เก็บตกวิทยากร (38) มีความหมายใดในแผนงาน (สโมสรนิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์)


ในแต่ละกิจกรรมที่ถูกหยิบยกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ละเลยที่จะสอดแทรก หรือชูขึ้นมาเป็นประเด็นให้ความรู้แก่นิสิตนั่นก็คือการขยายความ หรือเชื่อมโยงให้เห็นถึงแนวคิดที่ปรากฏในกิจกรรมแต่ละกิจกรรม ผมไม่ได้บอกว่า นั่นคือกรอบแนวคิด-ทฤษฎีอันเป็นวิชาการ หากแต่พยายามสื่อสารว่าสิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือ หรือกระบวนทัศน์ของการเรียนรู้ที่พบในแต่ละกิจกรรม




วันนี้ (วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2560) ผมวุ่นวนทั้งวันในหลายเวที

เช้า- เข้าร่วมประชุมสมัยสามัญสภานิสิต ถัดจากนั้นก็ประชุมพิจารณารางวัลช่อราชพฤกษ์ เชิดชูเกียรตินักกิจกรรมและองค์กรกิจกรรม ประจำปีการศึกษา 2559

บ่าย- ประชุมคณะกรรมการฝ่ายพัฒนานิสิต กระทั่งบ่ายสี่โมงเย็นก็บึ่งรถเข้ามาเป็นวิทยากรกระบวนการให้กับสโมสรนิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์

กรณีวิทยากรกระบวนการนั้น เป็นการไปหนุนเสริมวาระของการ “มอบงาน-สานต่อ” ของคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิต ปีการศึกษา 2559 กับชุดปีการศึกษา 2560


ก่อนหน้านี้ ทีมงานอยากให้ผมถอดบทเรียนรายโครงการ ซึ่งทั้งปวงนั้นมี 16 โครงการ –

ทว่าภายใต้ห้วงเวลา 16.30-18.30 น. ดูจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผม

ด้วยเหตุนี้ผมจึง “ปรับความคาดหวัง” กับทีมงานว่าขอขับเคลื่อนในลักษณะประเมินแผนภาพรวมทั้งปี พร้อมๆ กับการศึกษาผ่านกรณีต้นแบบในบางโครงการ รวมถึงการ “ติดอาวุธทางความคิด” ผสมผสานเข้าไป





หมุดหมายการเรียนรู้ของนิสิตและมหาวิทยาลัย


ผมเริ่มกระบวนการด้วยการชวนคิดชวนคุยถึงประเด็นอันเป็นหมุดหมายของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อประเมินว่านิสิต “รู้ตัวตน” แค่ไหน เช่น ปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) อัตลักษณ์นิสิต (ผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ค่านิยมของนิสิต (MSU For All)

รวมถึงอัตลักษณ์ของนิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์





คำถามเหล่านี้ ผมยืนยันว่ามิได้ผูกโยงไว้กับ “ตัวชี้วัด” ที่มหาวิทยาลัยฯ ต้องถูกประเมินจากระบบที่เกี่ยวข้องแต่ผมเจตนาให้นิสิตได้คิดวิเคราะห์กิจกรรมนอกหลักสูตรในแต่ละกิจกรรมว่าตอบหมุดหมายการเรียนรู้อย่างไรเสียมากกว่า -

เช่นเดียวกับความพยายามที่จะเชื่อมโยงให้นิสิตเข้าใจถึงมิติที่ผสมผสานกันระหว่าง "กิจกรรมนอกหลักสูตร" กับ "กิจกรรมในหลักสูตร" หรือแม้แต่การทะลุเข้าสู่ "พันธกิจ" (4 ประการ) ของมหาวิทยาลัย ซึ่งในปัจจุบันกิจกรรมนิสิตก็กำลังยกระดับไปสู่กระบวนการเช่นนั้นจริงๆ





เบื้องต้น ผมแบ่งนิสิตออกเป็น 2 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มคัดเลือกแผนงานที่สัมพันธ์กับการตอบหมุดหมายการเรียนรู้ของนิสิตและหมุดหมายในระดับสถาบันมากลุ่มละ 3 กิจกรรม/โครงการ ซึ่งมีข้อแม้ว่ากิจกรรมที่เลือกนั้นต้องเป็นแผนพัฒนานิสิตของสโมสรนิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์ที่มีอยู่ทั้งหมด นั่นก็คือ 16 กิจกรรม

โดยให้แต่ละกลุ่มแสดงเหตุผลประกอบว่าทำไมถึงเลือกกิจกรรมเหล่านี้ รวมถึงยกตัวอย่างกิจกรรมและกระบวนการที่ปรากฏอยู่ในกิจกรรมทั้ง 3 กิจกรรม/โครงการซึ่งก็ปรากฏว่ากิจกรรมที่ทั้งสองกลุ่มเลือกมานั้นซ้ำกัน 2 กิจกรรม และไม่ซ้ำอีก 2 กิจกรรม คือ

  • กิจกรรมที่พบเหมือนกัน คือ โครงการกฐินสามัคคี และโครงการคุณธรรมจริยธรรม
  • กิจกรรมที่พบไม่เหมือนกัน คือ โครงการรอยพ่อแผ่นดิน 9 และโครงการวันเด็กแห่งชาติ





มีความหมายใดในกิจกรรมที่ว่านั้น


กระบวนการถัดมาผมให้แต่ละกลุ่มได้สะท้อนข้อมูลดังกล่าวสู่กันฟัง –

เมื่อแต่ละกลุ่มสะท้อนเสร็จแล้ว ผมก็ชวนคิดชวนคุย หรือกระทั่งถอดรหัสกิจกรรมให้เห็นในอีกมิติที่นิสิตเองก็คาดไม่ถึง เป็นต้นว่า

  • เป็นการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรบนฐานวิชาชีพของนิสิต เช่น เรื่องกฐินสามัคคีก็เป็นการเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรม (ฮีต 12 คองกิจกรรม : ฮีต 12 คองสังคม) ใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน นิสิตเองก็ได้ใช้ความรู้ในห้องเรียน หรือในวิชาชีพไปสู่การปฏิบัติการจริงร่วมกับชุมชน รวมถึงการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงอันเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่มีในชุมชน (ต้นทุนทางสังคม) และเรียนรู้แบบ “มีส่วนร่วม” ในนิยามการ “เรียนรู้คู่บริการ” ซึ่งเริ่มใกล้เคียงกับการบริการวิชาการแก่สังคมมากขึ้นบ้างแล้ว
  • เป็นการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรบนฐานวิชาชีพในแบบการบริการสังคมทั่วๆ ไป เช่น เรื่องโครงการคุณธรรมจริยธรรมโดยการจัดกิจกรรม ณ บ้านพักคนชราจังหวัดมหาสารคาม ด้วยการนำองค์ความรู้ของนิสิตที่ยึดโยงอยู่กับศิลปะและวัฒนธรรมในวิชาชีพไปสู่การบริการสังคม เช่น การแสดงหมอลำ การบายศรีสู่ขวัญ หรือแม้แต่กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง




ทั้งสองโครงการนี้ ผมมองเห็นปัจจัยความสำเร็จเล็กๆ หลายอย่าง หากไม่นับเรื่องกิจกรรมนอกหลักสูตรบนฐานวิชาชีพ (กิจกรรมในหลักสูตร) ผมก็อยากสะท้อนไว้ตรงนี้ก็คือการพยายามขับเคลื่อนกิจกรรมในเชิง “เครือข่าย” ภายในกลุ่ม “ผู้นำนิสิต” ด้วยกันเอง กล่าวคือ กิจกรรมกฐินสามัคคีมีการเชื่อมโยงกับสโมสรนิสิตอีก 19 คณะ ส่วนกิจกรรมที่บ้านพักคนชราจังหวัดมหาสารคามก็ขับเคลื่อนร่วมกับสโมสรนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ส่งผลให้ทั้งสององค์กรได้ทำงานเชิงรุกร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรต่อกันและกันอย่างน่าประทับใจ

มิหนำซ้ำกิจกรรม ณ บ้านพักคนชราฯ ยังผูกโยงกับกระแสสังคมที่ว่าด้วยเรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ” ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ เสมือนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ประเด็นทางสังคมมาเป็น “โจทย์” –





กิจกรรมในดวงใจ (รายปัจเจกบุคคล)


ครั้นกระบวนการข้างต้นเสร็จสิ้นลง ด้วยเวลาอันจำกัด ผมก็ขยับเข้าสู่กระบวนการถัดมา เป็นการเปิดกว้างให้แต่ละคนได้สะท้อนกิจกรรมในดวงใจ โดยหลักๆ แล้วผมเน้นให้สะท้อนถึงกิจกรรมในแผนงานของสโมสรนิสิตคณะเป็นสำคัญ แต่ถึง กระนั้นก็ไม่ถึงกลับปิดกั้นเสียทั้งหมด ดังนั้นข้อมูลกิจกรรมที่สะท้อนออกมาจากแต่ละคนจึงมี 2 ลักษณะที่หมายถึงกิจกรรมในแผนงานของสโมสรนิสิต และในแผนงานขององค์กรอื่นๆ หรือแม้แต่แผนงานของมหาวิทยาลัยฯ เช่น

  • กิจกรรมที่ปรากฏในแผนพัฒนานิสิตของสโมสรนิสิตฯ ได้แก่ กฐินสามัคคี คุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ สงกรานต์ วันเด็ก ไหว้ครูบายศรีสู่ขวัญน้องใหม่ กีฬาภายในคณะ เลือกตั้ง สวดมนต์ (หอพระพุทธกันทรวิชัยฯ) วันสถาปนาคณะ
  • กิจกรรมที่จัดโดยมหาวิทยาลัยและองค์กรนิสิตอื่นๆ ได้แก่ ตักบาตรน้องใหม่ เทศน์มหาชาติ




จากข้อมูลข้างต้น นิสิตให้เหตุผลไว้เป็นรายกิจกรรม เช่น ได้บริการสังคมแบบไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก (วันเด็ก) ได้พบนิสิตในคณะหลากหลายชั้นปีและจำนวนมากพร้อมๆ กัน (วันสถาปนาคณะ) ได้พบปะสังสรรค์ใกล้ชิดกันในแบบกีฬาสร้างมิตรภาพ (กีฬาภายในคณะ)

หรือแม้แต่ความประทับใจที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวของการจัดกิจกรรมที่หมายถึงมีคนเข้าร่วมจำนวนน้อยและไม่ต่อเนื่อง (สวดมนต์บริเวณหอพระพุทธกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายก)

กรณีนี้... ผมได้เสริมแรงคิดพลังบวกว่าเป็นกิจกรรมที่ดี - เป็นกิจกรรมที่ท้าทายต่อการขับเคลื่อนไม่แพ้กิจกรรมอื่นๆ เพราะพระพุทธกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายกมีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยมหาสารคามหรือชาวเมืองมหาสารคามเป็นอย่างมาก และหอพระฯ ที่ว่านี้ก็อยู่ใกล้ๆ กับคณะ เหมาะอย่างยิ่งที่จะบูรณาการเป็นพื้นที่แห่งการพัฒนานิสิตได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ตลอดจนมหาวิทยาลัยมหาสารคามเองก็มีพิธีสมโภชพระพุทธกันทรวิชัยฯ เป็นประจำทุกปี

ดังนั้นกิจกรรมนี้จึงสอดรับกับกิจกรรมหลักของมหาวิทยาลัยฯ (ฮีต 12 คองมหา'ลัย) อย่างเสร็จสรรพ ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่าคณะกรรมการชุดใหม่ยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องในปีการศึกษา 2560

หรือกระทั่งกิจกรรม “บุญผะเหวด” ที่มหาวิทยาลัยฯ จัดขึ้นนั้น นิสิตท่านหนึ่งก็บอกเล่าว่านี่คือครั้งแรกของชีวิตที่ได้สัมผัสกับประเพณีดังกล่าว เพราะตั้งแต่จำความได้ในหมู่บ้านของนิสิตก็ยังไม่เคยได้จัดประเพณีนี้ขึ้นมาเลยแม้แต่ครั้งเดียว –





มองตัวเอง : จุดอ่อน จุดแข็ง


ในทางกระบวนการข้างต้น ผมพยายามชวนให้นิสิตในเวทีได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคของแต่ละโครงการ ผูกโยงถึงแนวทางการแก้ปัญหาและต่อยอดครั้งใหม่อย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนการถอดรหัสในเชิงวัฒนธรรมอันเป็นวิชาชีพในกิจกรรมต่างๆ หรือแม้แต่องค์ประกอบอันเป็น “แก่นสาร” ของแต่ละกิจกรรม

แต่ทั้งปวงนั้น ผมไม่ได้ชวนคิดชวนคุยแต่เฉพาะเรื่องแผนงานเท่านั้น หากแต่ในช่วงท้ายก็ชวนเชิญนิสิตได้ทบทวนการทำงานในระดับองค์กรร่วมกันอีกรอบ โดยพุ่งไปที่จุดอ่อนจุดแข็งของคณะทำงานปีการศึกษา 2559 ที่ผ่านมา เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์อีกประการของงานนี้ที่ว่าด้วยการ "มอบงาน-สานต่อ" ซึ่งข้อมูลที่สื่อสารออกมาก็มีประมาณว่า...

  • จุดแข็ง (จุดเด่น) เช่น ผู้นำมีวิสัยทัศน์ ผู้นำร่วมคิดร่วมทำ (ไม่ใช่ชี้นิ้วสั่ง) องค์กรมีความเป็นทีม (คนน้อยแต่มีพลัง) ทำงานด้วยข้อมูลและความรู้และอิงวัฒนธรรมของสังคม มีองค์กรเครือข่าย (ภาคีคณะ)
  • จุดอ่อน (หลุมดำ) เช่น นิสิตส่วนใหญ่ในคณะยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมนอกหลักสูตรค่อนข้างน้อย ขาดองค์ความรู้ด้านกิจการนิสิต (องค์กรใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งได้ 4 ปี) ความแปลกแยกทางความคิดของนิสิตในแต่ละชั้นปี ระบบและกลไกในระดับหน่วยงานของคณะยังหนุนเสริมไม่เต็มที่





เติมเต็มอาวุธทางความคิด



แท้ที่จริงในแต่ละกิจกรรมที่ถูกหยิบยกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ละเลยที่จะสอดแทรก หรือชูขึ้นมาเป็นประเด็นให้ความรู้แก่นิสิตนั่นก็คือการขยายความ หรือเชื่อมโยงให้เห็นถึงแนวคิดที่ปรากฏในกิจกรรมแต่ละกิจกรรม ผมไม่ได้บอกว่า นั่นคือกรอบแนวคิด-ทฤษฎีอันเป็นวิชาการ หากแต่พยายามสื่อสารว่าสิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือ หรือกระบวนทัศน์ของการเรียนรู้ที่พบในแต่ละกิจกรรม เช่น

  • เรื่องการจัดกิจกรรมเชิงรุก Active Learning
  • การจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ หรือ ฮีต 12 คองกิจกรรม ฮีต 12 คองสังคม ฮีต 12 คองมหา’ลัย

หรือแม้แต่เรื่องอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่กิจกรรมหลายกิจกรรมในแผนฯ ได้ตอบโจทย์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น TQF การมีส่วนร่วม Soft skill & Hard skills



นี่คือส่วนหนึ่งในเรื่องราว (เก็บตกวิทยากร) ของวันนี้ แทนที่จะไปประเมินแผนพัฒนานิสิตของสโมสรนิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์เหมือนที่เคยเป็นมา แต่ผมกลับเลือกที่จะประเมินเชิงลึก ด้วยการชวนคุย ชวนคิดให้นิสิตได้ถอดรหัสในสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรด้วยตนเอง โดยกระตุ้นให้มองไปยัง "คุณค่า-มูลค่า" ของกิจกรรมที่ได้ร่วมกันถักทอขึ้น มิใช่แค่บ่งบอกว่า กำหนดไว้ 16 แผนงาน ทำได้ 15 แผนงาน แต่บอกไม่ได้ว่า เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือมรรคผลอะไรบ้าง

หรือแม้แต่การเพียรพยายามที่จะเชื่อมโยงกิจกรรมเหล่านั้นกลับมายังฐานที่มั่นทางความคิด-ความรู้ของนิสิตที่ว่าด้วยวิชาชีพ (กิจกรรมในหลักสูตร) กับวิชาคน วิชาสังคม (กิจกรรมนอกหลักสูตร) พร้อมๆ กับการทะลุไปยังหมุดหมายอันเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยฯ....

ใช่ครับ ผมไม่อยากให้เป็นนักกิจกรรมที่ไร้ราก และพอลงมือทำกิจกรรมแล้วก็ได้แค่ทำ ๆ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำสัมพันธ์กับอะไร ได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่ทำ หรือทำแล้วแต่กลับไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้างได้อย่างไร




หมายเหตุ : ภาพ / สโมสรนิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์ / พนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 628529เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2017 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2017 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นชื่อคณะแล้วก็รู้สึกถึงวิสัยทัศน์ที่ดีของมหาวิทยาลัย ;)...

ครับ อ.Wasawat Deemarn

การถอดบทเรียนเล็กๆ ภายใต้เวลาอันจำกัดของวันนี้ ทำให้นิสิตได้รู้คุณค่าและมูลค่าในแผนงานกิจกรรมของตัวเองที่จัดขึ้นมาในรอบปี บางเรื่องนิสิตเองก็ไม่รู้ว่าจริงๆ มันมีปรโยชน์ต่อนิสิตและชุมชนขนาดนั้นเลยหรือ หรือแม้แต่ที่นิสิตได้ทำลงไปนั้นมีความสัมพันธ์กับทฤษฎี วิธีวิทยาอะไรบ้าง

ผมเองก็เลยตอบกลับแบบเนียนๆ ว่า การไม่รู้วิชาการอะไรตั้งแต่ต้นก็ดีนะ ทำๆ ไป ทำไปเรียนรู้ไปแล้วมาถอดบทเรียนจะมีประโยชน์แบบนี้แหละ และจะดีมากๆ หากหยิบเอาไปขยายผลต่อไป มิใช่จบแล้วจบ -- หรือแค่ส่งให้ภาคส่วนประกอบการประเมินตามตัวชี้วัด 5555

ผมพูดแบบนั้นจริงๆ นะครับ

จำได้ว่าคณะใหม่ใช่ไหมครับ

เป็นคณะแรกในประเทศไทยทีเดียว

มีโครงการใหญ่ถึง 16 โครงการเลยนะครับ

ถ้าเอาข้อด้อยของแต่ละโครงการมาดูและช่วยกันปรับโดยคณะหนุนเสริมอีกแรงน่าจะช่วยได้มาก

หายป่วยหรือยังครับ

ใช่ครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

เป็นคณะใหม่ และคณะแรกของไทยที่เปิดเรียนเปิดสอนในสาขา ป.ตรี เข้าใจว่าเพิ่งผลิตบัณฑิตออกไปครบ 4 รุ่น ส่วนการได้แชร์ความคิดในเรื่องแผนงานนั้น ก็มีเรื่องน่าสนใจทั้งนั้น โดยเฉพาะประเด็นการจัดกิจกรรมบนฐานวัฒนธรรม ทั้งวัฒนธรรมในวิชาชีพที่นิสิตเรียนและวัฒนธรรมอันมายถึงชุมชน เพราะจะช่วยให้นิสิตได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะในทางวิชาชีพตนเอง รวมถึงการเข้าใจสังคม หรือพลวัตทางวัฒนธรรมในสังคมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งพอจบออกไปก็น่าจะง่ายในการดำรงชีวิตอย่างรู้เท่าทัน และเห็นค่าของการใช้ชีวิต -- ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท