ย้อนอดีตงิ้วราย "ระนาดตาเท ลิเกยายปราง หนังตาลิ้ม"


"ระนาดตาเท ลิเกยายปราง หนังตาลิ้ม" อดีตมหรสพชาวตำบลงิ้วรายในยุคตลาดงิ้วรายรุ่งเรือง

"ระนาดตาเท ลิเกยายปราง หนังตาลิ้ม" เป็นงานเขียนเล่าเรื่องอดีตชุมชนงิ้วราย ในหนังสือฉลองครบรอบ 100 ปี โรงเรียนวัดงิ้วราย(พินพิทยาคาร) หน้า 40-44 โดยอาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนวัดงิ้วราย

"ระนาดตาเท ลิเกยายปราง หนังตาลิ้ม"

โดย อาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์

เมื่อผมเกิดมา 19 มกราคม 2487 ผมพบว่าผมมีพี่อยู่แล้ว 2 คน คือพี่ถนอมศรี กับพี่อำนวย และต่อมามีน้องชายตามมาติดๆ อีก 2 คน คือ ประกอบ กับประสาร

ผมสนิทกับประสานมากกว่าประกอบ เพราะประกอบถูกยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของลุงสุขกับป้ากิมลั้ง ซึ่งอาศัยในบ้านหลังเดียวกับผม

ต่อมาแม่ผมคลอดลูกหัวปีท้ายปี มี ฐานินี เข้ม และบัณฑิต รวมแล้วครอบครัวผมมีลูก 8 คน ผู้ชาย 6 คน หญิง 2 คน

เมื่อก่อนนี้ บ้านผมอยู่ริมแม่น้ำ หลังตลาดงิ้วราย ห่างจากตลาดราว 200 เมตร ติดกับโรงสีข้าวของกู๋ชุ้น

ตอนนั้นครอบครัวผมมีอาชีพทำนา พ่อกับแม่มีนาอยู่กี่ไร่ผมไม่เคยทราบ ผมมีหน้าที่เลี้ยงควาย 2 ตัว คือไอ้ดอก กับ ไอ้ใหม่ ผมชอบนำความไปเลี้ยงที่ "ศาลาขาว"

ศาลาขาว เป็นเนินดิน กว้างราว 10 ตารางวา สมัยนั้นยังมีร่องรอยหลังคาศาลา และเจดีย์อยู่ สันนิษฐานว่าจะเป็นวัดร้าง อยู่ใกล้ๆ รางรถไฟ ไปทางบ้านท่าเกวียน เกือบถึงบ้านกำนันเด่น สาเหตุที่ผมชอบไปเพราะมันเป็นที่เนิน มีร่มไม้ มีหญ้าเยอะ ทั้งควายทั้งเด็กเลี้ยงควายสบาย

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2497 จึงย้ายมาอยู่ห้องแถวตลาดงิ้วราย ซึ่งก๋งกับยาย(ก๋งกู้-ยายสำริด)มอบให้พ่อแม่ผมทำมาค้าขาย

แม่ผมขายผักสด ข้าวสาร อาหารแห้ง พริก กะปิ หอม กระเทียม น้ำมันพืช น้ำปลา ผงชูรส รวมทั้งของใช้จิปาถะในบ้าน ตะปู ลวด กระดาษทราย สีกระป๋อง รองเท้าฟองน้ำ ฯลฯ

พ่อ...มักออกไปช่วยงานคน โกนจุก โกนผมไฟ งานบวช งานหมั้น งานแต่ง งานศพ นิมนต์พระ เลี้ยงพระ จัดงาน หามหรสพ ดูแลความเรียบร้อยจนเสร็จงานจึงกลับบ้าน

วันหนึ่งจำได้ว่า "ลุงเคลือบ" ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ ก็เอาตราผู้ใหญ่บ้านและหมวกกะโล่มามอบให้พ่อผม แล้วบอกให้พ่อผมเป็นผู้ใหญ่บ้านแทนลุงเคลือบ

พ่อผมกลายเป็น "ผู้ใหญ่เจ็ง"

ต่อมาอีกหลายปี "กำนันเด่น" ก็มาขอให้พ่อผมเป็นกำนันแทนท่าน

พ่อผมกลายเป็น "กำนันเจ็ง" ตั้งแต่นั้นมา...

ผมก็ยกระดับจาก "ลูกผู้ใหญ่บ้าน" มาเป็น "ลูกกำนัน" เท่ซะไม่มีหล่ะ

ภารกิจพ่อผมในฐานะกำนัน เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว นอกจากวันๆ ต้องออกบริการชาวบ้านแล้ว ยังต้องไปประชุมที่อำเภอ ที่จังหวัดบ่อยมาก

แม่ไม่เคยบ่นอะไร แม่เห็นดีด้วยกับงานบริการประชาชนที่พ่อทำตลอดชีวิต แม่พูดออกมาเพียงคำเดียวว่า เงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไมเคยตกถึงมือสักบาท

ก็จะไปเหลืออะไร กำนันเงินเดือน 80 บาท ค่าซักรีดเครื่องแบบก็หมดแล้ว

พ่อผมมีงานพิเศษอีกอย่าง (แต่ไม่มีรายได้หรอกนะ) คือ หามหรสพให้ชาวบ้าน ใครจะจัดงานอะไร ต้องมาให้พ่อผมหาลิเก หาหนัง หาระนาดตะโพนให้

ไม่มีอะไรยากสำหรับพ่อผม โทรศัพท์ไม่มี มือถือไม่มี อินเทอร์เนตไม่มี แต่ใครอยากจัดงานเมื่อไหร่ ต้องการหามหรสพชนิดใด คณะใด พ่อผมหาให้ได้หมด

เพราะพ่อผมมี "เนตเวิร์คดี" คือบรรดาเจ้าของมหรสพ หัวหน้าคณะ ผู้จัดการวงทั้งหลาย จะแวะเวียนหาพ่อผมที่บ้านเสมอๆ จะไปแสดงที่ไหนก็ต้องแวะมาเยี่ยมพ่อผมก่อน

พ่อผมก็เลย "เครือข่ายดี" ว่างั้นเถอะ

และที่เป็น "ของตาย" หรือ"ไม้เด็ด" ของพ่อผมก็คือ เรามี "โอท็อปมหรสพพื้นบ้าน" อยู่แล้ว 3 เจ้า

เรียกเป็นกลอนเลยว่า "ระนาดตาเท ลิเกยายปราง หนังตาลิ้ม"

ถ้าเป็นระนาด พิณพาทย์ แตรวง เครื่องเป่า เครื่องตี จำพวกนี้ ตาเทรับหมดทุกงาน ราคาไม่แพง

"ตาเท" อยู่แถวโรงหวด ดนตรีทั้งวงก็ฝีมือตาเท และลูกๆ หลานๆ ทั้งหมดแหละ เป็นธุรกิจครอบครัว ขนาด SME เลยทีเดียว

ผมเชื่อว่าทุกวันนี้ ลูห หลาน เหลน ตาเท ก็ยังคงรับงานประเภทนี้อยู่

ถ้าเป็นเรื่องลิเก ก็ต้องยกให้ "ยายปราง" ยายปรางอยู่หลังตลาดงิ้วราย หลังบ้านลุงทองใบ ป้าแม้น

ยายปรางจะฝึกเด็กๆ งิ้วราย ให้เล่นละครชาตรี เล่นลิเก อย่างต่อเนื่อง เป็นตำนานศิลป์พื้นบ้านเลยก็ว่าได้ ใช้ปากแทนกลองเวลาซ้อม

"จะโจ้งจ๊ะ ทิงโจ้ง...ทิงๆ

ตุ๊บ ทิง ทิง ทิง ตุ๊บ ทิง ทิง"

ยายปรางรับงานลิเก ละครไม่อั้น ราคาก็แสนถูก งานหนึ่ง 700-800 บาท

ระนาดตาเท รวมลิเกยายปราง ราคายังไม่ถึง 5 พันบาทเลย

แต่ถ้าเป็นหนังกลางแปลง ยกให้ "ตาลิ้ม" ผมไม่เคยนู้จักหน้าค่าตาตาลิ้ม เดาว่าบ้านคงอยู่แถวห้วยพลู(ถ้าผิดขออภัย)

ก่อนจะมาเป็น "กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์" ที่ท่าพระจัันทร์ กรุงเทพฯ ตลาดลิ้มครองตลาดหนังทั่วคุ้งแม่น้ำท่าจีนมาก่อน

ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวตลาดงิ้วราย เรียบง่าย กลางวันพลุกพล่าน กลางคืนเงียบกริบ พอรถไฟธนบุรี-น้ำตก เวลาหกโมงเย็นผ่านไปแล้ว จะเหลือแต่ชาวงิ้วรายล้วนๆ คนอื่นแปลกปลอมเข้ามาไม่ได้เด็ดขาด

ที่กลางวันพลุกพล่านก็เพราะ คนจากสุพรรณบุรี บางเลน บางปลาม้า คลองขุด คลองโยง ห้วยพลู 2 ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ถ้อยากจะเข้ากรุงเทพฯ จะต้องนั่งเรือแดง (เรือบริษัท สุพรรณขนส่ง จำกัด) มาขึ้นที่ท่างิ้วราย แล้วตีตั๋วรถไฟจากสถานีรถไฟงิ้วรายเข้ากรุงเทพฯ จะลงหัวลำโพง บางซื่อ สามเสน หรือธนบุรีก็แล้วแต่

ตกกลางคืนไม่มีมหรสพ ไม่มีหนังกลางแปลงอะไรให้ดู เราก็ไปนั่งบ้านลุงวุ่น...ดูทีวีขาวดำ ถ่ายทอดมวยบ้าง ละครบ้าง ทั้งตลาดมีทีวีอยู่แค่เครื่องเดียวว่างั้นเถอะ

...

ในวาระที่มีการจัดงานฉลอง 100 ปี โรงเรียนงิ้วราย(พินพิทยาคาร) 26 พฤสจิกายน 2548 ผมในฐานะลูกงิ้วรายขนานแท้และดั้งเดิมคนหนึ่ง จึงถือโอกาสฟื้นตำนาน "ระนาดตาเท ลิเกยายปราง หนังตาลิ้ม" ให้พ่อแม่ พี่ ป้า น้า อา และลูกๆ หลานๆ ฟังครับ.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท