​อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน โดย ศ. ดร. เขียน ธีระวิทย์


เรื่องพิพาทพื้นที่บริเวณทะเลจีนใต้นี้ คู่พิพาทต้องแก้ปัญหากันเอง

อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน

ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ (6-21 เม.ย. 60) มีข่าวใหญ่-ข่าวร้ายเกิดขึ้นในโลกหลายแห่ง ส่วนมากเกิดขึ้นจากน้ำมือของผู้นำอภิมหาอำนาจโลก ประธานาธิบดีโดนาลด์ ทรัมพ์ (Donald Trump) ท่านรื้อฟื้นการทูตสมัยหิน (อำนาจคือความชอบธรรม) มาใช้ ข่มขวัญศัตรูและคู่แข่งโดยใช้กลเม็ด “ตีวัวกระทบคราด” ทรัมพ์เชิญสีจิ้นผิงประธานาธิบดีจีนไปเยือนสหรัฐฯ (6-7 เม.ย.) ท่านมีวิธีต้อนรับประมุขรัฐต่างประเทศที่ประหลาด ในการพบปะเจรจาความเมืองกันครั้งแรกสามชั่วโมง (6 เม.ย.) ทรัมพ์แจ้งข่าวสดๆ ให้สีจิ้นผิงทราบว่า ท่านเพิ่งสั่งให้เรือรบในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยิงจรวด Tomahawk 59 ลูก ถล่มฐานทัพอากาศของซีเรีย

ทรัมพ์ควรรู้ว่าจีนกับซีเรียนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และต้องรู้แน่ว่ารัสเซียได้ช่วยรัฐบาลซีเรียปราบฝ่ายกบฏและฝ่ายก่อการร้ายมานานกว่าสองปีแล้ว และคงรู้ด้วยว่าจีนกับรัสเซียเป็นมหามิตรที่ดีต่อกัน ทรัมพ์ต้องการบีบให้จีนเลือกข้างหรือเปล่า? จะเลือกข้างรัสเซีย-ซีเรียหรือจะเลือกสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีน? หรือต้องการโจมตีซีเรียกระทบคราดรัสเซีย-จีน เพื่อข่มขวัญให้จีนช่วยสหรัฐฯ ในการบีบบังคับให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์? ในโอกาสพบเจรจากัน 2 ครั้งภายใน 2 วัน เป็นเวลานานประมาณ 5 ชั่วโมงนั้น ทรัมพ์บอกสีจิ้นผิงว่า ถ้าจีนไม่ช่วยปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ สหรัฐฯจะจัดการเอง

สีจิ้นผิงตอบโต้ทรัมพ์ด้วยมารยาททางการทูตอย่างไรในฐานะแขกผู้รับเชิญนั้นน่าทึ่งมาก แต่ไม่อยู่ในประเด็นที่จะเอามาเผยในที่นี้ บอกได้เพียงสั้นๆ ว่า ทรัมพ์ประทับใจมาก ชมสีและภรรยาว่า “great” (ยิ่งใหญ่) ต่อมาทรัมพ์ให้สัมภาษณ์ผ่าน TV Fox News ย้ำความยิ่งใหญ่ประธานาธิบดีจีน แต่เมื่อถูกถามว่า แล้วได้อะไรจากผู้นำจีนบ้าง ท่านตอบตรงๆ ว่า “ไม่ได้อะไรเลย” (nothing)

ประเด็นสำคัญข้อหนึ่งที่ทรัมพ์ต้องการให้จีนช่วยคือ ใช้อิทธิพลบังคับเกาหลีเหนือให้ปลดอาวุธนิวเคลียร์และเลิกพัฒนาจรวดนำวิถีระยะทำการไกล แต่ปรากฏว่าสีก็คงใช้วาทะทางการทูตเหมือนเดิมคือ “ต้องแก้ปัญหาโดยวิถีทางการเมือง” (ไม่ใช่กำลัง) สีคงมีศิลปะทางการทูตพูดง่ายๆ ให้ทรัมพ์ตีความเอาเองว่าจีนไม่ยอมช่วยหรือช่วยไม่ได้ เพียงแค่นี้ทรัมพ์ก็ได้คำตอบแล้วว่าตนต้องใช้วิธีการของตนเอง

วิธีการของทรัพย์นั้นง่ายมาก ย้อนยุคกลับไปใช้ “การทูตเรือปืน” นอกจากสั่งให้กองทัพเรือยิงจรวดใส่ฐานทัพอากาศของซีเรียแล้ว วันที่ 13 เมษายน สองวันก่อนที่เกาหลีเหนือจะทำพิธีสวนสนามเฉลิมฉลองวันเกิดครบรอบ 105 ปีของบิดาแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี(คิมอิลซ็อง) ทรัมพ์สั่งให้เครื่องบินทิ้งระเบิดไปหย่อน MOAB ลงที่ฐานที่มั่นของพวกต่อต้านรัฐบาลอัฟกานิสถาน ซึ่งสหรัฐฯ ร่วมรัฐบาลทำสงครามปราบปรามอยู่ (มีคนตายประมาณ 100 คน) กระบอกเสียงของอเมริกาผู้ยิ่งใหญ่พากันประโคมข่าวคำคุยโวของกรุงวอชิงตันว่า MOAB เป็นแม่ของมวลระเบิดธรรมดา (แม้จะเป็นอาวุธทำลายหมู่ แต่ไม่ถูกจัดอยู่ในจำพวกอาวุธนิวเคลียร์) ที่มีอำนาจทำลายรุนแรงที่สุดในโลก นอกจากนั้นในโอกาสที่เกาหลีเหนือจัดงานสวนสนามอันยิ่งใหญ่นั้น สหรัฐฯ ยังได้ส่งทหารไปซ้อมรบกับพันธมิตรญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ณ อาณาบริเวณประชิดกับพรมแดนเกาหลีเหนืออีกด้วย เพื่อยกระดับการข่มขู่เกาหลีเหนือให้สูงขึ้น สหรัฐฯ กุข่าวขู่เกาหลีเหนือว่ากองเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson พร้อมด้วยเรือปืนจู่โจมอันเกรียงไกรกำลังเคลื่อนทัพเข้าสู่คาบมุทรเกาหลี ทั้งหมดนี้ สื่อมวลชนทั่วโลกประโคมข่าวครึกโครมสมดังที่ทรัมพ์ต้องการ แต่ดูเหมือนคิมจองอืน ผู้นำเกาหลีเหนือไม่สะทกสะท้านมากนัก เพียงประกาศจุดยืนออกไปว่า เกาหลีเหนือจะไม่โจมตีฝ่ายอเมริกาก่อน แต่จะตอบโต้ทันทีถ้าถูกโจมตี

ในช่วงสองสัปดาห์แห่งความตึงเครียดนั้น สื่อมวลชนในอาเซียนโหมแพร่กระจายเหตุการณ์กันอย่างร้อนรน มีบทความ-บทวิเคราะห์มากมายแพร่ข้อคิด-ข้อเสนอแนะของนักวิชาการและผู้เชี่ยวาญแนะให้เพิ่มบทบาทของอาเซียนในการแก้ปัญหาเอเชียให้มากขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ด้วย ข้อคิด-ข้อเสนอแนะให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นในการใช้อาเซียนเป็นเวทีแก้ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีและปัญหาทะเลจีนใต้ นี่แหละที่ทำให้ผมขาดความอดทนในการแสดงความเห็นแย้ง ผมว่าปัญหาทั้งสองนี้ไทยและอาเซียนทำอะไรไม่ได้หรอก นอกจากเสียเวลาและเงินทองประชุมกันซ้ำซากเหมือนเรื่องอื่นๆ ของการประชุมอาเซียนนั่นแหละ ผมมีเหตุผลย่อๆ ทั้งสองเรื่องดังนี้

  • เรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
    • ถามตัวเองก่อนว่า ASEAN และ ARF คือใคร จีนซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อเกาหลีเหนือทั้งในทางทหาร การเมือง และเศรษฐกิจ ยังทำอะไรไม่ได้ ถ้าท่านจะถามว่าจีนไม่ยอมทำ หรือทำไม่ได้ ผมว่าทั้งสองอย่าง จีนไม่ใช่สหรัฐฯ จะให้เขาใช้อิทธิพลหรืออำนาจบีบบังคับประเทศเพื่อนบ้าน ก็คล้ายๆจะบอกให้เขาเลิกเป็นจีนนั่นแหละ และเกาหลีเหนือก็ไม่ใช่ไทยที่จะยอมหลบภัยจากมหาอำนาจชาติหนึ่งไปซุกอยู่ใต้ปีกของชาติอื่นได้ง่ายๆ
    • คนที่เสนอให้ปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ คล้ายๆ จะประณามว่าเกาหลีเหนือเท่านั้นที่เป็นฝ่ายผิด ทำไมเราไม่คิดว่าทำไมประเทศอื่นๆ รวมทั้งอินเดีย ปากีสถาน และอิสราเอล มีอาวุธนิวเคลียร์ได้ ยิ่งกว่านั้น มีประเทศใดบ้างที่มีอาวุธนิวเคลียร์แล้วจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนหรือให้สัญญากับชาวโลกว่าพวกเขาจะทำลายอาวุธนิวเคลียร์ให้เหลือน้อยลงเป็นขั้นตอนจนหมดไปจากโลกนี้
    • ทำไมเกาหลีเหนือไม่เลิกคิดมีอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ? ถ้าเราเป็นผู้นำนั่งอยู่ที่กรุงเปียงยาง เราอาจจะเข้าใจง่ายขึ้น ความอยู่รอดในฐานะความเป็นรัฐเอกราชของเกาหลีเหนือนั้นมีประวัติขมขื่นเกินกว่าที่คนต่างชาติจะเข้าใจได้ ครั้งหนึ่งสมัย Bill Clinton เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยการประชุมที่เรียกว่า “การเจรจา 6 ฝ่าย (Six-Party Talks) ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพ ในปี 2537 เกาหลีเหนือยอมระงับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ตามข้อตกลงที่ประเทศคู่ภาคีจะต้องปฏิบัติ 8 ข้อ รวมทั้งสหรัฐฯ ยอมสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูแบบน้ำธรรมดา (light-water reactor) 2 โรงที่ไม่สามารถผลิตสารพลูโตเนียม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ ชดเชยของเดิมที่เกาหลีเหนือใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ในขณะนั้น แต่ไม่นาน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ รัฐบาลยอร์จ ดับเบิลยู บุชเบี้ยวข้อตกลงเอาดื้อๆ (เรื่องมันสับสนเกินไปที่จะอธิบายให้เข้าใจสั้นๆ ผู้ที่สนใจเปิดดูในเว็บไซต์ www.thaiworld.org หรือหนังสือรวมบทความ “จีนกับการเจรจา 6 ฝ่าย เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์เกาหลี (1), (2), (3)” เขียน ธีระวิทย์, จีนใหม่ในศตวรรษที่ 21 (สำนักพ์มติชน 2549), น. 127-154) ไม่มีภาคีชาติใดรวมทั้งจีนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมแทนเกาหลีเหนือ แม้แต่สื่อมวลชนทั้งโลกก็ไม่ได้แพร่ข่าวที่เกาหลีเหนือถูกต้มในครั้งนั้นให้ชาวโลกได้รับรู้
    • ในสายตาของผู้นำเกาหลีเหนือ ไม่มีชาติใด รวมทั้งสหประชาชาติ มีอำนาจหรือน่าเชื่อถือพอที่จะเป็นหลักประกันความอยู่รอดในฐานะเป็นรัฐเอกราชได้ จึงเลือกเสี่ยงภัยที่จะพึ่งตนเอง และในที่สุด ด้วยพฤติกรรมอหังการของทรัมพ์เอง ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่าผู้นำเกาหลีเหนือคิดถูก ถ้าพวกเขาไม่มีอาวุธนิวเคลียร์หรือจรวดนำวิถีที่เคยทดสอบมาแล้ว (ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว) เกาหลีเหนือก็คงถูกสหรัฐฯ ถล่มให้ได้รับความอดสูดังที่เกิดขึ้นในซีเรียและอัฟกานิสถานแล้ว ครั้งนี้สหรัฐฯ และพันธมิตรทำอะไรเกาหลีเหนือไม่ได้ เพราะกลัวจะถูกตอบโต้ด้วยอาวุธร้ายแรง
    • ในเวทีการประชุมที่ไหนก็ตาม ถ้าเราเอาเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าวไปพูด ก็จะถูกตีความว่า เรานิยมเกาหลีเหนือ เสียมิตรประเทศมากมาย จึงไม่ควรเอาเรื่อง “หยิกเล็บเจ็บเนื้อ” เช่นนี้ไปให้ผู้นำไทยทำ
  • ปัญหาทะเลจีนใต้
  • ผลประโยชน์ของเราอยู่ไหน
    • จีนนั้น ถือว่าบูรณภาพแห่งดินแดน (อาณาบริเวณทะเลจีนใต้รวมอยู่ด้วย) เป็น “แก่นของผลประโยชน์แห่งชาติ” จีนยอมใช้กำลังทำสงคราม เพื่อรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน จีนต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และฐานทัพบนดินและบนเรือรบของสหรัฐฯ ก็ต้องปลอดอาวุธนิวเคลียร์ด้วย จีนจะไม่ยอมให้สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ใช้กำลังโค่นล้มรัฐบาลเกาหลีเหนือ ทั้งๆ ที่สายสัมพันธ์ฉันมิตรกับเกาหลีเหนือจะขาดไปหลายปีแล้วก็ตาม
    • ส่วนญี่ปุ่นนั้นมีเหตุผลของเขาที่จะเป็นปรปักษ์ต่อจีนและเกาหลีเหนือ เพราะทั้งสองชาตินี้เป็นศัตรูกับตนในทางประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นยังมีกรณีพิพาทกับจีนในทะเลจีนตะวันออกติดต่อกับญี่ปุ่น จึงต้องการสร้างภาพลัทธิขยายดินแดนของจีนให้ชาติอื่นเห็น ช่วยผ่อนแรงตนในการต่อสู้กับจีน อีกทั้งทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าเข้าออกของญี่ปุ่นที่สำคัญมาก นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐฯ ในการร่วมมือกันต่อต้านจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย
    • ส่วนสหรัฐฯ นั้นก็ต้องการกันมิให้จีนพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารล้ำหน้าสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอาจจะคุกคามความมั่นคงของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ รวมทั้งฐานทัพของตนในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ในเอเชียแปซิฟิกด้วย ที่สำคัญคือ สหรัฐฯ ต้องการให้เอเชียมีความตึงเครียดอย่างยั่งยืนขนาดควบคุมได้ เพื่อให้อุตสาหกรรมทางทหารของตนเจริญรุ่งเรืองและเพื่อให้การปรากฏตัวทางทหารของสหรัฐฯ ได้รับการต้อนรับจากประเทศที่กลัวการรุกรานของจีนตลอดไปในเอเชีย
    • ผลประโยชน์ของเราเกี่ยวกับสองปัญหาที่ว่ามานี้มีอะไร? (1) ถ้าใครคิดจะจัดประชุม ASEAN หรือ ARF เพื่อแก้ปัญหาทั้งสองให้ได้ชื่อว่าเรากังวลใจ เราอยากเห็นสันติภาพในภูมิภาค ฯลฯ กิจกรรมอย่างนี้ไว้ให้เป็นงานของพวกนักวิชาการดีกว่า (2) ถ้าต้องการทำงานนี้เพื่อมนุษยธรรม ผมคิดว่าไม่ต้องเป็นห่วงหรอก พวกเขาคงไม่เอาอาวุธสังหารหมู่มาต่อสู้กันจริงๆหรอก หรือถ้าจะมีคนบ้าก่อเหตุ เราก็คงไม่สามารถทำอะไรไปยับยั้งได้ พลังอำนาจแห่งชาติของเรามีจำกัด อย่าคิดทำอะไรเกินตัวดีกว่า (3) ถ้าใครคิดว่าตัวเก่งจะไปประชุม ASEAN หรือ ARF เพื่อชี้ให้คู่พิพาทเห็นว่าผลประโยชน์ของพวกเขามีอะไรที่ไม่ชอบธรรม และให้เปลี่ยนนโยบายและจุดยืนนั้นเสีย ผมคิดว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันมากกว่า

สำหรับปัญหาทะเลจีนใต้นั้น ไทยมิได้เป็นคู่พิพาท จึงไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว บริเวณเกาะและพื้นทะเลที่พิพาทกันนั้นกว้างใหญ่ไพศาล จีน, ไต้หวัน, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และบรูไน ต่างก็เข้ายึดพื้นที่ครอบครองกันมากบ้างน้อยบ้าง จีนอ้างกรรมสิทธิเหนือพื้นที่เป็นบริเวณกว้างที่สุด และยึดครองพื้นที่ไว้กว้างที่สุด ตามหลักวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผสมกับกฎหมายระหว่างประเทศ ในดินแดนที่ประเทศต่างๆ อ้างกรรมสิทธิทับซ้อนกันนั้น ท่านให้พิจารณา (1) หลักฐานทางประวัติศาสตร์ (2) การรับรองจากนานาประเทศ และ (3) การครอบครองอย่างมีประสิทธิภาพ ตามลำดับของความสำคัญ แต่ในทางปฏิบัติอันดับความสำคัญนั้นกลับกัน แต่จะใช้เกณฑ์ไดก็ตาม จีนก็ได้เปรียบประเทศอื่นๆ (ดู เขียน ธีระวิทย์, นโยบายต่างประเทศจีน (กองทุนสนับสนุนวิจัยและสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ 2541), น. 386-404)

สรุปโดยย่อคือ เรื่องพิพาทพื้นที่บริเวณทะเลจีนใต้นี้ คู่พิพาทต้องแก้ปัญหากันเอง เมื่อไทยเรามีข้อพิพาทเรื่องพรมแดนกับเพื่อนบ้าน เราก็ยึดหลักการเจรจาตกลงกันแบบทวิภาคี ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็คงจะต้องชี้ขาดกันด้วยกำลัง ใครยึดครอง-ครอบครองส่วนใดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจมีการแย่งชิงพื้นที่กันบ้างบางครั้งบางคราว นานไปก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา ดูเหมือนฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต กำลังปรับตัวอยู่กับจีนตามหลักการนี้ มาเลเซีย เวียดนาม ก็ได้ปรับตัวอยู่กับจีนมานานแล้ว ถ้าไม่มีสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมาส่งเสริมให้พวกเขาตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับจีน พวกเขาคงจะปรับตัวอยู่กับจีนฉันเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันมานานกว่านี้เสียอีก

ผมว่าจะให้รัฐบาลของเราทำอะไรในเวทีการเมืองโลก ต้องดูก่อนว่าผลประโยชน์ของคนไทยอยู่ที่ไหน

เขียน ธีระวิทย์

หมายเลขบันทึก: 627947เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2017 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2017 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท