พุทธศาสนามหายาน ตอนที่ 5 : หลักคำสอนนิกายย่อยของมหายาน 2


พุทธศาสนามหายาน ตอนที่ 5 : หลักคำสอนนิกายย่อยของมหายาน 2

11 เมษายน 2560

(ต่อหลักคำสอนนิกายย่อย มี 4 ตอนย่อย)

นิกายสำคัญของมหายานในจีน

มหายานทั้งสี่นิกายในประเทศอินเดีย ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นนิกายที่เกิดขึ้นในอินเดีย และถือว่าเป็นต้นกำเนิดแห่ง พุทธศาสนาสายทิเบต ซึ่งตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าไปเจริญในประเทศจีนแล้ว พระคณาจารย์จีนได้นำหลักธรรมะจากพระสูตรต่างๆต่างๆไปย่อยโดยเอาพื้นฐานความรู้สึกสำนึกคิดของตนเข้าไปจับ จนทำให้เกิดนิกายต่างขึ้นหลายนิกายแต่ที่สำคัญๆ มี 8 นิกาย

(1) นิกายสัทธรรมปุณฑริก (เทียนไท่จง) Tiantai Saddharma Pundarikasutraหรือ สัทธรรมปุณฑรีกะ หรือเทียนไถ

ในราวพุทธศตวรรษที่10 คณาจารย์จีนชื่อฮุ่ยบุ้น (ฮุย-เวน) ได้ศึกษามหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์และมาธยมิกศาสตร์ของคุรุนาคารชุน แล้วบังเกิดความเห็นแจ้งในข้อธรรมในคัมภีร์ทั้งสองนั้น ท่านได้นำออกเผยแพร่โดยถ่ายทอดให้ศิษย์ชื่อฮุ่ยซือ ต่อมาท่านฮุ่ยซือได้ถ่ายทอดให้แก่คณาจารย์ตี้เจี้ย สรุปผู้ก่อตั้งนิกาย คือ ท่านฮุย-เวน แต่เจริญรุ่งเรืองในยุคของท่านฉี-อี้

หลักคำสอนสำคัญ

(1) แนวคิดเรื่องความจริง มี 3 ระดับ คือ

- ความว่าง หมายถึง ความว่างจากตัวตนของสรรพสิ่ง ทั้งทีมีชีวิตและไม่มีชีวิต เป็นภาวะที่แท้จริงของสรรพสิ่ง ความว่างนี้เป็นลักษณะที่แท้จริงของสรรพสิ่ง

- ความมีอยู่ชั่วคราว หมายถึง การมีอยู่ชั่วคราวของสิ่งต่างๆ ในโลกแห่งปรากฏการณ์ แม้ว่าสภาวะที่แท้จริงของสรรพสิ่งคือความว่าง แต่สรรพสิ่งก็ได้ปรากฏให้เห็นว่ามีอยู่แต่เป็นการมีอยู่เพียงชั่วคราว

- ความจริงที่เป็นกลาง หมายถึง ผลรวมของความว่าง และความมีอยู่ชั่วคราว กล่าวคือ ทั้งความว่างและปรากฏการณ์ที่เห็น ในลักษณะที่แท้จริงแล้วเป็นหนึ่งเดียวกันแยกไม่ออก

(2) แนวคิดเรื่องจิตสูงสุด

ความจริงที่เป็นกลางมีฐานะเป็นจิตสูงสุด ซึ่งแผ่ปกคลุมไปทั่วสากลจักรวาล เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายจะมีอยู่ได้ก็โดยอาศัยจิตสูงสุด จิตสูงสุดนี้ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด แผ่ซ่านอยู่ทั่วไปไม่มีขอบเขต บริสุทธิ์หมดจดสมบูรณ์ ประกอบด้วยธรรมชาติ 2 ฝ่าย คือ

- ฝ่ายที่บริสุทธิ์ หมายถึง คุณลักษณะของพระพุทธเจ้า

- ฝ่ายที่ไม่บริสุทธิ์ หมายถึง สิ่งอันหลากหลายในโลกแห่งปรากฏการณ์นี้

2.นิกายเซ็นหรือธฺยาน (เสี่ยมจง) หรือฌาน Ch’anหรือฉานจง หรือเซน

นิกายฌาน หรือฉานจง หรือเซน (คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่ามหายานคือเซน ที่จริงเซนเป็นนิกายย่อยอันหนึ่งของนิกายมหายานเท่านั้น)

คำว่า เซน (Zen) เป็นภาษาญี่ปุ่น มีรากศัพท์มาจากคำว่า ธยาน (ธฺยาน) ในภาษาสันสกฤต แปลว่า การเพ่ง หรือการทำจิตให้เป็นสมาธิโดยการนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐานในภาษาจีน คือ เสี่ยม-จง หมายถึง นิกายที่เน้นการปฏิบัติทางวิปัสสนา

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของนิกายเซน เชื่อกันว่า ท่านโพธิธรรม (Bodhidharma) พระภิกษุชาวอินเดียเป็นผู้นำคำสอนเข้าไปเผยแพร่ในจีนประมาณปี ค.ศ. 520 นับเป็นพระสังฆปริณายกองค์แรกของพุทธศาสนานิกายเซ็นในประเทศจีน ท่านโพธิธรรม ในนิยายกำลังภายในในประเทศไทยมักเรียก ตักม้อ หรือ ตั๊กม้อ (สำเนียงแต้จิ๋ว ตรงกับจีนกลางว่า ต๋าหมอ) เป็นพระภิกษุในศาสนาพุทธฝ่ายมหายานนิกายเซน มีประวัติไม่ชัดเจนนัก แต่เชื่อกันว่ามีตัวตนอยู่จริง และเป็นผู้สถาปนาวัดเส้าหลิน ในจีน

สังฆปริณายกองค์ที่ 2 คือ ท่านหุยเคอ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้รับใช้ของท่านโพธิธรรม พระสังฆปริณายกองค์ที่ 3 คือ ทานซังซาน สังฆปริณายกองค์ที่ 4 คือ ท่านเต้าซิ่น (Tao-Hsin ค.ศ. 1123-1194) สังฆปริณายกองค์ที่ 5 คือ ท่านฮุงเจิน (Hung-Jan ค.ศ. 1148-1218) พระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 คือ ท่านฮุยเน้ง (Hui-neng ค.ศ. 1118-1256) (ส่วนใหญ่รู้จักกันในนามว่า เว่ยหล่าง)

พุทธศาสนานิกายเซน มีหลักคำสอนที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

หลักพื้นฐานสำคัญของนิกายเซน

หลักพื้นฐานที่สำคัญของนิกายเซนมี 5 ประการดังนี้

(1) ความจริงที่สูงสุด หรือหลักการแรก เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงได้ด้วยคำพูด เพราะคำพูดนั้นเป็นเพียงแนวความคิด ไม่ใช่ประสบการณ์ ความจริงที่สูงสุดจะต้องได้จากประสบการณ์โดยตรงเท่านั้น

(2) การฝึกฝนในทางธรรม เป็นสิ่งที่ไม่อาจฝึกฝนกันได้ ด้วยความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่ง เพราะพระธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นอยู่เอง ผู้ปฏิบัติจะต้องเข้าถึงความเป็นเองนี้การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้ หากยังมีความพยายามที่จะฝึกฝนอยู่ด้วยการปรุงแต่งก็ไม่อาจเข้าถึงพระธรรมที่แท้จริงได้

(3) ธรรมชาติของความเป็นพุทธะนั้นมีอยู่แล้วในตัวเรา เราเพียงแต่ค้นพบสิ่งที่มีอยู่แล้วเท่านั้น ดังนั้น ผลบั้นปลายสุดท้ายแล้วไม่มีอะไรที่ได้มาใหม่ และไม่ใช่การได้อะไรมาใหม่

(4) สิ่งสำคัญที่สุดเพียงประการเดียวก็คือ ประสบการณ์ของความตื่นเท่านั้น เพราะไม่มีอะไรมากในคำสอนทางพุทธศาสนา สิ่งที่เรียกว่าแนวความคิด ลัทธิและคำสอนนั้นไม่มีความหมายที่แท้จริงแต่อย่างใด

(5) การตรัสรู้มิได้จำกัดอยู่ในรูปแบบใดๆ ในขณะที่ดำรงชีวิตประจำวันนั่นแหละเป็นขณะแห่งการสัมผัสชีวิตทางธรรม เพราะในขณะแห่งการทำงานในชีวิตประจำวันก็อาจเป็นขณะแห่งการตรัสรู้ได้ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธเป็นสิ่งสากลเราอาจพบมันได้ในทุกหนทุกแห่ง

3.นิกายอวตํสกะ (ฮั่วเงี่ยมจง) นิกายอวตังสกะ (ฮั่วเงี่ยมจง) ฮัว-เหยน (Hua Yen) นิกายอวตังสกะ หรือ หัวเหยียน, ฮั่วเงี้ยม, เฮี่ยงซิ้ว

ในราวพุทธศตวรรษที่ 9 ท่านพุทธภัทรได้แปลพระสูตรนี้ออกสู่พากย์จีน และต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง ท่านศึกษานันทะได้แปลอีกฉบับหนึ่ง ถือกันว่าเป็นฉบับที่สมบูรณ์ ตั้งแต่พระสูตรถูกแปลเป็นพากย์จีน ก็ถูกกับอุปนิสัยของชาวจีนมาก มีผู้ศึกษากันแพร่หลาย

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 คณาจารย์โต่วสุง ได้เขียนนิพนธ์เรื่อง “ฮวบก่ายกวง” (ธรรมธาตุวิปัสสนา) และ “โหงวก่าจีกวง” (ปัญจศาสน์สมถวิปัสสนา) ได้สถาปนารากฐานของนิกายฮั่วเงี้ยมขึ้น ต่อมามีคณาจารย์ฮวบจั๋งหรือเฮี่ยงซิ้ว ได้เขียนอรรถกถาหลักธรรมในอวตังสกสูตร นิกายฮั่วเงี้ยมจึงเจริญรุ่งเรือง บางทีนิกายนี้ก็ชื่อว่า “เฮี่ยงซิ้ว” ตามนามของคณาจารย์เฮี่ยงซิ้ว นิกายนี้มีอิทธิพลคู่เคียงกันนิกายเทียนไท้ตลอดมา

คำว่า อวตังสกะ แปลว่า พวงดอกไม้ พวงมาลัย เป็นชื่อของพระสูตรหลักที่นิกายนี้ยอมรับ คือ อวตังสกสูตร มีชื่อในภาษาจีนว่า ฮัว-เหยน (Hua Yen)

คณาจารย์ของนิกายนี้คือ ท่านฟา-ชุน ท่านชิ-เยน ท่านฟา-ฉ่าง ท่านเชง-กวน ท่านซุง-มี่

หลักคำสอนสำคัญ

(1) แนวคิดเรื่องความจริงแท้สูงสุด

สรรพสัตว์มีพุทธภาวะหรือพุทธจิตอันเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ตลอดเวลา ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นบ่อเกิดของสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏทั้งฝ่ายดีและชั่ว เรียกว่า เอกสัตย์ธรรมธาตุ

(2) แนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความจริงแท้สูงสุดกับสิ่งที่ปรากฏ

- ความจริงสูงสุด หรือ หลี่ (Li) คือ คุณสมบัติที่ปกแผ่ไปทั่วสากลจักรวาล เป็นความจริงของสิ่งทั้งหมด

- ปรากฏการณ์ หรือ ชิ (Shih) คือรูปแบบที่ปรากฏออกมาทางวัตถุ อยู่ภายใต้ขอบเขตของเวลาและสถานที่

ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนในราวคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 ซึ่งตรงกับยุคสมัยของราชวงศ์ถัง และเป็นยุคทองของพุทธศาสนาในประเทศจีน คณาจารย์ที่สำคัญแห่งนิกายอวตังสกะ ดังนี้

(1) ท่านฟา-ชุน (Fa-shun พ.ศ. 1100-1183) เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ตู-ชุน (Tu-shun) ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งนิกายอวตังสกะเป็นครั้งแรก จนได้รับการสรรเสริญว่าเป็น “พระโพธิสัตว์ตุนฮวง” (Tun-huang Bodhisattva)

(2) ท่านชิ-เยน (Chih-yen พ.ศ. 1145-1211) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยุน-หัว (Yun-hua)

(3) ท่านฟา-ฉ่าง (Fa-tsang พ.ศ. 1186-1255) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เสียน-โจว (Haien-shou) ท่านเป็นสานุศิษย์คนสำคัญของท่านชิ-เยน

(4) ท่านเชง-กวน (Ch’eng-kuan พ.ศ. 1281-1381) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าชิง-เหลียง (Ch’ing-liang)

(5) ท่านซุง-มี่ (Tsung-mi พ.ศ. 1323-1384)



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท