การวัดผลและตัวชี้วัดในวิทยาศาสตร์ใหม่


การวัดผลและตัวชี้วัดในวิทยาศาสตร์ใหม่
นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ [email protected]

     ต้องขอบอกก่อนนะครับว่าผมเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะ “ประเมินผล” กับคนหรือหน่วยงานองค์กรต่างๆ ว่าเป็นเรื่องที่ดี เพื่อที่จะให้คนหรือหน่วยงานต่างๆ เหล่านั้นอยู่ใน “เกณฑ์” ที่มีมาตรฐานใช้งานได้ ทั้งนี้รวมความไปถึงการประเมินผลงานต่างๆ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักที่มีความปรารถนาดีที่จะทำให้เกิด “งานที่ดีที่สุด” “มีประสิทธิภาพที่สุด” แต่ผมไม่เห็นด้วยกับ “วิธีการประเมิน” ที่กำลังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ตัวอย่างของการประเมินผลในระดับของบุคคล ก็ได้แก่การสอบต่างๆ ทุกระดับทั้งในระดับการสอบของนักเรียน นักศึกษาหรือคนทำงาน รวมไปถึงการประเมินผลงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตัวอย่างของการประเมินผลในระดับองค์กรต่างๆ ก็ได้แก่ระบบพัฒนาคุณภาพต่างๆ ระบบมาตรฐานต่างๆ ที่มีออกมามากมายเต็มไปหมด

ผมอยากจะขอย้ำว่าแนวคิดเรื่องการประเมินเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะจะทำให้คนในสังคมได้สิ่งที่ดีที่สุดตามที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นสิ่งที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นมาในสังคมก็คือ คนหรือหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่จะได้รับการประเมิน ถึงได้เกิด “ความเครียด” หรือเกิด “สภาวะที่ไม่ปกติ” ขึ้นมา

ทำไมนักเรียนถึงเครียดกับการเรียนการสอบและแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย แทนที่จะสนใจว่าความรู้อะไรบ้างที่เป็นประโยชน์และเอาไปใช้ให้เกิด “ความดีงาม” ในสังคม

ทำไมครูถึงได้เครียดกับการประเมินคุณภาพต่างๆ และเอาเป็นเอาตายกับงานเอกสารการประเมินที่ทำให้ร้านซีร็อกต่างๆ ร่ำรวยเพราะเต็มไปด้วยงานถ่ายเอกสารต่างๆ เหล่านั้น (แล้วมีใครอ่านบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้) แทนที่จะเอาเวลาไปใช้กับนักเรียนอย่างแท้จริง

ทำไมเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่จะต้องได้รับการประเมินระบบคุณภาพ ถึงไม่เกิดความสุขหรือความสนุกในการทำงาน กลับรู้สึกเครียด รู้สึกว่าเป็นภาระ ทำไปทำมาพยาบาลห้องผ่าตัดบางแห่งสะท้อนว่า มัวแต่เสียเวลากับการกรอกเอกสารเรื่องการประเมินผล แทนที่จะเอาเวลาเหล่านั้นไปพูดคุยปลอบโยนผู้ป่วยที่กำลังเครียดก่อนที่จะเข้าห้องผ่าตัด ไม่รู้ไม่แน่ใจว่าเอกสารการประเมินเหล่านั้นสำคัญกว่าคนไข้ไปตั้งแต่เมื่อไร

ที่สำคัญที่สุดแน่ใจแล้วหรือว่าเอกสารการประเมินต่างๆ เหล่านั้น “เป็นจริง” ไม่ได้เป็นการ “ปั้นแต่งข้อมูล” ขึ้นมา แน่ใจแล้วหรือว่า เราได้สิ่งที่ดีที่สุด มาตรฐานที่ดีที่สุดตามที่เราต้องการ แน่ใจแล้วหรือว่า เราไม่ได้ตกเป็นทาสของเครื่องมือที่เราสร้างขึ้น เพราะมนุษย์มักจะตกเป็นทาสของเครื่องมือที่ตัวเองสร้างขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ก็คือเครื่องมือในการประเมินผลต่างๆ ตัวชี้วัดต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นมา

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะ “เข้าใจผิด” หรือ “หลงลืม” ไปมองว่าคนหรือองค์กรต่างๆ เหล่านี้เป็น “เครื่องจักร”

พวกเราอยู่ในสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตันมานานร่วมสามร้อยปี เป็นไปได้หรือไม่ว่า บางทีเราก็ “เผลอไปบ้าง” คือไปเผลอมองคนเป็นวัตถุด้วยความเคยชิน มองสิ่งที่เป็นสิ่งมีชีวิตภายใต้โมเดลของสิ่งที่ไม่มีชีวิต

หลงหรือเผลอไปมองว่าการประเมินมาตรฐานคุณภาพของคน เป็นแบบเดียวกับการที่เราประเมินคุณภาพของหลอดไฟสักดวงหนึ่งที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม หรือไปใช้มาตรฐานของการประเมินคุณภาพรถยนต์สักคันหนึ่งเป็นแบบเดียวกับมาตรฐานที่เราใช้ประเมินองค์กรหรือหน่วยงานสักหน่วยงานหนึ่ง

ในบทความชิ้นนี้ผมคงจะไม่เสียเวลาเถียงหรอกว่า ในแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นเชื่อว่าองค์กรเป็นสิ่งมีชีวิต หน่วยงานเป็นสิ่งมีชีวิต แต่เอาง่ายๆ กันแค่ว่าองค์กรหรือหน่วยงานเหล่านั้นจะไม่มีชีวิตไปได้อย่างไรในเมื่อสิ่งที่ขับเคลื่อนองค์กรหรือหน่วยงานเหล่านั้นก็คือคนซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต มีความคิด มีอารมณ์ความรู้สึก

ในระบบของสิ่งมีชีวิตนั้น มีการ “ประเมินผลตลอดเวลา” ผมอยากจะยกตัวอย่างร่างกายมนุษย์ มีการประเมินผลในระบบของร่างกายมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าในทุกเสี้ยววินาทีเซลล์ต่างๆ ของร่างกายมนุษย์มีการประเมินผลเป็นการภายในอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง ก็จะกลายไปเป็น “สัญญาณ” ที่ส่งไปยังสมองส่วนที่ควบคุมความหิวเพื่อให้ร่างกายได้รับอาหารเข้าไป หรือเมื่อระดับอุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไปหรือร่างกายเสียเหงื่อมากเกินไปก็จะมี “สัญญาณ” หรืออื่นๆ

“สัญญาณ” ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบของร่างกายนั้นก็คือ “ตัวชี้วัด” ในการประเมินผลที่มีอยู่ตลอดเวลาของร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง เพราะถ้าไม่มีสัญญาณหรือการประเมินผลเหล่านี้ ร่างกายของสิ่งมีชีวิตก็คงจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้

ถ้าเราจะลองนำพาเอาแนวคิดแบบ “วิทยาศาสตร์ใหม่” แบบที่คิดว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิต องค์กรที่ประกอบด้วยคนทำงานเป็นสิ่งมีชีวิตมาใช้ในเรื่องของการประเมินผลและตัวชี้วัดนี้ เราจะมองเห็นอะไรบ้าง

หนึ่ง ลักษณะที่สำคัญที่สุดของตัวชี้วัดแบบสิ่งมีชีวิต ก็คือตัวชี้วัดและการประเมินผลนั้นมาจากภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตเอง ไม่ได้มาจากภายนอกร่างกาย

สอง ตัวชี้วัดเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลาไปตามสถานการณ์ ในขณะที่ตัวชี้วัดจากภายนอกมักจะมีมาตรฐานเดียวและตายตัว

สาม ตัวชี้วัดเหล่านี้เกิดจากการได้ข้อมูลที่แท้จริงจำนวนมากมายมหาศาลในระบบ ในขณะที่ตัวชี้วัดจากภายนอกไม่มีทางที่จะได้ข้อมูลเหล่านั้น ย่อมเกิดความผิดพลาดในการประเมินมากกว่า

ด้วยคุณสมบัติของ “ตัวชี้วัด” ที่มาจากภายในขององค์กรแบบนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้เลย ถ้าในองค์กรนั้น “ไม่มีกระบวนการ” ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้งหรือสามารถสื่อสารถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกับที่เกิดขึ้นในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าในสภาวะปกติเซลล์ต่างๆ ของมนุษย์จะสามารถสื่อสารถึงกันได้เป็นอย่างดี

ในอีกทางหนึ่งสมมติว่าถ้าเราสามารถมี “กระบวนการ” ที่ทำให้องค์กรๆ หนึ่งสามารถสร้าง “ตัวชี้วัด” ได้ด้วยตัวเอง สามารถจัดการประเมินผลด้วยตัวเองเหมือนกับที่เกิดขึ้นในร่างกายของสิ่งมีชีวิต อะไรจะเกิดขึ้น?

จากประสบการณ์ที่พวกเราที่เชียงรายใช้ “สุนทรียสนทนา” เป็นตัวร้อยเรียงเพื่อทำให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างคนในองค์กร เราพบว่าเมื่อเราสามารถสร้าง “ชุมชนปฏิบัติการ” ขึ้นมาเป็น “กระหย่อม” ในองค์กรได้ เราก็จะสามารถใช้ “ชุมชนปฏิบัติการ” หรือ “กระหย่อม” เหล่านี้ในการสร้างตัวชี้วัดและการประเมินผลที่มาจากความคิดของคนในองค์กรเอง เราพบว่าเราได้มองเห็น “ประกายตา” จำนวนมากมายที่ฉานฉายถึง “ความสดใส” “ความมุ่งมั่น” และเต็มเปี่ยมไปด้วย “แรงบันดาลใจ” ที่จะทำงานให้กับองค์กร

เพราะผู้คนเหล่านี้ได้มองเห็นแล้วว่า ผลพวงจากสิ่งที่เขาเหล่านั้นได้ “คิดร่วมกัน” ได้ก้าวไปพ้นการประเมินและไปพ้นระบบมาตรฐานคุณภาพต่างๆ จากภายนอกที่มีแต่งานเอกสารหรือตัวเลขที่ “ปั้นแต่ง” ขึ้นมาอย่างไร้สาระไปแล้ว


นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ [email protected]
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
www.jitwiwat.org

ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙
 

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 62623เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 06:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 05:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมคิดเอาเองว่า กระบวนการเรียนรู้นี้ ก็คือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนทั้งองค์กรได้มีสติสัมปชัญญะร่วมกัน เพราะเมื่อใดที่ต่างคนได้ใช้สติสัมปชัญญะเป็นเครื่องมือจัดการ ความสงบเย็น ก็เกิดขึ้นได้เอง ครับ

ลือธวุฒิ บานเย็น วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท