​ความยากจนมีผลต่อสมองเด็ก



บทความเรื่อง Brain Trust ในนิตยสาร Scientific American เดือนมีนาคม ๒๕๖๐ เขียนโดย Kimberly G. Noble รองศาสตราจารย์ สาขาประสาทวิทยาศาสตร์และการศึกษา วิทยาลัยครู มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย บอกว่า รู้กันมานาน ว่าเด็กจากครอบครัวยากจนในสหรัฐอเมริกา มีผลการทดสอบต่างๆ ต่ำ โอกาสเรียนจบมัธยมเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่ำ และโอกาสได้งานต่ำ


เริ่มมีผลการวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ บอกว่าเด็กในครอบครัวยากจน มีขนาด รูปร่าง และการทำงานของสมองแตกต่างจากเด็กปกติ


ผู้เขียนเล่าเรื่องงานวิจัยที่เริ่มทำเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว สมัยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย โดยทำ cognitive test แบบต่างๆ ที่วัดการทำหน้าที่ของสมองต่างๆ หน้าที่ ในเด็กที่ครอบครัวมีเศรษฐฐานะต่างๆ กัน ผลคือเด็กที่มีเศรษฐานะต่ำ มีผลการทดสอบต่ำอย่างชัดเจน โดยชัดเจนที่สุดที่ทักษะด้านภาษา (Language Skills) กับความจำ (Memory of Facts and Events) ส่วนทักษะด้านอื่นๆ ก็แตกต่างทั้งสิ้น ได้แก่ด้าน มิติสัมพันธ์ (Spatial Relationships) ด้านการควบคุมใจจดจ่อ (Cognitive Control) และด้านความจำระยะสั้น (Short-Term Memory)


นักวิจัยที่ศึกษาภาพสมองขั้นก้าวหน้า (advanced brain imaging) มี ๔ กลุ่ม ต่างก็พบว่าสมองเด็กที่ยากจนมีขนาดและรูปร่างของสมองส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้แตกต่างจากเด็กฐานะดี เช่น ขนาดของ hippocampus ซึ่งเป็นสมองส่วนสำคัญในเรื่องความจำ และขนาดของพื้นที่สมองส่วน cerebral cortex ทีมของผู้เขียนพบว่า เด็กจากครอบครัวที่รายได้น้อยกว่า ๒๕,๐๐๐ เหรียญต่อปี มีขนาดพื้นที่ของ cerebral cortex น้อยกว่าเด็กจากครอบครัวที่รายได้มากกว่า ๑๕๐,๐๐๐ เหรียญ ร้อยละ ๖ โดยที่ความแตกต่างรุนแรงที่สมองส่วนที่ควบคุมภาษา การควบคุมอารมณ์ชั่ววูบ และการควบคุมตนเองแบบอื่นๆ


เมื่อเด็กโตขึ้น ความหนาของเปลือกสมอง (cerebral cortex) จะลดลง เป็นธรรมชาติของสมอง ในเด็กยากจน เปลือกสมองจะบางลงอย่างรวดเร็วในช่วงอายุน้อย และค่อนข้างคงที่ในช่วงวัยรุ่น ในขณะที่เด็กจากครอบครัวฐานะดี เปลือกสมองบางลงช้าๆ ตามอายุ จนถึงวัยรุ่นตอนปลาย อธิบายว่าสมองเด็กยากจนขาดความยืดหยุ่น (brain plasticity) ที่จำเป็นมากสำหรับการเรียนรู้พัฒนาในช่วงวัยรุ่น


ผลการวิจัยของกลุ่มอื่นบ่งชี้ว่า ความแตกต่างของเปลือกสมองของเด็กยากจน มีผลให้เด็กเหล่านี้มีผลลัพธ์การศึกษาแตกต่างจากเด็กฐานะดีระหว่างร้อยละ ๑๕ - ๔๔


เขาบอกว่า ยังไม่มีคำอธิบายว่าความแตกต่างเหล่านี้เกิดจากอะไร เช่นจากโภชนาการ จากสภาพสังคมแวดล้อม จากคุณภาพโรงเรียน จากวิธีเลี้ยงดู หรือจากความเครียดในครอบครัว หรือหลายปัจจัยประกอบกัน หรือมีส่วนของพันธุกรรมอยู่ด้วย เป็นเรื่องที่ต้องวิจัยต่อไป


มีผลงานวิจัยบอกว่า สาเหตุมาจากความเครียดในชีวิต และสไตล์การเลี้ยงลูก


มีผลการวิจัยของทีมผู้เขียน บ่งชี้ว่าปัจจัยมาจากชีวิตหลังคลอด แต่ข้อค้นพบเท่าที่เสนอเป็น correlation ไม่ใช่ causation ซึ่งความเข้าใจสาเหตุยังต้องมีการวิจัยอีกมาก


ผู้เขียนทดลองแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือให้เงินสนับสนุน ๓๓๓ เหรียญต่อเดือนแก่แม่ยากจน แล้ววัดผล โดยได้ทดลองนำร่องไปแล้วในแม่ ๓๐ คน น่าจะได้ผลดี

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.พ. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 626211เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2017 23:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2017 23:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เด็กยากจน ได้รับการส่งเสริมน้อยจากพ่อแม่ เพราะความสำคัญหลักคือเรื่องปากท้อง ผู้ปกครองไม่มีเวลามาอบรมกล่อมเกลา ให้ความรักความเข้าใจ และฝึกฝนให้ลูกเจริญเติบโตที่ถูกต้องตามหลักวิชา บางครอบครัวก็ทิ้งลูกไว้กับบุคคลอื่น ปัจจัยเรื่องความยากจนส่งผลในวงกว้าง

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะอาจารย์ เด็กๆ ที่มีฐานะยากจน ไม่มีแม้กระทั่งอาหารจะรับประทาน จึงไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท