เรื่องลับๆ ฉบับค่ายสืบศิลป์ครั้งที่ ๕ !!!!!


เรื่องลับๆ ฉบับค่ายสืบศิลป์ครั้งที่ ๕ !!!!!

ค่ายสืบศิลป์ครั้งที่ 5

ค่ายสืบศิลป์ เป็นโครงการของชมรมดนตรีนาฏศิลป์พื้นเมือง(วงแคน) ที่จัดขึ้นทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะถ่ายทอดทักษะด้านดนตรี นาฏศิลป์และหัตถกรรมพื้นเมืองอีสาน ให้กับน้อง ๆ ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

กิจกรรมค่ายสืบศิลป์ครั้งที่ 5 จัดขึ้น ณ โรงเรียนแวงน้อยศึกษา อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 19 – 23 ธันวาคม 2559 ซึ่งมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 100 คน และค่ายในครั้งนี้มีนักเรียนทั้งจากโรงเรียนแวงน้อยศึกษาและโรงเรียนท่านางแนววิทยายน

โครงการนี้ผมได้รับหน้าที่ จากรุ่นพี่ของชมรมให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเป่าแคน และพื้นฐานการตีโปงลาง ผมได้วางแผนการสอนตลอดทั้ง ๕ วัน โดยเริ่มต้นที่การสอนลายพื้นฐานให้น้อง ๆ เมื่อเเม่นลายพื้นฐานเเล้วจึงยกระดับเป็นลายที่ยากขึ้น โดยดูจากพัฒนาการเเละฝีมือในการเล่นดนตรี

ทั้งนี้ผมยังฝึกลำกลอนให้น้อง ๆ เสริมไปอีกด้วย เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานในการขับร้องในชุดการแสดงต่าง ๆ โดยใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ทำให้น้อง ๆ ที่มาฝึกได้รู้ระดับเสียงและจังหวะของดนตรี


ค่ายสืบศิลป์ครั้งที่ 5 เป็นครั้งแรกของการออกค่ายต่างจังหวัดของผมทำให้ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันและทักษะการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมอีสาน ทั้งทางด้านดนตรีและกลอนลำ

ถึงแม้ตัวผมเองจะไม่ใช่คนเก่ง แต่การออกค่ายในครั้งนี้ก็ทำให้ได้แนวคิดในการพัฒนาทักษะทางด้านดนตรีและหมอลำ เพื่อที่จะรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษ

กิจกรรมของค่ายสืบศิลป์ในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ ประกอบด้วย ด้านดนตรี นาฏศิลป์ และหัตถกรรม ซึ่งการเเบ่งน้อง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ โดยให้น้องๆเลือกความสนใจของตนเอง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้น้องได้เรียนรู้ในสิ่งที่ใช่เเละใส่ใจในสิ่งที่ชอบซึ่งนำมาสู่การเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้น พร้อมพัฒนาเเละต่อยอดด้วยตนเองในอนาคต

กิจกรรมเเรกที่ได้รับความสนใจจากน้อง ๆ เป็นอย่างมาก คือด้านดนตรี ซึ่งมีความสำคัญในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกทั้งความสนุก ความเศร้า ทั้งนี้ยังเป็นเครื่องประกอบจังหวะช่วยในการแสดงนาฏศิลป์อีกด้วย

กิจกรรมของเราในครั้งนี้ได้เริ่มต้น โดยการเเบ่งน้องออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีพื้นฐานทางด้านดนตรีและ กลุ่มที่ยังไม่มีพื้นฐานทางด้านดนตรี

กลุ่มที่มีพื้นฐานทางด้านดนตรี จะได้รับการฝึกซ้อมจากรุ่นพี่ของชมรม ซึ่งเป็นนักดนตรีที่เคยผ่านการประกวดมาเเล้ว โดยจะสอนลายที่สามารถใช้ในการเเสดงจริง เช่น ลายเปิดวง ลายสาวสารคามลำเพลิน ลายฟ้อนเเคน โดยอิงการฝึกรำของฝ่ายนาฏศิลป์เพื่อที่จะสามารถเล่นรวมวงกันได้

กลุ่มที่ยังไม่มีพื้นฐานทางด้านดนตรี จะเริ่มฝึกทักษะขั้นพื้นฐานของเครื่องดนตรีอีสาน จากนิสิตชั้นปีที่ 1 ของชมรม โดยจะใช้ลายพื้นฐานของวงโปงลางเป็นแบบในการฝึก เช่น ลายโปงลาง ลายนกไซบินข้ามทุ่ง ลายไล่วัวขึ้นภู ทั้งนี้ก็เพื่อจะเป็นพื้นฐานที่จะใช้ต่อยอดสำหรับน้อง ๆ ในการฝึกฝนต่อไป





อีกฝ่ายหนึ่งที่มาเเรงเช่นเดียวกันคือ ฝ่ายนาฏศิลป์ ซึ่งได้รับความนิยมทั้งจากบรรดานายรำเเละนางรำ โดยฝ่ายนาฏศิลป์เริ่มฝึกการรำแบ่งชุดของนักแสดงออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ง่ายต่อการฝึกซ้อม โดยมีพี่ ๆ เป็นคนต่อท่าให้โดยฝึกตัวต่อตัวเพื่อความเเม่นยำของท่า


นอกจากดนตรีและนาฏศิลป์เเล้ว กลุ่มหัตถกรรมก็ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน การฝึกทักษะทางด้านหัตถกรรมมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น การวาดภาพ งานใบตอง งานเเกะสลักผลไม้และร้อยมาลัย ซึ่งผลงานที่น้อง ๆ ทำออกมาต้องยอมรับว่าสวยงามเป็นอย่างมาก

วันสุดท้ายของโครงการก่อนที่ทุกคนในค่ายจะจากลากัน ค่ายของเรามีการนำเสนอผลงานด้านหัตถกรรมและการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน ซึ่งได้รับการฝึกจากค่ายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยทำการเเสดงบริเวณศาลเจ้าพ่อหมื่นศรี หน้าที่ว่าการอำเภอแวงน้อย การแสดงในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากพ่อแม่พี่น้องชาวอำเภอแวงน้อยเป็นอย่างดียิ่ง


ค่ายสืบศิลป์ครั้งที่ 5 ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ก่อนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เช่นการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันในวงประชุมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วหาทางแก้ไขร่วมกัน ถึงเเม้จะมีอุปสรรคปัญหามากมายเช่น การเตรียมงาน การส่งโครงการและติดต่อประสานงานกับโรงเรียน ความพร้อมของอุปกรณ์ด้านการประกอบอาหารในเเต่ละวัน รวมถึงความไม่เข้าใจกัน แต่ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เราก็สามารถก้าวผ่านมันไปได้ด้วยดี


ดังนั้นเเล้วค่ายสืบศิลป์จึงเป็นอีกค่ายหนึ่ง ที่ช่วยปลุกระดมความคิดการวางแผน การแก้ปัญหา การเขียนโครงการและยังช่วยปลุกพลังแห่งวัฒนธรรมความเป็นอีสานให้งอกงามยั่งยืน จากรุ่นต่อรุ่นไม่มีที่สิ้นสุด

ค่ายสืบศิลป์ ศิลป์สืบคน ชนสืบสร้าง
นำแนวทาง ศิลปิน ถิ่นอีสาน
พี่ช่วยเสริม น้องเติมต่อ ก่อตำนาน
ศาสตร์พื้นบ้าน ผ่านงานศิลป์ แผ่นดินไทย

ด้วยใจรัก ด้วยถักทอ ด้วยก่อเกื้อ
ด้วยจุนเจือ ด้วยเเบ่งปัน ด้วยวันใหม่
ด้วยชีวิต ด้วยคิดกว้าง ด้วยวางใจ
ด้วยสายใย ด้วยความฝัน อันงดงาม
จะถักทอ ศาสตร์ศิลป์ ให้คงอยู่
ยืนหยัดคู่ ธานี ศรีสยาม
ประดับด้วย ของดี ที่งดงาม
ทุกเขตคาม สถิตอยู่ คู่แดนไตร

ภาณุพงศ์ ธงศรี

21 / มีนาคม / 2560

หมายเลขบันทึก: 626213เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2017 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2017 02:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท