แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐–๒๕๖๔)


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐–๒๕๖๔)

ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐–๒๕๖๔)

---------------

ดร. ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

แนวคิดในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ สืบเนื่องจากคณะราษฎร ซึ่งเป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ประกาศหลัก ๖ ประการ ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับการรักษาเอกภาพทางเศรษฐกิจ และการสร้างความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยจะจัดให้มีการวางเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ต่อมา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ได้ดำเนินการยกร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้น โดยได้มีการระบุถึงการกำหนดให้มีการวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ พร้อมทั้งได้ยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ ซึ่งเสนอให้มีสภา (หน่วยงาน) เพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำแผน เศรษฐกิจแห่งชาติด้วย อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าสถานการณ์ในขณะนั้นยังไม่เอื้ออำนวย ทำให้ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ ๒ ใน ๓ ของประชากรโลก ประสบปัญหาความยากจนและความล้าหลังทางเศรษฐกิจ ประกอบกับเกิดปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างค่ายเสรีนิยมกับค่ายสังคมนิยม ประเทศต่างๆ เกิดความตื่นตัว ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ประเทศไทยเอง ก็ตระหนักถึงความจำเป็นในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การศึกษา ฯลฯ มากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ และเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทางการเงิน การคลัง และทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป พร้อมทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการทำผังเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นก้าวแรก ที่จะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทย

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ธนาคารโลก ซึ่งจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะช่วยทำการฟื้นฟู และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ได้จัดส่งคณะสำรวจเศรษฐกิจ เข้ามาช่วยศึกษาข้อมูล และศึกษาวิจัยเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยคำเชิญของรัฐบาลไทยในขณะนั้น คณะผู้เชี่ยวชาญร่วมกับทางคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้จัดทำรายงาน A Public Development Program for Thailand ต่อมามีการแปลเป็นฉบับภาษาไทยชื่อว่า โครงการพัฒนาของรัฐบาลสำหรับประเทศไทย โดยได้มีการเสนอข้อมูลวิเคราะห์ถึงสภาพ ปัญหาและแนวทางในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเห็นว่า ควรเน้นการแข่งขันเสรี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ รัฐบาลได้ดำเนินการออกพระราชบัญญัติพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และตั้งสำนักงานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ หลังจากนั้นจึงได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๙) เป็นฉบับแรก และได้ดำเนินการวางแผนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีทั้งหมด 12 ฉบับตั้งแต่พ.ศ.2504 จนถึงปัจจุบัน เกือบ 60 ปีที่ประเทศไทยได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นตัวแบบในการพัฒนาประเทศ ในอดีตที่ผ่านมามิติของกระบวนการพัฒนาส่วนใหญ่ได้เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก และเป็นการกำหนดแผนพัฒนาฯจากส่วนกลางและนำไปสู่การปฏิบัติ ทำให้ขาดมิติของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดแผนพัฒนาฯ ส่วนมิติของการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เพิ่งเกิดปรากฏขึ้นในแผนฯ ฉบับที่ 8 แต่กระบวนการจัดทำแผนพัฒนายังเป็นรูปแบบบนลงล่าง (top-down) ผู้บริหารประเทศเป็นผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาชุมชน ส่งผลให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชน รวมถึงไม่สอดคล้องกับบริบทที่แตกต่างของแต่ละชุมชน ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม ฉบับแรกตั้งแต่ปี 2504 โดยอยู่ในสมัยของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จอมพล สฤิษดิ์
ธนะรัชต์ จนถึงปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม มาแล้ว 12 ฉบับด้วยกัน โดยในแผนฯ แต่ละฉบับ มีจุดเน้นพอสรุปได้ดังนี้

สรุปแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑-๑๑

ฉบับที่ 1 พ.ศ.2504-2509

เน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนในสิ่งก่อสร้างขั้นพื้นฐานในรูปแบบของระบบคมนาคมและขนส่ง ระบบเขื่อนเพื่อการชลประทานและพลังงานไฟฟ้า สาธารณูปการ ฯลฯ รัฐทุ่มเททรัพยากรเข้าไปเพื่อการปูพื้นฐานให้มีการลงทุนในด้านเอกชนเป็นหลัก

ฉบับที่ 2 พ.ศ.2510-2514

เน้นการพัฒนาสังคม ยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ขยายพลังการผลิตรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ กระจายการพัฒนา และเร่งรัด การพัฒนาสู่ชนบท ตามแนวทางแผน 1 ขยายขอบเขตของแผนให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาของรัฐ โดยสมบูรณ์กระจายให้บังเกิดผลไปทั่วประเทศ เน้นเขตทุรกันดารและห่างไกลความเจริญ และมี โครงการ พิเศษนอกเหนือไปจากหน้าที่ปกติของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาภาค โครงการเร่งรัด พัฒนาชนบทและโครงการช่วยเหลือชาวนา ฯลฯ

ฉบับที่ 3 พ.ศ.2515-2519

ยังมีจุดเน้นด้านการกระจายความเจริญสู่ชนบท พยายามลดช่องว่างคนรวยกับคนจน ขยายการผลิตและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เน้นให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และให้ความสำคัญกับการวางแผนครอบครัว และการมีงานทำเป็นครั้งแรก รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยรักษาอัตราการขยายตัวของปริมาณเงินตรา รักษาระดับราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ รักษาเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ ส่งเสริมการส่งออก ปรับปรุงโครงสร้างการนำเข้า ปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและยกระดับการผลิต เร่งรัดการส่งออกและทดแทนสินค้านำเข้า ปรับงบลงทุนในโครงการก่อสร้างมาสนับสนุนการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากโครงการขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ กระจายรายได้และบริการทางสังคม โดยลดอัตราการเพิ่มประชากร กระจายบริการเศรษฐกิจและสังคมสู่ชนบท ปรับปรุงสถาบันและองค์กรทางด้านเกษตรและสินเชื่อ รักษาระดับราคาสินค้าเกษตร

ฉบับที่ 4 พ.ศ.2520-2524

เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งขยายการผลิต สาขาเกษตร, ปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่ง ออก, กระจายรายได้และการมีงานทำในภูมิภาค, มาตรการ กระตุ้นอุตสาหกรรมที่ซบเซา, รักษาดุลการชำระเงินและการ ขาดดุลงบประมาณเร่งบูรณะและปรับปรุงการบริหารทรัพยากรหลักของชาติ รวมทั้งการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ โดยเฉพาะที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้และแหล่งแร่, เร่งรัดการปฏิรูปที่ดิน, จัดสรร แหล่งน้ำในประเทศ, อนุรักษ์ทะเลหลวง, สำรวจและพัฒนา แหล่งพลังงานในอ่าวไทยและภาคใต้ฝั่งตะวันออก

ฉบับที่ 5 พ.ศ.2525-2529

ยึดพื้นที่เป็นหลักในการวางแผน กำหนดแผนงานและโครง การให้มีผลทางปฏิบัติทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น พื้นที่ เป้าหมายเพื่อพัฒนาชนบท พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก พื้น ที่เมืองหลัก ฯลฯ เน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ เป็นพิเศษโดยการเร่งระดมเงินออม, สร้างวินัยทางเศรษฐกิจ การเงิน และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ปรับ โครงสร้างการเกษตร ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการส่ง ออกและกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ส่วนภูมิภาค, ปรับโครง สร้างการค้าต่างประเทศ และบริการ, ปรับโครงสร้างการผลิต และการใช้พลังงาน ฯลฯ เน้นความสมดุลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของ ประเทศ เน้นการแก้ปัญหาความยากจนในชนบทล้าหลัง กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 286 อำเภอและกิ่งอำเภอ เน้นการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติเช่นมีระบบการบริหารการ พัฒนาชนบทแนวใหม่ประกาศใช้ พ.ศ. 2527 เน้นบทบาทและการระดมความร่วมมือจากภาคเอกชน

ฉบับที่ 6 พ.ศ.2530-2534

เน้นการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพของการเงินการคลัง โดยเน้นการระดมเงินออมในประเทศ เน้นการใช้จ่ายภาครัฐอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ และเน้นบทบาทภาคเอกชนในการพัฒนา เน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานและคุณภาพชีวิต เน้นการเพิ่มบทบาทองค์กรประชาชนในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มแผนหลักการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทบทวนบทบาทรัฐในการพัฒนาประเทศ มีแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ มุ่งปรับโครงสร้างการผลิตและการตลาดของประเทศให้กระจายตัวมากขึ้น เน้นการนำบริการพื้นฐานที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ พัฒนาเมืองและพื้นที่เฉพาะ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ขยายขอบเขตพัฒนาชนบทครอบคลุมทั่วประเทศ เขตล้าหลัง 5,787 หมู่บ้าน เขตปานกลาง 35,514 หมู่บ้าน และเขตก้าวหน้า 11,612 หมู่บ้าน

ฉบับที่ 7 พ.ศ.2535-2539

เน้นการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพเน้นการกระจายรายได้ และการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบท เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม เน้นการพัฒนากฎหมาย รัฐวิสาหกิจ และระบบราชการ

ฉบับที่ 8 พ.ศ.2540-2544

เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการวางแผนพัฒนาประเทศที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม และมุ่งให้ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” และใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมทั้ง ปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาแบบแยกส่วนมาเป็นบูรณาการแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามในปีแรกของแผนฯ ประเทศไทยต้อง ประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อคนและสังคมเป็นอย่างมาก จึงต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพมั่นคง และลดผลกระทบจากวิกฤตที่ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานและความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาศักยภาพของคน การพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคมให้เอื้อต่อการพัฒนาคน การเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาของภูมิภาคและชนบทเพื่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง การพัฒนาสมรรถนะทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการพัฒนา คนและคุณภาพชีวิต การจัดหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาประชารัฐ เป็นการพัฒนาภาครัฐให้มีสมรรถนะ และพันธกิจหลักในการเสริมสร้างศักยภาพและสมรรถนะ ของคนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การบริหารจัดการเพื่อให้มีการนำแผนพัฒนาฯไปดำเนินการ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติด้วยแนวทางการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ

ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549)

เป็นแผนที่ได้อัญเชิญแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ ได้อัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ ควบคู่ไปกับกระบวนทรรศน์การพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 โดยยึดหลักทางสายกลาง เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤต สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล มีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และสถานการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านตัวคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย ผลการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9
สรุปได้ว่า ประสบความสำเร็จที่น่าพอใจ เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ
5.7 ต่อปี เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปรับตัวสู่ความมั่นคง ความยากจนลดลง ขณะเดียวกันระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นมาก อันเนื่องมาจากการดำเนินการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยการมีหลักประกันสุขภาพที่ มีการปรับปรุงทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยครอบคลุมคนส่วนใหญ่ของประเทศ และการลดลงของปัญหายาเสพติด

วัตถุประสงค์

(1) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและมีภูมิคุ้มกัน

(2) เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง ยั่งยืน สามารถพึ่งตนเองได้อย่างรู้เท่าทันโลก

(3) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีในสังคมไทยทุกระดับ

(4) เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนไทยในการพึ่งพาตนเอง

ลำดับความสำคัญของการพัฒนา

1. การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ

2. การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก

3. การบรรเทาปัญหาสังคม

4. การแก้ปัญหาความยากจน

ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554)

ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบท ทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้มีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยยังคงอัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 และให้ความสำคัญต่อการรวมพลังสังคมจากทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมดำเนินการใน ทุกขั้นตอนของแผนฯ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนอย่างต่อเนื่อง

ฉบับที่ 11 พ.ศ.2555-2558

ตามวิสัยทัศน์ 3 พันธกิจ 3 วัตถุประสงค์ 4 เป้าหมายหลัก และ 7 ยุทธศาสตร์ ตามการศึกษาจากบริบทตลอดจนจุดแข็ง จุดอ่อนโอกาสและภัยคุกคามของประเทศไทย

วิสัยทัศน์ "ประเทศมีความมั่นคงเป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง"

3 พันธกิจ ได้แก่ การพัฒนาฐานการผลิตและบริการ การสร้างความเป็นธรรมและ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤตการณ์

3 วัตถุประสงค์ เพื่อให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน คนไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และพร้อมเชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นสุข

4 เป้าหมายหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งสมดุล ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มีหลักประกันสังคมที่ทั่วถึง และสังคมไทยมีความสุขอย่างมีธรรมาภิบาล

7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การสร้างฐานการผลิตให้เข้มแข็ง สมดุล อย่างสร้างสรรค์ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต การค้า การลงทุน การพัฒนาคุณภาพคน ทั้งความรู้คู่คุณธรรม สังคม มั่นคงเป็นธรรม มีพลังและเอื้ออาทร เน้นการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงของพลังงานและอาหาร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

และได้จัดทำวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570 ซึ่งสาระสำคัญในแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้ คือ

1. ความท้าทายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ :โอกาสของประเทศไทย ซึ่งได้วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ เช่น ด้านการเงิน ด้านพลังและอาหาร ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้านแนวคิดการบริหารจัดการเศรษฐกิจและธุรกิจ ด้านการค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศและการเมืองโลก และโอกาสของประเทศไทย

2. เศรษฐกิจสร้างสรรค์: ทางเลือกเศรษฐกิจไทย ได้วิเคราะห์และเสนอว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา(Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity)และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual property)ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่

3. ภาวะโลกร้อน :รู้วิกฤติ สร้างโอกาสการพัฒนา ได้วิเคราะห์แนวโน้มที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคตทั้งทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านต่างๆเช่น ทิศทางการพัฒนาประเทศเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรชีวภาพ ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน เป็นต้น

4. สถาปัตยกรรมทางสังคม: ทางเลือกใหม่ของคนไทย ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากของประเทศไทย และสถาปัตยกรรมทางสังคมในระยะต่อไป เช่น 1)การปรับโครงสร้างทางสังคมให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพโดยนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ต่อยอดกับทุนทางสังคม วางรากฐานการพัฒนาสังคมที่ฐานราก การออกแบบสังคมที่มีคุณภาพจากสังคมใน4 มิติคือ สังคมแห่งความเอื้ออาทรและความสมานฉันท์(Social Cohesion) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Security) การรวมกลุ่มเพื่อสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเป็นธรรม(Social Inclusion) การเสริมสร้างพลังทางสังคม(Socail Empowerment) 2) พัฒนาคุณภาพของทุนมนุษย์ โดยเน้นกระบวนการพัฒนาที่คนเป็นศูนย์กลางทุกภาคส่วนสนับสนุน โดยภาคประชาชน ชุมชน เป็นผู้มีบทบาทเจ้าของเรื่อง เป็นกงล้อหลัก มีบทบาทสำคัญตลอดกระบวนการ ภาครัฐ ลดบทบาทความเป็นเจ้าของเพื่อเป็นผู้หนุนการสร้างศักยภาพของชุมชนและเอกชน

5. สัญญาประชาคมใหม่: พลังขับเคลื่อนสังคมสู่สมดุล ได้วิเคราะห์และเสนอไว้ว่า สัญญาประชาคม หมายถึง ค่านิยมที่ประชาชนตกลงร่วมกันด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันในสังคมอย่างมีพลวัตตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นการดำรงชีวิตตามวัฒนธรรมอันดีของไทยตามภูมิภาคต่างๆยึดหลักคุณธรรมและความเป็นธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตรักษาสิทธิของตนเองโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ปฏิบัติหน้าที่พลเมืองให้ครบถ้วนและมีจิตสาธารณะ ยึดหลักแก้ไขความขัดแย้งในสังคมด้วยสันติวิธี เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ปลอดภัยและมีความมั่นคงในชีวิตและทรัพยสิน และได้มีทิศทางการพัฒนาสัญญาประชาคมใหม่ ไว้ 5 ประเด็น คือ

1) ปรับกระบวนทัศน์ (paradigm) การพัฒนาประเทศใหม่โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา

2) สร้างค่านิยมร่วม (Shared Value)

3) พัฒนากระบวนการสัญญาประชาคม บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่การสร้างความคิดร่วม (Social Consensus) การหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและยึดถือ (Social Commitment)และนำไปสู่การปฏิบัติ(Action)โดยถ้วนหน้ากัน เพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย พัฒนากลไกในระดับภาพรวม และพัฒนากลไกลในระดับชุมชน

4) สร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้าง กลไกและกระบวนการบริหารจัดการของทุกภาคส่วนของสังคม

5) ขับเคลื่อนและวางระบบการติดตามประเมินผลในทุกระดับ

สรุปแผนฯ ฉบับที่ 11และวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570 นั้นทำให้เห็นมิติของกระบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายประเด็น ที่สำคัญคือในส่วนของสถาปัตยกรรมทางสังคม ได้มีเนื้อหาที่สื่อถึงมิติในงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับชุมชนเป็นหลักและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการพัฒนา ในส่วนของสัญญาประชาคมใหม่ ได้กล่าวถึง กระบวนการสัญญาประชาคมบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่การสร้างความคิดร่วม (Social Consensus) การหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและยึดถือ (Social Commitment)และนำไปสู่การปฏิบัติ (Action) ซึ่งเป็นภาพรวมและแนวทางกว้างๆในการนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

จะเห็นได้ว่า แผนฉบับที่ 11 นั้น เน้นการ "ตั้งรับ" มากกว่า "รุก" โดยเน้นการป้องกันปัญหาจากวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเราเพิ่งผ่านวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลก และวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศมาหมาดๆ การเน้น "ภูมิคุ้มกัน" นั้นเป็นเพียงเป้าหมายขั้นต่ำเหมือนคนที่ปลอดโรค เพราะมีภูมิต้านทานโรค แต่ไม่ได้บอกว่าสุขภาพแข็งแรงมีกำลังวังชาดีเพียงไร เชื่อว่าพวกเราไม่ได้ต้องการเพียงให้ประชาชนพอมีกินประชาชนควรจะ "กินดีอยู่ดี" และมี "คุณภาพชีวิต" ที่ดีขึ้นกว่าเดิม อีกนัยหนึ่ง ผลโดยรวมประเทศไม่ควรมีสถานะเพียงเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศอาเซียนด้วยกันหรือเพียงแต่ดีกว่า พม่า ลาว กัมพูชา บ้าง แต่เราควรจะตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความ "มั่งคั่ง" อยู่ในชั้นแนวหน้าของอาเซียน ที่จะแข่งขันกับประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ได้ และตัวอย่างที่ดีๆ ของประเทศนอกอาเซียนอื่นๆ เช่น เกาหลี และจีน เป็นต้น

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒

(พ.ศ. ๒๕๖๐–๒๕๖๔)

ปัจจุบันประเทศไทย ได้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาเป็นฉบับที่ ๑๒ แล้ว แผนพัฒนานี้ จะกำหนดช่วงระยะเวลาของแผนไว้คราวละ ๕ ปี ตามปีงบประมาณ (๑ ตุลาคม –๓๐ กันยายนของปีถัดไป)

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐–๒๕๖๔) ได้จัดทาขึ้นในช่วงเวลาของการปฏิรูปประเทศและสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเชื่อมโยงกันใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยได้น้อมนาหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานาทางในการพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙–๑๑ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยให้สังคมไทยสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง เกิดภูมิคุ้มกัน และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ส่งผลให้การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืนในการจัดทาแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๒ ครั้งนี้ สานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำบนพื้นฐานของ กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) ซึ่งเป็นแผนหลักของการพัฒนาประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) รวมทั้งการปรับโครงสร้างประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ ตลอดจนประเด็นการปฏิรูปประเทศ นอกจากนั้น ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งในระดับกลุ่มอาชีพ ระดับภาค และระดับประเทศในทุกขั้นตอนของแผนฯ อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์และ ทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งร่วมจัดทารายละเอียดยุทธศาสตร์ของแผนฯ เพื่อมุ่งสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ”

การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๒ จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ในลักษณะการแปลงยุทธศาสตร์ระยะยาวสู่การปฏิบัติ โดยในแต่ละยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๒ ได้กำหนดประเด็นการพัฒนา พร้อมทั้งแผนงาน/โครงการสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในช่วง ๕ ปีแรกของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมคน สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน ยังได้กำหนดแนวคิดและกลไกการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลที่ชัดเจน เพื่อกากับให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีทิศทางและเกิดประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของสังคมไทย



แหล่งข้อมูล

สานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สานักนายกรัฐมนตรี

https://sites.google.com/site/archcommunitydevelopment/national-developement-plan


https://doc-14-6g-docs.googleusercontent.com/docs/...



หมายเลขบันทึก: 626632เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2017 23:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2017 02:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท