การมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต


การเรียนรู้ความล้มเหลวเพื่อพัฒนาสู่ความสำเร็จอีกครั้ง




การมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก

อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

Participation of tourism management in Ban Bangrong community, Paklok Sub-district, Thalang District, Phuket Province

นางธีรกานต์ โพธิ์แก้ว1และนายสุพัฒนชัย โพธิ์แก้ว2

1สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

โทรศัพท์ 083-3270087 [email protected]

2สาขาวิชาการพัฒนาชุมชนลุ่มสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

โทรศัพท์ 087-2136122 [email protected]

Mrs.Teerakan Phokaew, Mr. Suphatnachai Phokaew

1. Community Development , Faculty of Humanities and Social Sciences Phuket Rajabhat University

Phone : 083-3270087 [email protected]

2. Social Community Development , Faculty of Humanities and Social Sciences, Phuket Rajabhat University

Tel : 087-2136122 [email protected]


บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ประชากรที่ศึกษาเป็นประชาชนในเขตพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนทั้งสิ้น 30 คน ประกอบด้วย กลุ่มผู้นำชุมชนจำนวน 3 คน กลุ่มสมาชิกจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง จำนวน 7 คน กลุ่มบุคคลทั่วไป จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ใน การวิจัย การสังเกต การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และการจัดประชุมกลุ่มตัวแทนสมาชิกจัดการท่องเที่ยว ผลการวิจัย พบว่าการมีส่วนร่วมในจัดการท่องเที่ยวชุมชนของบ้านบางโรงยังเป็นสมาชิกกลุ่มเดิม มีการจัดการท่องเที่ยวอย่างมีระบบร่วมกัน ยังคงมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้เข้าสู่กลุ่มออมทรัพย์ แม้นว่ากลุ่มจะได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทมาสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น ปัจจุบันชุมชนอยู่ในช่วงของการปรับตัวต่อ การเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและการเมืองภายในชุมชน การท่องเที่ยวของชุมชนอยู่ในช่วงที่ถดถอยอย่างมาก แต่จุดแข็งที่กลุ่มมี คือ จิตใจที่เข้มแข็งในการที่จะต่อสู้เพื่อชุมชน การจัดการภายใต้แนวคิด “ลดจุดต่าง สร้างจุดร่วม” เพื่อความยั่งยืนของชุมชน สมาชิกพร้อมที่จะเรียนรู้ความล้มเหลวเพื่อพัฒนาไปสู่ความสำเร็จอีกครั้ง สำหรับ การจัดการท่องเที่ยวชุมชนบางโรงยังคงมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยยึดธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมเป็นจุดเด่นในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนและนักท่องเที่ยวมีความต้องการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นที่ การจัดการขยะในพื้นที่ การจัดการลิงในพื้นที่ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน สร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชน การจัดการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น และสร้างความตระหนักในจิตสำนึกแห่งการรักชุมชนบ้านเกิด โดยการส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวให้มากขึ้น

คำสำคัญ:

การมีส่วนร่วม การจัดการ การท่องเที่ยวชุมชน ชุมชนบางโรง

Abstract

This research is qualitative research. The objective is to study the participation of tourism management in ban bangrong community and to study the guidelines of tourism development in the community of Ban Bangrong ,Sub-district of Paklok, Thalang District, Phuket Province. The study of people has been carried out in the village moo 3, Ban Banrong, Thalang District , Phuket Province. The sample has a total of 30 people, consisting of a group of community leaders numbering 3 people, 7 members of people managing the tourism of Ban Banrong and 20 general people The tools used in the research are observations, structured interviews and Focus Group of the members of tourism management agents. The results of this research have found that participation in the management of community tourism in Ban Bangrong is still the original groups of members. There is a systematic tourism management mutually. The benefits have been shared and put into savings groups. Although the groups are affected from the changes of rural society to urbanized society, the current community is in a period of adaptation to changes in both social and political sides within the community. The tourism of the community is in a great recession. But the strength of the group is the strong mind in order to fight for the community with the management under the concept "reserve the difference, seek the common points" for the sustainability of the community. The members are ready to learn the failure to develop and succeed again. For the tourism management of Ban Bangrong still focuses on ecotourism based on the nature, lifestyle and culture as dominant feature to promote of the tourism and guidelines for the tourism development in the community. The tourists demand for the development of infrastructures , the Solid waste management, the monkey management in the area.The most important thing is to build a common understandings of knowledge, strengthen the community, manage the learning together in order to have more understandings about the tourism in the community and develop awareness to love their community by promoting a new generation of youth to participate in the management of tourism.

Keyword:

Engagement, management, Community tourism, Ban Bangrong

1. บทนำ

การวิเคราะห์แนวโน้มการตลาดท่องเที่ยวขององค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism

Organization :WTO) คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2563 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างประเทศเป็นจำนวนประมาณ 1.5 พันล้านคน สำหรับส่วนแบ่งทางการตลาดของยุโรปจะมีสัดส่วนที่ลดลง เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวทางเอเชียแปซิฟิกเปิดตัวเพิ่มขึ้นส่งผลทำให้มีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้น และยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมเป็นลำดับที่ 2 ของโลกรองจากทวีปยุโรป โดยจะมีนักท่องเที่ยวที่ท่องเที่ยวในทวีปเอเชียประมาณ 397 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 6.5 ต่อปี ส่วนการท่องเที่ยวของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2553 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 15.9 ล้านคน (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2554: www.tat.or.th )

ปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยมีการพัฒนาเติบโตอย่างต่อเนื่อง เกิดการ

ลงทุนด้านสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว แต่ไม่มีการคิดวางแผนการจัดการและการอนุรักษ์ไว้ จึงก่อให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณี (นิศา ชัชกุล. 2555)

การจัดการท่องเที่ยวในประเทศไทยยังคงต้องยึดหลักการจัดการตามนโยบายเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยหาพื้นที่ที่มีจุดขายด้านธรรมชาติและวัฒนธรรมมารองรับ หากแหล่งท่องเที่ยวใดเสื่อมสภาพก็หันไปบุกเบิกแหล่งท่องเที่ยวใหม่ สะท้อนให้เห็นรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวที่มิได้คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อ สังคม สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น หากมีการจัดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมแล้ว จะเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังทำให้คนในท้องถิ่นได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรและวัฒนธรรม ในท้องถิ่นของตน การที่ชุมชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวในท้องถิ่นตนนั้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน (Goeldnerand Ritchie, 2006)

จังหวัดภูเก็ต"ภูเก็ต" ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามันเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีสภาพ

เป็นเกาะจึงเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามแตกต่างกันไปอยู่รอบๆเกาะรอรับนักท่องเที่ยวให้ได้มาชม มาสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวทางทะเล Sea Sand Sun และอีกหลากหลายรูปแบบที่ทางจังหวัดภูเก็ตพยายามพัฒนา และจัดสรรการท่องเที่ยวใหม่ๆ ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องขุมทรัพย์ทางธรรมชาติแห่งท้องทะเลอันดามัน คำกล่าวนี้คงไม่เกินจริง หากได้มาสัมผัสชุมชนในตำบลป่าคลอก ตำบลที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อาทิ ป่าดิบชื้น ป่าชายเลน แนวปะการัง รวมถึงสัตว์น้ำหลากหลายชนิดที่อยู่ร่วมกัน ทั้งหมดนี้เกิดจากการร่วมมือ ร่วมใจ ของคนในชุมชนชาวป่าคลอก ที่ช่วยกันพยายามฟื้นฟู พัฒนา และสร้างจิตสำนึกแห่งการอนุรักษ์ร่วมกันตลอดมา ภายใต้การขับเคลื่อนของพี่น้องในชุมชนที่มีความหลากหลายทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ หรืออิสลาม แต่วิถีปฏิบัติที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนในการพัฒนาที่ดีตลอดมา (องค์กรมหาชนและรัฐวิสาหกิจ. 2558 : 4)

ชุมชนบ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นชุมชนต้นแบบด้านการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่มุ่งเน้นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนมาเป็นเวลาเกือบ20 ปี ชุมชนมีความเข้มแข็งในการออม และสามารถนำรายได้จากการออมนั้นมาจัดสรร บริหารจัดการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันชุมชนต้องประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบทางสังคมจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพชนบทไปสู่ความเป็นเมือง ผลพวงจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย รายได้ของชุมชนไม่เพียงพอ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนลดน้อยลง ผู้นำชุมชนต่างพยายามหาทางแก้ไข โดยมุ่งหวังที่จะช่วยกันพัฒนาให้ประชาชนในชุมชนเกิดความพอเพียง มีจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกัน และอยู่ร่วมกันธรรมชาติ เพื่อให้ชุมชนบ้านบางโรงตำบลป่าคลอกสามารถจัดการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน สมาชิกมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท่องเที่ยวร่วมกัน

จากที่คณะวิจัยได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลบ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาชุมชนในการพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว พบว่าชุมชนบางโรงเป็นชุมชนที่เหมาะแก่การศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยิ่ง เพราะชุมชนบางโรงเป็นชุมชนที่ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชนมานาน เป็นชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันชุมชนเกิดภาวะวิกฤติ เกิดปัญหาในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวร่วมกัน จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ชุมชนจะต้องร่วมกันแก้ไข เรียนรู้วิกฤติเพื่อสร้างโอกาส หรือเรียนรู้ความล้มเหลวเพื่อพัฒนาไปสู่ความสำเร็จอีกครั้ง ชุมชนบางโรงจึงเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างที่พร้อมเปิดให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน เนื่องจากชุมชนบางโรงถือเป็นตัวจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนของจังหวัดภูเก็ตต่อไป

2. วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก

อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

2. เพื่อทราบแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน บ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก

อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

3. วิธีดำเนินการวิจัย

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากรคือ ประชาชนในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 3 บ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัด ภูเก็ต

กลุ่มตัวอย่าง เลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 10 คน และแบบบังเอิญ(Accidental Sampling) จำนวน 20 คน รวมทั้งสิ้น 30 คน โดยมี 3 กลุ่มดังต่อไปนี้ที่เลือกแบบเจาะจง กลุ่มผู้นำ จำนวน 3 คน กลุ่มปฏิบัติงาน จำนวน 7 คน กลุ่มนักท่องเที่ยว จำนวน 20 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

1. การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Observation) เพื่อเก็บข้อมูล โดยการสังเกตุพฤติกรรม ในการจัดกิจกรรม การสนทนาระหว่าง ผู้นำชุมชน ผู้ปฏิบัติการ และการเข้ามาท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวชุมชน สังเกตถึงกระบวนการต่างๆในการปฏิบัติงานของ ผู้นำชุมชน ผู้นำกลุ่มปฏิบัติการ ในด้านการมีส่วนร่วมในการวางแผนจัดการท่องเที่ยวของชุมชน และแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง ตลอดจน การพูดคุยซักถาม การจดบันทึก การบันทึกเสียง บันทึกภาพ

2. การสัมภาษณ์ (Interview) คือ เป็นวิธีการเก็บข้อมูลที่ผู้วิจัยใช้วิธีการสัมภาษณ์ แบบมีโครงสร้าง แบบสัมภาษณ์ชุดที่ 1 ใช้สำหรับสัมภาษณ์การมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนสำหรับกลุ่มผู้นำ และกลุ่มผู้ปฏิบัติการด้านการจัดการท่องเที่ยว แบบสัมภาษณ์ชุดที่ 2 แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวจัดการท่องเที่ยวชุมชนของบ้านบางโรงใช้สำหรับสัมภาษณ์ทั้ง 3 กลุ่ม โดยใช้แบบสัมภาษณ์และข้อคำถามในชุดเดียวกัน

3. การจัดประชุมกลุ่ม (focus Group) คือ จัดประชุมกลุ่มตัวแทนกลุ่มสมาชิกในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง โดยเน้นการเจาะข้อมูลถึงประเด็นปัญหาที่เฉพาะเจาะจงโดยมีผู้วิจัยคอยจุดประเด็นในการสนทนา เพื่อชักจูงให้กลุ่มเกิดแนวคิดและแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นหรือแนวทางการสนทนาอย่างกว้างขวางละเอียดลึกซึ้ง ผู้วิจัยใช้การประชุม “กลุ่มจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง” โดยคัดเลือกจากตัวแทนจากสมาชิกทั้งหมดจำนวน 7 คน เข้าร่วมประชุมกลุ่ม เพื่อทราบถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชน และหาแนวทางการพัฒนาการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนร่วมกัน

4.วิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้นำข้อมูลจากการสังเกต (Observation) การสัมภาษณ์ (interview) และการประชุมกลุ่ม (focus Group) ตลอดจนการศึกษาบริบททั่วไปของหมู่บ้าน มาวิเคราะห์ข้อมูลและเนื้อหา ( Content analysis) โดยใช้กรอบแนวคิดวิจัยที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มจัดการการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรงเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนตรงประเด็นและจัดเนื้อหาตามหมวดหมู่ของเนื้อหาอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลที่รวบรวมโดยมีการเชื่อมโยงประเด็นต่างๆให้เป็นเรื่องเดียวกันมาเปรียบเทียบซึ่งกันและกันตามประเด็นต่างๆที่ต้อง

4. ผลการวิจัยและอภิปรายผล

4.1 ผลการวิจัย

1. การมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก

อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

จากการศึกษาข้อมูลโดยใช้เครื่องมือการสังเกต การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง พบว่า โครงสร้างองค์กรของการท่องเที่ยวใช้การบริหารในรูปแบบคณะกรรมการดำเนินการกลุ่มออมทรัพย์ อัล-อามานะห์ บ้านบางโรง เป็นแกนหลักในการดูแล และสมาชิกเกี่ยวข้องดำเนินงาน 10 คน ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เหรัญญิก กรรมการดำเนินงาน และเลขานุการ สำหรับการจัดการด้านการท่องเที่ยว กลุ่มผู้บริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวได้ตัดสินใจร่วมกันว่าควรจะมีการเคลื่อนย้ายสถานที่ทำการ จากเดิมที่ตั้งของกลุ่มที่ดูแลด้านการท่องเที่ยวจะขึ้นตรงต่อกลุ่มคณะกรรมการที่ดูแลมัสยิด แต่ปัจจุบันคณะบริหารจัดการท่องเที่ยวชุมชนได้ย้ายกลุ่มการท่องเที่ยวมาอยู่ที่กลุ่มออมทรัพย์ เพราะกลุ่มที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยวเดิมเป็นกลุ่มที่จัดการเรื่องออมทรัพย์ด้วย

เมื่อเกิดปัญหาข้อตกลงด้านการจัดการที่ไม่ลงตัว ทำให้ชุมชนได้ปิดทำการท่องเที่ยวมาแล้วประมาณเกือบปี ชุมชนพึ่งจะเปิดให้มีการรับนักท่องเที่ยว และเริ่มอนุญาตให้นักศึกษามาเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวชุมชนได้ ถ้าเทียบกับอดีตต้องยอมรับว่านักท่องเที่ยวลดจำนวนลงไปมาก เกิดจากการอ่อนแอของกลุ่ม และทิศทางการบริหารจัดการที่ยังไม่แน่นอน แต่กลุ่มผู้บริหารคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่น่าจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น คณะกรรมการรวมถึงสมาชิกพร้อมที่จะให้ทุกๆ คนได้เรียนรู้ถึง ชุมชนที่บริหารจัดการได้ประสบความสำเร็จสูงสุดที่ต้องมาประสบกับปัญหาการบริหารจัดการที่ล้มเหลวเพราะคนในชุมชนไม่เข้มแข็งพอ เกิดจากบริบทของความเป็นเมืองที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว หรือการวางแผนที่ไม่รัดกุมเพราะขาดการวางแผนที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็เป็นปัญหาที่ทางชุมชนจะต้องหันกลับมาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข และช่วยกันวางแผนพัฒนากันใหม่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอีกครั้งหนึ่ง เพื่ออนาคตของลูกหลาน และไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำขึ้นอีก นั่นคือสิ่งที่กลุ่มคาดหวัง และกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วน ภายใต้แนวคิด “ตั้งต้นใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อความยั่งยืนของชุมชน” ด้วยกระบวนการ เรียนรู้อดีต แก้ไขปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต

จากการประชุมกลุ่มทำให้ทราบว่าการมีส่วนร่วมในการวางแผนของกลุ่ม ส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามนโยบายของคณะกรรมการ การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชนในปัจจุบันแม้นจะดูว่ามีปัญหามากกว่าในอดีต แต่กลุ่มการท่องเที่ยวชุมชนยังคงมีความเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อปัญหาที่เข้ามา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง แต่กลุ่มบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนยังเป็นคณะกรรมการชุดเดิม ที่เปลี่ยนแปลงก็จะเป็นเพียงสถานที่ดำเนินการของกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงจากมัสยิด มาเป็นกลุ่มออมทรัพย์ คณะกรรมการทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการดำเนินงานร่วมกัน การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติจะมีการแบ่งงานตามหน้าที่รับผิดชอบ การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ ในอดีตชุมชนค่อนข้างได้รับผลประโยชน์ในการจัดการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ เพราะได้รับผลประโยชน์จากการเก็บค่าเช่าจากท่าเทียบเรือ

“...ปัจจุบันเทศบาลได้รับหน้าที่ในการดูแลเก็บผลประโยชน์แทนชุมชน และการมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดเดิมในการจัดการดูแลเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มผู้บริหารยังรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชุมชน การสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ กลุ่มยังคงได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม กิจกรรมต่างๆ สำหรับการท่องเที่ยวชุมชนยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเท่าที่ควร” (นายจีรศักดิ์ ท่อทิพย์. สัมภาษณ์ 7 กุมภาพันธ์ 2560)

ปัญหาและอุปสรรค์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานการจัดการท่องเที่ยวชุมชน ปัญหาหลักจะเป็นเรื่องการเมืองภายในชุมชน ยกตัวอย่างท่าเทียบเรือเดิมนั้นเป็นของมัสยิดซึ่งเป็นการบริหารจัดการร่วมกันของชุมชน ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการท่าเทียบเรือ มีการร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ไปเป็นสวัสดิการต่างๆ ให้กับสมาชิกในชุมชน และสามารถนำเงินรายได้ไปสร้างร่วมสร้างมัสยิดได้ถึง 2 แห่ง แต่ปัจจุบันชุมชนหมดสัญญา เกิดการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสิ้นสุดระยะเวลาการต่อสัญญาท่าเทียบเรือ ทำให้ท่าเทียบเรือได้รับโอนไปสู่การดูแลของเทศบาลตำบลป่าคลอก ในช่วงที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ส่งผลกระทบในเชิงลบ ทั้งด้านความไม่เข้าใจกัน ผลประโยชน์ที่ลดลง การหย่อนยานในเรื่องกฎระเบียบ การไม่มีการวางแผนพัฒนาให้มีความต่อเนื่องขาดการเชื่อมต่อระบบบริหารจัดการของคนรุ่นใหม่จึงถือเป็นปัญหา และเป็นจุดอ่อนของกลุ่ม จนส่งผลทำให้กลุ่มได้ปิดการท่องเที่ยวชุมชนมาแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

“...ปัญหาครั้งนี้จึงถือเป็นวิกฤติของชุมชน แต่สิ่งสำคัญ คือ เป็นบทเรียนที่ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ และเริ่มหันมาทบทวนหาวิธีการแก้ไข สร้างความเข้มแข็ง สร้างพลังชุมชนขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้ความคาดหวังว่าชุมชนบางโรงจะกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง โดยผู้นำจะมีการถอดบทเรียนร่วมกับสมาชิกภายในชุมชน หัวข้อ “เรียนรู้ความล้มเหลว เพื่อพัฒนาและสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน” (นายเสบ เกิดทรัพย์. สัมภาษณ์ 2 มีนาคม 2560)

นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันการจะเดินทางไปเกาะยาวน้อยจะต้องมาขึ้นที่ท่าเรือบ้านบางโรง ส่งผลให้จุดต้อนรับนักท่องเที่ยวในบริเวณป่าชายเลน คับแคบ เพราะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง และยังสามารถเดินทาง ทางเรือไปเที่ยวต่อที่ชุมชนเกาะยาวน้อย ชุมชนจึง อยากให้มีการจัดระเบียบเรื่องป้าย ในส่วนของป้ายบอกทางและป้ายเตือนนักท่องเที่ยวเป็นภาษาอังกฤษ และปัญหาในเรื่องของการจัดระเบียบการเข้าออกของรถ และรถแท็กซี่ เมื่อมีรถแท็กซี่มิเตอร์เข้ามา ส่งผลให้รถแท็กซี่ป้ายเขียวซึ่งเป็นรถแท็กซี่ชุมชนไม่ค่อยมีงาน เนื่องจากปัจจุบันถนนค่อนข้างแคบ ส่งผลการการจราจรติดขัด และปัญหาประชากรลิงที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

ความประทับใจในการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรงซึ่งเป็นความคิดเห็นจากนักท่องเที่ยว คือ ธรรมชาติสวยงาม ป่าโกงกางอุดมสมบูรณ์ อาหารทะเลสดอร่อย กิจกรรมที่ชื่นชอบ คือ ล่องเรือชมธรรมชาติ พายเรือแคนนู ดูลิง จับหอย ปู ปลา ชมป่าโกงกาง ชมฟาร์มแพะ

2. แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน บ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก

อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

จากการสัมภาษณ์พบว่าการจัดการด้านการท่องเที่ยว กลุ่มพยายามส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักในเรื่องการอนุรักษ์ทั้งในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เพื่อสร้างความยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยวชุมชน ความรับผิดชอบต่อสังคมของกลุ่ม ทุกปีคณะผู้บริหารจะมีการแจกทุนการศึกษาให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีทั้งทุนภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เรียนรู้ด้านภาษา และการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยมุ่งหวังให้เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสา ต้องการพัฒนาชุมชน เป็นการส่งต่อความดีจากรุ่นสู่รุ่น และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวภายในพื้นที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ร่วมกัน เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวร่วมกัน สร้างความตระหนักแห่งการมีส่วนร่วมรับผลประโยชน์ภายในพื้นที่ และรู้จักแบ่งปันผลประโยชน์สู่ชุมชน

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวพบว่าควรมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้มีความสะดวก เพื่อรองรับต่อจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สำหรับทางเข้าที่จะเข้าไปดูป่าชายเลนควรมีการพัฒนาให้มีความแข็งแรง สวยงาม จากการสังเกตการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวพบว่าลิงในพื้นที่มีเป็นจำนวนมาก มีการกระชากของ แยกเขี้ยว ก่อกวนนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจึงให้สัมภาษณ์ว่าควรมีการควบคุมประชากรลิง จัดระเบียบลิง เพราะลิงมีจำนวนมาก หากจัดการได้จะทำให้ชุมชนน่าท่องเที่ยวมากขึ้น ควรมีการขยายที่จอดรถให้เป็นที่สาธารณะที่ชุมชนสามารถใช้ร่วมกันได้ ควรมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จัดทำสื่อสร้างสรรค์ด้านการท่องเที่ยวชุมชนให้มากขึ้น ควรมุ่งเน้นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ เพื่อรักษาทรัพยากรให้มีความอุดมสมบูรณ์ ฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชน พัฒนาร้านอาหารให้มีความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ สะอาด ปลอดภัย ส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักในเรื่องการจัดการท่องเที่ยวชุมชน รักษาความสะอาด พัฒนาให้ชุมชนน่าอยู่ และควรมีการพัฒนาด้านภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาอื่นๆ สำหรับสมาชิกชุมชนที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ควรมีการพัฒนาที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว เพิ่มเติม และพัฒนาให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

1. การมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก

อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

การมีส่วนร่วมในการวางแผนของกลุ่ม ส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามนโยบายของคณะกรรมการ การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชนในปัจจุบันแม้นจะดูว่ามีปัญหามากกว่าในอดีต แต่กลุ่มการท่องเที่ยวชุมชนยังคงมีความเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อปัญหาที่เข้ามา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับ อภิรมย์ พรหมจรรยาและชุติมา ต่อเจริญ (2548) จากการศึกษาพบว่าการจัดการท่องเที่ยวชนบทในพื้นที่นั้นมักจะประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาเสมอ จนส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนประชาชน ในท้องถิ่นต้องหาทางออก และทางเลือกของการท่องเที่ยวที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของชุมชน และงานวิจัยของวีระศักดิ์ กราปัญจะ (2554 : 228-244) ได้ทำการศึกษาเรื่องรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ชุมชนบ้านอ่าวท่าเลน บ้านท่าพรุ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ พบว่าการจัดการท่องเที่ยวชุมชนของบ้านท่าเลนมีความเหมาะสมแต่ยังขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน จึงควรมีการออกกฎเกณฑ์ กติกา ให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน หรือออกเป็นข้อบัญญัติของตำบล เพื่อบังคับใช้ให้ครอบคลุมทุกด้าน การบริหารจัดการการท่องเที่ยวควรอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการ และกิจกรรมการท่องเที่ยวควรเกี่ยวเนื่องกับประเพณีวิถีชีวิตของคนในชุมชน หรือการประกอบอาชีพของชุมชน แนวทางการพัฒนาควรมีการถ่ายทอดความรู้เรื่องการท่องเที่ยว ความรู้ด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้านเครือข่ายท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ ความปลอดภัย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวด ปัญหาที่พบ คือ ชุมชนขาดการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว จึงควรส่งเสริมให้ความรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภายในชุมชน

กลุ่มบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนยังเป็นคณะกรรมการชุดเดิม ที่เปลี่ยนแปลงก็จะเป็นเพียงสถานที่ดำเนินการของกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงจากมัสยิด มาเป็นกลุ่มออมทรัพย์ คณะกรรมการทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการดำเนินงานร่วมกัน การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติจะมีการแบ่งงานตามหน้าที่รับผิดชอบ การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ การมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านบางโรงเน้นการบริหารจัดการที่ตั้งอยู่บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ยึดความพอมีพอกินพยายามต้านทานกระแสวัตถุนิยม ยึดหลักการอนุรักษ์เพื่อชีวิต พึ่งตนเอง มีกองทุนออมทรัพย์ที่เข้มแข็ง กระจายรายได้สู่ชุมชน มีเหตุมีผลเรียนรู้ความขัดแย้งเพื่อจัดการไม่ให้เกิดความแตกแยก ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รู้คุณค่า รู้รักษา รู้จักพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีส่วนร่วมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำงานเป็นหมู่คณะโดยตัวแทนในชุมชน

2. แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน บ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก

อ.ถลาง จ.ภูเก็ต การจัดการด้านการท่องเที่ยว กลุ่มพยายามส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักในเรื่องการอนุรักษ์ทั้งในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เพื่อสร้างความยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยวชุมชน ความรับผิดชอบต่อสังคมของกลุ่ม ทุกปีคณะผู้บริหารจะมีการแจกทุนการศึกษาให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีทั้งทุนภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เรียนรู้ด้านภาษา และการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยมุ่งหวังให้เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสา ต้องการพัฒนาชุมชน เป็นการส่งต่อความดีจากรุ่นสู่รุ่น สอดคล้องกับทฤษฎีนิเวศวิทยาวัฒนธรรมของสจ๊วด ที่กล่าวว่าวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมวางอยู่บนรากฐานแห่งความมีเหตุผล เพราะสภาพการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลต่อวัฒนธรรม วิถีชีวิต ส่งผลให้เกิดการปรับตัว แต่ละพื้นที่จึงมีวิธีการแก้ไขปัญหา และมีวิวัฒนาการที่แตกต่างกัน แนวคิดนี้เน้นความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับสภาพแวดล้อมว่ามีความแนบแน่นใกล้ชิดและทั้งสองอย่างนี้ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน มนุษย์จำเป็นต้องปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป หากแต่รูปแบบและวัฒนธรรม ประสบการณ์ วิถีชีวิตและประเพณีบางอย่างจะยังคงอยู่ ด้วยการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง

ชุมชนเป็นฐานทรัพยากรที่มีความอุมดสมบูรณ์ เอื้อต่อการจัดการท่องเที่ยวชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ป่าดิบชื้น น้ำตกบางแปที่สวยงาม หญ้าทะเล และป่าโกงกาง จึง ควรมีการพัฒนา รักษาสภาพป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ สวยงาม ควรมีการควบคุมประชากรลิง จัดระเบียบลิง เพราะลิงมีจำนวนมาก บางครั้งลิงก็รบกวนนักท่องเที่ยว ควรมีการขยายที่จอดรถให้เป็นที่สาธารณะที่ชุมชนสามารถใช้ร่วมกันได้ เพื่อป้องกันการบุกรุกจากนายทุน ควรมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จัดทำสื่อสร้างสรรค์ด้านการท่องเที่ยวชุมชนให้มากขึ้น ควรมุ่งเน้นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ เพื่อรักษาทรัพยากรให้มีความอุดมสมบูรณ์ สอดคล้องกับแนวคิดการจัดการท่องเที่ยวชุมชนของสินธุ์ สโรบล (2546) ที่ได้เสนอปัจจัยสำคัญในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนว่าการจะจัดการท่องเที่ยวชุมชนนั้น ชุมชนต้องมีฐานทรัพยากรที่เป็นต้นทุนสำคัญ ได้แก่ ทุนทางธรรมชาติ ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ทุนทางภูมิปัญญา และทุนทางเศรษฐกิจ และสุดท้ายการท่องเที่ยวชุมชนควรนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชน ต้องทำให้ชุมชนมีวิถีชีวิตเป็นอยู่อย่างอิสระ มีศักดิ์ศรี ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงการจัดสรรประโยชน์ให้เป็นธรรมโดยการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงให้กับคนในชุมชน

5. ข้อเสนอแนะ

1. ควรมีการศึกษาการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่อื่นๆ หรือแนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนในรูปแบบเครือข่ายกลุ่มจังหวัด เพราะจะทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ เปรียบเทียบ และมีโอกาสพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนร่วมกัน

2. ควรมีการศึกษาผลกระทบด้านการท่องเที่ยวชุมชน และปัจจัยสำคัญด้านการจัดการการท่องเที่ยวที่จะทำให้ชุมชนประสบความสำเร็จในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน

6. กิตติกรรมประกาศ (ถ้ามี)

คณะผู้วิจัยขอขอบคุณท่าน ผศ.ดร.กุลวรา สุวรรณพิมลที่ปรึกษาโครงการวิจัย คณะผู้บริหาร คณะที่ปรึกษาจากราชบัณฑิต รวมถึงทีมงานจากสำนักวิจัยและพัฒนา ที่ให้คำปรึกษา ส่งเสริม ให้กำลังใจในการวิจัยในครั้งนี้ และขอขอบคุณนายเสบ เกิดทรัพย์ ประธานการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง พร้อมคณะบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง ผู้นำชุมชน และสมาชิกชุมชนบ้านบางโรงทุกท่าน รวมถึงผู้ที่มีส่วนร่วมในการวิจัย ผู้สนับสนุน เครือข่ายการจัดการท่องเที่ยวชุมชนในทุกภาคส่วน และสุดท้ายขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตผู้ที่สนับสนุนหลักทำให้งานวิจัยนี้สำเร็จเสร็จสิ้นตรงตามเป้าหมายการวิจัย

7. บรรณานุกรม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2554) กำหนดมาตรฐานบริการท่องเที่ยวมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย

พ.ศ.2554 www.tat.or.th ค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2559.

นิศา ชัชกุล. (2555) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัย

เจตนิพัทธ์ ศรีขน. (2559) การมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านป่าคลอกของกลุ่ม

เยาวชน “รักษ์บ้านเรา” ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต. ศิลปศาสตรบัณฑิต ภูเก็ต :

สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ

ภูเก็ต.

วีระศักดิ์ กราปัญจะ. (2554) รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ป่าชุมชน

บ้านอ่าวท่าเลน บ้านป่าพรุ ตำบลเขาทอง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่. สาขาวิชา

ส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ค้นเมื่อ 14

กุมภาพันธ์ 2560 http://www.stou.ac.th/offices/ord/pac/file/agr5.pdf.

สินธุ์ สโรบล. (2546) การท่องเที่ยวโดยชุมชนแนวคิดและประสบการณ์พื้นที่ภาคเหนือ. โครงการ

ประสานงานวิจัยและพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวและชุมชน. สำนักงานกองทุนสนับสนุน

งานวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค เชียงใหม่ : วนิดา เพรส.

สุถี เสริฐศรี. (2558) แนวทางการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชนคลองโคน อำเภอเมือง

จังหวัดสมุทรสงคราม. กรุงเทพฯ : ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ

อุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ.

อภิรมย์ พรหมจรรยาและชุติมา ต่อเจริญ (2548) โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชนบท จังหวัด

ภูเก็ต. สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์. ค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2560

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

http://rir.nrct.go.th/rir/?page=researching&nid=88...

องค์กรมหาชนและรัฐวิสาหกิจ. (2560) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม

2560, www.mnre.go.th

ประวัติผู้วิจัย

1. ประวัติส่วนตัว

ชื่อ-นามสกุล

นางธีรกานต์ โพธิ์แก้ว

ตำแหน่งปัจจุบัน

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน

วัน เดือน ปี เกิด

09/01/2523

ที่อยู่ปัจจุบัน

15/142 หมู่บ้านเทพบุรี ซอย 3/1 ถนนรัษฎานุสรณ์

ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต 83000

เบอร์โทรศัพท์มือถือ

083-3270087

2. ประวัติการศึกษา

ปี พ.ศ.ที่จบ

วุฒิการศึกษา

สาขาวิชา

สถาบันที่จบ

2545

บธ.บ.

การบัญชี

ม.มหาสารคาม

2549

ศศ.ม.

ยุทธศาสตร์การพัฒนา

มรภ.มหาสารคาม

2552

ปร.ด.

วัฒนธรรมศาสตร์

ม.มหาสารคาม

3. ประวัติการทำงาน

ช่วงปี พ.ศ.

ตำแหน่ง

หน่วยงาน

2552-2554

อาจารย์กลุ่มสังคม และหัวหน้าฝ่ายตรวจ

สอบภายใน

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

2555-2558

อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยเขตกาฬสินธุ์

2558-ปัจจุบัน

อาจารย์สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

4. ผลงานด้านการวิจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว. (2558). วัฒนธรรมสร้างสรรค์ : ภูมิปัญญาการเพ้นท์ผ้าฝ้ายจากสมุนไพร

ไทยสู่นวัตกรรม การประชุมวิชาการ การนำเสนอผลงานระดับชาติและนานาชาติ

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ครั้งที่ 5:2558 “อนาคตของการพัฒนาชุมชนสู่ความ

มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 24-25 ธันวาคม 2558 ณ โรงแรมเซ็นทารา

แอนด์ คอนเวนชั่นเซนเตอร์ จังหวัดขอนแก่น.

งานวิจัยที่กำลังดำเนินการ

ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว. (2559). ไหมหอม : วัฒนธรรมสร้างสรรค์การต่อยอดภูมิปัญญาสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

ความงามของกลุ่มสตรีบ้านโนนเกษตร อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม. ศรีวนาลัย

วิจัยการประชุมวิชาการระดับชาติ และนานาชาติ “ราชภัฏวิจัย ครั่งที่ 4” ปีที่ 6 ฉ.พิเศษ

1/2559 หน้า 32-40

สกล ชัยนิตพันธ์ และธีรกานต์ โพธิ์แก้ว. (2559) รายงานการวิจัยเรื่อง “แนวทางการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยว

เชิงสุขภาพ ชุมชนม่าหนิก เขื่อนบางเหนียวดำ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัด

ภูเก็ต”ภูเก็ต : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต. การนำเสนอผลงาน

ระดับชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ครั้งที่ 8 “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสู่โลกาภิวัตน์”

วันที่ 15 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต. หน้า 121

ประวัติผู้วิจัย

1. ประวัติส่วนตัว

ชื่อ-นามสกุล

นายสุพัฒนชัย โพธิ์แก้ว

ตำแหน่งปัจจุบัน

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน

วัน เดือน ปี เกิด

19/05/2507

ที่อยู่ปัจจุบัน

15/142 หมู่บ้านเทพบุรี ซอย 3/1 ถนนรัษฎานุสรณ์

ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต 83000

เบอร์โทรศัพท์มือถือ

087-2136122

2. ประวัติการศึกษา

ปี พ.ศ.ที่จบ

วุฒิการศึกษา

สาขาวิชา

สถาบันที่จบ

2545

ศศ.บ.

รัฐประศาสนศาสตร์

มรภ.มหาสารคาม

2549

ศศ.ม.

ยุทธศาสตร์การพัฒนา

มรภ.มหาสารคาม

2552

ปร.ด.

ยุทธศาสตร์การพัฒนา

มรภ.มหาสารคาม

3. ประวัติการทำงาน

ช่วงปี พ.ศ.

ตำแหน่ง

หน่วยงาน

2552-2554

อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตยุทธศาสตร์การพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

2556-2558

อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขต

กาฬสินธุ์

2558-ปัจจุบัน

อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

4. ผลงานด้านการวิจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ

งานวิจัยที่ทำเสร็จแล้ว

สุพัฒนชัย โพธิ์แก้ว และคณะ. (2557). ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อชุมชน เพื่อ

ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของเทศบาลตำบลกลางหมื่น อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์.

คณะเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์.

งานวิจัยที่กำลังดำเนินการ

สุพัฒนชัย โพธิ์แก้ว (2559). ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กรณีศึกษา : การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมร้อนของระบบระบายอากาศ

คอมเพรสแอร์. ภูเก็ต : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต.


หมายเลขบันทึก: 629365เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2017 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2017 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การท่องเที่ยวชุมชน สู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลางในการปรึกษาหารือ

ใช้การพูดคุยแบบปรองดอง ที่ บากันเคย ตันหยงโป สตูล

ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว

กราบขอบพระคุณมากค่ะ สำหรับตัวอย่างกรณีศึกษา และความรู้ดีๆ ที่ได้ช่วยแบ่งปัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท