ที่มาอย่างง่ายของความคิดสร้างสรรค์ กับที่ไปอย่างทรงพลังของจินตนาการ


จากที่ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ผมเชื่อว่านั่นเป็นดุลยภาพเดิม แต่เรากำลังเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ที่ทั้งสองสิ่งมีความสำคัญไม่ต่างกัน

ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้น ดูจะเป็นนามธรรม (Abstract) ที่คิดให้ง่ายก็ง่าย ถ้าคิดให้ลึกก็ดูเหมือนจะซับซ้อน โดยส่วนตัวชอบวิธีการที่ง่ายแต่ให้รายละเอียดหรือก่อร่างสร้างผลงานที่ซับซ้อนได้ ก็เลยใช้ความชอบส่วนตัวตกผลึกเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้ง่ายๆ ว่า ... ความคิดสร้างสรรค์หรือการคิดอย่างสร้างสรรค์ (Creative Thinking) คือ การคิดด้วยความสร้างสรรค์ (Creative Thinking) นั่นแหละ เพราะมันมีความหมายโดยตัวมันเองที่ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประเภทของการคิดโดยปริยาย แต่ถ้าจะให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นก็คงต้องเสริมแต่งว่า จะต้องคิดในแง่บวก (Positive Thinking) แล้วก็คิดแบบไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร (Constructive thinking) อีกด้วย

หากจะกล่าวถึงองค์ประกอบของการคิดอย่างสร้างสรรค์ จะประกอบไปด้วย แนวคิดใหม่ (New Idea) ที่สามารถใช้การได้ (Usable Idea) และมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่นำไปใช้ (Appropriate Idea) ซึ่งแนวคิดหนึ่งอาจไม่จำเป็นต้องมีครบทั้งสามองค์ประกอบนี้ ก็นับได้ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้ในระดับหนึ่งแล้ว


สำหรับการอุบัติขึ้นของความคิดที่สร้างสรรค์นั้น คงหนีไม่พ้นเรื่่องของจินตนาการ (Imagination) อย่างแน่นอน หากไร้ซึ่งจินตนาการ ความคิดใหม่ๆก็ยากที่จะเกิดโดยตั้งใจได้ แต่กระนั้น จินตนาการเพียวๆมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่สภาวะการคิดอย่างฟุ้งซ่าน จึงต้องมีความรู้ (knowledge) เป็นเครื่องสะท้อนความจริงและสร้างผลกระทบที่เกิดประโยชน์ หรือพูดได้ว่า จินตนาการทำให้เกิดการสร้างสรรค์ (Creative) ขณะที่ความรู้ทำให้เกิดผลเชิงบวก (Positive) และไม่ทำให้เกิดความเสียหาย (Constructive)

จากที่ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ผมเชื่อว่านั่นเป็นดุลยภาพเดิม แต่เรากำลังเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ที่ทั้งสองสิ่งมีความสำคัญไม่ต่างกัน เนื่องจาก

  • แต่ก่อนเรามุ่งเน้นผลิตภาพ เราแสวงหาแนวทาง องค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากร ผลผลิต และกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ (และประสิทธิผล)จินตนาการจึงจึงเป็นสิ่งขาดแคลนต่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม ... จินตนาการจึงสำคัญ ควรได้รับการเชิดชูมากกว่าที่เป็นอยู่
  • แต่ในยุคต่อจากนี้ เราก้าวเข้าสู่สภาวะที่ความรู้ฐานรากที่แข็งแรง ค่อนข้างนิ่ง ซึ่งหมายถึงการปิดช่องโหว่ด้านประสิทธิภาพได้มากเพียงพอแล้ว และความรู้ที่มีอยู่ก็ทรงพลังเพียงพอต่อการต่อยอดให้เกิดการก้าวกระโดดในหลายๆด้าน จินตนาการจึงได้รับการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม มุมมอง และประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม อย่างกว้างขวาง
  • ทั้งสองสิ่งจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่จินตนาการคงยากที่จะล้ำเส้นความรู้ได้ยาก (นั่นจะทำให้ความรู้เป็นสิ่งขาดแคลนและกลับมามีความสำคัญมากกว่า) เพราะเรายังคงดำรงชีวิตอยู่บนความจริง ซึ่งความจริงทางธรรมชาติก็ถูกเปิดเผยมากขึ้น ชัดขึ้นทุกวันด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้า ประกอบกับการเป็นโลกทุนนิยมที่ยากจะหวนกลับไปเป็นแบบอื่นอย่างเมื่อวันวาน ความจำเป็นในเชิงเศรษฐกิจก็บังคับทิศทางด้วยความต้องการของผู้บริโภค สภาพแวดล้อมเหล่านี้ เสมือนเป็นเครื่องการันตีว่า จินตนาการจะเดินเคียงข้างความรู้เพื่อค้นหาความจริงที่ยังคงรอเราอยู่ข้างหน้าอีกมาก และเติมเต็มความสมบูรณ์ของวิถีการดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ

หากจินตนาการเลิกคบความรู้แล้วหันไปคบค้ากับความฟุ้งซ่าน เราอาจพบกับดุลยภาพในรูปแบบใหม่ที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้

อ้างอิง : http://www.thanakrit.net/creative-thinking-imagina...


หมายเลขบันทึก: 626687เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2017 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2017 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท