​มหาวิทยาลัยต้องเป็นสังคมที่มีความไว้วางใจกัน



วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๐ ผมไปที่มหาวิทยาลัยบูรพา โดยได้รับเชิญไปคุยกับอาจารย์และพนักงาน ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เรื่องคุณธรรมจริยธรรม ไปรับฟังบรรยากาศและเรื่องราวของมหาวิทยาลัยบูรพา ทั้งจากอาจารย์ในณะมนุษยศาสตร์ฯ และจากการบรรยายของท่านผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี รศ. ดร. สมนึก ธีระกุลพิศุทธิ์ ทำให้ผมเขียนบันทึกนี้ ด้วยความเศร้าใจ ที่บรรยากาศในมหาวิทยาลัยนี้ในปัจจุบันเป็นบรรยากาศของสังคมที่ ไม่ไว้วางใจกัน


รศ. ดร. สมนึกกล่าวถึงจรรยาบรรณต่อกันและกัน และโอกาสทำงานเชิงบวกที่มีน้อย เพราะมีเรื่องร้องเรียน ฟ้องร้องมากมาย ท่านกล่าวถึงหน้าที่ช่วยชาติ คิดถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ เพิ่มจากการประกอบการงานเลี้ยงชีพ


ทำให้ผมนึกถึงจรรยาบรรณต่อตนเอง จรรยาบรรณเชิงบวก มุมมอง/เป้าหมายระยะยาวในชีวิต self actualization เป้าหมายอันทรงคุณค่าร่วมกัน ร่วมกันใช้ความสามารถพยายามทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง


การทำงานพร้อมกับสร้างบรรยากาศเชิงบวก ปฏิสัมพันธ์เชิงบวก ที่สมาชิกร่วมกันรับผล และภาคภูมิใจ เกิดความสุข ความรักใคร่ มีไมตรีจิตต่อกัน


เครื่องมือพัฒนาจริยธรรม คือการทำกิจกรรมเพื่อผู้อื่น แล้ว reflect เข้าไปในจิตใจ เพื่อสร้างและสั่งสม จิตใจที่ดีงาม มีความพึงพอใจในชีวิต นี่คือการมีจรรยาบรรณต่อตนเอง ทำให้ตนเองงอกงามและสั่งสม ความดีงามในจิตใจ และสั่งสมพลังความดีให้ตนเองไม่ถูกสั่นคลอนด้วยกิเลส และความชั่วร้ายทั้งหลาย ที่ฝรั่งเรียกว่ามี integrity


ผมได้ชี้ให้เห็นว่า เรื่องคุณธรรมจริยธรรมนั้น นอกจากช่วยให้คนในสังคม ในสถาบัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขแล้ว ยังช่วยให้บุคคลสั่งสมบุญบารมีส่วนตัว ช่วยให้มีชีวิตที่ดีในระยะยาว


ผมแทบไม่เชื่อหูตนเอง ว่าอดีตคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ที่ไปจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ถูกให้ออกจากงาน เพราะทุจริตในการซื้อของขวัญสำหรับนำไปมอบแก่หน่วยงานคู่ร่วมมือในต่างประเทศ ท่านผู้นี้ผมรู้จักดีและไม่คิดว่าจะเป็นคนเช่นนี้


แต่ตอนนั่งรถกลับ โชเฟอร์ของคณะฯ บอกว่า ปัญหาหลักคือผลประโยชน์ ในลักษณะที่คนพูดกันว่าเป็น ผลประโยชน์อันมิชอบ


ก่อนเสวนากัน ผมเปิด วีดิทัศน์นี้ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมชม


เราคุยกันเรื่องคุณธรรมจริยธรรมระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา และหน้าที่ของอาจารย์ในการสร้างบรรยากาศ ปลอดภัยในห้องเรียน ที่นักศึกษารู้สึกปลอดภัยที่จะเสนอความคิดเห็นของตนโดยไม่กังวลว่าจะถูกเยาะเย้ย ที่อาจารย์มนตรีเล่าว่า ตนจงใจสร้างบรรยากาศเช่นนั้น โดยการแสดงให้เห็นว่าอาจารย์เองก็ไม่ใช่คนที่สมบูรณ์ มีผิดพลาดได้ ทำให้นักศึกษาไม่รู้สึกเคร่งเครียด ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น


ผมขอย้ำว่า คุณธรรมจริยธรรมของอาจารย์ส่วนที่จำเป็นยิ่งมี ๓ ส่วน คือต่อองค์กร/สถาบัน รวมทั้งเพื่อนร่วมงาน, ต่อศิษย์, และต่อตนเอง

ในบรรยากาศของความขัดแย้งด้วยกิเลสตัณหา ผลประโยชน์ คนทำงานสามารถมีสันติสุข มีความภาคภูมิใจในการทำงานเพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของตนได้ ดังกรณีอาจารย์ มีความสุขจากการเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา ... ครูเพื่อศิษย์



วิจารณ์ พานิช

๒๗ เม.ย. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 628953เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2017 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2017 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมชอบและเชื่อมั่น และพยายาม จะยืนยัน ในสองประเด็นที่ท่านเขียนครับ ๑) การทำเพื่อส่วนรวมและผู้อื่นจะทำให้จิตใจงอกงาม และ ๒) การบำเพ็ญประโยชน์นั้นเป็นการสั่งสมบารมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท