ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ชลบุรี


ประวัติผู้ของ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เกิดวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2497 เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงสู่การปฏิบัติโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนามนุษย์ ในขณะเดียวกันภารกิจสำคัญอีกประการได้แก่การขับเคลื่อน “หลักกสิกรรมธรรมชาติ” ผ่านการบ่มเพาะหลักคิดและหลักปฏิบัติผ่าน “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง” จังหวัดชลบุรี ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่แสดงผลสัมฤทธิ์ของการนำศาสตร์พระราชาด้านการจัดการดิน น้ำ ป่า มาฟื้นฟูระบบนิเวศจนสามารถพลิกฟื้นดินดานสร้างระบบนิเวศที่สมดุลต่อระบบการผลิตภาคการเกษตร พัฒนาสู่ชุมชนที่ดำเนินวิถีชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขยายผลสู่การสร้างแบบอย่างใหม่ของการศึกษาวิถีไทยในอนาคตด้วยการนำ “บวร-บ้าน วัด โรงเรียน” กลับสู่การบ่มเพาะเด็กและเยาวชนให้มีคุณธรรมนำความรู้ ในนาม “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ตามกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

นายวิวัฒน์ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจาก โรงเรียนวัดสนามจันทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา, มัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพฯ, ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

นายวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากราชการ คือ ผู้อำนวยการกองประเมินผลงาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักนายกรัฐมนตรี ลาออกมาเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นจริง

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในขณะเดียวกับได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับหลายหน่วยงาน/องค์กร เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมนอกเหนือจากด้านการเกษตร อาทิ ด้านการศึกษา ด้านอุตสาหกรรม ด้านธุรกิจการบริการ ฯลฯ

ในปี พ.ศ. 2543 นายวิวัฒน์เคยลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนาม "กลุ่มกรุงเทพสามัคคี" แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ประวัติความเป็นมาของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า “เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่าง ๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญและงานทุก ๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ”

ประกอบกับ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยรับราชการใกล้ชิดกับพระองค์ท่านฯ ในหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักนายกรัฐมนตรีกว่า ๑๖ ปี ได้สัมผัสกับชีวิตของเกษตรกรในทั่วภูมิภาคของประเทศ ซึ่งได้พบกับปัญหาต่าง ๆของเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินทำกิน ความยากจน ความรู้ในเรื่องการเกษตร ตลอดจนปัญหาสุขภาพ การศึกษา และอื่น ๆ ประกอบกับที่ได้ถวายการรับใช้พระองค์ท่าน ได้เห็นพระองค์ท่านทุ่มเทพระวรกาย กำลังทุนทรัพย์ อีกทั้งเวลาโดยส่วนใหญ่กับการพัฒนาค้นคว้าและทดลองในสิ่งต่าง ๆ ภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืช การทำนาข้าว การปรับปรุงดิน และน้ำ การศึกษาการปลูกป่า และพืชสมุนไพร การปลูกแฝก โรงสี และเทคโนโลยีชีวภาพ การวิจัยเรื่องพลังงาน และโครงการ อื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทรงลงมือปฏิบัติการด้วยพระองค์เอง

พระองค์ท่านทรงเน้นให้ประชาชน และเกษตรกรรู้จักพึ่งตนเอง จึงได้พระราชทานแนวคิดเรื่อง “ทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นหลักคิดให้กับทุก ๆ คน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร จึงได้รวบรวมกลุ่มคนในหลาย ๆ อาชีพ ที่มีแนวคิด แนวอุดมการณ์ ในการที่จะฟื้นฟูประเทศ โดยการนำแนวคิดเรื่องทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ ให้ใช้กับการทำการเกษตร และการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งการรณรงค์ให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมี หยุดการพึ่งพาชาติตะวันตกและหันกลับมาพึ่งพาตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่เคยสืบทอดกันมาเพื่อเน้นการทำเกษตรที่ยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย

การรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริฯนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติให้เกษตรกรได้เห็นจริงจึงจะเข้าใจแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องจึงเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่แนวความคิดและดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเป็นศูนย์ค้นคว้าวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการกสิกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์ การปศุสัตว์ การพลังงาน การแพทย์เภสัชกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยใช้ภูมิปัญญาตะวันออก

2. เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรม ถ่ายทอด และเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ ให้กับเกษตรกร นักเรียนนักศึกษา ข้าราชการและประชาชน

3. เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบลภายใต้โครงการของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์

4. เพื่อเป็นสถานที่จัดทำแปลงสาธิต ในเรื่องของการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้กับสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับพืชผักสวนครัวและนาข้าวเพื่อให้ความรู้ และเป็นแปลงตัวอย่างให้กับกลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่นและเกษตรกรอื่นๆ ที่สนใจ

5. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมอุปกณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตรในอดีต โดยจะตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชาวนาต่อไป

6. เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับผู้ที่สนใจทางด้านการเกษตรแบบธรรมชาติเข้าแวะชม และแสวงหาความรู้

7. เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่เปิดให้กับหน่วยงานองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนต่างๆ ที่สนใจใช้เป็นสถานที่จัดอบรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทุกประเภท

ศึกษาดูงานที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี

สวัสดีครับ/ค่ะ!! ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2560 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมได้พานักศึกษาสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ โดยพาไปที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี รถออกเวลา 05:30น. พวกเราพร้อมเละตื่นเต้นกับการดูงานในครั้งนี้มาก...


หลังจากที่ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมเวลา 05:30น. ก็มาถึงศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ในเวลา 10:30น.


ระหว่างทางที่เดินเข้ามาทั้งสองฝั่งทาง ก็มีอาหารให้รับประทานฟรีตลอดทั้งงาน พวกเราเดินถ่ายรูปกิจกรรมภายในงาน ระหว่างนั้นก็หันไปเห็นดาราคนหนึ่ง และดาราคนนั้นก็คือ พี่แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ ซึ่งเป็นศิลปินที่เดินตามรอยศาสตร์ของพระราชาในชีวิตจริง


หลังจากถ่ายรูปเสร็จพวกเราก็เดินมาลงทะเบียนที่หน้างาน ก่อนที่จะเดินดูงานทั้งหมดที่ศูนย์จัดขึ้น เมื่อลงทะเบียนเสร็จก็จะได้แผนที่ของศูนย์มาคนละ 1 ใบ โดยในแผนที่จะบอกถึงที่ตั้งของกิจกรรมต่างๆ


เมื่อลงทะเบียนเสร็จ พวกเราก็เดินเข้ามาภายในงานมาดูการแสดงประกอบพิธีเปิดที่หน้าเวที มีศิลปินมาร้องเพลงเพื่อถวายให้พ่อหลวงรัชกาลที่ 9


ซุ้มกิจกรรมต่างๆภายในงาน

หลังจากเสร็จพิธีเปิด พวกเราก็เริ่มเดินดูกิจกรรมภายในงาน ก็มาเจอกับซุ้มแรกที่แจกเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านให้นำกลับมาปลูกกันที่บ้านแบบฟรีๆกันอีกด้วย


ซุ้ม ไร่สุขพ่วง ความสุขพร้อมแบ่งปัน


เป็นการปลูกพืชผักในภาชนะ คือ ตะกร้าสานจากสายรัดพลาสติก สร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ที่มีพื้นที่เพราะปลูกแบบจำกัด หรือมีดินที่มีสภาพเสื่อมโทรม ขาดแคลนน้ำ ให้สามารถปลูกพืชในครัวเรือนได้แบบง่าย

ซุ้ม earth safe อินทรีย์วิถีไทย น้ำตาลอ้อย


เป็นการแปรรูปจากทุนของชุมชนที่มีอยู่ในตำบลจอมบึง จังหวัดราชบุรี ในกระบวนการแบบอินทรีย์วิถีไทย คือ การปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด และนำน้ำอ้อยที่ได้มาแปรรูปเป็นน้ำตาลอ้อยโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน

ซุ้ม ถ่านไม้ไผ่แปรรูปเพื่อสุขภาพ จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง


เป็นผลพลอยได้มาจาก การปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง เป็นถ่านบริสุทธิ์ที่ผ่านกระบวนการเผาไหม้ด้วยความร้อน มีผลช่วยให้การทำงานในร่างกายดีขึ้น และมีการเพิ่มมูลค่าโดยการทำเป็นเครื่องประดับและของฝากหลากหลายรูปแบบอีกด้วย

ซุ้ม วิสาหกิจชุมชนปฏิรูปการเกษตรสอยดาว จังหวัดจันทบุรี


เป็นการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านในตำบลทุ่งขนาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี โดยทำการแปรรูปผักผลไม้ของกลุ่มเกษตรอำเภอสอยดาว

ซุ้ม อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเล



ภายในซุ้มมีพันธุ์สัตว์ทะเลอายุหลายร้อยปีให้เราได้ศึกษาหาความรู้ และยังมีแมงกะพรุนกับชนิดของพิษแมงกะพรุนให้ได้ศึกษาอีกมากมาย

หลังจากที่พวกเราได้เดินดูซุ้มต่างๆภายใน ก็มรพี่เมฆผู้ที่เป็นวิทยากรมาสรุปและให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องก่อนที่พวกเราจะเดินทางกลับ


และสุดท้ายก่อนที่พวกเราจะเดินทางกลับก็ได้ถ่ายรูปกลุ่มเป็นที่ระลึก เพราะบรรยากาศที่นี่ดีมากๆเลยขอบอกๆ...


หมายเลขบันทึก: 626212เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2017 00:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2017 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท