วิสัยทัศน์


วิสัยทัศน์

ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์ (Vision) คือ เป้าหมายขององค์กรในช่วงเวลา
ระยะกลางถึงระยะยาว (ประมาณ 3-10 ปี) โดยปกติวิสัยทัศน์ที่ดีจะประกอบด้วย

1. เป้าหมายระยะยาว (Stretch goal) เป้าหมายขององค์กร
ควรเป็นตำแหน่งขององค์กรที่แตกต่างจากปัจจุบัน แสดงถึงความทะเยอทะยานขององค์กร

2. ตำแหน่งขององค์กรในตลาด (Definition of niche)
ตำแหน่งขององค์กรเชิงธุรกิจในตลาด

3. ช่วงเวลา (Time horizon) ช่วงเวลาที่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์บรรลุผลสำเร็จ

ความสำคัญของวิสัยทัศน์

1. ช่วยกำหนดทิศทางและเป้าหมายขององค์กร

2. สื่อสารให้บุคลากรทราบว่าบุคลากรแต่ละท่านมีส่วนร่วมที่จะทำองค์กรมุ่ง|
ไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างไร

3. ช่วยกระตุ้นให้บุคลากรมีความตระหนัก ผูกพัน และมุ่งมั่นปฏิบัติ

4. สื่อสารให้องค์กรภายนอกหรือคู่ค้าทางธุรกิจทราบถึงบทบาทและส่วนร่วมในการผลักดันให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย

กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์

1. ขั้นเตรียมการ

เป็นขั้นตอนการสร้างความรู้ความเข้าใจ ความสำคัญ และวิธีการจัดทำวิสัยทัศน์

2. ขั้นดำเนินการสร้างวิสัยทัศน์

2.1 รวบรวมข้อมูลพื้นฐานขององค์กร เช่น เป้าหหมาย พันธกิจ ความคาดหวังและความต้องการของลูกค้าและคู่ค้า เป็นต้น

2.2 วิเคราะห์สถานภาพปัจจุบันขององค์กร เพื่อให้ผู้บริหารเข้าใจและทราบถึงสถานภาพปัจจุบันขององค์กร

2.3 นำมุมมองของผู้บริหารแต่ละท่านมารวมและเชื่อมโยงกัน (Share and Relate the Dreams) และจัดลำดับความสำคัญ

2.4 คัดเลือกและตัดสินใจอนาคตขององค์กรที่เป็นความฝันของทีมผู้บริหาร

2.5 ทบทวนประโยคและสำนวนให้สื่อความหมายที่ชัดเจน ปลุกเร้า ท้าท้าย และสร้างพลัง

3. ขั้นนำวิสัยทัศน์ไปปฏิบัติ

สื่อสารให้บุคลากรได้รับทราบและเข้าใจตรงกัน มีภาพในอนาคตที่เหมือนกัน

4. ขั้นประเมินวิสัยทัศน์

ทบทวนความเหมาะสมของวิสัยทัศน์ตามลักษณะของสภาพแวดล้อมภายนอกและสถานภาพในปัจจุบันขององค์กร

ตัวอย่างของวิสัยทัศน์

เป็นผู้เชี่ยวชาญหนึ่งในสี่ของธุรกิจภายใน 5 ปี มีลูกค้าประเภท online ภายในปี 2000

พันธกิจ

พันธกิจ (Mission) คือ ความมุ่งหมายพื้นฐานในการจัดตั้งขององค์กร ที่จะดำเนินการในระยะยาว หรือเป็นขอบเขตในการดำเนินงาน ขององค์กรหรือบริษัทก็ได้ ดังนั้น พันธกิจจะบ่งบอกว่าธุรกิจขององค์กรคืออะไร อะไรคือสิ่งที่องค์กรต้องการจะเป็น และบางครั้งอาจจะแสดง สิ่งที่องค์กรกำลังให้บริการแก่ลูกค้าอยู่ทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ

ข้อความพันธกิจที่ดี

ข้อความของพันธกิจที่ดีต้องประกอบด้วย

1. ขอบเขตที่องค์กรจะทำ (Domain)

2. กลุ่มลูกค้าที่ต้องการจะให้บริการ (Customers)

3. ผลิตภัณฑ์หรือบริการหลักขององค์กร (Products or Services)

4. สถานที่หรือพื้นที่ที่จะดำเนินการ (Location) และ

5. ข้อความจะต้องสื่อสารถึงพนักงานในปรัชญา (Philosophy)
หรือแนวทางในการบริหารขององค์กร เพื่อพนักงานจะได้ดำเนินการ ฅ
ได้สอดคล้องกับพันธกิจขององค์กร


ประเภทของพันธกิจ

พันธกิจอาจแบ่งเป็น 2 แบบคือ

1. พันธกิจแบบแคบ (Narrow Mission) เป็นพันธกิจที่จะจำกัดขอบเขต

การดำเนินงานของบริษัทบนพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และตลาดสินค้า การวางพันธกิจ แบบนี้จะเป็นในองค์กรขนาดเล็ก ขอบเขตการทำธุรกิจจำกัดมีข้อเสีย คือ อาจเป็นการจำกัดการ เติบโตขององค์กรเอง

2. พันธกิจแบบกว้าง (Broad Mission) เป็นพันธกิจที่ขยายขอบเขตการดำเนินงานไปสู่ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และตลาดสินค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้โอกาสที่องค์กรจะเติบโตมีสูง แต่ข้อเสียบางครั้งอาจจะกว้างเกินไปจนลูกค้าหรือแม้แต่พนักงานเกิดความสับสน

ตัวอย่างของพันธกิจ

องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

“ตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยบริการที่มีคุณภาพและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเพื่อให้ลูกค้าเลือกใช้บริการจากเราเป็นอันดับแรก ส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาประเทศให้สิ่งที่เหมาะสมแก่สังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ผลตอบแทนอย่างเหมาะสมแก่ผู้ถือหุ้นและสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานแก่พนักงาน หาพันธมิตรเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจระหว่างประเทศ”

คุณค่าหรือค่านิยม

คุณค่า (Core value) คือ คุณลักษณะ และบรรทัดฐาน ที่มีความเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละองค์การ และส่งผลต่อพฤติกรรมในการปฏิบัติ งานของบุคลากรภายในองค์การ โดยกำหนดค่านิยมหลักต้องเป็นที่ปรารถนา (Desired Corporate Culture) ต่อความสำเร็จขององค์กร

-------------------

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

http://www.cpl-consult.com/Balanced%20scorecard/Vi...


ข้อเสนอเกี่ยวกับวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

ข้าพเจ้า นายถวิล อรัญเวศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๔ สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ขอเสนอวิสัยทัศน์และแนวทางพัฒนาสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ดังนี้

วิสัยทัศน์

สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นองค์กรการบริหารที่มีประสิทธิภาพในการบังคับบัญชา มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็งในการขับเคลื่อนสู่มาตรฐานการศึกษา ได้รับความเชื่อมั่นและศรัทธาจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วยการพัฒนาตามหลักธรรมาภิบาลและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง…

พันธกิจ

๑. สร้างความมั่นคงด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

๒. ยกระดับคุณภาพการศึกษาและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ

๓. เสริมสร้างศักยภาพครู นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความสามารถด้านวิชาการวิชาชีพ วิชาชีวิตตามหลักธรรมของศาสนาที่ตนนับถือ

๔. ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแก่นักเรียนผู้ยากไร้ตามแนวทางโรงเรียนประชารัฐ

๕. พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

๖. พัฒนาระบบบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล


กลยุทธ์ในการพัฒนาสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

. ประกันความมั่นคงด้านโอกาสและความเสมอภาคทาง
การศึกษาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

เสริมสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ผู้เรียนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผลที่ปลูกฝังให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะนิสัยยึดมั่นในความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ มีความรู้ด้านวิชาการ วิชาชีพและทักษะชีวิตในการหลีกเลี่ยงห่างไกลยาเสพติด สามารถแก้ปัญหาให้กับตนเองได้อย่างสันติวิธี อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

๒. ส่งเสริมสนับสนุนการยกระดับคุณภาพการศึกษาและ
สร้างความสามารถในการแข่งขัน

จัดการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนให้มีทักษะทางด้านวิชาการ วิชาชีพ
และวิชาชีวิตอย่างสมดุล ผู้เรียนมีความสามารถในการแข่งขัน
คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆที่สอดคล้องกับการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนเมือง
สถานศึกษาจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยวิธีการ
ที่หลากหลายตามแนวโครงงานและหลักอริยสัจ 4

๓. เสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนให้มีความสามารถด้าน
วิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต

จัดกระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะนิสัย
เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ได้ลงมือปฏิบัติ ค้นคว้าทดลองที่เหมาะสม
กับระดับการศึกษา ส่งเสริมให้สถานศึกษาโดยเฉพาะ
โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ฝึกฝนให้
ผู้เรียนสามารถสร้างอาชีพให้กันตนเองอย่างน้อยหนึ่งอาชีพ
และสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

๔. ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียนที่ยากจน ฅ
ขาดแคลนตามแนวทางโรงเรียนประชารัฐและ

จัดให้มีกองทุนสำหรับนักเรียนผู้ยากไร้

ส่งเสริมสนับสนุนให้มีโรงเรียนดีใกล้บ้าน ช่วยเหลือโรงเรียนที่มี
ความต้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม
จัดหากองทุนเพื่อการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ยากจนขาดแคลน
อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในพื้นที่

ที่มีความต้องการช่วยเหลือเป็นพิเศษ

๕. เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้เรียนตาม
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนทุกโรงเรียนนำหลักปรัชญา
ของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่ห้องเรียน สร้างอาชีพหนึ่งโรงเรียนหนึ่งอาชีพ
จัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปลูกฝังจิตสำนึกของความเป็นไทย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

๖. พัฒนาระบบบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล

ส่งเสริมให้สถานศึกษามีความเข้มแข็ง
กระจายอำนาจการบริหารด้านวิชาการ ด้านการพัฒนาบุคคล
ด้านการบริหารงบประมาณ และการบริหารทั่วไปเพื่อให้

สถานศึกษาสามารถปฏิบัติได้อย่างคล่องตัว และ

ส่งเสริมให้สถานศึกษาได้นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารจัดการ


ภาพแห่งความสำเร็จ

การบริหารจัดการของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
ตามหลักกลยุทธ์ 6 กลยุทธ์ จะก่อให้เกิดความสำเร็จ ดังนี้

๑. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นองค์กรบริหารการศึกษา
ที่ทันสมัย บริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ บุคลากร
มีขวัญกำลังใจตามหลักคนสำราญงานสัมฤทธิผล

๒. สถานศึกษา ได้รับการส่งเสริมสนับสนุน
ให้มีความสะดวกและคล่องตัวในการพัฒนาการเรียน

การสอน มีทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจน ภายใต้
บริบทของแต่ละสถานที่มีระบบการประกันคุณภาพภายใน

๓. สังคม/ชุมชนและท้องถิ่น มีความเชื่อมั่นต่อสถานศึกษา
และมีความกระตือรือร้นต่อการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น

๔. ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
มีความเป็นมืออาชีพ มีสวัสดิภาพและสวัสดิการที่ดีขึ้น
มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน และสามารถพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

๕. นักเรียน มีสมรรถนะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่หลักสูตรกำหนด
ได้รับโอกาสและได้รับการดูแลช่วยเหลือให้เรียนจนจบหลักสูตรการศึกษา
ขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ



บทสรุปของนักบริหารเกี่ยวกับผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จ

--------------

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๔ มีผลงานดีเด่นหลายประการเช่น การประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ (สำนักงานเขตสุจริต)ปี ๒๕๕๘ มีค่าคะแนนเฉลี่ย ๘๐.๘๑ ระดับสูงมาก ปี ๒๕๕๙ มีค่าคะแนนเฉลี่ย ๘๓.๗๗ อยู่ในระดับสูงมากเป็นที่สองของจังหวัดนครราชสีมา และคำรับรองปฏิบัติราชการ ปี ๒๕๕๙ KRS มีค่าเฉลี่ย ๔.๖๕๑๓ และ ARS มีค่าเฉลี่ย ๔.๒๒๕๒๒ รวม KRS และ ARS ค่าเฉลี่ย ๔.๔๒๐๓๘ สูงมากเป็นอันดับที่ ๑ ของจังหวัดนครราชสีมา (ภาคผนวกท้าย) ปี ๒๕๕๘-๒๕๕๙ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต ๔ ได้รับรางวัล MOE AWARDS หลายรายการทั้งประเภทบุคคล หน่วยงาน และโครงการด้านส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เศรษฐกิจพอเพียง การอนุรักษ์มรดกไทย การเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นต้น ปี ๒๕๕๘ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๔ ผลสอบ O-NET มีการพัฒนาการแบบก้าวกระโดดจนได้รับเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ บาท จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี ๒๕๕๙ โรงเรียนมากกว่า ๖๐ โรงเรียนมีผลสัมฤทธิ์หลายกลุ่มสาระมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับ สพฐ. และระดับประเทศและปี ๒๕๕๙ มีนักเรียนสองโรงเรียนได้รับรางวัลพระราชทาน และโรงเรียนอีกหนึ่งโรงเรียนได้รับรางวัลพระราชทาน ถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดก็ว่าได้แต่ที่จะนำเสนอผลงานดีเด่นครั้งนี้ จะนำผลงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในสถานศึกษามานำเสนอ เพราะเป็นงานที่สร้างคน สร้างชาติให้พ้นภัยยาเสพติด ทรัพยากรกรบุคคล ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ถ้าเยาวชนตกเป็นทาสยาเสพติดแล้วไซร้ ก็ยากที่พัฒนาประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนได้ และอีกประการหนึ่งในปัจจุบันมีภาพข่าวเกี่ยวกับยาเสพติดมาก จำต้องรณรงค์ และถือเป็นวาระแห่งชาติ ในการดำเนินงานมีสโลแกนที่ว่า ใจศรัทธา อาสาพากเพียร เรียนให้เข้าใจงาน และประสานสัมพันธ์ในการปรับปรุงพัฒนางาน และประการสำคัญคือคนสำราญ งานจะสัมฤทธิผล

ผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ เสมา ป.ป.ส.
ระดับดีเด่น ประเภทบุคคลและหน่วยงาน

โครงการสถานศึกษาป้องกันยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๗

  • สภาพปัญหา แนวคิดหรือแรงจูงใจในการจัดทำผลงาน เสมา ป.ป.ส. ระดับดีเด่น

เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของยาเสพติดและแหล่งอบายมุขเริ่มในกลุ่มหลงผิดแล้วแพร่กระจายไปสู่กลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ เข้าสู่ครอบครัวและสถานศึกษา ทำให้จำนวนคนติดยาเสพติดที่เป็นเด็กและเยาวชนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การผลิตและการจำหน่ายยาเสพติดมีเทคโนโลยีสูง และการกระจายยาเสพติดอย่างรวดเร็วจนยากในการปราบปราม มีการสร้างระบบเครือข่ายการจำหน่ายเหมือนสินค้าจำหน่ายตรงใน กลุ่มนักเรียน นักศึกษา สภาพสังคม ครอบครัว และชุมชนเปลี่ยนแปลง ทำให้วิถีชีวิตมีความเสี่ยง แตกหัก เหินห่าง และอ่อนแอการบริหารจัดการที่ขาดเอกภาพ ทำให้ต่างหน่วยงาน ต่างคนต่างทำ ขาดความต่อเนื่อง ผู้ติดยาเสพติด ยังวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความชั่วร้าย เป็นภาระของสังคม ทำให้ประเทศขาดศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก

สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดนครราชสีมาเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด ก็มีการแพร่ระบาดในหมู่ชาวบ้านค่อนช้างสูง ในอำเภอ ๓๒ อำเภอ สถานการณ์ยาเสพติดแพร่ระบาดมากในอำเภอเมืองรองลงมาอำเภอปากช่อง อำเภอครบุรี อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอปักธงชัย ฯลฯ ซึ่งอำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว และอำเภอสูงเนิน เป็นอำเภอที่ตั้งในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๔ (ข้อประชุมคณะกรรมการ ศพส.จังหวัดนครราชสีมา, ๒๕๕๖)

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ข้าพเจ้าในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบกำกับดูแล กลุ่มกิจการพิเศษ โครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข จึงมีความตั้งใจสูงที่จะนำเอานโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติจริงในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้จัดทำผลงานสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข ปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ อย่างต่อเนื่อง


ภาพปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบจากแหล่งอบายมุข

๒. วิธีดำเนินการจัดทำผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์

มีกลยุทธ์ในการดำเนินงาน ดังนี้

กลยุทธ์ที่ ๑ รณรงค์ให้ผู้บริหารสถานศึกษานำนโยบายป้องกันยาเสพติดของรัฐบาลสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา เพราะนโยบายการป้องกันปัญหายาเสพติด จัดเป็นเรื่องใหญ่ คือเป็นวาระแห่งชาติที่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติก็เพราะว่า ทุกฝ่ายจะต้องร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ จึงต้องพัฒนากลไกการบริหารจัดการ ส่งเสริมและสนับสนุนสถานศึกษาในการดำเนินงาน

กลยุทธ์ที่ ๒ กำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ โดยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และแก้ไขให้ชัดเจน จึงต้องพัฒนาคน ครอบครัว โรงเรียน และชุมชนให้เข้มแข็ง

กลยุทธ์ที่ ๓ ระดมความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยถือว่าเป็นปัญหาของตนเองต้องทำต่อเนื่องครบวงจรและผู้ชนะ คือ สถานศึกษาสีขาว จึงต้องพัฒนาสถานศึกษาให้ต่อสู้กับปัญหาทุกรูปแบบ

กลยุทธ์ที่ ๔ ส่งเสริมสนับสนุนและให้ความสำคัญในการต่อต้านยาเสพติด

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานคราชสีมา เขต ๔ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนจะต้องทำทันที แต่ต้องแก้ปัญหาสิ่งมอมเมาอบายมุขอื่นควบคู่กันไปด้วย จึงต้องพัฒนาสภาพสิ่งแวดล้อม บริการทางการแพทย์ และจิตวิทยาสังคม เพื่อมิให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งกว่าที่เป็นในปัจจุบัน

กลยุทธ์ที่ ๕ สร้างวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา

  • ผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่งตื่นตัวรณรงค์ และตระหนักถึงปัญหายาเสพติด อบายมุข สิ่งมอมเมา

การพนันและอันธพาลที่เกิดขึ้นกับ นักเรียน นักศึกษา

๒. นักเรียนที่มีพฤติกรรมเป็นผู้เสพยาเสพติดและพฤติกรรมผู้ลุ่มหลงสิ่งมอมเมา และ นักเลง มีระบบการส่งต่อให้ได้รับการช่วยเหลือ สงเคราะห์จากบ้าน สถานศึกษา และชุมชน จนกลับคืนสู่สังคมและชีวิตสงบสุข

๓. จำนวนของสถานศึกษาสีขาว ซึ่งต่อสู้กับปัญหาอบายมุขและปัญหายาเสพติดได้สำเร็จและยั่งยืนมีมากขึ้น

ภารกิจที่ต้องดำเนินการ

๑. สร้างความตระหนักและปลุกจิตสำนึกของสถานศึกษาให้ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพบริบทของโรงเรียน

๒. พัฒนาศักยภาพของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ในการประสาน/ติดตาม/ตรวจสอบเพื่อสนับสนุนสถานศึกษาต่อสู้กับปัญหายาเสพติด/อบายมุข อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

๓. ใช้การศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการป้องกัน และต้องทำให้ได้ผล มิฉะนั้น ทางการจะต้องใช้มาตรการรุนแรงขึ้นเพื่อในอนาคต ไม่ให้เกิดกรณีนักเรียน นักศึกษา เปลี่ยนจากผู้เสพมาเป็นผู้จำหน่ายมากขึ้น

ผู้รับภารกิจในระดับต่างๆ ประกอบด้วย

๑. ระดับเขตพื้นที่การศึกษา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๔ แต่งตั่งคณะทำงาน ประกอบด้วยทีมงานรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตฯ ที่กำกับดูแลศูนย์พัฒนาคุณภาพ ซึ่งจะมีโรงเรียนในศูนย์ประมาณ ๑๐-๒๐ โรงเรียน ประธานศูนย์พัฒนาคุณภาพ ๑๓ ศูนย์ ศึกษานิเทศก์ประจำศูนย์ และผู้บริหารโรงเรียนในศูนย์พัฒนาคุณภาพ เป็นกรรมการ

๒. ระดับสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาทุกสถานศึกษาเข้ามารับทราบนโยบาย และสถานศึกษาทุกแห่งแต่งตั้งคณะกรรมการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาโดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นประธาน รองผู้อำนวยการโรงเรียน หรือผู้รักษาการ เป็นรองประธาน คณะครูและบุคลาการทางการศึกษา เป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการมอบให้ครูคนหนึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่ในการป้องกันแก้ไขและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด
ในสถานศึกษา

แนวปฏิบัติในการป้องปราม อบายมุข การพนัน และการทะเลาะวิวาทในสถานศึกษา

บทบาทของสถานศึกษา

๑. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการ ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู บุคลากร สภานักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อจัดกิจกรรม

๒. จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียน สนุกท้าทายและเอาใจใส่การเรียน

๓. ประกาศนโยบายของสถานศึกษาให้ชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีและที่ไม่พึงปรารถนา

๔. ติดต่อสถานีตำรวจในพื้นที่เพื่อประสานงานขอความร่วมมือในกรณีเกิดเหตุ

๕. บันทึกประจำวันและรายงานเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อลงมือแก้ไขให้ทัน

๖. เชิญผู้ปกครองมาร่วมโครงการของสถานศึกษาสม่ำเสมอ

๗. กำชับให้ครู ทุกคนเป็นต้นแบบพฤติกรรมที่ดี

๘. เชิญวิทยากรในชุมชนมาร่วมกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม

๙. จัดกิจกรรมนักเรียน ให้ทำงานเป็นกลุ่มและกิจกรรมโครงการห้องเรียนสีขาว

บทบาทสำหรับนักเรียน

. จัดกิจกรรมนักเรียนนักศึกษาเพื่อรณรงค์ต่อต้านอบายมุข การพนันและการทะเลาะวิวาท

๒. คณะกรรมการ/สภานักเรียน นักศึกษา จัดกิจกรรมด้านความปลอดภัยของโรงเรียน

๓. จัดกิจกรรมเพื่อนเตือนเพื่อน หรือเพื่อนช่วยเพื่อน

๔. ฝึกประชาธิปไตยในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ให้รู้จักเคารพสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น

๕. แจ้งเบาะแสผู้เล่นการพนัน หัวโจก เพื่อนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนให้ครูและผู้บริหารทราบ

๖. เคารพในกฎกติกามารยาทของนักเรียน นักศึกษา ที่พึงปฏิบัติ

๗. เข้าร่วมกิจกรรมของสถานศึกษาและตระหนักถึงความปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อมรอบสถานศึกษา

๘. ร่วมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

๙. ชักชวนผู้ปกครองไปเข้าร่วมกิจกรรมของสถานศึกษา

๑๑. ปฏิบัติตนเป็นที่พึ่งต่อรุ่นน้องและเพื่อนที่ดีในกลุ่มเพื่อน

๑๑. นักเรียน ควรได้ฝึกทักษะการป้องกันตัวเพื่อความปลอดภัย และนักเรียน ได้ศึกษางานของตำรวจ ทัณฑสถานและบ้านเยาวชน

บทบาทสำหรับผู้ปกครอง

๑. ฝึกอบรมบ่มนิสัยให้ลูกหลานมีระเบียบวินัย รับผิดชอบในการเรียน และผิดชอบตนเอง

๒. ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้ความอบอุ่นเป็นที่พึงของลูก

๓. ตักเตือนบุตรหลานให้อยู่ในระเบียบวินัยที่ดีงาม และสอดส่องดูแลสถานศึกษา

๔. ซักถามถึงกิจกรรมของสถานศึกษา เพื่อตรวจสอบสภาพของเด็กเมื่ออยู่ในสถานศึกษา

๕. หมั่นไปพบครู อาจารย์ประจำชั้น เข้าร่วมประชุมผู้ปกครอง เข้าร่วมกิจกรรมของสถานศึกษา

๖. ระมัดระวังมิให้เด็กเล่นการพนัน สะสมสื่อลามก , เข้ากลุ่มเพื่อนอันธพาล , พกอาวุธเมื่ออยู่บ้าน

๗. ให้เวลาอยู่กับลูกหลานเพื่อสร้างความอบอุ่น ดูแลมิให้เด็กดูโทรทัศน์ที่รุนแรงและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

บทบาทของชุมชน

๑. ร่วมเป็นคณะกรรมการความปลอดภัยของสถานศึกษา

๒. ให้ความร่วมมือสถานศึกษาในกิจกรรมต่างๆ

๓. สนับสนุนให้สถานศึกษามีส่วนร่วมกิจกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่น

๔. สอดส่องดูแลความปลอดภัยในการเดินทางไปสถานศึกษาของเด็กนักเรียน นักศึกษา

๕. สำหรับเจ้าของธุรกิจสนับสนุนให้พ่อแม่ที่ทำงานด้วยไปร่วมกิจกรรมสถานศึกษา

๖. เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา เข้าเยี่ยมชมหรือฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการของชุมชน

๗. สนับสนุนเงินทุนเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กยากจนในชุมชน

๙. ช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของเยาวชนและรายงานต่อผู้บริหารสถานศึกษา

เป้าหมายในการดำเนินการ

๑. เป่าหมายโรงเรียน สถานศึกษาทุกแห่งในสังกัด จำนวน ๒๐๙ โรงเรียน


๒. เป้าหมายการป้องกัน

การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

สถานศึกษาพยายามป้องกันและแก้ไขให้ถึงที่สุด โดยไม่ไล่นักเรียน ให้พ้นไปเป็นภาระสังคม หรือสถาบันอื่น สำนักงานเขตฯ ทำความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษาให้รายงานกระทรวงศึกษาธิการโดยไม่ถือเป็นความผิดแต่จะพิจารณาเป็นความดีความชอบในการรายงานตามความจริง

การป้องกันและแก้ไขปัญหาสื่อลามกอนาจารและปัจจัยเสี่ยง

สถานศึกษาตรวจค้นและป้องกันมิให้นักเรียน นำสื่อลามกอนาจารเข้ามาเผยแพร่ในสถานศึกษา สำนักงานเขตฯ ส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดหนังสือ วิดีโอ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นสารประโยชน์ ให้ความบันเทิงที่ประเทืองสติปัญญาบริการแก่นักเรียน

การป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนัน

จัดกิจกรรมให้นักเรียนรู้จักประหยัดอดออม ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย และฝึกทำงานเพื่อหารายได้พิเศษจากการประกอบสัมมาชีพ๒ ป้องปรามมิให้นักเรียน เล่นการพนันทุกรูปแบบในสถานศึกษา และตรวจค้นแหล่งที่อาจมั่วสุม ส่งครูฝ่ายปกครองหรือประสานสารวัตรนักเรียนเพื่อสุ่มตรวจนักเรียน นักศึกษา ที่อาจไปมั่วสุมตามแหล่งอบายมุข แหล่งการพนัน ของชุมชนหรือของพื้นที่

การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาท

๑. ประสานฝ่ายตำรวจให้ใช้มาตรการเฉียบขาดในการลงโทษนักเรียน นักศึกษา ที่ทำผิดกฎหมาย

๒. ติดตามตรวจสอบพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียน นักศึกษา ที่มีปัญหาเป็นรายกรณีหรือรายกลุ่ม และส่งครูไปเยี่ยมถึงบ้าน เพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง

๓. ตรวจค้นการพกพาอาวุธเข้ามาในสถานศึกษาและเพิ่มโทษผู้ที่ทำผิดถูกฅ
ตักเตือนมาแล้ว

๔. ให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมนักเรียน นักศึกษา ให้ครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดระเบียบวินัย , กิจกรรมแนะแนว และกิจกรรมเสริมหลักสูตร

๕. สร้างองค์กรเครือข่ายระหว่างบ้าน โรงเรียน ชุมชน ตำรวจ โดยมีระบบสื่อสารโทรคมนาคมและระบบข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง

กิจกรรมโครงการ ประกอบด้วยกิจกรรมที่แบ่งเป็นกิจกรรมหลัก ดังนี้

๑. กิจกรรมการป้องปรามและแก้ไขปัญหาการติดสารเสพติดและอบายมุข ได้แก่

- โครงการห้องเรียนสีขาว

- จัดโครงการเพื่อนเตือนเพื่อน

- จัดรายการออกเสียงตามสาย

- จัดการเดินรณรงค์

- จัดแข่งขันมินิมาราธอน

- จัดแสดงคอนเสิร์ตพลังสีขาว

- ให้ความรู้การป้องกันยาเสพติด โทษทางกฎหมาย

- อบรมแกนนำ

- จัดค่ายเยาวชนพิทักษ์สังคม

- จัดกิจกรรมธนาคารความดี

- จัดกิจกรรมลานวัด ลานใจ ลานกีฬา จัดตั้งชมรมดนตรี ส่งเสริมการเล่นดนตรี จัดหาอุปกรณ์ อาจารย์ฝึก จัดกิจกรรมแข่งขันการเล่นดนตรีภายใน ภายนอก

- จัดอบรมลูกเสือต้านยาเสพติด

- ปรับปรุงบรรยากาศและสิ่งแวดล้อม สร้างสนามกีฬา ส่งเสริมให้นักเรียนเล่นกีฬา จัดหาอุปกรณ์ อาจารย์ฝึก จัดกิจกรรมแข่งขันภายใน ภายนอก

- ตรวจปัสสาวะ

- จัดสถานที่บำบัด

- จัดกิจกรรมฟื้นฟู

- จัดกิจกรรมอบรมสร้างภูมิคุ้มกัน

๒. กิจกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาสื่อลามกอนาจารในสถานศึกษา ได้แก่

- ตรวจค้นและป้องกันมิให้นักเรียน นักศึกษา นำสื่อลามกอนาจารเข้ามาเผยแพร่ในสถานศึกษา

- ส่งเสริมให้สถานศึกษา จัดทำสื่อ หนังสือ วิดีโอ เทปบันทึกเสียง และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นสารประโยชน์ ให้ความบันเทิงที่ประเทืองสติปัญญาเพื่อให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา

๓. กิจกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนันในสถานศึกษา ได้แก่

- จัดกิจกรรมให้นักเรียน นักศึกษา รู้หลักประหยัดตามหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียง

- ให้ป้องปราม มิให้นักเรียน นักศึกษา เล่นการพนันทุกรูปแบบในสถานศึกษาและตรวจค้นสถานที่ ซึ่งอาจเป็นที่มั่วสุม

- ให้ครูฝ่ายปกครอง ประสานงานกับสารวัตรนักเรียนในการสุ่มตรวจนักเรียน นักศึกษา ที่อาจไป มั่วสุมตามแหล่งพนันและอบายมุขของชุมชน

๔. กิจกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทในสถานศึกษา ได้แก่

- ให้ติดตามตรวจสอบพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียน นักศึกษา ที่มีปัญหาเป็นรายกรณีหรือรายกลุ่ม และให้ครูไปเยี่ยมบ้านเพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทะเลาะวิวาทข้ามสถาบัน

- ให้ตรวจค้นการพกอาวุธเข้ามาในสถานศึกษาของนักเรียน นักศึกษากลุ่มเสี่ยง และคาดโทษเพิ่มสำหรับผู้ที่ทำผิดที่เคยถูกตักเตือนมาแล้ว

- ให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมนักเรียน นักศึกษา ให้ครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดระเบียบ วินัย กิจกรรม แนะแนว กิจกรรมเสริมหลักสูตร และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์

- ให้สร้างองค์กรเครือข่ายระหว่างบ้าน โรงเรียน ชุมชน และตำรวจโดยมีระบบสื่อสารโทรคมนาคมและระบบข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง

- ให้ประสานกับฝ่ายตำรวจ ใช้มาตรการเฉียบขาดในการลงโทษนักเรียน นักศึกษา ที่ฝ่าฝืน ในขั้นกระทำผิดกฎหมาย

แนวทางการดำเนินงาน ๕ มาตรการ กลยุทธ์ ๔ ต้อง ๒ ไม่

๑. มาตรการป้องกัน สถานศึกษาจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ตามกลุ่มสนใจ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักและ ปลุกจิตสำนึกไม่ให้นักเรียน นักศึกษาไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กิจกรรมหลักที่ดำเนินการโครงการ TO BE NUMBER ONE การแข่งขันกีฬาต้านยาเสพติด การเข้าค่ายคุณธรรมนำชีวิต เป็นต้น

๒. มาตรการค้นหา สถานศึกษาจัดระบบการคัดกรอง จำแนกกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ออกเป็น ๕ กลุ่ม คือ กลุ่มปลอด กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพ กลุ่มติด และกลุ่มค้า กิจกรรมหลักที่ดำเนินการโครงการห้องเรียนสีขาว

๓. มาตรการรักษา สถานศึกษาจัดระบบการส่งต่อกลุ่มเสพ กลุ่มติดเข้าสู่การบำบัดรักษา ตามระบบสมัครใจการนำเข้าสู่กระบวนการจิตสังคมบำบัดในสถานศึกษาและค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กิจกรรมหลักที่ดำเนินงานโครงการลูกเสือต้านภัยยาเสพติด

๔. มาตรการเฝ้าระวัง สถานศึกษาดำเนินการจัดให้มี นักเรียน นักศึกษาแกนนำ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา เพื่อเฝ้าระวังไม่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด จัดระเบียบพื้นที่เสี่ยงและมีการขจัดปัจจัยเสี่ยงพื้นที่อับโดยจัดสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่ให้เอื้อต่อการไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กิจกรรมหลักที่ดำเนินงานโครงการตำรวจประสานสถานศึกษา ๑ ตำรวจ ๑ สถานศึกษา

๔. มาตรการบริหารจัดการ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ การดำเนินงาน มีแผนปฏิบัติการ และการอำนวยการ กำกับ ติดตาม ประเมินผล สรุปรายงานแจ้งต้นสังกัด และการประสานงานกับทุกภาคส่วน

กลยุทธ์ ๔ ต้อง ๒ ไม่

สถานศึกษาดำเนินการ ๔ ต้อง

๑. สถานศึกษาต้องมียุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สอดคล้องกับสภาพของปัญหาและสถานการณ์ในพื้นที่

๒. สถานศึกษาต้องมีแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาตลอดปีการศึกษา

๓. สถานศึกษาต้องมีระบบข้อมูลการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ ระบบด้านการป้องกัน ระบบด้านการเฝ้าระวัง ระบบด้านการดูแลช่วยเหลือ และระบบด้านการบริหารจัดการ

๔. สถานศึกษาต้องมีเครือข่ายการทำงานระหว่างนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำชุมชน

สถานศึกษาดำเนินการ ๒ ไม่

๑. สถานศึกษาไม่ปกปิดข้อมูล กลุ่มเสพ กลุ่มติด และกลุ่มค้ายาเสพติด

๒. สถานศึกษาไม่ผลักปัญหา ไม่ไล่นักเรียน ออกจากสถานศึกษาให้นำไปบำบัดรักษาเมื่อหายแล้วให้กลับมาเรียนได้ตามปกติ

. ผลที่เกิดจากการดำเนินการ

๓.๑ สถานศึกษา ๒๐๙ โรงเรียน ปลอดยาเสพติดและอบายมุข โดยเฉพาะปลอดยาบ้าทุกโรงเรียน จากการรายงานของสถานศึกษาและทีมงานรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตฯ ศึกษานิเทศก์รายงาน

๓.๒ คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน ผู้บริหาร ครู มีความพึงพอใจในโครงการกิจกรรมที่ดำเนินการ โดยถือว่า เป็นการทำงานที่ได้บุญใหญ่เพราะสร้างคนให้เป็นคนดีไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและอบายมุข เพราะหลงทางเสียเวลา หลงติดยา เสียอนาคต

๓.๓ ผู้บริหาร ครู บุคลากรได้รับรางวัล เสมา ป.ป.ส.ระดับดีเด่น ปี ๒๕๕๖ จากกระทรวงศึกษาธิการในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา รวมจำนวน ๑๖ คน

๔. แนวคิดในการพัฒนาต่อไป

การป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติด จะต้องดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้สถานการณ์วันนี้สถานศึกษาปลอดยาเสพติดและอบายมุขก็จริง แต่ว่า สิ่งดังกล่าว เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต เพราะปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาละเอียดอ่อน เช่น เด็กมีปัญหาไม่มีทางออกหันไปเพิ่งยาเสพติดสภาพจิตใจอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและปัจจัยเสี่ยง ฉะนั้น ต้องทำอย่างต่อเนื่องจะหยุดโครงการไม่ได้ และยังมีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มหากินกับยาเสพติด และประการสำคัญยาเสพติด เป็นยาที่มีพิษร้ายต่อร่างกาย ถ้าใครหลงเสพเข้าไป ก็จะทำให้ติดได้ และยากที่จะถอนตัวออกมาได้ ฉะนั้น แนวคิดในการพัฒนาต่อไป คือ

๔.๑ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษาในการป้องกันแก้ไขและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาตามหลักอริยสัจ ๔ คือ สร้างความตระหนักรู้ในปัญหา เสวนาหาสาเหตุ กำหนดขอบเขตในการแก้ไข และใช้วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ในการดำเนินการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน มั่นคงถาวรต่อไป

๔.๒ การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เช่น หิริ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อการทำความชั่ว โดยเฉพาะการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม สติความระลึกได้ขณะทำ ขณะพูด ขณะคิด สัมปชัญญะ ความรู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไร ถ้าหลงผิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดก็ให้พยายามห่างไกล หลีกเลี่ยงและไม่คบคนชั่วเป็นมิตร

๔.๓ เสริมสร้างสมรรถนะให้แก่นักเรียนเพื่อรู้เท่ากันกับปัญหายาเสพติด คือ

๔.๓.๑ สมรรถนะด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะทักษะในการเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่เสพสิ่งเสพติดเวลาเพื่อน หรือใครก็ตามมาชักชวน จะพูดจากับเขาคนนั้นอย่างไร จึงจะไม่ให้
เสียเพื่อน เสียมิตร

๔.๓.๒ สมรรถนะด้านการคิด คือการคิดในเชิงบวก คิดไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และคิดว่าคนที่ติดยาเสพติด คือคนป่วย จะต้องนำไปบำบัดรักษาให้หายเพื่อจะได้เป็นคนปกติต่อไป

๔.๓.๓ สมรรถนะในการแก้ปัญหา การเอาตัวรอด เมื่อเวลาเผชิญปัญหาวิกฤติในชีวิตเราจะหาทางออกหรือเอาตัวรอดได้อย่างไร

๔.๓.๔ สมรรถนะด้านทักษะชีวิต ทักษะชีวิตที่สำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวผู้เรียน สามารถที่จะหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และอบายมุข

การดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดถือว่าเป็นการทำบุญใหญ่ เพราะเป็นการสร้างคนให้เป็นคนดีไม่ตกเป็นทาสของยาเสพติด เพราะถ้าเด็กเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเมื่อไร ก็จะเป็นภัยอันใหญ่หลวงต่อประเทศชาติทำให้สูญเสียพลังของชาติทุกอย่าง คนในชาติอ่อนแอ เพราะฉะนั้น ต้องร่วมด้วยช่วยกันรณรงค์ป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้หมดสิ้นไปจากผืนแผ่นไทยให้จงได้

-----------




หมายเลขบันทึก: 628872เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2017 02:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2017 02:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท