Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กฎหมายศึกษา : ทบทวน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542


คณะกรรมการแก้ไขทบทวน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 ประกอบด้วย ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าไทย และกรรมการอีก 9 คนอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือผู้แทน , ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , สมาคมธนาคารไทย , ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตัวแทนนักวิชาการ ได้แก่ พิสิฐ ลี้อาธรรม ,เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ,สมพงษ์ วนาภา , เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ , โดยมีตัวแทนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นเลขานุการ

     คณะกรรมการแก้ไขทบทวนพ.ร.บ.ต่างด้าว เผยกรอบการทำงานต้องแก้ไขบัญชี 3 แนบท้าย พ.ร.บ.คนต่างด้าวใหม่ ให้ต่างชาติมาลงทุนได้ 100 % ในบางสาขา ชี้ชัดๆธุรกิจไหนสงวนให้คนไทย ธุรกิจอะไรบ้างที่คนต่างด้าวทำได้ หากจงใจทำผิดต้องลงโทษตามกฎหมาย ทั้งต้องทำคำนิยาม "คนต่างด้าว - นอมินี " ให้ชัดเจน พร้อมวางแนวทางเยียวยาเบื้องต้นให้ชาวต่างชาติ "ลดทุน " ที่เกินสัดส่วนให้ได้ตามที่กฎหมายไทยกำหนด
      
       กรณีการซื้อขายหุ้นของ "เทมาเส็ก"นำมาซึ่งการตีความเรื่อง "นอมินี" ปัจจุบันมีธุรกิจหลายประเภทที่สงวนไว้เพื่อคนไทย แต่กลับพบว่าเจ้าของเป็นคนต่างชาติโดยมีคนไทยเป็นเพียงนอมินีถือหุ้นแทนเท่านั้น ขณะที่บางธุรกิจแม้ให้ต่างด้าวลงทุนได้แต่ต้องอยู่ในสัดส่วนการลงทุนที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์ กำลังดำเนินการแก้ไขโดยร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขทบทวนร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวด้าว (พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 ) เพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนในปัจจุบันว่า ธุรกิจประเภทใดที่คนต่างชาติลงทุนได้ ประเภทไหนที่ห้ามทำในบัญชีท้าย 1,2,3 เมื่อพบการทำผิดจะลงโทษ หรือจะบรรเทาโทษอย่างไรเมื่อธุรกิจนั้นมีนอมินีก่อนที่พ.ร.บ.ต่างด้าวฉบับแก้ไขจะมีผลบังคับใช้
      
       "เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่เพราะนักลงทุนต่างชาติมีความกังวลอย่างมากกับธุรกิจที่ได้ลงทุนไปแล้ว หรือกำลังตัดสินใจว่าจะมาลงทุน และหากการจัดการไม่ดีจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนในประเทศ"
      
       ประชุมแก้ไข-ทบทวนยังไม่คืบ
      
       ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทยในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขทบทวนร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้มีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้งแต่ยังไม่มีการลงลึกในรายละเอียดมากนักว่าจะแก้ประเด็นไหนอย่างไร แต่ประเด็นที่มีการพูดกันอย่างกว้างขวางคือคำจำกัดความของ "คนต่างด้าว" ที่ต้องการการตีความและทบทวนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นซึ่งนักลงทุนต่างชาติก็เรียกร้องและกำลังสับสนว่า ร่างกฎหมายของไทยเกี่ยวกับคำจำกัดความคนต่างด้าวเป็นอย่างไร นอกจากนี้จะพิจารณาประเภทสินค้าที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความชัดเจน ซึ่งมีอยู่หลายประเด็น คือประเภทสินค้าที่คนไทยดำเนินการได้ และสินค้าประเภทใดที่เปิดให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนได้
      
       อย่างไรก็ดี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะกรรมการฯแก้ไขทบทวนร่างพ.ร.บ.คนต่างด้าว จะสามารถสรุปรายละเอียดทั้งหมดมาเสนอให้ตนได้พิจารณาได้ภายในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
      
       "ธุรกิจส่วนหนึ่งที่ไม่ผิดก็จบไป และส่วนที่ไม่ตรงกับระเบียบกฎหมายซึ่งผิดที่ผู้ถือหุ้นก็จะให้เวลาปรับตัว เชื่อว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการลงทุนของต่างชาติในไทย "
      
       สำหรับคณะกรรมการฯชุดดังกล่าว ประกอบด้วย ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าไทย และกรรมการอีก 9 คนอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือผู้แทน , ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , สมาคมธนาคารไทย , ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตัวแทนนักวิชาการ ได้แก่ พิสิฐ ลี้อาธรรม ,เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ,สมพงษ์ วนาภา , เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ , โดยมีตัวแทนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นเลขานุการ
      
       นิยาม " ต่างด้าว - บัญชี 3 " ต้องชัดเจน
      
       ด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI และเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ร่วมคณะกรรมการฯชุดนี้กล่าวกับ " ผู้จัดการรายสัปดาห์ "ว่า ขอยืนยันว่าคณะกรรมการฯมีกรอบเวลาในการทำงาน 2 เดือนไม่ใช่อย่างที่หม่อมอุ๋ย ( ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ) ระบุว่าให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ เราได้ประชุมกันไปแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งมีเวลาในการพิจารณาแก้ไขทบทวน60วันระยะเวลาถึงสิ้นปีนี้
      
       โดยในที่ประชุมได้หารือกัน 2เรื่องคือ นิยามของคำว่า คนต่างด้าว และ บัญชี 3ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยเฉพาะคำว่า "คนต่างด้าว" จะมุ่งไปที่ประสิทธิผลซึ่งสามารถคุ้มครองได้จริงๆมากกว่าที่เป็นมาไม่ใช่ดูแค่การถือหุ้นชั้นเดียว แต่ต้องสามารถพิสูจน์สัญชาติได้จริงๆว่า บริษัทนี้เป็นของคนไทยหรือต่างชาติได้ชัดเจน การแก้ไขดังกล่าวจะมุ่งไปที่การตีกรอบการเข้ามาของทุนต่างชาติในอนาคต แต่เรื่องเก่าๆที่มีปัญหาก็ว่ากันไปตามกฎหมาย
      
       ส่วนอีกประเด็นคือดูบัญชี 3 โดยเฉพาะด้านบริการว่าอาชีพใดควรสงวนให้คนไทย ธุรกิจใดที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ เพราะในหมวดนี้คือสิ่งที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน ส่วนสิ่งที่คณะกรรมการฯกำลังจะทำ คือจะสามารถบอกได้เลยว่าธุรกิจประเภทนี้ต่างชาติทำได้ ไม่ต้องหลบซ่อนอีก ธุรกิจที่คนไทยทำได้ก็ต้องระบุชัดเจน ไม่ใช่ออกกฎหมายคลุมเครือแต่แอบเข้ามาทำกันโดยถือผ่านนอมินีแบบนี้ต้องไม่มี
      
       สำหรับปัญหาหลักของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 คือที่กำหนดไว้ในบัญชี 3 ว่าธุรกิจทุกประเภทต่างชาติประกอบกิจการไม่ได้ จากการศึกษาพบว่าไม่มีประเทศไหนที่ทำแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เจริญกว่าหรือด้อยกว่า เขามีการปิดบางสาขาเท่านั้น เพราะเหตุผลทางความปลอดภัย แต่ประเทศไทยกลับปิดทุกสาขา ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธุรกิจไทยที่ต้องการเงินทุนและเทคโนโลยี่จากต่างประเทศ
      
       แนะต่างชาติ "ลดทุน" ให้ได้สัดส่วนกม.ไทย
      
       ดร.เดือนเด่น ระบุด้วยว่า ผลกระทบที่อาจจะตามหากเปลี่ยนคำนิยามคนต่างด้าวใหม่ซึ่งคณะกรรมการฯได้หารือกันไว้แล้ว เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะไล่ทุนต่างชาติออกไปหมดทั้งที่เศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาเงินที่เข้ามาลงทุน ซึ่งคณะกรรมการฯจะดูหลายมิติทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และ กฎหมาย เชื่อว่าเมื่อชัดเจนดีแล้วนักลงทุนก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากลับกฎหมายไทย
      
       "เราคุยกันว่าจะทำอย่างไรในเรื่องนอมินี ในที่ประชุมมีการเสนอว่าจะกำหนดเวลาให้ชาวต่างชาติลดทุนลงเรื่อยๆจนถูกต้องตามกฏหมายไทยเพราะจะไปไล่เขากลับประเทศคงไม่ได้"
      
       ทั้งนี้เพราะกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจที่ต้องการเงินทุน ส่งผลให้เกิดนอมีนีและเกิดการถือหุ้นที่ซับซ้อนและไม่โปร่งใสอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
      
       เปิดเสรี 100% บางสาขาให้ต่างชาติ
      
        อย่างไรก็ดี ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า ประเด็นปัญหาในเรื่องของการสอบย้อนหลังบริษัทต่าง ๆ ที่มีต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในหลายสาขาบริการนั้น คนไทยจะได้อะไรจากมาตรการดังกล่าว เพราะหากทำไปแล้วไม่เป็นผลดีต่อคนไทยก็ควรที่จะมาทบทวนและวิเคราะห์ถึงผลดี ผลเสียที่เกิดขึ้น
      
       " ถ้าคิดว่าไล่ต่างชาติออกไปหมดเช่น ธุรกิจ ไปรษณีย์ด่วน การขนส่งที่ต่างชาติเข้ามามากมายตอนนี้ เราจะใช้แต่บริการไปรษณีย์ไทยอย่างเดียว คุณคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่คนไทยต้องการหรือไม่ แต่หากเปิดให้ต่างชาติเข้ามา 100% แล้วเขาทำได้ดีกว่า ก็อยู่ที่ผู้ใช้บริการจะเลือกใช้ บริษัทไหน"
      
       ขณะเดียวกันต้องมาทบทวน และยอมรับสภาพความเป็นจริงไม่ใช่มีกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของธุรกิจ จึงทำให้คนบังคับใช้กฎหมายอึดอัดและมีลักษณะของ "ปากว่าตาขยิบ" กล่าวคือปากบอกว่าอย่ามา แต่เรารู้ว่าเราต้องการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน จึงเกิดพฤติกรรมตาขยิบบอกว่ามาได้ เขาก็มาตลอด เมื่อมาแล้วก็บอกว่าอย่ามาจึงเกิดความสับสนกันหมดว่า มาหรือไม่มา แต่ทั้งหมดนี้ต้องทำให้กฎหมายเกิดความศักดิ์สิทธิ์ คือถ้ากฎหมายบอกว่าผิด ก็ต้องผิด ใครที่เป็นนอมินี ก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย
      
       ต่างชาติยึด "มือถือ -โลจิสติกส์ -โปรษณีย์ด่วน " นานแล้ว
      
       ขณะที่รายงานการวิจัย ของ ดร.เดือนเด่น ได้ข้อสรุปทางการศึกษาไว้ชัดเจนว่า ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถเข้ามาให้บริการในธุรกิจต้องห้ามในเกือบทุกสาขาบริการในทางปฏิบัติ ทั้งในลักษณะถือหุ้นทางอ้อม หรือแม้กระทั่งในลักษณะที่ผิดกฎหมายโดยการถือหุ้นผ่านนอมินี จากการตรวจสอบสัญชาติพบว่าผู้ประกอบการต่างชาติมีส่วนแบ่งตลาดในหลายสาขาที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบการ เช่น ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 2 ราย (ร้อยละ 82) , ธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต 3 ราย (ร้อยละ 75) การบริการโลจิสติกส์ 5ราย (ร้อยละ 44) และธุรกิจไปรษณีย์ด่วนพิเศษ 3 ราย ( ร้อยละ 33 )
      
       " เมื่อใดการลงทุนของต่างชาติเริ่มมีปัญหา หน่วยงานของรัฐก็จะบังคับใช้กฎหมายลักษณะที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้เกิดความวุ่นวายในระบบเศรษฐกิจเป็นครั้งคราว แต่เมื่อปัญหาสงบลงแล้วก็กลับไปสู่ระบบเดิม สะท้อนถึงนโยบายการลงทุนของต่างชาติในไทยขาดความชัดเจนและขาดหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ทำให้การประกอบธุรกิจของคนต่างชาติในไทยไม่โปร่งใส ตรงไปตรงมา สวนทางกับแนวนโยบายที่ต้องการยกระดับธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจไทย "
      
       บัญชีแนบท้าย 1-3 ต้องอัพเดททุก 1 ปี
      
       นอกจากนี้ในรายงานวิจัย ยังบอกด้วยว่า สิ่งที่ต้องแก้คือ
      
       1.) บัญชี 1, 2 ,3 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 นำธุรกิจที่ไม่จำเป็นบริการทุกประเภทที่อยู่ในบัญชี 3 ต้องขีดออกไป และจะต้องกำหนดชัดว่าจะคุ้มครองบริการอะไรบ้าง ที่ไม่ให้ต่างชาติเข้ามา อีกทั้งควรทบทวนรายชื่อธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การประกอบการของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542ในรายละเอียดทุกปี เพราะมาตรา 9 ของกฏหมายกำหนดให้คณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวทบทวนประเภทของธุรกิจท้าย พ.ร.บ.อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อเสนอรมว.กระทรวงพาณิชย์แต่ที่ผ่านไม่มีการดำเนินการใดๆ นับแต่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้มา 7ปี
      
       2.) ควรทบทวนกฏหมายทุกฉบับที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิคนต่างด้าวในการประกอบกิจการ ว่าควรมีกระบวนการและขั้นตอนในการประเมินต้นทุน และผลประโยชน์จากการกีดกันคนต่างด้าวอย่างไร
      
       3.) ต้องทบทวนกฎหมายทุกฉบับที่ให้ความคุ้มครองผู้ประกอบการในประเทศ ให้มีข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบการต่างชาติ สามารถประกอบธุรกิจแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศได้ในกรณีที่ตลาดภายในประเทศผูกขาด หรือ มีผู้ประกอบการน้อยรายส่งผลให้ตลาดไม่แข่งขัน และบริการไม่มีประสิทธิภาพ
      
       4.) ต้องกลั่นกรองกฎหมายธุรกิจต่างๆที่ห้ามคนต่างชาติให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย และนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำหนดสัญชาติของนิติบุคคลที่รัดกุมมากขึ้นกว่าเดิม โดยวิธีการคำนวณสัดส่วนหุ้นส่วนโดยใช้สิทธิออกเสียง การนับรวมหุ้นทางอ้อมหรือการใช้อำนาจในการบริหารจัดการในการพิจารณา
      
       5.) ภายในระยะสั้น ต้องตรวจสอบการถือหุ้นผ่านนอมินีในบริการธุรกิจที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยและสังคมอย่างชัดเจน เช่น ธุรกิจบาร์เบียร์ในย่านพัทยา หรือธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัดของประเทศที่อาจผิดกฎหมาย เช่นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่อนุรักษ์
      
       นอกจากนี้ยังต้องดำเนินการทางกฎหมายกับคนต่างด้าวและคนไทยที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังตามบทบัญญัติของมาตรา 36 และ 37 แพ่งพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 และมาตรา 13 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
      
       จัดระเบียบใหม่ 21 ประเภทธุรกิจ
       บัญชี 3 ตามพรบ.ต่างด้าว
      
        สาระสำคัญในบัญชี 3 ที่กำหนดไว้ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งคณะกรรมการแก้ไขทบทวนร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ชุดประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทยเป็นประธาน จะมีการทบทวนและแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจในปัจจุบันทีต้องการเงินลงทุนและเทคโนโลยี่จากต่างประเทศ ประกอบด้วย 21 ประเภทธุรกิจ
      
       1.) การสีข้าว และการผลิตแป้งจากข้าวและพืชไร่
      
       2.) การทำการประมง เฉพาะการเลี้ยงสัตว์น้ำ
      
       3.) การทำป่าไม้จากป่าปลูก
      
       4.) การผลิตไม้อัด แผ่นไม้วีเนียร์ ชิปบอร์ด หรือ ฮาร์ดบอร์ด
      
       5.) การผลิตปูนขาว
      
       6.) การทำกิจการบริการทางบัญชี
      
       7.) การทำกิจการบริหารทางกฎหมาย
      
       8.) การทำกิจการบริการทางสถาปัตยกรรม
      
       9.) การทำกิจการบริการทางวิศวกรรม
      
       10.) การก่อสร้าง ยกเว้น
      
        (ก) การก่อสร้างซึ่งเป็นการให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชน ด้านสาธารณูปโภค หรือการคมนาคมที่ต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักร เทคโนโลยี หรือความชำนาญในการก่อสร้างเป็นพิเศษ โดยมีทุนขั้นต่ำของคนต่างด้าวตั้งแต่ห้าร้อยล้านบาทขึ้นไป
      
        (ข) การก่อสร้างประเภทอื่นตามที่กระทรวงกำหนดในกฎกระทรวง
      
       11 .) การทำกิจการนายหน้าหรือตัวแทน ยกเว้น
      
        (ก) การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนการหลักทรัพย์หรือการบริการที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายล่วงหน้าซึงสินค้าการเกษตรหรือตราสารการเงินหรือหลักทรัพย์
      
        (ข) การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหรือจัดหาสินค้า หรือ บริการที่จำเป้นต่อการผลิตหรือการให้บริการรัฐวิสาหกิจในเครือเดียวกัน
      
        (ค) การเป็นนายหน้า หรือตัวแทนซื้อขาย จัดศื้อหรือจัดจำหน่าย หรือจัดหาตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อการจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ อันมีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ โดนมีทุนขั้นต่ำของคนต่างด้าวตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป
      
        (ง) การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนประเภทอื่นตามที่กำหนดไว้ในกระทรวง
      
       12.) การขายทอดตลาด ยกเว้น
      
        (ก) การขายทอดตลาดที่มีลักษณะเป็นการประมูลการซื้อขายระหว่างประเทศที่มิใช่การประมูลซื้อขายของเก่า วัตถุโบราณ หรือศิลปวัตถุซึ่งเป็นงานศิลปกรรม หัตถกรรมหรือ โบราณวัตถุของไทย หรือที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของประเทศ
      
        (ข) การขายทอดตลาดประเภทอื่นตามที่กหนดไว้ในกฎกระทรวง
      
       13.) การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลทางการเกษตรพื้นเมืองที่ยังไม่มีกฎหมายห้ามไว้
      
       14.) การค้าปลีกสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำรวมทั้งสิ้นน้อยกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท หรือที่มีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าน้อยกว่ายี่สิบล้านบาท
      
       15.) การส่งสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าน้อยกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท
      
       16.) การทำกิจการโฆษณา
      
       17.) การทำกิจการโรงแรม เว้นแต่บริการจัดการโรงแรม
      
       18.) การนำเที่ยว
      
       19.) การขายอาหารหรือเครื่องดื่ม
      
       20.) การทำกิจการเพาะขยาย หรือปรับปรุงพันธ์พืช
      
       21.) การทำธุรกิจบริการอื่น ยกเว้นธุรกิจการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
 ------------------------------------------------------------

รื้อบัญชี 3 เปิดเสรีธุรกิจต่างด้าวถือได้100% ! 

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 23 พฤศจิกายน 2549 13:07 น.
 http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9490000144651

หมายเลขบันทึก: 62944เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
อ่านแล้วครับอาจารย์ แต่จะดีจริงหรือครับที่กิจการบางประเภทอาจกำหนดให้คนต่างชาติถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ได้
  • คงถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งสำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว เพราะเราคงไม่อยากให้ลูกหลานไทยกลายเป็นลูกจ้างชาวต่างชาติแทบทั้งหมดนะคะ
  • เห็นด้วยกับอาจารย์แหววค่ะ
  • แต่หนูยังเห็นว่าหากไม่มีคนต่างด้าวเลยในการร่วมทุนคงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะคนต่างด้าวที่ได้ที่ได้ประโยชน์ตามกฎหมายดังกล่าวก่อนการที่จะแก้ไขกฎหมาย จะมีบทบัญญัติคุ้มครองการกระทำที่ทำลงไปแล้วหรือไม่ ?? เพราะเราก็ไม่อาจทราบได้ว่าบริษัทต่างด้าวต่างๆที่เข้ามาและได้ประโยชน์จากบทบัญญัติของกฎหมายนี้มีส่วนได้เสียกันหรือไม่ เราในฐานะนักกฎหมายคงต้องติดตามอย่างใจระทึก
นางอารีวรรณ คิดนุนาม

อยากทราบว่า การที่คนจีน แต่งงานกับคนไทย แล้วเขาต้องการมาอยู่ในประเทศไทย เขาจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ติดต่อ สอบถาม ได้ที่ไหน ขอบคุณล่วงหน้า สำหรับ คำตอบค่ะ

 

 น่าแปลกนะครับ อยากได้เทคโนโลยีเขา เลยบังคับให้เขามาร่วมกับทุนไทยทำธุรกิจ แต่กลายเป็นปิดกั้นซะอย่างนั้น 

ผมติดใจกับคำว่า ไทยปัจจุบัน "ปิดทุกสาขา" กับต่อไปจะ "เปิดเสรี100%" ในบางสาขา

ปัจจุบันนี้หากมิใช่ธุรกิจต้องห้ามตาม พรบ. ต่างด้าวก็ประกอบธุรกิจได้นะครับ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าได้ BOI ในเขตส่งเสริมก็ซื้อ อาคาร-ที่ดินในนิคมได้

ด้วยเหตุนี้หวังว่า เปิดเสรีที่ว่า จะหมายถึง "ปลดล็อค" ตามพรบ. มิใช่ว่า ปล่อยให้เขาเทคฯได้ตามใจ หรือถือครองที่ดินตามสะดวกนะครับ

 เพื่อการนี้ควรrevise Competition Law ของเราโดยด่วนที่สุดครับ

ถ้าหากจะ revise ก็ควรจะ revise กฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนทั้งหมดให้มีแนวคิดที่เป็นไปในทางเดียวกัน

จากสถานการณ์ปัจจุบันถ้าลงทุนตามพรบ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวไม่ได้ก็ไปขอลงทุนในกฎหมายอื่น ๆ ได้อยู่ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท