ.๑ บรรจุได้ ๓ ปี ไม่อยากเป็นผู้บริหาร แต่จะเรียนบริหารเพื่อประสบการณ์ความรู้...จึงโทรบอกให้ผมช่วยเขียนบทความ เป็นแนวคำตอบสำหรับข้อสอบอัตนัย..

ลูกชายให้มา ๒ หัวข้อ..บริหาร..กับวิจัย..ผมมีเวลาเขียนให้ลูกหัวข้อเดียว..เพื่อให้เขาอ่าน..เป็นแนวทางในการเขียน..ในหัวข้อ.. “สภาพปัจจุบันปัญหาการบริหารการศึกษาของไทยกับการก้าวสู่มาตรฐานสากล”...ผมลงมือเขียนให้ลูก..แล้วส่งให้เป็นที่เรียบร้อย ความว่า..

............ความเคลื่อนไหวทางการศึกษาไทยที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ ในช่วงทศวรรษนี้ นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบันจะพบว่าแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรืออาจกล่าวได้ว่า ยังมองไม่เห็นแนวโน้มของความก้าวหน้า ที่เข้าขั้น”มาตรฐาน” ในสายตาของคนไทยและประชาคมโลก..

สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันและเป็นที่รู้กันว่าเป็นความจริง..ก็คือ..คสช.สั่งปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ด้วยแผนระยะยาวควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ..แสดงให้เห็นว่าการบริหารการศึกษาไทยนั้น..ล้มเหลวมาโดยตลอด..

โดยเฉพาะการศึกษาในระดับเขตพื้นที่ ในสังกัดของ สพฐ. ภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในส่วนมัธยมและประถมศึกษา...

บุคลากรทางการศึกษา ซึ่งหมายรวมทุกตำแหน่ง..รู้สึกเบื่อหน่ายและไม่ยินดียินร้ายกับทุกๆครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้ากระทรวง และเมื่อเปลี่ยนแล้วก็ไม่มีใครแน่ใจว่าได้ปฏิบัติตามแผนพัฒนาฯของกระทรวงฯหรือไม่..แต่เท่าที่เห็นได้ใช้อำนาจเต็มที่ ในการตัดสินใจและมีแผนงานแปลกใหม่อยู่เสมอ...

หลายครั้งที่ผู้นำการศึกษาของชาติ ไม่ได้บริหารการเปลี่ยนแปลงบนรากฐานหรือบริบทที่ควรจะเป็น และบางครั้งก็เข้าไม่ถึง”ศาสตร์พระราชา” ไม่กำหนดให้สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..

การที่ไม่ได้บริหารในภาพรวม แต่ลงลึกถึงงานวิชาการ งานหลักสูตร นวัตกรรมและการวัดประเมินผล..ที่ต้องใช้คณะทำงาน.ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์.เป็นเรื่องที่เปราะบางมาก ความจริงก็คือควรใช้เงื่อนไขเวลาและกระบวนการวิจัย แต่เท่าที่เห็นและเป็นอยู่เร่งรีบกำหนดเป็นแผนงานโครงการนโยบายเพื่อให้ได้มาซึ่งการเบิกจ่ายงบประมาณมากมาย จึงเพิ่มภาระงานให้แก่ผู้ปฏิบัติในระดับรากหญ้า..กระทบถึงครูผู้สอนที่ไม่สามารถบริหารจัดการเรียนการสอน..ที่เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาอย่างแท้จริง..

การกระจายอำนาจทางการศึกษา เป็นเพียงคำพูดที่สวยหรู แต่การริเริ่มโครงการเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ ยังคิดและสั่งตรงจากส่วนกลาง ก่อนหน้านี้องค์คณะบุคคลของเขตพื้นที่หลายคณะ..มีการทำงานบริหารที่เด่นชัดอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงบุคคลไม่กี่กลุ่ม ที่ใช้บทบาทหน้าที่และใช้อำนาจโดยมิชอบ แสวงหาผลประโยชน์ลาภยศและเงินตรา จนเป็นที่ล่วงรู้กันดีในกลุ่มครู ส่วนผู้บริหารระดับสูง นอกจากคอรัปชั่นเชิงนโยบายแล้ว ยังติดตามนักการเมือง จึงไม่ได้ทำงานการศึกษาอย่างแท้จริง..แต่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งที่สูงขึ้น..

สภาพปัญหาการศึกษาของไทยจึงตกอยู่ในวังวน ผู้นำรัฐบาลจึงคิดที่จะตัดวงจรอุบาทว์นี้ และใช้กฎหมายเร่งด่วนปรับโครงสร้าง ตลอดจนจัดวางตัวบุคคล แบบรวมศูนย์ ที่ไม่แตกต่างจากอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน เพื่อวางรากฐานใหม่ ไปสู่อนาคตเด็ก อนาคตชาติ..

ปัจจุบันจึงเป็นช่วงของการชะลอ และรอการขับเคลื่อนใหม่ จากกฎหมายใหม่ โครงสร้างและแนวคิดใหม่ แต่เชื่อว่าก็ยังคงสั่งการมาจากผู้มีอำนาจสูงสุดของกระทรวง..ที่เป็นมาอยู่ทุกยุคทุกสมัย..

ตราบใดที่การเมืองยังนำการศึกษา..และการไม่ยอมปล่อยให้เขตพื้นที่ ได้ใช้ศักยภาพแก้ปัญหาในสังคมชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนแนวคิดของผู้นำที่พุ่งเป้าไปที่คุณภาพผลสัมฤทธิ์ หลงลืมเรื่อง”ทักษะชีวิต”คิดแต่เรื่อง”ติวเตอร์” และใช้โมเดลจากต่างประเทศ เพียงอย่างเดียว..จึงเป็นการศึกษาที่อยู่ในกรอบ สร้างข้อจำกัด ที่ผู้ปฏิบัติไม่สามารถคิดอย่างอื่นได้เลย..

การใช้แนวคิดและนวัตกรรมจากต่างประเทศเป็นสิ่งดี แต่บางครั้งอาจทำให้หลงลืมความต้องการจำเป็นในสังคมไทย ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ อาชีพศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เป็น “ภูมิสังคม”ที่มีรากเหง้ามาจากภาคเกษตรกรรม..ที่เป็นตัวตนหรือ”อัตลักษณ์ไทย”..ที่ไม่ควรให้เด็กไทยหลงลืม.แต่นักการศึกษาไทย..กำลังมองข้ามอย่างสิ้นเชิง..

เพราะการบริหารจัดการศึกษาที่มุ่งแต่ใช้อำนาจ และไม่เป็นตัวของตัวเอง ตลอดจนไม่รู้จักตนเองมากพอ.คงไม่ต้องคาดหวังจะไปถึงมาตรฐานสากล..เอาแค่อยู่รอดและแก้ปัญหาไปวันๆ หรือว่ากันปีต่อปีก็พอ..

..................................................................................................................................................

ลูกชาย..สอบได้ ไปเรียนได้ ๓ อาทิตย์แล้ว..ลูกบอกมีนักศึกษา ป.โท เรียนทั้งหมด ๑๘ คน..เขาอายุน้อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นครูมัธยมและเป็นผู้บริหารกันแล้ว..

ลูกชาย..ได้รับเลือกให้เป็นประธานรุ่น ผมก็ถามลูกว่า แล้วลูกรับหน้าที่นี้ทำไม ลูกยังขาดประสบการณ์บริหารและอายุก็ยังน้อย..

“ไม่มีใครอยากเป็นเลยพ่อ เขายกมือสนับสนุนให้ผมเป็น”

“ลูกจะเหนื่อย และต้องรับผิดชอบมากนะ จะไหวรึ”

“ก็คงต้องช่วยกัน..แต่ผมแปลกใจ..ทำไมผู้บริหารที่เรียน ป.โท เขาถึงไม่อยากเป็นผู้นำกัน..”

ผมไม่ได้ตอบคำถามลูกชาย ทั้งๆที่คำตอบก็ไม่ได้มีอยู่ในบทความ แต่ก็อยากบอกลูกเหลือเกินว่า..อันนี้..ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลให้การศึกษาไทย..ก้าวไปได้ช้า..ถึงช้ามาก

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๐

(ภาพประกอบ..ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบทความ เป็นภาพบ่อปลาดุกของโรงเรียนที่มั่นคงปลอดภัย ปลาดุกตัวใหญ่..ขายได้แล้ว..และเตรียมนำเข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน)

หมายเลขบันทึก: 630056เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2017 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2017 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอแสดงความยินดีกับลูกชายด้วยครับ

ได้มาเรียนแล้ว

บทความสะท้อนสภาพได้เยี่ยมมากค่ะ อยาจะร่วมแสดงความคิดเห็นอยู่หลายประการ แต่จะไปกระทบ กับหลายส่วนทั้งคนทั้งงาน... ขอชื่นชม... อาจารย์ ที่แบ่งปันนะคะ

ขอบคุณครับ คุณจอย..ที่ชื่นชอบและชื่นชม ทั้งคนและบทความ


เรียน อาจารย์

  • น่ายินดี ที่มีอาจารย์ในวงการศึกษาไทยปัจจุบัน เข้าใจและยอมรับสภาพความจริงของปัญหาทางการศึกษา ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไข ถ้าเราหยิบยก...มาให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง มากกว่า สนใจเผยแพร่ ตำราต่างประเทศ (แม้ทุกสิ่งมีจุดดี สำหรับช่วงเวลามากกว่า ๑๐ ปี ที่แล้ว) แต่ปัจจุบันเด็กไทยต้องการอะไร สำหรับอนาคตที่ดีของเขา
  • ปัญหานี้ใหญ่หลวงกว่า เมื่อเทียบเท่ากับปัญหาเศรษฐกิจ เพราะ อาจเดินไปถึงจุดการสูญสิ้นชาติไทยโดยไม่รู้ตัว ผู้เขียนได้สัมผ้ส เยาวชน และครอบครัวของเขาในท้องถิ่น เด็กบางคนปฏิเสธระบบการศึกษาที่อัดเนื้อหา แต่ไม่สอนเชิงปฏิบัติ สิ่งที่จะนำไปประกอบอาชีพ จนกลายเป็นปัญหาครอบครัว แม้ว่าเขาจะมีความสามารถพิเศษ และเป็นระดับหัวกะทิ ทุกครอบครัวต้องแบกภาระค่าติวเตอร์ และอื่นๆ ด้วยคาดหวังประสาชาวบ้าน ว่าคะแนนสอบที่ดีของลูกจะนำพาอนาคตเขาไปสู่สิ่งที่ดี แล้วอาจารย์ในวงการศึกษาไทย เห็นด้วยว่าพ่อแม่เข้าใจถูกต้องหรือ? สิ่งเหล่านี้น่าสะเทือนใจ การศึกษากำลังทำร้ายเด็กๆ ลูกหลานรากเหง้าของชาติไทยเราเอง

ขอแสดงความนับถือ

คุณลิขิต

เป็นข้อเขียนที่กระตุ้นต่อมใต้จิตสำนึกดีมาก ในครั้งอดีตเป็นบทเรียนที่เราต้องการเปลี่ยนแปลงอาจเป็นเพราะการก้าวไม่ทันสังคมโลกหรืออาจเป็นจากนักการศึกษาและนักการเมืองนำทฤษฎีลอกเลียนแบบมาใช้ภายใต้บริบทไทยอย่างรวดเร็ว จึงเป็นการกดขี่วัฒนธรรมอย่างสิ้นเชิง หลงรากเหง้าสิ่งดีทิ้งหลักการบนฐานคุณธรรมจริยธรรม นำมาซึ่งการโหยหากลับคืน จึงบังเกิดรากฐานความคิดเผด็จการที่หลายคนบางกลุ่มคิดเองเออเองว่าดี หวลไปใช้ระบบบริหารจัดการศึกษาที่เราๆท่านๆเคยเจ็บปวดและขมขื่นมา กว่าจะต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงมาได้ต้องเอาชีวิตหรือตำแหน่งเล็กๆจากรากหญ้าเป็นเดิมพัน ในที่สุดวังวนเดิมๆก็ปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรมในตำแหน่งที่เคยเจ็บปวดแย่งกันไขว่คว้าเพิ่มระดับความก้าวหน้าให้คนทั่วไป แต่ท้ายสุดก็ตอบโจทย์ปัญหาว่าการปฏิรูปถึงผู้เรียนอย่างไร เป็นการเขียนด้วยมือลบด้วยฝ่าเท้าที่สังคมไม่พึงปรารถนา ในขณะที่สังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงสังคมโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คและนวัตกรรมกำลังมาแรง ควรจะแปลงอดีตสู่ปัจจุบันอย่างกลมกลืนสู่คุณภาพผู้เรียนอย่างชัดแจ้ง ในทำนองทิ้งความขมขื่นแต่ชื่นบานบนรากหญ้าแพรกดอกมะขือ/

ขออภัยตื่นมาคิดไปด้วยพิมพ์ไปด้วยอาจไม่ได้กรองความคิดมาก่อ

ขอบคุณครับ..คุณสมานมิตร

อย่างน้อย..ผมก็มีเพื่อนร่วมเดินทางอีก ๑ คน


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท