งาน "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)" ครั้งที่ ๑๑ : พาข้ามอุปสรรค


ภาพที่ผมยืนหน้ากระดาน มองกลับมาไปยังชั้นเรียน ผมเห็นภาพความรู้แผ่ขยายออกไปได้เอง เป็นวงกว้าง...ท่วมชั้นเรียน

งานเขียนของเพื่อนครู



เพราะสิ่งสำคัญ ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา...



การสอนในชั้นเรียน ครูเพลินแบบพวกเราคงต้องทำสองบทบาทอยู่ตลอดเวลา บทบาทแรก คือ การเป็นผู้ถ่ายทอดทักษะการเรียนรู้และความรู้ ผ่านการตั้งคำถามให้เด็กๆได้คิดและแลกเปลี่ยนกับเพื่อน บทบาทนี้ถูกร่างขึ้นในแผนการสอนรายคาบที่ทีมครูใช้เวลาตระเตรียมมาก่อนเข้าห้องเรียนอยู่แล้ว ส่วนบทบาทที่สอง คือ การเป็นผู้สังเกตชั้นเรียน สังเกตเด็ก สังเกตวิธีการเรียนรู้ของเขา และประเมินการเรียนรู้ภาพรวมของชั้นเรียน เพื่อที่จะแก้ปัญหาในคาบนั้น หรือเก็บมาพูดคุยกับครูคู่วิชาในภายหลัง สำหรับผมแล้ว บทบาทที่สองเป็นบทบาทที่ยากที่สุด เพราะผมต้องใช้ตา หู สมองทำงานไปพร้อมกับลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากมีเวลาเพียงพอ ก็หยิบเครื่องมือมาใช้แก้ปัญหาในเวลานั้นเลย ยกตัวอย่างอุปสรรคที่พบเจอเป็นประจำ ก็คือ เด็กส่วนหนึ่งไม่มีทักษะความรู้ที่สะสมมาก่อนเข้าคาบเรียน หรือเคยมี แต่ทำหล่นหายไปหมดแล้ว หรือหนักหนาที่สุด คือ มีทัศนคติที่ไม่ดีกับวิชา ดังนั้น เครื่องมือที่ผมเชื่อว่าจะพาเด็กผ่านอุปสรรคไปได้และใช้ได้ดีเสมอมา ก็คือ ผมต้องใช้หัวใจครูสัมผัสนักเรียน


หัวใจครูของผม (คุณครูตัง - พงศ์ศักดิ์ ตะวันกาญจนโชติ) มาจากความรู้สึกสนุกเมื่อผมอยู่กับนักเรียน ช่วงเวลาที่ผมพูดคุยหรือทำงานร่วมกับเขา ผมจะสังเกต ถ่ายทอดและสอดแทรกทักษะต่างๆไปด้วยเสมอ ส่วนนักเรียนจะรับได้บ้างหรือ ไม่ได้บ้าง ผมต้องให้เวลากับเขาครับ หัวใจครูมีได้ไม่หมดสิ้นนะครับ ผมท้อได้และผมก็ลุกขึ้นมาได้เช่นกัน เมื่อพิจารณามองย้อนกลับไปในเทอมที่ผ่านมา ผมรู้สึกได้ว่า ผมมีพัฒนาการด้านหัวใจครูขึ้นมาบ้าง นั่นคือ ช่วงวินาทีที่เราร้อง อ๋อ! ขึ้นมานั่นเอง และประสบการณ์ต่อจากนี้ คือ อ๋อของผม


อ๋อที่หนึ่ง ในคาบแรกสุดของวิชาคณิตศาสตร์ ชั้น 6 ประจำปีการศึกษา 2559 ผมถามนักเรียนว่า “ใครไม่ชอบคณิตศาสตร์บ้าง ยกมือครับ” ภาพถัดมา คือ ภาพนักเรียนยกมือกันเกินครึ่งห้อง สำหรับผมแล้วนั่นคือ ภาพการยกมือขอความช่วยเหลือจากนักเรียนครับ ดังนั้นในคาบถัดๆไปต่อจากนี้ ผมจึงเดินทำความรู้จักเด็กเหล่านั้น ผ่านการสังเกตวิธีการแก้ปัญหาของพวกเขา ตัวอย่างมากมายดังเช่น


บางคน.... นั่งแช่นิ่งๆมองโจทย์ไม่เริ่มเขียนอะไรสักทีหรือบางคนวาดรูปการ์ตูนเสร็จไปแล้วสองตัว นั่นแสดงว่า เขาเข้าใจโจทย์เพียงแค่บางส่วนหรือไม่เข้าใจโจทย์เลย


บางคน.... ก็ใช้การวาดรูปประกอบเพื่อช่วยแก้ปัญหา นั่นแสดงว่า เขามองโจทย์เป็นภาพและมีทักษะการใช้ภาพมาช่วยแก้ปัญหา เช่น การใช้ภาพบาร์โมเดล มาแก้ปัญหาเรื่องอัตราส่วน


บางคน.... เขียนวิธีการเสร็จแล้วลบทิ้งเขียนแก้ไขใหม่ นั่นแสดงว่า เขากำลังพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของตนเอง เขารู้ว่าเขาทำไม่ถูกต้องและมีความพยายามทำให้สำเร็จ


และปัญหาที่พบอยู่เสมอ ก็คือ เขาแก้ปัญหาแบบไม่ถูกต้อง แต่คิดว่าทำถูกต้องแล้ว นั่นก็แสดงว่า เขายังไม่รู้ว่า ตนเองไม่รู้ เช่น โจทย์ให้คำนวณน้ำหนักผลไม้ที่ตลาด ต้องการให้หาคำตอบของ 8 ÷ 40 = 0.2 กิโลกรัม แต่นักเรียนตั้งวิธีการเป็น 40 ÷ 8 = 5 กิโลกรัม ได้คำตอบเป็นตัวเลขจำนวนเต็มสวยงาม จึงมั่นใจมากว่า ตนเองทำถูกต้อง ทั้งๆ ที่วิธีการไม่ถูกต้อง


ช่วงเวลาเหล่านี้ จึงเป็นช่วงเวลาสั้นๆที่ผมร้อง “อ๋อ” ขึ้นมาในใจ เพราะมันคือ ช่วงเวลาที่ผมอ่านเขาออกแล้วว่า เขารู้หรือไม่รู้มากน้อยเพียงใด เขากำลังหลงทางอยู่ที่ใด ผมใช้หัวใจครูในการสังเกตเด็กจากมุมมองของเขาเอง และเมื่อผมเจอเขาแล้ว ผมจึงต้องหาวิธีพาเขาข้ามอุปสรรค


อ๋อที่สอง วิธีพานักเรียนข้ามอุปสรรค ผมขอยกตัวอย่าง ภาคเรียนฉันทะสัปดาห์ที่ 4 หลังจากที่นักเรียนได้รู้จักสัญลักษณ์ของสมการไปแล้วว่า ตัวแปร X ,Y คือ สัญลักษณ์แทนตัวเลขที่เราไม่ทราบค่า ผมจึงให้นักเรียนทำโจทย์ 2 ข้อ ดังนี้


ข้อที่ 1 7 + X = 35 เราสามารถหาคำตอบด้วยวิธีการย้ายข้างสมการ ได้ X = 35-7; คำตอบ X = 28

ข้อที่ 2 X - 5 = 71 เราสามารถหาคำตอบด้วยวิธีการย้ายข้างสมการ ได้ X = 71+5; คำตอบ X = 76


ช่วงแลกเปลี่ยนวิธีการ ทั้งชั้นเรียนขับเคลื่อนไปอย่างเนือยๆ นักเรียนที่ตอบได้ เป็นเพราะเขาเรียนพิเศษมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนที่เหลือคือ นั่งเงียบๆ มองกระดานตามเพื่อนไปเรื่อยๆ เมื่อนั้นเอง ผมจับความรู้สึกได้ว่า ทั้งชั้นเรียนกำลังมึนงงกับสัญลักษณ์ตัวแปร X ,Y นั่นก็เพราะ

  • สมการเป็นเรื่องนามธรรม การที่เขาจะหาคำตอบจากสิ่งที่ไม่ทราบอะไรเลย เขาจะหาได้อย่างไร เขายังมองไม่เห็นภาพ เขายังไม่เข้าใจ
  • ครั้นเมื่อคณิตศาสตร์ เรียกใช้สัญลักษณ์ตัวอักษรมาแก้ปัญหาด้านตัวเลข นักเรียนกลับยิ่งสับสนกับตัวอักษรภาษาอังกฤษ ที่เขาเคยใช้เป็นคำศัพท์เสมอมา นักเรียนคงมีคำถามขึ้นมาในใจว่า “ตัวอักษรที่ประกอบขึ้นเป็นความหมายคำ เช่น คำว่า X-Ray มันมีค่าตัวเลขอยู่ด้านในแต่ละตัวอักษรด้วยหรือ ”


เพียงเสี้ยววินาทีนั้น ผมเห็นอุปสรรคของพวกเขาแล้ว อุปสรรคของนักเรียนก็คือ เขามีมุมมองและทัศนคติที่ไม่ชัดเจนกับเรื่องตัวแปร ผมจึงหยิบรูปภาพมาวาดเป็นสัญลักษณ์ แทนการใช้ตัวอักษรทางภาษา ผมเลือกรูปภาพเป็นตัวการ์ตูน เพราะภาพการ์ตูนเป็นสิ่งที่เด็กคุ้นเคยกันทุกคน การ์ตูนจึงดูเป็นมิตร ดูขบขัน ดูมีชีวิตชีวา สร้างบรรยากาศชั้นเรียนให้กระฉับกระเฉงขึ้น ผมปรับแก้ทัศนคติพวกเขา ด้วยการให้ลองทำโจทย์เหล่านี้ ตามลำดับ




พอนักเรียนเริ่มเครื่องร้อน บรรยากาศการเรียนรู้เริ่มต้นแล้ว ดูสนุกสนานมากขึ้น ผมจึงเพิ่มโจทย์อีกข้อ



นักเรียนเงียบกันไม่เกิน 2 นาที ก็ทยอยตอบกันว่า มังคุดเท่ากับ 3 และส้มเท่ากับ 2 ผมจึงให้เวลาแลกเปลี่ยนสักเล็กน้อย เพื่อตรวจสอบความเข้าใจ และอยากฟังวิธีการแก้ปัญหาของพวกเขา ตามนี้เลยครับ


“ไหน ใครจะช่วยอธิบายวิธีการหาคำตอบได้บ้าง ลองมาแลกเปลี่ยนกัน”

“มังคุด - ส้มเท่ากับ 1 ดังนั้น มังคุดจะมากกว่าส้มอยู่ 1 เสมอค่ะ”

“ยกตัวอย่างได้ไหม มังคุดเป็นค่าอะไรได้บ้าง”

“ก็มังคุดเป็น 5 ส้มเป็น 4 ดังนั้น 5 ลบ 4 จึงเท่ากับ 1 หรือมังคุดเป็น 3 ส้มเป็น 2 3 ลบ 2 เท่ากับ 1 ครับ”



“แล้วยังไงต่อครับ”

“พอมังคุดมากกว่าส้มอยู่ 1 มันก็คือ มังคุด = ส้ม+1 ดังนั้นในบรรทัดที่สอง เราแทนที่ภาพมังคุด ให้เป็น ส้ม+1 เราก็จะได้ภาพว่า 1 + 3 ส้ม = 7”



“แล้ว 1+ 3 ส้ม = 7 ก็จะได้ว่า ส้ม = 2 ค่ะ เมื่อส้มเท่ากับสอง เราก็ได้ว่า มังคุด = 3 ค่ะ”

มาแบบนี้ คนเป็นครู น่าดีใจใช่ไหมครับ ยังไม่จบครับ ผมจึงพาเขาไปเข้าพื้นที่ที่ผมเตรียมไว้

ผมเดินไปอีกด้านของกระดาน เขียนแทนรูปการ์ตูนทั้งหมดด้วยสัญลักษณ์ตัวแปร X ,Y ดังนี้




จากนั้นพานักเรียนแก้สมการ 2 ตัวแปรได้ X= 3, Y = 2


ผมสะท้อนให้นักเรียนทั้งห้องเห็นว่า พวกเราแก้สิ่งที่ไม่ทราบจากรูปภาพได้ ก็ไม่ต่างกับการแก้สมการจากตัวแปร X, Y ได้ อีกทั้งโจทย์ข้อสุดท้ายนั้น เป็นโจทย์สมการสองตัวแปรที่พวกเขาเจอเป็นครั้งแรกในชีวิต ความยากเกินระดับคณิตศาสตร์ชั้นประถม 6 นั่นแสดงว่าอะไรครับ นักเรียนก็ “อ๋อ”กันเกือบทั้งห้อง เพราะเขาพบว่า ตัวเขาเองนั่นล่ะ ที่คิดไปเองว่า สมการเป็นเรื่องยาก แต่หากเปลี่ยนมุมมองเป็นภาพการ์ตูนที่เขารู้สึกเป็นมิตร สมการก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป


ถัดจากนั้น ผมจึงทบทวนกับนักเรียนอีกครั้งว่า อุปสรรคของบทเรียนนี้ คือ ทัศนคติของพวกเราที่คิดว่ายาก ทั้งๆที่พวกเราก็เพิ่งพิสูจน์ให้เห็นกันเองว่า พวกเราแก้ปัญหาเรื่องยากได้จริงๆ จากนี้ไป หากเรารู้สึกว่าเราแก้ปัญหาไม่ได้ ให้เราลองพิจารณาใหม่ ปรับเปลี่ยนความยากให้เป็นเสมือนตัวการ์ตูน แล้วเราก็จะแก้ปัญหาได้ดังเช่นวันนี้


อ๋อที่สาม เมื่อนักเรียนคุ้นชินกับการแก้ปัญหาด้วยตนเอง เรียนรู้ทักษะไปเรื่อยๆ ย่อมต้องมีวันที่เขาติดปัญหาจริงๆ ณ ตอนนั้นเขาจะรู้แล้วว่าเขาไม่รู้ และเริ่มมองหาความช่วยเหลือ เริ่มเงยหน้ามองหาเพื่อนรอบข้าง ดังนั้นในช่วงที่ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนร่วมกัน ผมจึงตั้งคำถามสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม กระบวนการแลกเปลี่ยนนี้ เป็นกระบวนการเรียนที่ได้ประโยชน์สองทาง คือ


หนึ่ง เด็กที่ไม่รู้ จะสังเกตแนวทางการแก้ปัญหาของเพื่อน เห็นวิธีการคิดแบบอื่นๆที่ตนยังไม่เคยทราบ และสะกดรอยการเรียนรู้ว่าเพื่อนคิดออกมาได้ด้วยวิธีการใด

สอง เพื่อนที่ออกมาแบ่งปันวิธีการของตนเอง ก็จะได้ความมั่นใจในตนเอง ได้แสดงความมีน้ำใจต่อผู้อื่น เอื้อเฟื้อความรู้ให้กับเพือนที่คิดแตกต่างได้ รวมถึงการรู้จักที่จะรอเพื่อนร่วมชั้นเรียนอีกด้วย


ผมมีตัวอย่างที่ผมสังเกตได้จากภาควิมังสา สัปดาห์ที่ 4 คาบเรียนเรื่องอัตราส่วน โดยก่อนคาบนี้ นักเรียนรู้จักกับหลักการของอัตราส่วน รวมถึงวิธีการแก้ปัญหามาบ้างแล้ว แต่ตามแผนการสอนในคาบนี้ เราจะนำสิ่งที่เรียนรู้ มาแก้ปัญหาโจทย์ประยุกต์ทางคณิตศาสตร์ ผมจึงขึ้นกระดาน โจทย์หาความกว้างและความยาวของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งข้อมูลที่โจทย์ให้มา จะชี้ชวนให้นักเรียนหาคำตอบได้ตัวเลขออกมาอย่างง่ายๆ แต่เมื่อถึงขั้นตอนนี้ มันคือโจทย์ที่ขุดหลุมดักไว้ครับ หากนักเรียนมีไหวพริบจริงๆ นักเรียนจะต้องแก้ปมปัญหาที่ซ่อนไว้อีกชั้น จึงจะได้คำตอบที่แท้จริง

ตามผมมาครับ...



สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในห้องเรียนก็คือ นักเรียนทุกคนคำนวณได้ความกว้างเท่ากับ 24 ซม. และความยาวเท่ากับ 40 ซม. จึงนั่งรอแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ผมก็ทราบได้ทันทีว่า พวกเขาตกหลุมที่โจทย์ขุดดักไว้แล้ว วิธีการที่นักเรียนแก้ปัญหา อธิบายได้ดังภาพนี้ครับ



ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปได้อีกสักพัก ผมเอ่ยทักพวกเขาว่า “ความยาวเส้นรอบรูปคือ ตัวเลขใดบวกกันบ้าง” สิ้นสุดคำถาม ณ วินาทีนั้นเอง ที่มีนักเรียนเริ่มร้องอ๋อที่สองให้กับตนเองเพราะเขาทราบแล้วว่าเขาผิดพลาดอย่างไร นั่นคือ เขาตั้งตัวเลขผิดตั้งแต่ก้าวแรกของเขา ดังรูปกระดาน




เขาพลาด เพราะเขาเห็นคำว่า กว้าง ยาว จากในรูปเพียงอย่างละคำเท่านั้น เขาจึงคำนวณความกว้างรวมกับความยาวเพียงแค่คู่เดียว ได้ตัวเลข 8 แต่ในความเป็นจริงแล้ว การหาความยาวรอบรูปของสี่เหลี่ยมผืนผ้านั้น เราต้องใช้ความกว้างรวมกับความยาวจำนวน 2 คู่ นั่นคือ (3+5+3+5) = 16




ถัดจากนั้น นักเรียนแต่ละคนที่เข้าใจดีแล้ว ก็อยากรีบแบ่งปันให้เพื่อนๆที่ยังงงอยู่ เขาจึงหันซ้ายหันขวาไปช่วยอธิบายเพื่อนรอบข้างที่ยังตามไม่ทัน อีกเพียงครู่เดียว เพื่อนที่ตามไม่ทันจึงได้ “อ๋อ” ขึ้นมาบ้าง เป็นอ๋อที่สามที่เกิดขึ้นจากน้ำใจของเพื่อน เสียงอ๋อครั้งสามนี้ จึงเริ่มจากนักเรียนเพียง 3 คน เป็น 6 คน เป็น 12 เป็น 24 คน ภาพที่ผมยืนหน้ากระดาน มองกลับมาไปยังชั้นเรียน ผมเห็นภาพความรู้แผ่ขยายออกไปได้เอง เป็นวงกว้าง...ท่วมชั้นเรียน


ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี้ยวเวลาเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะผมเห็นว่าเชื้อเพลิงความรู้ของห้องเรียน มีสภาพพร้อมใช้งานแล้ว ผมจึงจุดไฟแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เข้าไปในกลุ่มผู้เรียนเลย แทนที่จะให้ผู้เรียนเสนอตนเองออกมาแลกเปลี่ยนกันบนกระดาน เมื่อไฟการเรียนรู้ติดขึ้นจากกลุ่มเล็กๆ ก็สามารถลุกลามขยายวงไปได้เองอย่างสวยงาม


ประโยคที่เราคุ้นเคยกันดีว่า ครูของนักเรียน คือ ครู และในรอบครึ่งปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ผมเห็นเพิ่มขึ้นไปอีกว่า ครูของครู ก็คือ นักเรียน

ครูรู้จักเด็ก หาเด็กให้เจอ อ่านเด็กให้ออก ดังตัวอย่าง ..... อ๋อที่หนึ่ง


เด็กรู้จักตนเอง เมื่อเด็กไม่ทราบว่าตนเองไม่รู้ ครูควรเป็นกระจกสะท้อนภาพให้เขาเห็น เพื่อที่เขาจะรู้ว่าตนเองไม่รู้ ดังตัวอย่าง ......อ๋อที่สอง


เด็กรู้จักเพื่อน เมื่อเด็กแก้ปัญหาด้วยตนเองไม่ได้ เด็กรู้แล้วว่าตนเองไม่รู้ ครูควรจะเป็นผู้ชี้ทางให้เขาเปิดใจที่จะแบ่งปันและเรียนรู้จากคนรอบข้าง ดังตัวอย่าง......อ๋อที่สาม


จากนี้ไป หากพวกเรายังคงหมั่นเพียรสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กเขาอ๋ออยู่เรื่อยๆ สักวันหนึ่ง ผมเชื่อว่า นักเรียนก็จะทราบได้เองว่า เขาจะเรียนไปเพื่ออะไร จะใช้ประโยชน์จากทักษะการเรียนรู้ได้อย่างไร


เมื่อนั้นแล้ว หัวใจของเขาจะเห็นความงามของการเรียนรู้ เป็นความงามที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง ทั้งหมดนี้ ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา...แต่ด้วยหัวใจ


ในปีการศึกษา 2559 นี้ ผมขอขอบพระคุณครูคู่วิชาของผม-ครูกิ๊ฟ ครูโค้ชของผม-ครูนุ่น โค้ชของโค้ช-พี่ใหม่ พี่ปาด และครูอีก 93 คนของผม-นักเรียนชั้นประถมหกปีการศึกษา 2559 ทุกคน



”เพราะสิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา...แต่ด้วยหัวใจ”

ประโยคอมตะ แปลจาก ตอนหนึ่งของหนังสือ The Little Prince - Antoine de Saint-Exupéry



คุณครูตัง - พงศ์ศักดิ์ ตะวันกาญจนโชติ บันทึก

หมายเลขบันทึก: 628698เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2017 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2017 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท