องค์กรที่ดีควรมีอะไร


องค์กร

องค์กรที่ดีควรมีอะไร

นับจากอดีตนานมาแล้ว มนุษย์ได้มีการรวมกลุ่มกันในการทำงานหรือทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อการหาเลี้ยงชีพ หรือประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ การรวมกลุ่มกันเพื่อทำงานหรือ กิจกรรมในอดีตนั้น แสดงให้เห็นว่าได้มีการเกิดขององค์กรขึ้นมาแล้ว เนื่องจากว่าการรวมกลุ่มกันเพื่อทำงานหรือรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันนั้น ทุกคนก็มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้งานหรือกิจกรรมที่ร่วมกันทำนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นั่นแสดงให้เห็นว่าองค์กรได้เกิดขึ้นแล้วในอดีตกาลที่ผ่านมา แต่ว่าการรวมกลุ่มกันเพื่อทำงานหรือทำกิจกรรมในอดีต เป็นการรวมกลุ่มของกลุ่มคนที่มีจำนวนไม่มาก และลักษณะการทำงานหรือการทำกิจกรรมไม่ยากและสลับซับซ้อนเหมือนในปัจจุบัน อันมีสาเหตุเนื่องมาจากปัจจุบันสังคมมนุษย์ขยายตัวใหญ่โตมากยิ่งขึ้น ทวีความเจริญมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้มนุษย์ในสังคมปัจจุบันต้องสัมผัสกับองค์กรต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามนุษย์นั้น เป็นผู้สัมผัสกับองค์กรตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งก็คงเป็น คำกล่าวที่ไม่ผิดนัก เช่น เด็กเมื่อเกิดจากครรภ์มารดามาลืมตาดูโลกในโรงพยาบาลก็ถือว่าสัมผัสองค์กรแล้วคือโรงพยาบาลนั่นเอง พอโตขึ้นก็เข้าศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยซึ่งสถาบันการศึกษาเหล่านี้ก็คือองค์กรรูปแบบหนึ่ง หรือเมื่อจบสถาบันการศึกษาก็ต้องไปทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของทางราชการ เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ก็คือองค์กรอีกรูปแบบหนึ่ง หรือแม้ว่าเมื่อหมดลมหายใจตายไปจากโลกนี้แล้ว สถานที่ฌาปนกิจศพของมนุษย์ก็คือวัดซึ่งก็เป็นองค์กรอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นเอง

ดังนั้น เมื่อองค์กรมีความสำคัญต่อมนุษย์และมนุษย์ทุกคนต้องสัมผัสกับองค์กรในลักษณะหนึ่งลักษณะใดอยู่เสมอๆ มนุษย์จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษา และ ทำความเข้าใจกับองค์กรให้ละเอียดลึกซึ้งเพื่อจะได้อยู่ในองค์กรอย่างมีความสุข ประสบความสำเร็จในการทำงานให้กับองค์กรที่ตนเป็นสมาชิก และทำให้องค์กรนั้นเจริญเติบโตต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง สอดคล้องกับกระแสพัฒนาด้านต่าง ๆ ของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์

องค์กรที่ดีควรจะเป็นซึ่งผู้บริหารควรคำนึงและไปให้ถึงจุดที่เป็นองค์กรที่ดีนั้น

1. มีผู้นำที่ดีมีความสามารถพาองค์กรบรรลุภารกิจ วิสัยทัศน์ มุ่งความสำเร็จในพันธกิจหลัก

ความรู้ (Knowledge)การเป็นผู้นำนั้น ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ความรู้ในที่นี้มิได้หมายถึงเฉพาะความรู้เกี่ยวกับงานในหน้าที่เท่านั้น หากแต่รวมถึงการใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมในด้านอื่นๆ ด้วย การจะเป็นผู้นำที่ดี หัวหน้างานจึงต้องเป็นผู้รอบรู้ ยิ่งรอบรู้มากเพียงใด ฐานะแห่งความเป็นผุ้นำก็จะยิ่งมั่นคงมากขึ้นเพียงนั้น

ความริเริ่ม (Initiative)ความริเริ่ม คือ ความสามารถที่จะปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดในขอบเขตอำนาจหน้าที่ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องคอยคำสั่ง หรือความสามารถแสดงความคิดเห็นที่จะแก้ไขสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ดีขึ้น หรือเจริญขึ้นได้ด้วยตนเอง ความริเริ่มจะเจริญงอกงามได้ หัวหน้างานจะต้องมีความกระตือรือร้น คือมีใจจดจ่องานดี มีความเอาใจใส่ต่อหน้าที่ มีพลังใจที่ต้องการความสำเร็จอยู่เบื้องหน้า

มีความกล้าหาญและความเด็ดขาด ( Courage and firmness)ผู้นำที่ดีจะต้องไม่กลัวต่ออันตราย ความยากลำบาก หรือความเจ็บปวดใดๆ ทั้งทางกายวาจา และใจผู้นำที่มีความกล้าหาญ จะช่วยให้สามารถผจญต่องานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้นอกจากความกล้าหาญแล้ว ความเด็ดขาดก็เป็นลักษณะอันหนึ่งที่จะต้องทำให้เกิดมีขึ้นในตัวของผู้นำเองต้องอยู่ในลักษณะของการ “กล้าได้กล้าเสีย” ด้วย

การมีมนุษยสัมพันธ์ (Human relations) ผู้นำที่ดีจะต้องรู้จักประสานความคิด ประสานประโยชน์สามารถทำงานร่วมกับคนทุกเพศทุกวัย ทุกระดับการศึกษาได้ ผู้นำที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีจะช่วยให้ปัญหาใหญ่เป็นปัญหาเล็กได้

มีความยุติธรรมและซื่อสัตย์สุจริต ( Fairness and Honesty) ผู้นำที่ดีจะต้องอาศัยหลักของความถูกต้อง หลักแห่งเหตุผลและความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและผู้อื่น เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยสั่งการ หรือปฏิบัติงานด้วยจิตที่ปราศจากอคติ ปราศจากความลำเอียง ไม่เล่นพรรคเล่นพวก

มีความอดทน (Patience)ความอดทน จะเป็นพลังอันหนึ่งที่จะผลักดันงานให้ไปสู่จุดหมายปลายทางได้ อย่างแท้จริงมีความตื่นตัวแต่

ไม่ตื่นตูม ( Alertness )ความตื่นตัว หมายถึง ความระมัดระวัง ความสุขุมรอบคอบ ความไม่ประมาท ไม่ยืดยาขาดความกระฉับกระเฉง มีความฉับไวในการปฏิบัติงานทันต่อเหตุการณ์ความตื่นตัวเป็นลักษณะที่แสดงออกทางกาย แต่การไม่ตื่นตูม เป็นพลังทางจิตที่จะหยุดคิดไตร่ตรองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น รู้จักใช้ดุลยพินิจที่จะพิจารณาสิ่งต่างๆ หรือเหตุต่างๆได้อย่างถูกต้องพูดง่ายๆ ผู้นำที่ดีจะต้องรู้จักควบคุมตัวเองนั่นเอง (Self control)

มีความภักดี (Loyalty) การเป็นผู้นำหรือหัวหน้าที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีความจงรักภักดีต่อหมู่คณะ ต่อส่วนรวมและต่อองค์การ ความภักดีนี้ จะช่วยให้หัวหน้าได้รับความไว้วางใจ และปกป้องภัยอันตรายในทุกทิศได้เป็นอย่างดี

มีความสงบเสงี่ยมไม่ถือตัว (Modesty)ผู้นำที่ดีจะต้องๆไม่หยิ่งยโส ไม่จองหอง ไม่วางอำนาจ และไม่ภูมิใจในสิ่งที่ไร้เหตุผล ความสงบเสงี่ยมนี้ ถ้ามีอยู่ในหัวหน้างานคนใดแล้ว ก็จะทำให้ลูกน้องมีความนับถือ และให้ความร่วมมือเสมอ

2. มีหลักการบริหารถูกต้องหน้าที่ทางการบริหารของผู้บริหารประกอบด้วย 1.การวางแผน(Planning) 2.การจัดองค์กร(Organizing) 3.การจัดคนเข้าทำงาน (Staffing) 4.การสั่งการ (Directing) และ 5.การควบคุม(Controlling)ซึ่งการควบคุมนี้จะรวมถึงด้านการประเมินผลการดำเนินงานขององค์กร(Evaluation) ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้บริหารจะตระหนักว่าว่าหน้าที่การจัดการมีองค์ประกอบต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็ให้ความสำคัญกับการวางแผน ภาวะผู้นำ และด้านอื่น ๆ ที่มากกว่าการประเมินผลใช้

3. มีหลักการบริหารที่ดี(Good governance)หรือมีธรรมาภิบาลในการจัดการ หลักธรรมาภิบาล(Good Governance)มาจากคำว่า ธรรมะ + อภิบาล หมายความว่าหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองและสังคมที่ดีประกอบด้วยหลักพื้นฐาน6ประการดังนี้
1.หลักนิติธรรม ได้แก่การตรากฎหมาย กฏข้อบังคับต่างๆให้ทันสมัยและเป็นธรรมเป็นที่ยอมรับทั้งผู้ออกกฏและผู้ปฏิบัติตามตลอดจนทุกคนในสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย
2.หลักคุณธรรมได้แก่การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม ซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบ ตลอดจนมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจ
3.หลักความโปร่งใสมีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก เปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ไม่บิดเบือนหรือปิดบังบางส่วน
4.หลักความมีส่วนร่วมได้แก่การเปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เราทำทั้งร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขและร่วมรับผิดชอบ
5.หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้นอกจากจะต้องมีความรับผิดชอบแล้วยังต้องสร้ากระบวนการให้หน่วยงานต่างๆมาตรวจสอบได้ว่าการทำงานของเราโปร่งใสจริง
6.หลักความคุ้มค่าได้แก่การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มเงิน คุ้ม เวลา คุ้มแรงงาน

4. มีการประเมินผลและพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องโดยใช้มุมมองตามหลักBalanced scorecard(BSC)และKPI Balance Scorecard จะทำให้เราได้เห็นภาพขององค์กรใน4 มุมมอง และนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือวัดผล โดยวิธีการรวบรวมข้อมูลและนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ มุมมองทั้ง 4 ดังกล่าว ประกอบด้วย

1. The Learning and Growth Perspective เป็นมุมมองด้านการเรียนรู้และการเติบโต เช่น การพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน,ความพึงพอใจของพนักงาน,การพัฒนาระบอำนวยความสะดวกในการทำงาน เป็นต้น

2. The Business Process Perspective เป็นมุมมองด้านกระบวนการทำงานภายในองค์กรเอง เช่น การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ,การจัดโครงสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพ,การประสานงานภายในองค์กร,การจัดการด้านสายงานผลิตที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

3. The Customer Perspective เป็นมุมมองด้านลูกค้า เช่น ความพึงพอของลูกค้า,ภาพลักษณ์, กระบวนการด้านการตลาด,การจัดการด้านลูกค้าสัมพันธ์ เป็นต้น

4. The Financial Perspective เป็นมุมมองด้านการเงิน เช่น การเพิ่มรายได้,ประสิทธิภาพในการผลิตที่มีต้นทุนต่ำและมีการสูญเสียระหว่างผลิตน้อย,การหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ เป็นต้น

5. มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี สามารถลดมูลเหตุที่จะเกิดความเสียหายในอนาคตให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับและเข้าใจในการปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงบริการความเสี่ยงกับยุทธ์ศาสตร์ขององค์กรได้ ติดตามตรวจสอบผลดำเนินการบริหารความเสี่ยงและเฝ้าระวังความเสี่ยงใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

6. มีกระบวนการจัดการความรู้ในองค์กร(knowledge management)อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ และสร้างนวัตกรรมใหม่ให้แก่องค์กร

7. การบริหารมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์(Result base management)

8. มีการเชื่อมต่อองค์กรเครือข่ายและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง

องค์กรแต่ละองค์กรนั้นจะต้องประกอบด้วยหลายๆฝ่ายที่จะต้องทำงานร่วมกันและประสานงานกันเพื่อให้องค์กรเดินหน้าอย่างมั่นคงไม่เพียงแต่ผู้นำเท่านั้นที่เป็นคนชี้ว่าอนาคตองค์กรนั้นๆจะเดินไปอย่างไรแต่รวมถึงสมาชิกทุคนที่จะต้องใส่ใจและทุ่มเทเพื่อองค์กรของตัวเอง องค์กรก็เปรียบเสมือนรถคันหนึ่งที่มีผู้นำเป็นคนขับ ส่วนสมาชิกก็เปรียบเสมือนอะไหล่หรือส่วนประกอบของรถคันนั้น หากอะไหล่ไม่มีประสิทธิภาพก็อาจจะส่งผลให้รถคันนั้นขับไปได้ไม่ไกลและถึงจุดหมาย เช่นเดียวกันหากคนขับไม่รู้เส้นทางที่จะไปก็อาจจะทำให้การเดินทางนั้นล้มเหลวเช่นกัน ฉะนั้นองค์ประกอบทุกส่วนในองค์กรจึงมีความสำคัญเท่าๆกัน ในการบริหารองค์กรแต่ละองค์กรนั้นผู้เขียนอยากจะเสนอให้เอาแนวคิดทางพระพุทธศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจึงจะขอยกเอาหลักธรรมที่จะสามารถมาบริหารควบคู่ไปกับศาสตร์ทางโลกต่อไปนี้ การทำงานทางด้านการบริหารจัดการเป็นเรื่องยุ่งยากเพราะเป็นการทำงานกับคนส่วนใหญ่ในองค์กร หลักของพุทธศาสนาจึงมีบทบาทในการบริหารจัดการ พุทธศาสนากับคนไทยมีความผูกพันกันมานานไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยและเจริญมั่นคงในประเทศไทยยิ่งกว่าที่ไหนในโลก
ฉะนั้นหลักธรรมของพระพุทธศาสนาจึงเป็นที่มาของขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ทัศนคติ ในด้านความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ของคนไทยจะมีหลักพระพุทธศาสนามาเกี่ยงข้อง ซึ่งหลักธรรมของพระพุทธศาสนา จะมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของคนไทยมากและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ โดยยึดแนวทางการปฏิบัติที่เรียกว่า ทางสายกลาง ซึ่งในทางสายกลางของพุทธศาสนาเกี่ยวข้องทั้ง กาย วาจา ใจ สมาธิหรือว่าปัญญาสามารถนำประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการธุรกิจได้
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเปรียบเสมือนใบไม้ในป่าใหญ่ หยิบใบไม้มากำมือเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต หลักในการพิจารณาเลือกคำสอนพุทธศาสนามาใช้ในการบริหารจัดการนั้นต้องเลือกมาให้เหมาะกับวิถีชีวิต และองค์กรโดยหลัก ๆ เกี่ยวกับการปกครอง เกี่ยวกับการบริหารองค์กรต่าง ๆ จะต้องใช้หลักธรรมที่เรียกว่า สังคหวัตถุ 4 คือ เป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของกันและกัน ประสานใจทุกคนที่อยู่ในองค์กรเดียวกันให้อยู่อย่างมีความสุข สามัคคี ซึ่งประกอบไปด้วย

1. การให้ทาน คือ การอนุเคราะห์หรือสงเคราะห์ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามถานานุรูป ในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานบุญกุศลงานอัคคีร้าย หรือหลาย ๆ อย่าง

2. ปิยวาจา คือ การกล่าวด้วยคำที่เป็นที่รัก มีประโยชน์ ถูกต้องดีงาม และก็จริงใจต่อผู้ร่วมงาน
3. อัตถจริยา คือ ความประพฤติที่เป็นประโยชน์กันคนอื่น เช่นว่าเราช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทั่วไปแนะนำแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และชักชวนให้คนอื่นสนใจธรรมะ ให้ประพฤติ

4. สมานัตตา คือ ความเป็นผู้มีตนเสมอ วางตนเสมอต้นเสมอปลายปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเสมอภาค วางตัวให้เหมาะสมกับฐานะที่เป็นอยู่ เข้ากับคนอื่นให้ได้ ไม่เอาเปรียบคน อย่างที่กล่าวมาทั้งหมดเรียกว่า

สังคหวัตถุ 4

หลักเกี่ยวกับการบริหารองค์กร คือ อิทธิบาท 4

อิทธิบาท 4 คือ ธรรมะของความสำเร็จเป็นทางแห่งความก้าวหน้า ซึ่งสามารถมาใช้ในธุรกิจได้ มีหลักอยู่ 4 ประการ ดังนี้

1. ฉันทะ คือ ความพอใจ รักในสิ่งที่เราทำและสิ่งที่ถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม

2. วิริยะ คือ ต้องมีความพยายาม ขยัน หมั่นเพียร เข้มแข็งอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

3. จิตตะ คือ เอาใจมุ่งมั่นต่อสิ่งที่ทำ มีสติ ไม่เหม่อลอยฟุ้งซ่าน ต้องมีสมาธิ และตั้งอกตั้งใจ

4. วิมังสา คือ การรู้จักพิจารณาหาเหตุผลใช้ปัญญาในการทำงาน ประกอบไปด้วยการวางแผนงาน วัดผล

งาน เมื่อมีข้อบกพร่องต้องรู้จักแก้ไขปรับปรุง

วิธีการผสมผสานระหว่างบริหารจัดการกับคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในองค์การที่เห็นชัด คือองค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะตัวบุคคล ผู้นำองค์กรประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องอยู่ในศีลธรรม พนักงานในองค์กรก็จะถือเป็นแบบอย่างที่ดี ถ้าหากผู้บริหาร และบุคลากรในองค์การมีหลักธรรมเป็นเครื่องชี้นำแนวทาง การทำงานก็จะสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นต่าง ๆ ความขัดแย้งก็ลดน้อยลง เพราะทุกคนได้เรียนรู้และนำหลักธรรมะทางพุทธศาสนาไปใช้ ดังนั้นการทำงานต่าง ๆ จะสามารถสนองนโยบายบริษัทได้เป็นอย่างดี และความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่เห็นคือ บรรยากาศในการทำงานเป็นไปด้วยความสนุกสนาน ร่าเริงแจ่มใส คนทำงานมีความสามัคคี และมีความสุข สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการพัฒนาองค์กรของให้ก้าวหน้าไปอย่างราบรื่น

บรรณานุกรม

กรอบบริหารความเสี่ยงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไท. เข้าถึงได้จาก

: http://www.set.or.th/th/about/overview/files/Risk_... . 1 ธันวาคม 2558

ผู้นำที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร.เข้าถึงได้จาก

:http://www.sombatlegal.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=421796 . 17 ธันวาคม 2555.

ศิริพงษ์ ศรีชัยรมย์รัตน์. “กุญแจสู่ความเป็นเลิศทางการบริหารคน” เข้าถึงได้จาก :

http://www.sombatlegal.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=421796. 1 ธันวาคม 2558.

http://www.gotoknow.org/posts/65089. 1 ธันวาคม 2558.

หมายเลขบันทึก: 628517เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2017 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2017 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท