๑๑. ฝาแตบตอง


เช้าวันหนึ่งปลายเดือนเมษายน ซึ่งปกติแล้วหลังพระฉันภัตตาหาร ชาวบ้านจะรับประทานอาหารร่วมกันเสร็จแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน แต่วันนี้คงกลับเฉพาะผู้หญิง ยังมีผู้ชายหลายคนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคนไม่กลับ พากเขาแบกไม้ไผ่หลายลำมาวางลงใต้ร่มกะบกข้างศาลาวัด แล้วลงมือตัดเป็นท่อนๆ ราวท่อนละ 2 เมตร จากนั้นผ่าด้วยมีดพร้าเป็นตอกยาวๆ

“ชาวบ้านเขาทำอะไร” ผมถามสนขณะล้างบาตรหลวงปู่ และสนล้างบาตรหลวงพ่อ

<p “=””>“ทำฝาแตบตอง” สนตอบ ผมทวนคำ “ฝาแตบตอง” นึกไม่ออกว่า หน้าตามันเป็นยังไง
“ก็ ฝาที่ทำด้วยใบตองไง” สนตอบ แล้วพูดตัดบทว่า
“เออ..เดี๋ยวรู้ รีบล้างๆ เอาไปผึ่งแดด แล้วจะพาไปดูเขาทำ”

อีกไม่นานเราสองคนก็ไปนั่งยองๆ อยู่ข้างๆ ชายชราท่านหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นกำลังนำตอกไม้ไผ่สานกันเป็นตาข่ายผืนใหญ่ โดยตาข่ายแต่ละช่องมีขนาดพอที่แขนสอดเข้าไปได้สบายๆ
ผมสังเกตเห็นว่า ชาวบ้านมีจำนวนน้อยจึงถามชายชราท่านนั้นว่า
“กลับบ้านแล้วก็มีหรือครับ”
“ยังไม่กลับ ยังไม่เสร็จไม่กลับบ้านหรอก” ชายชราตอบ โดยที่ยังก้มหน้าสานตาข่าย
“ให้คนหนุ่มเขาไปเก็บใบตองชาด เกือบเพลโน่นแหละถึงจะมา” ชายวัยกลางคนที่สานตาข่ายใกล้ๆ ชายชราตอบแทน
“โน่น” สนพูดบ้าง พร้อมชี้มือไปทางท้ายวัด “เขาไปเก็บใบตองชาดทางโน้น”
ผมมองตามภาพที่เห็นคือ ยอดไม้เตี้ยๆ ท้ายวัดห่างจากที่เราอยู่ราว 500 เมตร
“ไปดูนะ” ผมบอกสน แล้วลุกขึ้นวิ่งไปทางที่สนชี้ นึกว่าสนจะวิ่งตาม แต่เปล่า สนกลับหยิบตอกไม้ไผ่ช่วยชาวบ้านสานตาข่ายไม่สนใจผมเลย
ท้ายวัดป่าหนองยาวในปี 2505 เป็นป่าหญ้าคาแซมด้วยไม้เบญจพรรณขนาดลำต้นประมาณต้นขาเด็กจึงไม่สูงนัก และมีอยู่ประปราย มองดูโล่งไม่น่ากลัว มีทางเดินแคบๆ ให้ชาวบ้านอาศัยเดินลัดไปไร่นา
พอพ้นเขตวัดเป็นนา ผืนนาแห้งแล้ง เป็นทรายและมีหญ้าขึ้นอยู่บ้าง คันนาเล็กๆ มีไม้เบญจพรรณขึ้นบนคันนาห่างๆ และมีบ้างที่อยู่บนผืนนา ผมกวาดสายตามองหาชาวบ้าน ก็เห็นหลายคนยืนอยู่ใต้ร่มไม้กำลังทำอะไรสักอย่าง และได้ยินเสียงฟันกิ่งไม้อยู่บนต้นไม้
ผมเดินเข้าไปใกล้ๆ ชาวบ้านที่อยู่ใต้ร่มไม้กำลังเด็ดใบไม้ใส่กระบุง
“ถอยๆ” ชาวบ้านคนหนึ่งห้ามผม เมื่อเห็นผมจะเข้าไปใต้ร่มไม้ ผมชงักก็พอดีมีกิ่งไม้ร่วงลงมาจากยอดไม้ เป็นกิ่งที่ไม่ใหญ่นัก แต่ถ้าโดนศรีษะก็คงเจ็บไปนาน
“ใบอะไรครับ” ผมถาม
“ใบชาด” ชาวบ้านคนที่ห้ามผมตอบสั้นๆ ตาคงมองใบชาดและก้มหน้าก้มตาเก็บไม่สนใจผมอีก
ใบชาดมีใบหนาใหญ่ขนาดสองฝ่ามือผู้ใหญ่ ผมช่วยชาวบ้านเด็ดใบชาดใจก็นึกว่าเขาจะเอาไปทำฝาอย่างไรหนอ…
ชาวบ้านเก็บใบชาดจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบแล้วมัดแน่นเป็นก้อนใหญ่ แต่ละก้อนราว 50 ใบ ใส่ลงกระบุงจนเต็มหาบ แล้วนำกลับมาที่ร่มกะบกข้างศาลาวัด
ตอนที่ผมกับชาวบ้านกลับมาถึงนั้น ชายชราและชายกลางคนกับสนได้สานตาข่ายไม้ไผ่เสร็จแล้ว พอมาถึงทุกคนช่วยกันนำใบชาดสอดเข้าไประหว่างตอกเหนือช่องตาข่ายใบละช่อง โดยสอดจากบนลงล่างแต่ให้ใบชาดที่อยู่บนทับใบชาดที่อยู่ล่าง เมื่อสอดจนทั่วผืนตาข่ายแล้ว เขาก็นำตาข่ายอีกผืนประกบเข้ากับตาข่ายที่สอดใบชาดไว้ จากนั้นใช้ตอกที่จักให้อ่อนมัดเข้าด้วยกันเป็นช่วงๆ จนแน่น
“ได้ 1 ผืนละ” สนบอกผม
“เอาไปทำฝาได้เลยรึ” ผมถามขึ้นลอยๆ
“ยัง” ชายชราคนเดิมตอบ แล้วอธิบาย “ตอนนี้ใบชาดยังเป็น ยังเอาไปแอ้มไม่ได้” (แอ้ม หมายถึง ทำฝา) </p> <p “=””>“อีก 3-4 วัน ใบชาดเหลือง ถึงเอาไปแอ้มได้ ตอนนั้นฝาแตบตองจะแข็งแรงทนทาน”

บ่ายวันนั้น ขณะนั่งทานข้าวกับสน (ผมกับสนทานข้าววันละ 2 มือ มื้อเช้าพร้อมกับพระสงฆ์และมื้อบ่าย) ผมยังสงสัยว่าใบชาดยังสดกับใบชาดแห้งมันทำไมแข็งแรงต่างกัน ผมว่าใบสดน่าจะแข็งแรงกว่าด้วยซ้ำ สนเองก็ตอบผมไม่ได้ เขาบอกเพียงชาวบ้านทำมาแบบนั้น

</p>

แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วครับ ซึ่งกว่าจะรู้นั้น ทำให้ผมอึดอัดแทบตายเลยทีเดียว


หมายเลขบันทึก: 628231เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2017 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2017 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Thank you.

รูปที่ลงคือ รูปต้นชาดใช่ไหม? มีรูป ใบชาด (ฝาแตบตอง) ที่เสร็จแล้วไหมครับ?

สวัสดีครับ ต้นชาดคล้ายต้นสะแบงครับ ต้นที่ลงคงเป็นต้นชาด ส่วนฝาแตบตองปัจจุบันหายากมาก ผมจะพยายามหามาลงนะครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท