​ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๔. เฉลิมฉลองความสำเร็จ



บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง โดยตอนที่ ๔ นี้ตีความจาก Element 3 : Celebrating Success ซึ่งเป็นตอนที่สามใน ๓ ตอนของ ยุทธศาสตร์สื่อสารเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจน แก่นักเรียน โดยที่ยุทธศาสตร์นี้มีเป้าหมายให้นักเรียนได้รับข้อมูลป้อนกลับ (feedback) ที่ทรงประสิทธิผล เพื่อให้เข้าใจความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของตน และรู้ว่าตนก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง


เมื่อมีผลการประเมิน ก็ต้องมีการเฉลิมฉลองความสำเร็จ โดยเฉลิมฉลองความสำเร็จสองแบบไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ (๑) ความสำเร็จในการบรรลุระดับ เช่นบรรลุผลประเมินระดับ 3.0 ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าดีหรือเป็นที่พอใจ หรือความสำเร็จในการบรรลุระดับ 4.0 ซึ่งถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และ (๒) ความสำเร็จในการยกระดับ เช่นสามารถยกระดับผลประเมินของตนเองขึ้นถึงสองระดับ (เช่นจาก 1.5 เป็น 3.5) ในหนึ่งภาคเรียน

การเฉลิมฉลองความสำเร็จ ใช้ยุทธศาสตร์และการดำเนินการของครูตามตาราง




การเฉลิมฉลองความสำเร็จในชั้นเรียนทำง่ายๆ เช่น ให้นักเรียนยืนขึ้น ครูและเพื่อนๆ ปรบมือให้ หรือสั่นกระดิ่ง ที่สำคัญคือ ต้องมีคำอธิบายลักษณะของความสำเร็จนั้น ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งระดับความสำเร็จที่สูงกว่านั้นเป็นอย่างไร จะใช้ความพยายามอย่างไรจึงจะขึ้นสู่ระดับที่สูงกว่านั้นได้อย่างไร และการบรรลุเป้าหมายหรือความสำเร็จนั้นมีความสำคัญอย่างไร

จะเห็นว่า การเฉลิมฉลองความสำเร็จ มีเป้าหมายหลักที่การให้ความเห็นป้อนกลับ (feedback) เพื่อการปรับปรุง และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียน


หากการดำเนินการตามที่ระบุข้างต้นบรรลุผล จะเห็นพฤติกรรมในนักเรียนดังต่อไปนี้

  • นักเรียนแสดงความภูมิใจในผลสำเร็จของการเรียนของตน
  • นักเรียนพยายามเรียนเพื่อให้ได้คะแนนในสเกลที่สูงขึ้น
  • นักเรียนมีความสุขที่มีการเฉลิมฉลองยกย่อง


ขอเพิ่มเติมว่าในเรื่องการสื่อสารเป้าหมายการเรียนรู้แก่นักเรียนนั้น หนังสือได้ระบุคำแนะนำแก่ครูว่า คำถามเพื่อการออกแบบกิจกรรม (design question) ของครูคือ “ฉันจะสื่อสารเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจนได้อย่างไร เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความก้าวหน้าของความรู้ที่ตนคาดหมายต้องการเรียนรู้อย่างรู้จริง รวมทั้งรู้ว่าตนประสบความสำเร็จไปถึงไหนแล้ว”


คำแนะนำเพิ่มเติมของผมต่อครูไทยก็คือ ให้ใช้แนวทางในตอนที่ ๒ - ๔ ของบันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ของการสอน นี้ นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมต่อนักเรียนของท่าน


โดยสิ่งที่ครูพึงตระหนัก และต้องดำเนินการอย่างจริงจังคือ เลือกสอนเฉพาะความรู้ที่จำเป็น (essential) จริงๆ เท่านั้น ซึ่งจะกล่าวถึงในบันทึกหน้า



วิจารณ์ พานิช

๑ เม.ย. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 628384เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2017 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2017 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณค่ะ รอคอยอ่านบันทึกฉบับหน้าค่ะ วันนี้ยังไม่เปิดภาคเรียนแต่มีนักเรียนส่วนหนึ่งมาช่วยกันเตรียมการจัดการขยะในโรงเรียน และจะเปิดภาคเรียนกันวันจันทร์นี้ค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท